การจัดซื้อจัดจ้าง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย  เจตน์  ดิษฐอุดม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของการจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ให้นิยามการซื้อและการจ้างเอาไว้เพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่ตรงกันและเพื่อสะดวกในการปฏิบัติยิ่งขึ้น ดังนี้[1]   

การซื้อ หมายความว่า การซื้อพัสดุทุกชนิดทั้งที่มีการติดตั้ง ทดลอง และบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ แต่ไม่รวมถึงการจัดหาพัสดุในลักษณะการจ้าง

การจ้าง หมายความรวมถึง การจ้างทำของและการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจ้างเหมาบริการ แต่ไม่รวมถึงการจ้างลูกจ้างของส่วนราชการตามระเบียบของกระทรวงการคลัง การรับขนในการเดินทางไปราชการตามกฎหมายว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบและควบคุมงาน และการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สำหรับการพัสดุ หมายความว่า การจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบและควบคุมงาน การแลกเปลี่ยน การเช่า การควบคุม การจำหน่าย และการดำเนินการอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนแต่เฉพาะการซื้อและการจ้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัสดุเท่านั้น ไม่รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ อาทิ    การจ้างที่ปรึกษา การแลกเปลี่ยน การจำหน่าย ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นการควบคุมกระบวนการพัสดุทั้งระบบของหน่วยงานภาครัฐมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้าง

 

คุณสมบัติพื้นฐานของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

          การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสในการซื้อและจ้างของภาครัฐ และหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานภาครัฐจึงควรมีคุณสมบัติพื้นฐานของระบบการจัดซื้อจัดจ้างตามที่สมาคม American Bar Association กำหนดไว้ดังนี้[2]

          1) องค์กรหรือหน่วยงานหนึ่งๆ ต้องมีหน่วยจัดซื้อจัดจ้าง ทำหน้าที่บริหารการจัดซื้อ  จัดจ้างของหน่วยงาน อีกทั้งมีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และมีแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจน

          2) การจัดซื้อจัดจ้างทั้งปวงต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด มีความคงเส้นคงวา มีความโปร่งใส มีกลไกและระบบการควบคุมกำกับดูแลที่รัดกุม เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของสาธารณชน

          3) เปิดโอกาสให้ “ผู้ขาย” ทุกภาคส่วนในสังคม (ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง) ในการทำการค้าขายกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และส่งเสริมการแข่งขันเสรี

          4) ส่งเสริมประสิทธิภาพ ความประหยัด และความคุ้มค่าในการจัดการทรัพย์สินของรัฐ

          5) มีหลักประกันด้านคุณภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง

          สำหรับบริบทของประเทศไทย จะมีหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้าน     การพัสดุ การจัดซื้อ การจัดจ้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

          1) หน่วยงานกลาง มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารงานพัสดุ ให้มีมาตรฐาน โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ มาตรฐาน ตีความกฎ ระเบียบ และสั่งการให้หน่วยพัสดุต่างๆ ดำเนินการตามกฎระเบียบดังกล่าว ประกอบด้วน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (เดิม) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

          2) หน่วยงานพัสดุ มีหน้าที่ในการดำเนินงานพัสดุของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งในแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกันไปตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับส่วนราชการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นภารกิจของสำนักพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ   กรมบัญชีกลาง

 

วิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

วิธีการในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกระทำได้ 6 ประกอบด้วย[3]

          1) การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคา ไม่เกิน 100,000 บาท

          2) การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคา เกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท

          3) การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีประกวดราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 2,000,000 บาท

          4) การซื้อหรือจ้างโดยวิธีพิเศษ แบ่งออกเป็น

                    4.1) การซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ การซื้อครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีใดต่อไปนี้

                              1) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ       

                              2) เป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่ราชการ

                              3) เป็นพัสดุเพื่อใช้ในราชการลับ

                              4) เป็นพัสดุที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม (repeat order)

                              5) เป็นพัสดุที่จำเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศหรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ

                              6) เป็นพัสดุที่โดยลักษณะของการใช้งาน หรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ ซึ่งหมายความรวมถึงอะไหล่ รถประจำตำแหน่ง หรือยารักษาโรคที่ไม่ต้องจัดซื้อตามชื่อสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                              7) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง

