ทักษิณ ชินวัตร
ผู้เรียบเรียง สิฐสร กระแสร์สุนทร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ประเทศไทยได้ผ่านการบริหารประเทศจากนายกรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น 27 ท่านด้วยกัน แต่ละท่านจัดได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความโดดเด่น และมีบทบาททางการเมืองแตกต่างกันออกไป โดยเป็นนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่มีความแตกต่างในการก้าวสู่เส้นทางการเมืองมากกว่านายกรัฐมนตรีท่านอื่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองนั้น ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีบทบาทที่โดดเด่นอย่างมากในวงการธุรกิจระดับประเทศและระดับนานาชาติ จากนั้นหันเหเส้นทางชีวิตเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง โดยได้นำความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดอย่างนักธุรกิจมาปรับใช้กับเส้นทางการเมืองจนประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้และก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทยในที่สุด
ประวัติ
ชีวประวัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายบุญเลิศ ชินวัตร และนางยินดี ชินวัตร(นามสกุลเดิม ระมิงค์วงศ์) เป็นครอบครัวนักธุรกิจระดับกลางในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีกิจการค้าขายหลากหลายชนิด อาทิ ผ้าไหม กิจการรถเมล์ โรงภาพยนตร์ ร้านขายมอเตอร์ไซค์ สวนส้ม ฯลฯ อดีตบิดาเคยเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่[1]
ด้านการศึกษาในช่วงที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จากนั้นในปี พ.ศ. 2510 สอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร (นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10) และที่นี่เองที่ท่านได้ชื่อ “แม้ว” จากเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น เนื่องจากไม่เคยมีชื่อเล่นมาก่อน หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารในปี พ.ศ. 2512 ได้เลือกศึกษาต่อในเหล่าตำรวจ หรือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26) และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2516 โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น จากนั้นจึงเข้ารับราชการตำรวจ แต่ทำงานได้เพียงระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2517 ท่านได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงาน กพ. ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขา Criminal Justice ของ Eastern Kentucy University และในปี พ.ศ. 2518 ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดิมจาก Sam Houston State University ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับช่วงชีวิตวัยหนุ่มของท่านได้พบสิ่งสำคัญ 2 ประการ[2] คือ ประการแรกในปี พ.ศ. 2517 ได้เข้าพิธีวิวาห์กับคุณพจมาน ดามาพงษ์ ภริยา ประการที่สองมีโอกาสได้เรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระหว่างการเรียนในระดับปริญญาเอก และได้นำความรู้กลับมาใช้กับงานในกรมตำรวจและธุรกิจของท่านในเวลาต่อมา
ด้านชีวิตการทำงาน หากกล่าวถึงประสบการณ์การทำงานในฐานะตำรวจ เคยผ่านการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นสารวัตรปราบปรามประจำสน.พระราชวัง เป็นนายตำรวจติดตามรัฐมนตรี (นายปรีดา พัฒนถาบุตร) เป็นรองผู้กำกับศูนย์ประมวลข่าวสาร ฯลฯ สำหรับอาชีพรับราชการตำรวจได้รับความเจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2527 ได้ดำรงตำแหน่งพันตำรวจโท ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตการเป็นตำรวจ คือ รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
จากนั้นได้หันเหชีวิตเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัว สำหรับวิธีการคิดแบบนักธุรกิจ แบบกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดสินใจทันที พร้อมที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับการฝึกฝนและซึมซับมาแต่วัยเยาว์จากผู้เป็นบิดาจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ โดยได้เริ่มธุรกิจแรก คือ การจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ” ในปี พ.ศ. 2525 ต่อมาขยายกิจการเป็น “บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด” โดยท่านได้ใช้พื้นฐานความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้ศึกษามาในระดับปริญญาเอก ประกอบกับความเข้าใจในระบบราชการ ดำเนินธุรกิจขาย - บริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แก่หน่วยงานราชการจนประสบความสำเร็จมาเป็นลำดับ และได้ขยายพัฒนาธุรกิจเรื่อยมาโดยเปิดบริษัทย่อยเพื่อดูแลธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น แต่ช่วงหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเคยประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนักมาบ้าง แต่ท่านก็สามารถฟันผ่าอุปสรรค์ต่าง ๆ มาได้ด้วยดี จนในยุคนั้นถือได้ว่าธุรกิจในมือท่าน (เครือชินวัตร) ครอบคลุมเกือบจะครบทุกด้านของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศ
บทบาททางการเมือง
