รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ผู้เรียบเรียง สุเจน และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2548
จุดเริ่มต้นอาจนับได้ตั้งแต่การปลดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” จากผังรายการของโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) ในเดือนกันยายน หลังมีความพยายามเปิดโปงและโจมตีปัญหาการคอรัปชั่นของรัฐบาลทักษิณ ทำให้หนึ่งในผู้จัดรายการคือนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ตัดสินใจจัดรายการในลักษณะ “สัญจร” ในชื่อ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” เป็นครั้งแรกในวันที่ 23 กันยายน 2548 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรจัดต่อมาเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนแปลงสถานที่อีกหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือครั้งที่ 6 ที่สวนลุมพินี มีผู้เข้าร่วมถึงหลักหมื่นและมีการประกาศจุดยืนขับไล่รัฐบาลอย่างชัดเจน
11 พฤศจิกายนปีเดียวกัน สนธิ ลิ้มทองกุล นำประชาชนที่ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ากล่าวถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และ “พระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง” โดยอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ว่า
“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทหารแสดงจุดยืนทางการเมืองระหว่างการประท้วงในคืนวันที่ 4 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 โดยเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเรียกร้องให้ “ทหารออกมายืนข้างประชาชน” ก่อนจะสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา
10 กุมภาพันธ์ มีการเปิดตัว “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เป็นองค์การนำในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมเป็นระยะ ช่วงนั้น นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้มาตรา 7 ในการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน
ในที่สุดท่ามกลางสถานการณ์ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดความรุนแรง นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549
ทว่า พรรคประชาธิปัตย์งดส่งผู้สมัครแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งโดยอ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำรัสกับคณะผู้พิพากษาในวันที่25 เมษายน 2549 ความว่า
“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไร ก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้” และมีพระราชดำรัสให้ศาลจัดการปัญหาการเมือง ต่อมา 8 กรกฎาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะโดยหนึ่งในเหตุผลของศาลนั้นชี้ว่ากรรมการการเลือกตั้งจัดวางคูหาเลือกตั้งในลักษณะส่อให้เกิดการทุจริตในการลงคะแนน ส่งผลให้มีคะแนนโนโหวตถึง 9.5 ล้านคะแนน ทำให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็น 15 ตุลาคม 2549
ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่อถึงการเตรียมรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย และสนธิ ลิ้มทองกุลได้ประกาศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศระดมพลชุมนุมเช่นกัน
ในที่สุด 19 กันยายน 2549 ช่วงเช้า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าประชุมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดร่วมประชุมทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าจะเกิดการรัฐประหาร ต่อมาช่วงหัวค่ำก็ปรากฎการเคลื่อนกำลังทหารและรถถังเข้ามาในกรุงเทพมหานคร
ทำให้ในเวลา 22.00น. พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครผ่านสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) ปลดพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน จาก ผบ.ทบ.แต่งตั้ง พล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ควบคุมสถานการณ์ แต่ระหว่างประกาศคำสั่ง สัญญาณก็ถูกตัดเนื่องจากกำลังทหารเข้าควบคุมสถานีไว้ได้ ส่วนโทรทัศน์ช่องอื่นรายการตามปรกติถูกงดออกอากาศ มีการเปิดเพลงและฉายภาพยนตร์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทน
ขณะนั้นรถถังจำนวนหนึ่งเข้าคุมจุดสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ ทำเนียบรัฐบาล สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถนนราชดำเนิน บ้านพักของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยทหารเหล่านี้ผูกริบบิ้นสีเหลืองเอาไว้ที่แขนเสื้อและปลายปืน
23.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มี พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษกสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้อ่านใจความว่า“เนื่องด้วยขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลไว้ได้แล้ว โดยไม่มีการขัดขวาง เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือและอยู่ในความสงบ และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย”
อีกด้าน ที่สหรัฐอเมริกา นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CNN ว่ามีทหารกลุ่มหนึ่งพยายามทำรัฐประหารจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว
23.50 น. สถานการณ์ชัดเจนขึ้นเมื่อมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 1 ชี้แจงเหตุผลยึดอำนาจว่า “การบริหารราชการแผ่นดินโดยรักษาการณ์รัฐบาลปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมย์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหมื่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้
“ดังนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยคณะปฎิรูปการปกครองฯ ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเองแต่ได้คืนอำนาจปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน” นอกจากนี้ยังประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
00.19 น. มีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรีเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง (เหตุการณ์นี้ภายหลังมีการเผยแพร่ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวซึ่งไม่สามารถฟังพระสุรเสียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตรัสกับ พล.อ. สนธิ ได้อย่างชัดเจนออกมา)
