เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
ผู้เรียบเรียง อุเชนทร์ เชียงเสน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
“เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” เป็นการรวมตัวของนักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีการประชุมและจัดตั้งเครือข่ายฯ ขึ้นทันทีหลังจากการรัฐประหารเพียง 1 วัน และออกแถลงการณ์เรียกร้อง รณรงค์ให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งนี้จุดยืนหลักที่มีร่วมกันของผู้เข้าร่วมก่อตั้ง ถูกประกาศผ่านแถลงการณ์ ในวันที่ 20 กันยายน 2549 ว่า การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” และมีท่าทีต่อคณะรัฐประหารดังต่อไปนี้
- เราไม่ยอมรับบทบาททางการเมืองของทหารในการเข้าแทรกแซงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างเพื่อเข้ามาคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม เนื่องจากเราเห็นว่าความขัดแย้งทางความคิด และการแสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย ทหารไม่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะ และเป็นการทำลายพัฒนาการประชาธิปไตย และ การแก้ปัญหาทางการเมืองใดๆที่เกิดขึ้น ควรดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ตามวิถีและหลักสากลของประชาธิปไตย
และเรียกร้องให้ “ทหารที่ก่อการกลับสู่ต้นสังกัดและยุติบทบาททางการเมือง และหยุดแทรกแซงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งในการพูด การแสดงออก และกลับสู่กระบวนการการเมืองตามปกติก่อนการยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549” [1]
โดยเครือข่ายฯ ได้นัดรวมตัวต่อต้านรัฐประหารเป็นครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน 2549 หน้าสยามพารากอน และดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการชุมนุม จัดเวทีอภิปราย รณรงค์ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหาร โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ ได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกผู้เข้าร่วม และ โครงสร้างองค์กร
สมาชิกหรือผู้เข้าร่วม
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมในเครือข่ายฯ ส่วนใหญ่เป็น “นักกิจกรรมรุ่นใหม่” ที่เติบโตมานับตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน และเป็นเครือข่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้านี้ แต่ผู้ปฏิบัติงานหลักหรือผู้ประสานงานส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งผ่านพ้นชีวิตของนักกิจกรรมนักศึกษาไม่นานนัก ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งได้เคยพยายามออกมาต่อต้านการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การการใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ การเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองสถาบันของพระมหากษัตริย์หรือทหาร
โดยเมื่อพิจารณาจากองค์กรหรือกลุ่มที่เข้ามาร่วมกิจกรรมหรือสนับสนุนเครือข่ายฯ จะพบว่า มีกลุ่มย่อยๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. กลุ่มโดมแดง เป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระเล็กๆ ของนักศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านรัฐประหารเป็นการเฉพาะ
2. ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา เป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดทำวารสาร QUESTIONMARK จัดตั้งขึ้นก่อนการรัฐประหาร
3. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน เป็นการรวมตัวของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน หรือประชาชนโดยทั่วไป โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวในการต้านรัฐประหารที่มีบทบาทสำคัญส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา
4. เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์พฤษภา 35 ประกอบด้วยผู้คนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งปัจจุบันมีทั้งส่วนที่เป็นนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องของปัจเจก มีลักษณะเฉพาะกิจ และมีขอบเขตกิจกรรมที่จำกัด เช่น การออกแถลงการณ์ เป็นต้น
5. กลุ่มวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งมิได้หมายถึง ทีมงานของวารสารฟ้าเดียวกัน ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเท่านั้น แต่ถึงรวมเครือข่ายของผู้อ่าน นักวิชาการต่างๆ ที่กลุ่มวารสารฟ้าเดียวกันสามารถระดมการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ได้
6. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำกิจกรรมทางการเมือง
7. กลุ่มกรรมการปฏิรูป เป็นการรวมตัวของกรรมกรและองค์กรที่ทำงานกับสหภาพแรงงาน ก่อตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจหลังจากการรัฐประหาร และต่อมามีสหภาพแรงงานฯ คือ สหพันธ์แรงงานแรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นส่วนอื่นที่เหลือ เป็นปัจเจกชนที่ไม่มีสังกัดองค์กรที่แน่นอน กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นนักศึกษา นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เป็นต้น
โครงสร้างองค์กรและกระบวนการตัดสินใจ
ลักษณะที่สำคัญของเครือข่ายฯ คือ การมีลักษณะการรวมกันเป็น “เครือข่าย” หลวมๆ โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกันเพียงประการเดียวคือ “การคัดค้าน/ต่อต้านรัฐประหาร” และใช้เป้าหมายดังกล่าวนี้ในการระดมคนเข้าร่วมกิจกรรมหรืออื่นๆ ทั้งนี้ แต่ละคนหรือองค์กรที่เข้าร่วมก็จะมีอิสระในการดำเนินงานกิจกรรมของตนเอง ส่วนกิจกรรมของเครือข่ายฯ มาจากการตกลงหรือประชุมร่วมกัน โดยมี “ผู้ประสานงาน” เป็นคนรับผิดชอบในการประสานงาน
โดยในช่วงแรก คือ หลังจากการรัฐประหาร (กันยายน 2549 –เมษายน 2550) มีผู้ประสานงาน 5 คน ประกอบด้วย
- (1.) นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา
- (2.) นางสาวชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- (3.) นายสุวิทย์ เลิศไกรเมธี นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- (4.) นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานนอกระบบ
- (5.) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา[2]
ต่อมาได้มีความขัดแย้งภายในเครือข่ายฯ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้ประสานงานเพื่อทำงานต่อไป คือ รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงที่ 2 (มิถุนายน-สิงหาคม 2550) มีผู้ประสานงาน 3 คน ประกอบด้วย
- (1) นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกลุ่มโดมแดง
- (2) นางสาวอุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากพรรคแนวร่วมภาคประชาชน
- (3) นายภัทรดนัย จงเกื้อ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.)
โดยมีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา เป็นกองเลขานุการและฝ่ายรณรงค์
แม้จะมีผู้ประสานงานก็ตาม แต่การรวมตัวเป็นลักษณะ “เครือข่าย” นี้ การตัดสินใจอาศัยการประชุมและการตัดสินใจร่วมกันของผู้ที่เข้าร่วมหรือผู้ปฏิบัติงานเป็นด้านหลัก ต่อมาเมื่อมีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านรัฐประหารมากขึ้น และมีการรวมกลุ่มองค์กรต่างๆ เป็น “องค์กรร่ม” คือแนวร่วมประชาชนต่อต้านรัฐประหาร (นป.ตร.) และเปลี่ยนมาเป็นแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ในเดือนพฤษภาคม 2550 ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่ผู้ประสานงานและผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องการที่จะเข้าไปร่วมกับ “องค์กรร่ม” ที่ตั้งขึ้นที่ใหม่ โดยประเมินว่า การรวมพลังแนวร่วมดังกล่าวจะมีพลัง “เพียงพอ” ในการ “โค่นล้ม” รัฐบาลเผด็จการคมช.ได้ แต่ขณะอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ควรจะดำรงความเป็นอิสระของตนเองเอาไว้ และเน้นไปที่การรณงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น[3] ทำให้ส่วนหนึ่งจึงออกไปร่วมการเคลื่อนไหวกับ นปก. ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังคงยืนยันที่จะรวมตัวกันและดำเนินกิจกรรมในนาม “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” ต่อไป โดยมีการเลือกผู้ประสานงานขึ้นมาใหม่ (หมายถึงผู้ประสานงานในช่วงที่ 2) และมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยมีองค์กรย่อยๆ เข้ามาอยู่ในเครือข่ายที่ชัดเจน คือ ประกอบด้วย
- (3) กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- (8) ศูนย์ประสานงานนักธุรกิจ นักวิชาการประชาธิปไตยเพื่อการรณรงค์ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
โดยที่ตำแหน่งผู้ประสานงานจะมาจากตัวแทนองค์กรที่เข้าร่วม แทนที่จะเป็นปัจเจกอย่างในช่วงแรก เพื่อให้การตัดสินใจในการดำเนินการของเครือข่ายฯ “ขึ้นต่อ” การตัดสินใจของกลุ่มย่อยๆ ที่เข้าร่วมมากขึ้น[4] แต่ในทางปฏิบัติการตัดสินใจที่สำคัญจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของทุกคนที่อยู่ในองค์กรย่อยๆ และผู้ปฏิบัติงานที่เป็นปัจเจก อย่างเช่น การกำหนดเป้าหมาย กิจกรรมในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กลุ่มที่เข้ามาร่วมกันรณรงค์ก็ยังคงความอิสระของตนเองไว้ได้อย่างเต็มที่ และเครือข่ายฯ จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน/หนุนเสริมกลุ่มย่อยๆ ในเครือข่ายฯ
ทรัพยากร
การจัดกิจกรรมของเครือข่ายฯ ในช่วงแรก ทั้งในรูปแบบของการจัดการชุมนุมย่อย การจัดเวทีเสวนา ไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยค่าใช้จ่ายหลักที่ปรากฏ คือ ค่าเครื่องเสียง ค่าเช่ารถทำเวทีกรณีมีการเดินขบวน (รถสี่ล้อหรือหกล้อเล็ก) ค่าถ่ายเอกสารแถลงการณ์ ค่าจัดทำจดหมายข่าว ค่าประสานงานบางส่วน ได้มาจากการขอรับบริจาคจากผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว
ขณะที่การระดมผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นก็กระทำผ่านกลุ่มย่อยๆ ที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายฯ โดยใช้การสื่อสารผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว อีเมลล์ เว็ปไซต์ต่างๆ เช่น ประชาไท ฟ้าเดียวกัน โดยการจัดการชุมนุมของเครือข่ายฯ ระดมผู้เข้าร่วมสูงสุดได้ประมาณ 2,000 คน ในโอกาสครบรอบ 6 เดือนการรัฐประหาร วันที่ 18 มีนาคม 2550 เพื่อเดินขบวนไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
ขณะที่ในช่วงที่สอง ช่วงที่มีการวางแผนงานรณรงค์ ทางเครือข่ายฯ ได้นำแนวความคิดไปเสนอและขอความสนับสนุนจากส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ และนักธุรกิจ โดยนักวิชาการจะให้ความสนับสนุนในการเป็นวิทยากรในกิจกรรมการเสวนา ความเห็น/ความคิด บทความ ที่จะนำมาเผยแพร่ในการผลิตสื่อรณรงค์ ขณะที่เครือข่ายนักธุรกิจสนับสนุนงบประมาณ โดย ณ จุดเริ่มต้น สามารถระดมงบประมาณได้ประมาณ 2 ล้านบาท[5] ในการดำเนินงาน โดยงบประมาณเกือบทั้งหมดถูกนำไปผลิตเป็นสื่อสำหรับการรณรงค์
ยุทธศาสตร์และกิจกรรม
ช่วงแรก (กันยายน 2549 –เมษายน 2550)
บรรยากาศทางการเมืองหลังจากการรัฐประหาร คือ มีผู้คนจำนวนมาก ทั้งสื่อมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการ ออกมาให้การสนับสนุนรัฐประหาร และยืนยันว่าการรัฐประหารเป็นทางออกเดียวในการกำจัด “ระบอบทักษิณ” และคณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ผู้คนฝ่ายต่างๆ ที่แม้ไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าที่จะแสดงตัวคัดค้าน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายฯ กล่าวได้ว่า เป็นการพยายามที่จะท้าทายอำนาจหรือระเบียบทางการเมืองของคณะรัฐประหาร และพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า การต่อต้านรัฐประหารนั้น “ทำได้”
โดยเครือข่ายฯ ได้การจัดกิจกรรมชุมนุมครั้งแรก ในวันที่ 22 กันยายน 2549 หน้าสยามพารากอน แม้จะไม่ผู้เข้าร่วมมากนัก แต่ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก
วันที่ 25 กันยายน 2549 กลุ่มโดมแดง ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้จัดกิจกรรม “อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติคัดค้านคณะรัฐประหาร” ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยมีการปราศรัย และจัดเวทีเสวนากลางแจ้ง ที่ลานโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 100 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 27 กันยายน 2549 และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 2 ตุลาคม 2549 เครือข่ายฯ ยังได้จัดกิจกรรม "อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร" ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขึ้นบริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก โดยการจัดเสวนาทางการเมืองในหัวข้อ”ทำไมต้องต้านรัฐประหาร” พร้อมเผารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ของ คปค. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการไม่ยอมรับการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ในช่วงเดือนตุลาคม 2549 เครือข่ายฯ ได้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม โดยมีการจัดการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม และ 14 ตุลาคม โดยในครั้งหลังนั้น มีการเดินขบวนเป็นครั้งแรกไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้น ได้จัดกิจกรรมชุมนุมอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งในช่วงเย็นวันเสาร์ ที่บริเวณ “ลานโดม” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2549 ได้ย้ายการชุมนุมมาที่สนามหลวงในทุกเย็นวันอาทิตย์
พร้อมกับการจัดการชุมนุมทุกสัปดาห์ ทางเครือข่ายฯ ก็จะจัดการเดินขบวนเดือนละ 1 ครั้ง เช่น 18 พฤศจิกายน 2549 เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและกองทัพบก 10 ธันวาคม 2549 วันรัฐธรรมนูญ เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 21 มกราคม 2550 เดินขบวนไปยังกองทัพบก 18 กุมภาพันธ์ 2550 เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล 18 มีนาคม 2550 ครบรอบ 6 เดือนรัฐประหาร เดินขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเครือข่ายฯ ถือว่าเป็น “ศูนย์บัญชาการคณะรัฐประหาร” 29 เมษายน 2550 เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อนำผ้าดำไปคลุมพานรัฐธรรมนูญ และอ่าน “คำประกาศ 7 เดือนรัฐประหาร: ประชามติ ล้มรัฐธรรมนูญ เท่ากับล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย”
นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ยังได้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่น ๆ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ทำลายความชอบธรรม ท้าทาย กลไกและกระบวนการต่างๆ ที่คณะรัฐประหารต่อตั้งขึ้น อย่างเช่น กิจกรรมประท้วง/เสียดสีสมาชิกสภานิติบัญญัติ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ที่หน้ารัฐสภา โดยให้ชื่อใหม่เป็น ‘สภารับของโจร’ หรือ "สภาตรายาง" พร้อมนำบี๊ป ไปมอบในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่นักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้นำแรงงาน ที่รับตำแหน่ง สนช . จัดเวทีเสวนา เวทีวิชาการ ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นแนวทาง “บอยคอต” ตามคำอธิบายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทั้งนี้ สมศักดิ์ได้แบ่งท่าทีหรือแนวทางในหมู่ปัญญาชน นักกิจกรรม ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารออกเป็น 2 แนวทาง คือ
แนวทางบอยคอต มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารเป็นตัวแทน ปฏิเสธการรัฐประหารและสิ่งที่ตามมาโดยสิ้นเชิง (รัฐบาล, สนช., คมช., สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่) คือ ไม่ยอมรับ และไม่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ในการผลักดันเสนอความเห็นต่อรัฐธรรมนูญใหม่ อาศัยการเคลื่อนไหวประณามต่อต้านคัดค้านจากภายนอก
แนวทางผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ มีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นตัวแทน แนวทางนี้มีปฏิกิริยาที่ค่อนข้างคลุมเครือ ลังเล ต่อการรัฐประหาร เสนอให้พยายามวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็น เพื่อผลักดันส่งอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมทั้งเคลื่อนไหวในรูปแบบการร่าง "รัฐธรรมนูญทางเลือก", "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน")
โดยสมศักดิ์ เห็นว่า ปัญหาในเชิงท่าทีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันนี้เชื่อมโยงกับปัญหาเชิง "เนื้อหา" เกี่ยวกับการประเมินอนาคตของการรัฐประหาร ซึ่งเขาประเมินว่า
คณะรัฐประหารชุดนี้คงพยายามผลักดันให้การเมืองมีลักษณะแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เหมือนสมัยเปรม (รัฐธรรมนูญ 2521) นั่นคือ การเมืองที่เปิดโอกาสให้ราชสำนักและกองทัพมีอิทธิพลและบทบาทในการกำหนดอย่างประจำ เครื่องมือสำคัญของการเมืองแบบนี้คือ นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาแต่งตั้ง[6]
หากเป็นเช่นนี้ แนวทางที่สอง 2 เกือบจะล้มเหลวอย่างแน่นอน ขณะที่แนวทางบอยคอตมีความสมเหตุสมผลและมีลักษณะเชิง "ปฏิบัติได้" มากกว่า ดังนั้น จึงเสนอให้เครือข่ายฯ ฟ้าเดียวกัน สนนท. "เป็นเจ้าภาพ" เชิญปัญญาชนนักวิชาการและนักกิจกรรมที่คัดค้านการรัฐประหารเข้าร่วมการพูดคุย ถกเถียงร่วมกันเรื่องท่าทีเคลื่อนไหวและการประเมินเชิงเนื้อหาอนาคตของการรัฐประหาร และชักชวนให้กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงทางสังคมให้เห็นด้วยกับแนวทางบอยคอตซึ่งยังขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะจากผู้มี "เครดิตทางสังคม" ทำให้ยังขาดพลัง[7]
ช่วงที่ 2 (มิถุนายน-สิงหาคม 2550)
หลังจากการเคลื่อนไหวในช่วงแรก พร้อมกันกับการเติบโตของกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น และสามารถที่จะระดมคน ทรัพยากรได้มากกว่า และมีความขัดแย้งภายใน ส่วนที่ยังคงยืนยันว่าจะดำเนินกิจกรรมในนามเครือข่ายฯ ต่อไป ได้ร่วมกันวางแผนงานในการจัดการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าท้ายที่สุด การประชามติจะเป็นเวทีการต่อสู้ที่สำคัญ[8] โดยเสนอว่า
- สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแล้ว การลงประชามติรับ/ไม่รับ รัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร แม้อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการยอมรับกระบวนการ กติกา ที่คณะรัฐประหารกำหนดขึ้นในระดับหนึ่งก็ตาม แต่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้ร่วมกันแสดงพลังในการลงประชามติ ล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร เพื่อเป็นการประกาศว่า เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร [9]
โดยได้มีการประชุม ระดมความเห็น เพื่อกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ กิจกรรม และรายละเอียดอื่นๆ ในเดือนมิถุนายน 2550 ได้บทสรุปในการรณรงค์ “ไม่รับร่าง” ดังต่อไปนี้
เป้าหมาย : เพื่อ (1) หยุดยั้งการนำการเมืองไทยกลับไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย การเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของคณะบุคคลซึ่งไม่ผ่านการตัดสินใจของประชนโดยการเลือกตั้ง (2) ยุติวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย กำจัดเมล็ดพันธุ์ของการรัฐประหารในอนาคต และ (3) เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง โดยเครือข่ายฯ จะเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกท่านแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการปฎิเสธ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร และหยุดยั้งการรื้อฟื้นระบอบอำมาตยธิปไตย โดยการร่วมกันลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. วันที่ 19 สิงหาคม 2550 พร้อมกับร่วมกันรณรงค์ผลักดัน และกำหนดให้ คมช. นำรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับมาประกาศใช้ ทั้งนี้ การแก้ไขที่เกิดขึ้นเพื่อประกาศใช้ต้องไม่กระทบสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ในส่วนของการแก้ไขหรือปฏิรูปการเมืองนั้น ให้ดำเนินการโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กิจกรรม: เครือข่ายฯ ได้กำหนด กิจกรรม เพื่อบรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายดังที่วางไว้ว่าการณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ของเครือข่ายฯ จะมุ่งไปที่การกระจายข้อมูลข่าวสาร โต้แย้งการโกหกหลอกลวงต่างๆ อย่างมีเหตุผล ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ คมช. และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างอื่น ทางเลือกของประชาชน มากกว่าการยอมจำนนต่อการข่มขู่คุกคามทางการเมือง โดยมุ่งหวังให้ข้อความ ความคิดเห็นเหล่านี้ กระจายออกไปยังผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีรูปธรรมดังต่อไปนี้ คือ
1. การผลิตสื่อกลาง เช่น คู่มือ สติกเกอร์ โปสเตอร์ เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายที่เป็นองค์กรภาคีหรือองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่มีจุดยืนเดียวกัน นำไปรณรงค์ เคลื่อนไหว ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น นักศึกษาในมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงาน กลุ่มองค์กรชาวบ้าน เป็นต้น
2. การผลิตสื่อโฆษณาเพื่อโต้แย้ง การโฆษณาของ คมช. และส่วนที่เกี่ยวข้องในสื่อต่างๆ
3. การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเพื่อเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมประเด็นเนื้อหา และผู้คนกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
4. ติดตามตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือหยุดยั้งการจงใจบิดเบือน โกหก ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ[10]
นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้กกต.ในฐานะองค์กรที่จัดให้มีการลงประชามติ วางตัวเป็นกลาง โดยการรณรงค์ เชิญชวน ให้ประชาชนไปลงประชามติเท่านั้น ไม่ตกเป็นกลไกในการโฆษณาชวนชวนเชื่อเพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ และในเวทีที่ กกต.จัดการรณรงค์หรือนำเสนอเนื้อหาของรัฐธรรมนูญควรจะเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย/คัดค้าน เข้าไปมีส่วนถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเรียกร้องกับสื่อมวลชนต่างๆ เปิดพื้นที่สำหรับการถกเถียงสำหรับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อถกเถียง และมีข้อมูลอย่างพอเพียงเพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจในการลงประชามติเป็นไปอย่างมีเหตุผล[11]
ทั้งนี้ สำหรับเครือข่ายฯ แล้ว การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. คือ การปฎิเสธ ไม่ยอมรับ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าวไปพร้อมกัน ดังคำขวัญที่ว่า “โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ คือ ล้มการรัฐประหาร” ความคิดดังกล่าวนี้ก็ปรากฏในโปสเตอร์รณรงค์ และในเอกสารเผยแพร่ คู่มือ ที่เครือข่ายฯ จัดทำขึ้น
- 1. การผลิตสื่อรณรงค์
การผลิตสื่อรณรงค์ของเครือข่ายฯ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ทั้งในแง่ของ เนื้อหา ที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นวิชาการ (ใช้ความเห็นของนักวิชาการ) และรูปแบบ “การออกแบบ” ที่นำความรู้ทางด้านกราฟิกดีไซน์มาใช้อย่างมีพลัง เช่น รูปรองเท้าบู๊ททหารย่ำผ่ากลางพานรัฐธรรมนูญจนทะลุเหยียบใบหน้าพลเมืองคนหนึ่ง รูปกระบอกปืนทหารจี้หลังผู้ลงคะแนนที่กำลังหย่อนบัตรด้วยความหวาดกลัว รูปเท้าทหารเหยียบย่ำบนใบหน้าคน จนกระทั่งเป็นที่สงสัยกันว่า เครือข่ายฯ สามารถที่จะผลิตสื่ออย่าง “มืออาชีพ” ได้อย่างไร นักออกแบบที่มีประสบการณ์ในการออกแบบโฆษณา ที่อาสาสมัครออกแบบสื่อให้กับเครือข่ายฯ อธิบายว่า “เราออกแบบโดยคิดถึงชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเป็นทั้งกลุ่มที่ลังเลและอยากได้รับข้อมูลทางเลือกบ้าง” และแสดงความเห็นว่า“โฆษณาคว่ำรัฐธรรมนูญ” นี้ว่า “เหมือนกับการทำงานให้กับ product ที่เยี่ยม แต่ตลาดมันเล็ก แต่เราก็ยังหวังว่า product นี้จะขายดีในตลาดเล็กๆนั้น”[12]