                              8) เป็นพัสดุที่ได้ดำเนินการซื้อโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี

                    4.2) การจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ การจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีใดต่อไปนี้

                              1) เป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญ  เป็นพิเศษ

                              2) เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นต้องถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักรกล เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

                              3) เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ

                              4) เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ

                              5) เป็นงานที่จำเป็นต้องการจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม (repeat order)

                              6) เป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี

         5) การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างจากส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ในกรณีดังต่อไปนี้

                    5.1) เป็นผู้ผลิตพัสดุหรือทำงานจ้างนั้นเอง และนายกรัฐมนตรีอนุมัติให้ซื้อหรือจ้าง

                    5.2) มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ซื้อหรือจ้าง และกรณีนี้ให้รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดด้วย

         6) การซื้อหรือการจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด[4] ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 2,000,000 บาท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์_พ.ศ._2549

 

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

          การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นการปฏิบัติตามหลักการจัดซื้อ    จัดจ้างตามเดิม แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐโดยรวมและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้นโดยมีรายละเอียด ดังนี้

          1. ความหมายของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์[5]

          หมายถึง  ระบบงานที่จัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และพัสดุภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน ทั่วถึง เป็นศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีระบบบริหารจัดการรหัสสินค้าและบริการภาครัฐ เก็บข้อมูลของหน่วยจัดซื้อและข้อมูลผู้ค้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบต่างๆ เชื่อมต่อข้อมูลกับแหล่งข้อมูลภายนอกที่เกี่ยวข้อง และเป็นต้นแบบการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ลดความผิดพลาดในการปฏิบัติงานตามระเบียบ ลดความซ้ำซ้อนการบันทึกข้อมูล ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถติดตามข้อมูลได้ตลอดเวลา (online real time) ในระบบรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณได้

          2. ความสัมพันธ์ของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์กับการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม[6]

ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุของส่วนราชการยังคงต้องยึดถือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 แล้วแต่กรณีโดยขึ้นอยู่กับวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนราชการยังคงต้องจัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ซึ่งในการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งทำให้ส่วนราชการต้องปฏิบัติงานคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ส่วนจนจบสิ้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวคือ เมื่อส่วนราชการได้จัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่พัสดุของหน่วยงานจะต้องบันทึกข้อมูลเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ทำให้มีศูนย์กลางของข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ค้าภาครัฐหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าค้นหาดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้รวดเร็วและทั่วถึงยิ่งขึ้น

          3. ประโยชน์จากการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดซื้อจัดจ้าง[7]

                   1) เกิดความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้งบประมาณของรัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

                   2) ลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากระบบจะเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานไว้ทุกขั้นตอน

                   3) เกิดความสะดวกและความทั่วถึงอย่างเท่าเทียมกันของผู้ค้า/ผู้รับจ้าง ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่สามารถเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น

                   4) เกิดศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระดับประเทศที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

                   5) กระตุ้นตลาดและเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเอกชนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการเสนอราคา

                   6) ปรับปรุงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น     

บรรณานุกรม

กรมบัญชีกลาง. หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0421.4/ว 5351 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2553 เรื่อง การพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP).

จรัส สุวรรณมาลา. การคลังว่าด้วยการแย่งชิง หักหลัง และสุ่มเสี่ยง. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

หน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. แนวทางการปฏิบัติงานจัดซื้อจัด จ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP).  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2554  

อ้างอิง

          [1]ข้อ 5 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

          [2] จรัส สุวรรณมาลา. การคลังว่าด้วยการแย่งชิง หักหลัง และสุ่มเสี่ยง, (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556), หน้า 81.

          [3]ข้อ 18 – 26 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  

          [4]ข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

          [5] กรมบัญชีกลาง. หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0421.4/ว 5351 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2553 เรื่อง การพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP).

          [6] หน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. แนวทางการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP), (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2554), หน้า 7.

          [7] หน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. แนวทางการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP), (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2554), หน้า 2-3.