หากมองย้อนกลับไปศึกษาภูมิหลังของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพบว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและเป็นแรงผลักดันสำคัญให้สนใจงานทางด้านการเมืองก็คือ คุณบุญเลิศ ชินวัตร ผู้เป็นบิดานั่นเอง เนื่องจากในอดีตบิดาเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2512 - 2519 โดยเป็น ส.ส.สมัยแรกในยุครัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากวางมือทางการเมืองได้สนับสนุนให้น้องชาย คือ นายสุรพันธ์ ชินวัตร (อาของ พ.ต.ท.ทักษิณ) ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน ซึ่งในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหารนั้น บิดามักจะพาไปสัมผัสบรรยากาศการประชุมพรรคและการประชุมสภาฯอยู่เสมอ[3]
เส้นทางสายการเมือง[4] ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมได้เชิญให้ท่านมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย แต่ทำงานในตำแหน่งนี้ได้เพียง 101 วัน ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนเนื่องจากรัฐธรรมนูญขณะนั้น ระบุว่ารัฐมนตรีต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ ทั้งนี้ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีการตัดสินชี้ชัดในเรื่องดังกล่าว จากนั้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม[5] และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยมีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ในเขตดังกล่าว ซึ่งในครั้งนั้นพรรคพลังธรรมได้เก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯจำนวน 23 ที่นั่ง[6] พ.ต.ท.ทักษิณ จึงได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยรับผิดชอบงานด้านการจราจรและระบบขนส่งมวลชนในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ครั้งนั้นได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ รวมถึงประสานโครงการระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขอันซับซ้อนทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงความขัดแย้งทางแนวความคิดภายในพรรคพลังธรรม ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจลาออกจากการร่วมรัฐบาล และลาออกจากพรรคพลังธรรม ตามลำดับ
ในปี พ.ศ. 2540 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และนายชวน หลีกภัย ได้รับการสนับสนุนให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนและอยู่บริหารประเทศต่อจนครบวาระ และประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ระหว่างนั้นในปี พ.ศ. 2541 หลังจากที่ได้ลาออกจากพรรคพลังธรรมจึงได้มาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น โดยมีคำขวัญของพรรคที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคือ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 20 (เมื่อวันที่ 6 มกราคม และเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2544) ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาฯ เป็นลำดับที่ 1 จำนวน 248 ที่นั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค จึงได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีสมัยแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐบาลสมัยแรกนี้[7] มีนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก่อนการบริหารประเทศจะเป็นรูปธรรมสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองอยู่ก็คือคดีการปกปิดทรัพย์สินและหนี้สินจากการไม่ยอมแจ้งการถือหุ้นของคนรับใช้ คนขับรถ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมูลค่ากว่าสี่พันล้านบาท ที่กำลังดำเนินกระบวนการอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2544[8] ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 8 ต่อ 7 ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากความผิดในข้อกล่าวหาว่าจงใจปกปิดบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน
หลังจากปัญหาต่าง ๆ ผ่านพ้นไปด้วยดี จึงเป็นโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยได้ผลักดันโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของพรรคและของรัฐบาลที่เคยกล่าวไว้ ให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำในสมัยแรกของท่าน ได้ผลักดันนโยบายเร่งด่วนที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) โดยมีแผนปรับปรุงองค์กร เพื่อรองรับการเป็นธนาคาร SME ในส่วนของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) คณะกรรมการ บสท. ได้มีมติให้ บสท. รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนมาบริหารจัดการ การเร่งให้รัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การจัดตั้งธนาคารประชาชน เพื่อให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยให้หมู่บ้านและชุมชนเมืองจัดการบริหารเงิน 1 ล้านบาทเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ในระดับรากหญ้า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การทดลองใช้การบริหารจัดการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรการ (CEO) ใน 5 จังหวัดนำร่อง โดยผู้ว่าราชการมีอำนาจเบ็จเสร็จภายในจังหวัดทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และการจัดการ โครงการบ้านเอื้ออาทรที่ให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสิทธิ์ที่จะมีบ้านพักอาศัยเป็นของตนเอง
สำหรับนโยบายหรือโครงการสำคัญ ๆ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสังคม[9] เช่น
1. นโยบายการทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างรุนแรงภายในระยะเวลา 3 เดือน
2. นโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล
3. โครงการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว (หวยบนดิน) ที่นำรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งไปเป็นทุนการศึกษาสำหรับเยาชนที่มีครอบครัวมีฐานะยากจนแต่ผ่านการสอบคัดเลือกในระดับอำเภอ เพื่อส่งศึกษาต่อต่างประเทศตามสาขาที่นักเรียนต้องการ และช่วยลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
4. โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร โดยคิดค่าเช่าในราคาประหยัด เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย
หากมองโดยภาพรวมจะพบว่านโยบายการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้รับการขานรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก และในส่วนของพรรคไทยรักไทยก็มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อพรรคความหวังใหม่มีมติให้ยุบพรรครวมกับพรรคไทยรักไทย ยิ่งทำให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.จำนวนมากยิ่งขึ้น สร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน จนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถรวบรวมสมาชิกในสภาฯเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ทำได้เพียงอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเท่านั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 4 ปี ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยสามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระได้ โดยรัฐบาลในสมัยแรกนี้ได้เริ่มต้นบริหารประเทศ[10] นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 และสิ้นสุดสภาพลงด้วยเหตุยุบสภาฯ (ครบวาระ) ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2548 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้น ประเทศไทยมีปัญหาค้างคาให้รัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติจากคลื่นสึนามิ(Tsunami)[11] ซึ่งเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน และยังทำลายทรัพย์สินอีกจำนวนมาก ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปัญหาความไม่โปร่งใสของคณะรัฐบาล หรือปัญหาจากบุคลิกเผด็จการของนายกรัฐมนตรี แต่กระแสความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายที่ผ่านมาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และปัญหาการขาดตัวเลือกที่ดีกว่าในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ขณะนั้น
ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ทำให้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศอย่างมากมายซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองใดมาก่อน คือ ได้ที่นั่งเข้าสู่สภาฯ ถึง 377 ที่นั่ง ทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคการเมืองเดียวในรัฐบาลซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2[12] ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยมีนายโภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
การบริหารประเทศในสมัยที่ 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างมาก จนฝ่ายค้านไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดิม แต่ปัญหาความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกภายในพรรคก็มีอยู่มาก เนื่องจากมีข่าวการขัดแย้งภายในพรรคให้เห็นอยู่เสมอ ๆ สำหรับผลงานของรัฐบาลในสมัยที่ 2 นี้ มีผลงานหลายชิ้นที่ดำเนินการต่อเนื่องจากสมัยที่แล้ว ส่วนผลงานใหม่ที่โดดเด่น อาทิ การเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรีกับจีน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย การลดหนี้สาธารณะจาก 57% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศให้เหลือ 41% โครงการโคล้านครอบครัว นโยบายปล่อยราคายางพาราให้เป็นไปตามกลไกตลาด (ทำให้ราคายางสูงขึ้นเป็นผลดีต่อเกษตรกร) เป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีและงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัฐบาลนี้
สำหรับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลชุดนี้กำลังบริหารประเทศ คือ ปัญหาในการโดนกระแสสังคมไม่ยอมรับอย่างรุนแรง จนมีการกดดันจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เริ่มจากการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยมีการชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากแกนนำหลายฝ่าย และพัฒนารวมกลุ่มกันขึ้นโดยเรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกความสามัคคีอย่างรุนแรงของคนในชาติ สุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงประกาศยุบสภาฯ ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป ในเวลาต่อมาการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จัดขึ้นใหม่ ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน) ร่วมมือกันไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีที่มีผู้ร้องเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ จึงประกาศให้ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลภายใต้การรักษาการนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ[13] จึงถือเป็นจุดสิ้นสุดของการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อ้างอิง
- ↑ ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย, กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด, 2545 หน้า 451 - 456.