สื่อที่เครือข่ายฯ ผลิตขึ้น ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ คือ
1. คู่มือประชาชน 2 ชุด คือ คู่มือประชาชน โหวตล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร และ คู่มือประชาชน โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก [13]
2. โปสเตอร์ จำนวน 5 ชุด
3. สติกเกอร์รณรงค์
4. แผ่นพับ ขนาดหน้าหนังสือพิมพ์ พิมพ์ 2 สี เสนอเนื้อหา/วิพากษ์วิจารณ์ เช่น ต้นทุนรัฐประหาร/โจทย์ที่แท้จริงของประชามติ[14] ความจริง-ความลวง ของการลงประชามติ[15] 10 คุณประโยชน์ของการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 [16]
5. โฆษณาขนาดเต็มหน้า ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน กว่า 10 ครั้ง
6. เสื้อรณรงค์สีดำ ““โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ คือ ล้มการรัฐประหาร” จำนวนหลายพันตัว กระจายไปตามเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนั้นเยังจัดทำ เวปไซต์ http://www.wevoteno.net เพื่อทำการเผยแพร่การรณรงค์เคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ และเปิดโอกาสผู้คนสามารถที่จะดาวน์โหลดสื่อรณรงค์ทุกชนิดในรูปของไฟล์ Portable Document Format (PDF) นำไปเผยแพร่/รณรงค์ต่อไปได้


นอกจากการผลิตสื่อเพื่อรณรงค์และสนับสนุนการรณรงค์ของกลุ่มต่างๆ แล้ว เครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวของตนเอง พร้อมทั้งผลักดันเรียกร้องให้สื่อต่างๆ เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ในการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
- 2. การจัดเวทีเสวนาวิชาการ
เพื่อเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยน เปิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกสัปดาห์ (วันเสาร์หรืออาทิตย์) โดยเชิญนักวิชาการ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำสหภาพแรงงาน มาเป็นวิทยากร นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงการลงประชามติ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเสนอประเด็นของตนเองผ่านสื่อ[17]
- 3. การใช้ชุดเคลื่อนไหวเร็วรณรงค์ เปิดประเด็น สร้าง-แย่งชิงพื้นที่ข่าว
การใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวเร็วนี้คือ การใช้คนจำนวนไม่มาก เคลื่อนไหวเปิดประเด็น เสนอความเห็นเครือข่ายฯ เพื่อตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และแย่งชิงพื้นที่ในสื่อสาธารณะต่างๆ โดยออกแบบกิจกรรมที่มี “สีสัน” ดึงดูดความสนใจ และใช้เงื่อนไขโอกาส/จังหวะทางการเมืองให้เป็นประโยชน์[18]
- 4. มหกรรม “รวมพลคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร”
เครือข่ายฯ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ได้จัดมหกรรม “รวมพลคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร” ในวันที่ 13 สิงหาคม 2550 ซึ่งถือว่าเป็น “โค้งสุดท้าย” ในการรณรงค์ โดยในช่วงบ่ายได้จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “แลไปข้างหน้า สังคม-การเมืองไทย หลังลงประชามติ 19 สิงหา” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้น ในตอนเย็นได้เดินขบวนตามถนนราชดำเนิน ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการนำผ้าดำรูปรองเท้าบู้ทเหยียบพานรัฐธรรมนูญ เขียนข้อความว่า ‘โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร 19 สิงหาพร้อมกันทุกคูหา’ คลุมอนุสาวรีย์[19] และจัดการปราศรัย แสดงเจตนารมณ์ของกลุ่ม/เครือข่ายต่างๆ

ผลสำเร็จล้มเหลว
ผลการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ปรากฎว่ามีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ 25.98 ล้านคน คิดเป็น 57.61% จากจำนวนผู้มีสิทธิลงประชามติ 45.6 ล้านคน เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 57.81% หรือ 14.7 ล้านคน ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 42.19% หรือ 10.7 ล้านคน
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการประชามติ ตามรายละเอียดข้างต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เข้าร่วมรณรงค์นั้น ผลสำเร็จในแง่ “ชนะการประชามติ” ไม่ใช่เป้าหมายหลักที่ต้องบรรลุให้ได้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากเป็นการประชามติภายใต้กติกาที่ “มัดมือชก” ที่คณะรัฐประหารใช้กลไกรัฐทุกรูปแบบเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกรัฐระดับท้องถิ่นผ่าน กอ.รมน. การใช้สื่อของรัฐให้ข้อมูลด้านเดียว และที่เลวร้ายที่สุดคือการคงกฎอัยการศึกใน 35 จังหวัด แต่การที่ประชาชนลงคะแนนไม่รับร่างถึง 10.7 ล้านคน แม้จะน้อยกว่ารับร่างที่มี 14.7 ล้านคน ก็ตาม แต่เครือข่ายฯเห็นว่า “มีความหมายทางการเมืองอย่างมากต่ออนาคตการเมืองไทย”
นอกจากนั้น เมื่อเครือข่ายฯ วิเคราะห์ผลพิจารณาจากปัจจัยในการรับหรือไม่รับจาก “สวนดุสิตโพล” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต[20] ที่ได้สุ่มสำรวจหน้าคูหาภายหลังการลงคะแนนพบว่า
เหตุผล "เห็นชอบ" มีดังนี้
- ก. รัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่าน่าจะดีกว่าเดิม 16.19%
- ข. ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว/ ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 14.98%
- ค. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น มีส่วนร่วมมากกว่าเดิม 14.57%
- ง. ต้องการให้ประเทศสงบสุข/หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศชาติอาจจะเกิดความวุ่นวาย 9.72%