คปค. ยังคงทยอยออกคำสั่งและประกาศเป็นระยะตลอดคืนจนถึงวันรุ่งขึ้นซึ่งถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ประกาศฉบับสำคัญคือให้ทหารทุกนายรายงานตัว ณ ต้นสังกัด ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังโดยเด็ดขาดและยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 (ฉบับที่ 3) ให้อำนาจในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้า คปค. คือพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. (ฉบับที่ 4) ห้ามการชุมนุมทางการเมือง (ฉบับที่ 7) ให้กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร(ไอซีที) ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลในเครือข่ายการสื่อสารทั้งหมด (ฉบับที่ 10)
แต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ของ คปค. โดยให้ พล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็นประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้า คปค. พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 1 พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 2 พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 3 พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเลขาธิการ คปค. (ฉบับที่ 11)
9.00 น. วันที่ 20 กันยายน 2551 แกนนำ คปค. แถลงข่าวทางสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกโดยมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถขนาดใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหลัง ย้ำสาเหตุยึดอำนาจและยืนยันว่าจะเร่งปฎิรูปการเมืองโดยเร็วที่สุด ช่วงบ่ายยังเชิญเอกอัครราชทูตและอุปทูตจากประเทศต่างๆ เข้าพบเพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน โดยมีการย้ำกับคณะทูตว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวภายใน 2 สัปดาห์เพื่อให้มีรัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุด
มีการเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 400 คนเข้าซักถามโดยแถลงย้ำว่าคณะรัฐประหารวางแผนยึดอำนาจล่วงหน้าเพียง 2 วัน มีแผนยึดอำนาจระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีชั่วคราวภายใน 2 สัปดาห์ จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ส่วนการสอบสวนความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ต่อเรื่องนี้ คปค. มีประกาศ (ฉบับที่ 30) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ นายสัก กอแสงเรือง โฆษก กรรมการที่เหลือคือ นายกล้าณรงค์ จันทิก คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นายจิรนิติ หะวานนท์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ นายสวัสดิ โชติพานิช นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายอำนวย ธันธรา มีหน้าที่ “ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ”
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจสอบสัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื่อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการการะทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยในกรณีที่เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ มีพฤติการณ์ว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึด หรืออายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรส และบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้
คณะรัฐประหารบริหารประเทศด้วยการออก “ประกาศ คปค.” ฉบับต่างๆ อยู่ 10 วัน ถึง 1 ตุลาคม 2549 ก็ประกาศธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวคือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549” โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้มีทั้งหมด 39 มาตรา มีการกำหนดให้ คปค. เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงทั้งหมดโดยเปลี่ยนสภาพเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) โดยหัวหน้า คปค. จะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะประกาศใช้ในเวลาต่อมา (คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550)
มีการแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ
สื่อต่างประเทศได้เกาะติดสถานการณ์การรัฐประหารครั้งนี้และรายงานข่าวไปทั่วโลก สำนักข่าวจำนวนมากแสดงความประหลาดใจต่อเหตุการณ์ อาทิ BBC พาดหัวข่าวช่วงดึกวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า “ภาพเหนือจริงบนท้องถนนของกรุงเทพฯ” (“Surreal scenes on streets of Bangkok”) เทเลกราฟ ระบุว่า “รัฐประหารแบบคลาสสิก” (“Army mounts coup in Thailand”)
ส่วนสำนักข่าวของสหรัฐอเมริกา CNN พาดหัวข่าวว่า “ผู้บัญชาการกองทัพไทยก่อรัฐประหารขณะนายกรัฐมนตรีอยู่ต่างประเทศ” (Thai army chief leads coup while prime minister away”) นิตยสารไทมส์ ฉบับออนไลน์พาดหัวว่า “รัฐประหารอันครื้นเครงในประเทศไทย” ( “A festive coup in Thailand”)
วันรุ่งขึ้นยังมีการรายงานถึงผู้คนออกมาถ่ายรูปกับรถถัง มอบดอกไม้และอาหารให้ทหาร ชื่อคณะรัฐประหารยังถูกรายงานแตกต่างกันไปในสื่อต่างประเทศ อาทิ เดอะการ์เดี้ยน (The Guardian) แปลชื่อ คปค. ว่า “Council of Administrative Reform” เอพี (Association Press) แปลแบบเดียวกับการ์เดี้ยนแต่ขยายว่า “คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นประมุข” (“with king Bhumibol Adulyadej as head of state”) อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน (International Herald Tribune) แปลว่า “คณะปฏิรูปการปกครองอันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจได้ยึดอำนาจในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” (“a ‘Council of Administrative Reform’ including the military and the police had siezed power in the name of the King Bhumibol Adulyadej.”) และบางครั้งยังแปลว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ” ความสับสนเหล่านี้ส่งผลให้คณะรัฐประหารเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (CDRM) ด้วยการตัด “under Constitutional Monarchy” ออกในเวลาต่อมา
