สภาร่างรัฐธรรมนูญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง สิฐสร กระแสร์สุนทร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทย โดยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดที่ใช้เป็นแนวทางในการบริหารและปกครองบ้านเมือง และการศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีพัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ. 2475 จนถึงฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 โดยประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ฉบับ ที่ผ่านการร่างจาก “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”


สภาร่างรัฐธรรมนูญ

สภาร่างรัฐธรรมนูญถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อภารกิจเฉพาะ ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด สำหรับความหมายของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” คณิน บุญสุวรรณ[1] ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง สภาแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์[2] ให้ความหมายไว้คล้ายกันว่า คณะบุคคลที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ มักเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือเป็นกรณีที่ต้องการประสานประโยชน์ ให้ตรงตามความประสงค์ของบุคคลทุกฝ่ายมากที่สุด

ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยแล้ว พบว่า ประเทศไทยเราเคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 ที่จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 และสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดสุดท้าย ซึ่งเป็นชุดที่ 4 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549

หากจะพิจารณาถึงผลดีของการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ[3] คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลจากหลายอาชีพทำให้ได้ความเห็นที่หลากหลาย สภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสามารถทุ่มเทเวลาโดยไม่ต้องกังวลกับงานอื่น อีกทั้งเป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง และช่วยประสานประโยชน์กันทุกฝ่าย

สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1-4

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1[4] จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ต่อสภา เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 ประเภท ๆ ละ 5 คน คือ 1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (ประเภททั่วไป) 2) ผู้ที่ดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า 3) ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี 4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และยังกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 จากนั้นดำเนินการเปิดการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต โดยที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2492 เสนอโปรดเกล้าและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2[5] จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 โดยรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกด้วย โดยมีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวนอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้นอีกด้วย แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน นับได้ว่าเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกก็ว่าได้[6] เพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511) ในระหว่างนั้นมีการเลือกตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือ นายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 เนื่องจากการอสัญกรรมของประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนเดิม สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3[7] จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 โดยมีหลักการและอำนาจหน้าที่สำคัญดังนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน (ขณะนั้นประเทศไทยมี 76 จังหวัด) รวมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ จำนวน 23 คน เป็น 99 คน มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ กำหนดให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลา 240 วันนับแต่วันที่มีสมาชิกครบจำนวน ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนในการทำหน้าที่เป็นสำคัญ และให้สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดพื้นฐานอันนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป รัฐสภาดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดละ 1 คน (จากประชาชนที่สนใจสมัครและคัดเลือกกันเองแล้วจนเหลือเป็นผู้แทนจังหวัดละ 10 คน) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่หนึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้งฉบับ ผ่านการลงมติให้ความเห็นชอบ และส่งมอบให้ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 จากนั้นมีการประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 4[8] จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 จากเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแทนฉบับเดิม โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยมีจำนวนสมาชิกที่มาจากการสรรหาจากทุกภาคส่วน จำนวนทั้งสิ้น 1,982 คน จากนั้นให้ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน แล้วให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน เพื่อไปเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน ทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ[9] สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 18) และต้องเสนอความเห็นพร้อมกับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการออกเสียงลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ / ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 และมีมติเลือก นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ และจัดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 โดยผลการลงประชามติปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ 14,727,306 (คิดเป็นร้อยละ 57.81) มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เห็นชอบ ซึ่งมีคะแนนเสียง 10,747,441 (คิดเป็นร้อยละ 42.19) จากนั้นจึงประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับด้วยกัน ฉบับสำคัญ ๆ ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญมีดังนี้[10]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (ฉบับที่ 4) เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ชั่วคราว หลังจากเหตุการณ์การรัฐประหารของคณะรัฐประหาร นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีการแก้ไขปรับปรุงจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน โดยการแก้ไขในครั้งที่ 2 ได้มีการแก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร และวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ขึ้น ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ของประเทศ แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 นี้ มีระยะเวลาในการบังคับใช้เพียง 2 ปี 8 เดือน ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร นำโดยพลเอกผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 เป็นรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 ที่ผ่านการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และประกาศยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเดิม (ฉบับที่ 6) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 แทน ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 นี้เองที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอีกชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่นิติบัญญัติร่วมด้วย สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 8 ซึ่งผ่านการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีการประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 มีระยะเวลาในการบังคับใช้เพียง 3 ปี 4 เดือน แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ระยะเวลาในการร่างยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัตินำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยเป็นรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 3 ที่ผ่านการร่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในขณะนั้นมีการเรียกร้องจากประชาชนให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น สกัดกั้นนักการเมืองที่ซื้อเสียง และหวังเข้าไปคอร์รัปชัน[11]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบันที่ประชาชนไทยยึดถือและปฏิบัติอยู่ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 4 ที่ผ่านการร่างจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรานั้น มีพัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน ประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 ฉบับ ที่ผ่านการร่างด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีที่มาแตกต่างกันออกไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแต่ละสมัย

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย, กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 922.
  2. กาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฏหมาย เรื่อง 4 การจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพ ฯ : สถาบันพระปกเกล้า องค์การค้าคุรุสภา, 2544 หน้า 95.
  3. สภาร่างรัฐธรรมนูญ, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D , (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)
  4. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), กรุงเทพ ฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517, หน้า 594, 620-621, 633-634.
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 925-926, 633.
  6. คณิน บุญสุวรรณ, เรื่องเดิม, หน้า 923.
  7. คณิน บุญสุวรรณ, เรื่องเดิม, หน้า 923-924.
  8. วัฒนะ คล้ายแก้ว, ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปีพุทธศักราช 2550 ของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต(พัฒนาสังคม), คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2550, หน้า คำนำ.
  9. สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2550 ,(สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)
  10. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ประวัติรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 3-9, 12-16, 23-29, 98-109.
  11. สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2539 ,(สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)”. กรุงเทพ ฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2547) “ประวัติรัฐธรรมนูญ”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

บรรณานุกรม

กาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์, (2544) “สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฏหมาย เรื่อง 4 การจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, องค์การค้าคุรุสภา.

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)”. กรุงเทพ ฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง.

วัฒนะ คล้ายแก้ว, (2550) “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปีพุทธศักราช 2550 ของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”. ภาคนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม), คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

“สภาร่างรัฐธรรมนูญ”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)

“สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2539 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)

“สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2550 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552)

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2547) “ประวัติรัฐธรรมนูญ”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

ดูเพิ่มเติม


หน้าหลัก | กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