- จ. ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองไทยให้ก้าวหน้าต่อไป 8.50%
ซึ่งมีเพียง 39.26 % เท่านั้น (ก.+ค.+จ.) ที่รับเพราะเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหลือเป็นเหตุผลอื่นที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารและ “สมุนรับใช้คณะรัฐประหาร” ใช้เป็นเครื่องมือในการ ข่มขู่/หลอกลวง ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญของตน
ขณะที่เหตุผล ไม่เห็นชอบ" มีดังนี้
- ก. เป็นวิธีการรับรองรัฐธรรมนูญที่ผิดให้ถูกต้อง / เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์แบบ / เป็นอัตตาธิปไตย 45.68%
- ข. มีช่องว่างมากเกินไป/บางมาตรามีเนื้อหาไม่ชัดเจน 23.46%
- ค. เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นภาษากฎหมายที่ซ้ำซ้อน /ขาดความเข้าใจที่ชัดเจน 7.41%
- ง.ไม่ชอบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ / ไม่ชอบการปฏิรูปแบบรัฐประหาร 6.17%
- จ. คิดว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ดีกว่า 6.17%
สำหรับเหตุผลที่ไม่เห็นชอบ เกือบทั้งหมด (ยกเว้นในข้อที่ ค. ซึ่งมีเพียง 7.41% เท่านั้น) เกี่ยวข้องกับท่าทีต่อการรัฐประหารและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับการรัฐประหาร ที่มาและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึงระบอบการเมืองที่คณะรัฐประหารต้องการสร้างขึ้นด้วย[21] และผลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การลงประชามติครั้งนี้ มิใช่เป็นเพียงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น แต่รวมถึงท่าทีต่อการรัฐประหาร และระบอบการเมืองที่คณะรัฐประหารพยายามที่จะสร้างขึ้นในอนาคตผ่านร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของเครือข่ายฯ ที่กำหนดขึ้นในการรณรงค์[22]
หากพิจารณาข้อมูลข้างต้น เครือข่ายฯ ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับการรณรงค์ครั้งนี้ บางส่วนรู้สึกประหลาดใจกับจำนวนผู้ลงคะแนน 10 กว่าล้านที่ไม่รับร่าง ซึ่งมากกว่าที่ได้ประเมินไว้มาก แม้ว่าผลที่ออกมาทั้งหมดนี้ มิได้มาจากการณรณรงค์ของเครือข่ายฯ เท่านั้น แต่มาจากหลายส่วน ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยเดิม หรือกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ก็ตาม ทั้งนี้สาเหตุที่เครือข่ายฯ มีความหวังในแง่ “ผลสำเร็จ” เรื่องการได้รับชัยชนะในการประชามติน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริง ที่ว่า สังคมโดยรวม นักวิชาการ ปัญญาชน และโดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งเป็นตัวกลางของในการสื่อสารกับสาธารณะ ตกอยู่ใต้ความกลัว ต่อสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” และความสำเร็จของการรัฐประหารที่ผ่านมาก็เกิดจากความกลัวต่อสิ่งนี้ ดังนั้น เป้าหมายในการชนะ “ประชามติ” จึงเป็นเป้าหมายที่สูงมาก ขณะเดียวกันกลไกรัฐ ที่ถูกควบคุมด้วยคณะรัฐประหารก็ระดมทรัพยกรทุกอย่างเพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ก็กล้าแสดงตัวที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวคัดค้านน้อยมาก นอกจากนั้นก็มีแรงปะทะกับกลุ่มผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ “ระบอบทักษิณ” อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสื่อในเครือผู้จัดการ กลุ่ม (อดีต) พันธมิตรฯ และผู้สนับสนุนต่างๆ
ขณะที่เครือข่ายฯ เป็นเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ในหมู่ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่น้อย ดังนั้น เป้าหมายในทางเป็นจริงจึงเป็นเรื่องของการ “ต่อสู้ทางความคิด” เสียมากกว่า นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งก็หวังว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองบางอย่าง กล่าวคือ
ต้องทำให้การไปมีส่วนร่วมกับเผด็จการของนักกิจกรรม คนที่อ้างตัวเองว่า ‘ภาคประชาชน’ ‘นักประชาธิปไตย’ เป็นบาปและคนไม่ยอมรับ อธิการบดีไปเป็น สนช. ก็ต้องถูกนักศึกษาด่าได้ พยายามจะสร้างบรรทัดฐานและวัฒนธรรมแบบนี้แล้วผลักไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดที่ว่าไม่ว่าปัญหาทางการเมืองจะมีความขัดแย้งอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ[23]
อ้างอิง
- ↑ “แถลงการณ์ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” วันที่ 20 กันยายน 2549, ประชาไท, 20 กันยายน 2549
- ↑ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ลาออกจากผู้ประสานเครือข่ายฯ ในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยอธิบายว่า ภารกิจในการเปิดพื้นที่ในการต่อต้านรัฐประหารประสบความสำเร็จแล้วในขณะนั้น ดังจะเห็นได้จากการมีกลุ่มต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารเพิ่มขึ้นหลากหลายกลุ่ม และตนเองควรจะไปทำภารกิจอื่นต่อไป โดยได้ก่อตั้ง “กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์” ขึ้น เพื่อรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา
- ↑ ความเห็นที่แตกต่างที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการประเมินสถานการณ์และยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เกิดไม่ไว้วางใจเชื่อมั่นในกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาร่วมใน “องค์กรร่ม” ทั้งในแง่ที่มาของบุคคล แนวคิดในการเคลื่อนไหว รวมทั้งปัญหาท่าที่ต่อสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
- ↑ กลุ่มกรรมกรปฏิรูป สหพันธ์แรงงานแรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้เนื่องจากมีภารกิจที่สำคัญของตนในการทำงานกับผู้ใช้แรงงาน จึงไม่สามารถเข้ามาประชุมหรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเครือข่ายฯได้ ขณะที่ศูนย์ประสานงานนักธุรกิจ นักวิชาการประชาธิปไตยเพื่อการรณรงค์ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักธุริกจที่สนับสนุนแนวทางของเครือข่ายฯ แต่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว เนื่องจากเกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง
- ↑ “สัมภาษณ์พิเศษ : เครือข่าย 19 กันยาฯ กับงานรณรงค์ครั้งใหญ่สุดในชีวิต ‘โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ’ “ ประชาไท, 18 กรกฎาคม 2550
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “อะไรต่อไป? สองแนวทางในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในขณะนี้ และข้อสังเกต-ข้อเสนอบางประการ” เน้นตามต้นฉบับ เผยแพร่ครั้งแรกใน เวปบอร์ดฟ้าเดียวกัน วันที่ 18 ธันวาคม 2549
- ↑ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอนี้ ขณะที่ส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะส่วนขององค์กรเคลื่อนไหว ใน “ภาคประชาชน” ทั้งในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรมวลชนอื่นๆ (ที่ไม่ได้อยู่ในส่วนของพันธมิตรฯ หรือแยกตัวออกมาจากพันธมิตรฯ) ก็เน้นไปที่การเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อคณะรัฐประหาร รัฐบาล และผลักดันเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่เป็นส่วนใหญ่
- ↑ ดู บทความของสุวิทย์ เลิศไกรเมธี “เราจะต่อสู้ไปถึงไหน: ประชามติ ‘ล้ม’ รัฐธรรมนูญเผด็จการ คือ ‘คำตอบ’? “ จดหมายข่าวเพื่อการต้านรัฐประหาร ขัดขืน, ฉบับที่ 2 (มีนาคม, 2550), หน้า 10 และ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร “คำประกาศ 7 เดือน รัฐประหารซ ประชามติล้มรัฐธรรมนูญ เท่ากับ ล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย” ประกาศ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 29 เมษายน 2550 ประชาไท, 30 เมษายน 2550 โดยทางเครือข่ายได้ให้ความหมายของการ ไม่รับร่างรับธรรมนูญว่า
การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การล้มเผด็จการ
- การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การทำให้รัฐประหาร 19 กันยา ล้มเหลว
- การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540
- การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ อำนาจเก่าแก่ล้มเหลว
- การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ จึงหมายถึง ล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 และยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย - ↑ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, คู่มือประชาชน โหวตล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร (กรุงเทพฯ: เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, 2550), หน้า 7
- ↑ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร “ใบแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ประชามติโหวตล้มรัฐธรรมนูญ คมช.” 1 กรกฎาคม 2551 แถลง ณ ห้องประชุมชั้น 3 ตึกเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- ↑ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของเครือข่ายฯ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าหากไปใช้สิทธิ์โดยลงประชามติไม่รับร่างฯ เมื่อผลออกมาแล้วปรากฎว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน (ซึ่งเขาประเมินว่า คะแนนรับร่างจะมากกว่าไม่รับอย่างแน่นอน) จะเท่ากับหรือถูกบีบให้ยอมรับเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นด้วย เพราะเป็นผู้ไปร่วมอยู่ในกระบวนการประชามติที่ฝ่ายรัฐประหารเป็นผู้กำหนด จึงเสนอทางเลือกให้รณรงค์ให้นอนหลับทับสิทธิ์ [มีบางคนเสนอในเวปบอร์ดให้ฉีกบัตร ทำลายบัตร หรือทำบัตรเสีย] หรือ “อารยขัดขืน” เพื่อแสดงออกว่าปฏิเสธการลงประชามติและการรัฐประหารไปพร้อมกันด้วย และต่อมา เขาได้วิจารณ์ว่า การรณรงค์นี้แสดงออกของการ “ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่วางแผน-อภิปรายมาอย่างดี” คือ "รายละเอียด" ของเรื่องลงประชามตินี้ไม่เคยมีการอภิปรายถกเถียงอย่างจริงจัง เช่น ประเด็นว่า ควรรณรงค์ให้ไปไม่ลงประชามติหรือไม่? ควรมีการ "อารยขัดขืน" เรื่องการลงมติหรือไม่ (ฉีก-เผาบัตร)? และที่สำคัญ หากผลประชามติ ส่วนใหญ่ออกมาว่า "รับ" จะทำอย่างไร? ควรให้การศึกษาแก่ประชาชนล่วงหน้าหรือไม่ ("แม้ผลจะออกมาว่า รับ เราก็จะไม่ยอมรับประชามตินี้ เนื่องจากเป็นประชามติจอมปลอม")? เป็นต้น ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “สิบเดือนของการต่อต้านรัฐประหาร และ ประเมินสถานการณ์อนาคต”ระยะใกล้” สิบเดือนของการต่อต้านรัฐประหาร และ ประเมินสถานการณ์อนาคต”ระยะใกล้”,ประชาไท, 19 กรกฎาคม 2550
- ↑ ดู ผู้สื่อข่าวพิเศษ “ พลังของกราฟิกดีไซน์กับการให้ความหมายประชาธิปไตย” ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน, 2550), หน้า 64-77 ในงานชิ้นนี้ ได้นำตัวอย่างสื่อของเครือข่ายฯ มาแสดงให้เห็นถึง “พลังของกราฟิกดีไซน์” ได้อย่างดี
- ↑ นำเสนอเนื้อหาในบทความของ ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกุล ธงชัย ที่เสนอว่า โจทย์ที่แท้จริง [ของการประชามติ] คือ คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย และเห็นว่า การต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คือ การปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในกรอบของคมช. ไม่ใช่การยอมรับหรือให้ความชอบธรรมแก่กระบวนการของคมช.แต่อย่างใด การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ คิดอย่างไรกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย และเสนอให้คนที่ไม่ต้องการระบอบทหารครองเมือง มาร่วมกันออกเสียง "ไม่รับ" เพื่อบอกทหารว่า "กลับกรมกองเสียเถิด อย่าให้ประเทศชาติพินาศไปกว่านี้เลย" ดู ธงชัย วินิจจะกูล “โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก” กรุงเทพธุรกิจ , 17 กรกฎาคม 2550