- ↑ เส้นทางชีวิต-วิสัยทัศน์บนคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง, (ระบบออนไลน์), http://www.thaksin.net/life_T.html, (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552).
- ↑ ธนากิต, เรื่องเดิม, หน้า 458.
- ↑ พีระพงษ์ สิทธิอมร, ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย, กรุงเทพ ฯ : ซี แอนด์ เอ็น, 2549 หน้า 358.
- ↑ บนถนนการเมือง, (ระบบออนไลน์), http://www.thaksin.net/politic_t.html, (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552).
- ↑ ธนากิต, เรื่องเดิม, หน้า 458 - 462.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 462 - 463.
- ↑ จักษ์ พันธ์ชูเพชร, การเมืองการปกครองไทยจากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ, กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2549 หน้า 280 - 4.
- ↑ ทักษิณ ชินวัตร, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9... , (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552).
- ↑ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ของไทย, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%... ,(สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552).
- ↑ จักษ์ พันธ์ชูเพชร, เรื่องเดิม, หน้า 285 - 287.
- ↑ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 55 ของไทย, (ระบบออนไลน์), http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%... ,(สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552).
- ↑ วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ : บริษัทออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2549 หน้า 207.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
จักษ์ พันธ์ชูเพชร, (2549) “การเมืองการปกครองไทยจากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ”. กรุงเทพ ฯ : มายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.
จีรวัฒน์ รจนาวรรณ, (2547) “ยอดนักการเมือง”. กรุงเทพ ฯ : วรรณสาส์น.
ธนากิต, (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพ ฯ : ปิรามิด.
วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549) “24 นายกรัฐมนตรี”. กรุงเทพฯ : บริษัทออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง จำกัด.
อนันต์ อมรรตัย, (2550) “บันทึกสารคดีประวัติศาสตร์การเมือง เบื้องหลังการบริหารประเทศของ 54 รัฐบาล และฐานอำนาจ”. กรุงเทพ ฯ : แสงดาว จำกัด.
บรรณานุกรม
“คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ของไทย”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%... (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552). “คณะรัฐมนตรีคณะที่ 55 ของไทย”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%... (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552).
จักษ์ พันธ์ชูเพชร, (2549) “การเมืองการปกครองไทยจากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ”. กรุงเทพ ฯ : มายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.
“ทักษิณ ชินวัตร”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9... (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552).
ธนากิต, (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพ ฯ : ปิรามิด.
“บนถนนการเมือง”. (ระบบออนไลน์) http://www.thaksin.net/politic_t.html (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552).
พีระพงษ์ สิทธิอมร, (2549) “ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย”. กรุงเทพ ฯ : ซี แอนด์ เอ็น.
วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549) “24 นายกรัฐมนตรี”. กรุงเทพฯ : บริษัทออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง จำกัด.
“เส้นทางชีวิต-วิสัยทัศน์บนคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง”. (ระบบออนไลน์) http://www.thaksin.net/life_T.html (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552).
ดูเพิ่มเติม
• ทักษิณ ชินวัตร
• คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ของไทย
• คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ของไทย