หลังเหตุการณ์รัฐประหารมีการแสดงการสนับสนุนและต่อต้านจากหลายฝ่าย อาทิ นักธุรกิจนายหนึ่งพ่นสีทั่วรถบีเอ็มดับเบิ้ลยูว่า “พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย” และ “กองทัพเพื่อประชาชน” ทั้งนี้เสียงนักธุรกิจในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะเห็นด้วย ยังมีกลุ่มสนับสนุนจากแวดวงวิชาการอาทิ นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ขณะนั้น) ที่กล่าวสนับสนุนอย่างชัดเจนว่า “อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้วและรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ ความจริงรัฐธรรมนูญถูกฉีกมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ”
ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อประเด็นการรัฐประหารว่า ผู้ที่รัฐประหารสำเร็จถือเป็น “องค์อธิปัตย์” โดยไม่กล่าวถึงความผิดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด
หลังจากนั้นก็มีความพยายามอธิบายความชอบธรรมของการรัฐประหารครั้งนี้จากนักวิชาการจำนวนมาก ส่วนเสียงฝ่ายต่อต้านปรากฏขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 เช่นกัน ในวันนั้น ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่ทั้งสองคนก็ถูกทหารรวบตัวขึ้นรถไป ต่อมา “เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร” เปิดตัวทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในวันที่ 22 กันยายน โดยไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องใดในขณะนั้นรายงานข่าวเรื่องนี้
25 กันยายน 2549 เวลา 17.00 น. มีการประท้วงที่ลานหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และจัดเสวนาในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" โดย "กลุ่มโดมแดง" และเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
30 กันยายน เกิดเหตุการณ์แท็กซี่ซึ่งทราบชื่อผู้ขับภายหลังว่า นายนวมทอง ไพรวัลย์ พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อประท้วงคณะรัฐประหารแต่ไม่ประสบความสำเร็จ (ต่อมานวมทองได้ผูกคอตายประท้วงอีกครั้งจนเสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม 2549) ยังมีผลสำรวจความเห็นของประชาชนจากสำนักโพลอย่าง “สวนดุสิตโพล” สอบถามประชาชนทั่วประเทศ 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน 2549 พบว่าประชาชน 83.98% เห็นด้วยกับการรัฐประหารเนื่องจากมองว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนที่ไม่เห็นด้วย มีมองว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำ
การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นการ “รัฐประหาร” อันหมายถึงยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐบาลเดิม และรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วตั้งรัฐบาลใหม่และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทน มิใช่การ “ปฏิวัติ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 11 หลังไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่วางไว้ในเดือนตุลาคม 2549 ถูกยกเลิก พ.ต.ท. ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งและเดินทางไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีก นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 มีการแต่งตั้ง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยผู้ร่างส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนจะมีการทำประชามติและได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่จนมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550
การรัฐประหารครั้งนี้ยังคงส่งผลทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน คนไทยมีการแบ่งเป็นฝ่ายอาทิ กลุ่มต่อต้านทักษิณที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มรักทักษิณที่นำโดยแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นอกจากสองกลุ่มใหญ่นี้แล้วยังมีกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารแต่ไม่เอาทักษิณ กลุ่มที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งไม่ค่อยถูกสื่อมวลชนกล่าวถึงบ่อยนัก
ที่มา
วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ . รัฐประหาร ทางออกสุดท้ายของการเมืองไทยยุคทักษิณ. นิตยสารสารคดี ปีที่ 22 ฉบับที่ 260 ตุลาคม 2549.
สมุดปกขาว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ. เหตุยึดอำนาจ. 2549.
ประชาไท, คุมตัว ‘ฉลาด’ ฐานชุมนุมเกิน 5 คน, 20 กันยายน 2549
Associated Press, Protesters Gather to Denounce Thai Coup, AP claims over 100 protesters.
The Bangkok Post, Rally draws 20 anti-coup protesters, Claims 20 protesters.
The Nation, Public stages its first protest, Claims nearly 100 protesters. 22 September 2006.
The Nation, New political rally called to test CDRM, 25 September 2006.
มติชนรายวัน .ชุมชนคนออนไลน์ในคืนปฏิวัติ. 25 กันยายน 2549.
กรุงเทพธุรกิจ กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวงคปค.คืนสิทธิเสรีภาพ, 25 กันยายน 2549.
The Bangkok Post, UN says Thai coup violating human rights, 25 September 2006.
Associated Press, Thai coup leaders criticize media, 29 September 2006.
ผู้จัดการออนไลน์, คมช.เดือด! ขู่จัดการเฉียบขาด ทีวี-วิทยุ กระบอกเสียงให้ “แม้ว”, 10 มกราคม 2550.
The Nation, Community radio stations shut down, 22 September 2006.
Jinks and Malespine, Beth and Laurent, "Thailand Coup Leader Sondhi Says Government Corrupt (Update2)", Bloomberg.com, 20 September 2006.
เดลินิวส์, ฮิตไม่เลิกถ่ายรูปคู่รถถัง-ทหาร แถมกลายเป็นจุดท่องเที่ยว, 24 กันยายน 2549.
หนังสือแนะนำ
รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก , มกราคม 2550 .
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทย . กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 4 , 2549.
วาสนา นาน่วม. ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย. กรุงเทพฯ : มติชน , 2551.