- ↑ เสนอข้อมูลด้วยกราฟิก การใช้งบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มมากขึ้น การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎอัยการศึก การปิดเวปไซต์ เปรียบเทียบงบประมาณทหารกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในช่วงของรัฐบาลทหาร และสรุปรวบยอด/ดัดแปลงบทความของธงชัย “โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติ”
- ↑ เป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่หักล้างข้อมูลของฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ โดยดัดแปลงเนื้อหาจากการอธิบายของนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นที่ว่า “ผมอยากให้พวกเราดูว่า ของที่มีอยู่ ที่เห็นอยู่ขณะนี้กับของอีกอันหนึ่ง ซึ่งเขาซ่อนไว้ข้างหลัง ท่านจะเลือกอันไหน ซึ่งของที่ซ่อนไว้ข้างหลังอาจจะไม่ดีเท่ากับสิ่งที่มีอยู่ในเวลานี้” โดยนำมาดัดแปลงเป็นรูปการ์ตูน และโต้แย้งคำอ้างของฝ่ายต่างๆ โดยทำการแยกระหว่าง ความลวง [ซึ่งเป็นของคนกลุ่มแรก] vs ความจริง [ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งของเครือข่ายฯ]
- ↑ นำเสนอในลักษณะ “เสียดสี” ว่า ถ้ารับร่างแล้วจะได้ “ประโยชน์”อะไรบ้าง ในเนื้อหาจะยกเนื้อหาแต่ละมาตรามานำเสนอ โดยเสนอ “ประโยชน์” ตามหัวข้อดังต่อไปนี้ 1) เพื่อต่อท่ออำนาจรัฐประหาร 2) เพื่อสืบทอดกฎหมายเผด็จการ 3) เพื่อทำสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นถูก 4) เพื่อดึงตุลาการมาเล่นการเมือง 5) เพื่อความชอบธรรมในการเพิ่มงบประมาณทหาร 6) เพื่อรองรับกฎหมายความมั่นคง 7) เพื่อกีดกัน ส.ส. หน้าใหม่ 8) เพื่อลดความสำคัญนโยบายพรรคการเมือง 9) เพื่อการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย 10) เพื่อรับรองการรัฐประหารในอนาคต
- ↑ เช่น 1 กรกฎาคม 2550 จัดงานแถลงข่าว “เปิดตัว” กิจกรรมรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการเสวนาในหัวข้อ “ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่?” 8 กรกฎาคม 2550 จัดงานเสวนาเรื่อง “สังคมการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร?” 21 กรกฎาคม 2550 จัดงานเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญปี 2550 คุ้มครองสิทธิแรงงานจริงหรือ?” , 30 กรกฎาคม 2550 การเสวนาเรื่อง “ประชามติที่ดี ควรเป็นอย่างไร?” , 6 สิงหาคม 2550 จัดเสวนาเรื่อง “อนาคตสังคมไทยหลังประชามติ”
- ↑ เช่น 28 มิถุนายน 2550 เมื่อคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับ มีเนื้อหาว่า รวมพลังลงประชามติ “เห็นชอบ” รัฐธรรมนูญใหม่ให้เมืองไทยมี “การเลือกตั้ง” เครือข่าย 19 ฯ ได้ไปรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา ประท้วงโฆษณาดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงการโกหกและบิดเบือนข้อเท็จจริง
11 กรกฎาคม 2550 สืบเนื่องจากกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่ออกมารณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จัดกิจจกรรม “บรรยายสาธารณะ”เรื่อง “การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ณ บริเวณหน้าที่ทำการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ “ความรู้” กับกรรมการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับเรื่องการประชามติ
1 สิงหาคม 2550 กรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญได้จัดงาน ร้อยรวมดวงใจ รัฐธรรมนูญใหม่ของปวงชน บริเวณลานด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ ได้นำเอกสารรณรงค์ต่างๆ ไปแจกในงานดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า เป็นการถ่วงดุลข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อมูลกับประชาชนที่มาในงานเกี่ยวกับเรื่องประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่มากไปกว่าการให้ข้อมูลของรัฐบาล และบุกยื่นหนังสือกับประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายนรนิติ เศรษฐบุตร ซึ่งมาร่วมงาน
5 สิงหาคม 2550 รัฐบาลและสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัด “มหกรรมประชาธิปไตย” ที่เมืองทองธานี เครือข่ายฯ และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ได้เข้าไปแจกเอกสารในบริเวณงาน เชิญชวนให้ไปลงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหาร และเข้าไปชูป้ายโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญที่หน้าเวทีใหญ่ - ↑ การออกแบบผู้คลุมนี้ เพื่อต้องการเสนอในทางสัญลักษณ์ โดยให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้จัดกำลังคนไว้จำนวนหนึ่งที่อนุสาวรีย์เพื่อให้ไม่ถูกปลดลงทันทีหลังจบกิจกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้สามารถคลุมอนุสาวรีย์ได้จนถึงเช้าอีกวันหนึ่ง
- ↑ มติชนรายวัน, 20 สิงหาคม 2550, หน้า 15
- ↑ แถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร “ความชอบธรรมของ ประชาชน 10,419,912 คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร” 20 สิงหาคม 2550
- ↑ อุเชนทร์ เชียงเสน ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านั้นว่า “คนอาจจะโหวตไม่รับด้วยเหตุผลหลายอย่าง เราขอให้เหตุผลแบบเราเป็นเหตุผลต้นๆ เหตุผลหนึ่งในการไม่รับ” ดู “สัมภาษณ์พิเศษ : เครือข่าย 19 กันยาฯ กับงานรณรงค์ครั้งใหญ่สุดในชีวิต ‘โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ” ประชาไท, 18 กรกฎาคม 2550
- ↑ “สัมภาษณ์พิเศษ : เครือข่าย 19 กันยาฯ กับงานรณรงค์ครั้งใหญ่สุดในชีวิต ‘โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ” ประชาไท, 18 กรกฎาคม 2550