โนโหวต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


โนโหวต หมายถึงการออกเสียงเลือกตั้ง โดยกากบาทในช่อง “ไม่เลือกใคร” เป็นปรากฎการณ์การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งมีจำนวนสูงมากถึง 10 ล้านเสียง จากคะแนนทั้งหมดประมาณ 28 ล้านเสียง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเขตเลือกตั้งถึง 36 เขต มีสมาชิกสภาผู้แทนได้ 36 คน พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งทั้ง 36 เขต แต่มีเพียง 9 เขตเท่านั้น ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนสูงกว่าคะแนน “โนโหวต” ส่วน 27 เขต มีคะแนนน้อยกว่าคะแนน “โนโหวต” ถ้าดูจำนวนตัวเลขของผู้ไปใช้สิทธิ์จะมีจำนวน 2.6 ล้านคน ผู้ออกเสียง “โนโหวต” มีจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคสำคัญ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ปฏิเสธที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกับพรรคไทยรักไทย เนื่องจากเห็นว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ไม่มีเหตุผลอันสมควร เพราะไม่มีเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาจากสมาพันธ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และผู้จัดรายการโทรทัศน์ “เมืองไทยรายสัปดาห์”พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม รวมทั้งผู้นำขบวนการประชาธิปไตยคนอื่นๆ ว่าไม่แจ้งทรัพย์สินตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเนื่องมาจากกรณีขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริช ในเครือชินคอร์ป ให้กับบริษัทเทมาเส็ก ของรัฐบาลสิงคโปร์ และพยายามเบี่ยงเบนประเด็น โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นการฟอกตัว พรรคฝ่ายค้านทั้งสามดังกล่าวจึงไม่ยอมเล่นเกมดังกล่าวด้วย และพยายามรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยออกเสียงในช่อง “ไม่เลือกใคร”

ในอีกมุมมองหนึ่ง การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในระยะกระชั้นชิด พรรคฝ่ายค้านย่อมอยู่ในฐานะเสียเปรียบพรรครัฐบาล ซึ่งมีความพร้อมด้านการเงินและเสียงสนับสนุนกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายประชานิยมมาอย่างแข็งขันและต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปีเศษ และสามารถคุมกลไกรัฐได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