คำสั่งและประกาศ คปค.กับการเมืองไทย
ผู้เรียบเรียง กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
คำสั่งและประกาศ คปก.กับการเมืองไทย
คปก. หรือชื่อเต็มคือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การรัฐประหารครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งผลกระทบต่อการเมืองไทยก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ แม้ในวันแรกของการยึดอำนาจรัฐได้จะมีประชาชนจำนวนมากออกมาสนับสนุนด้วยการนำดอกกุหลาบและสิ่งของต่างๆมาให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม รวมถึงสื่อมวลชน นักวิชาการหลายท่านที่แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็เข้าใจถึงเหตุผลของสภาพสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำ เพราะเห็นว่าเป็นทางออกในการแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันของประชาชนด้วยกันที่อาจจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นที่มีการนัดชุมนุมกันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
แต่ทั้งนี้บทสรุปผลงานของคณะรัฐประหารในสายตาประชาชนอีกหนึ่งปีต่อมา ก็คือ ฉายาต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของคณะรัฐประหารที่ใช้อำนาจไม่เด็ดขาด โดยไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการเมืองได้จริง เช่น รัฐประหารหน่อมแน้ม รัฐประหารที่ฉี่ไม่สุด เป็นต้น ขณะที่มีบางภาคส่วนในสังคมไทยได้มีมุมมองว่าต้นเหตุของวิกฤตทางการเมืองปัจจุบันที่มีการแตกแยกทางความคิด ขัดแย้งรุนแรง ระหว่างผู้สนับสนุนในตัวอดีตนายกฯทักษิณ กับฝ่ายต่อต้าน ก็คือการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง เพราะเชื่อว่าหากไม่มีการทำรัฐประหาร ถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คงไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เพราะกระแสสังคมและประชาชนทั่วไปไม่ยอมรับอย่างกว้างขวาง พลังของภาคประชาชนจะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างปรกติตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ ซึ่งนับว่าเป็นการมองโลกอย่างสุขนิยมมากเพราะไม่เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของประชาชนในวันที่ 20 กันยายน 2549 ขึ้น แต่ก็มีข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งที่ได้เปิดเผยให้สังคมทั่วไปได้รับทราบภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารว่ามีแนวโน้มความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติของคนบางกลุ่ม
การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เกิดขึ้นและจบไปแล้ว แต่ข้อถกเถียงต่างๆและผลพ่วงจากการรัฐประหารครั้งนี้ก็ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันที่พัฒนาประเด็นปัญหาให้มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาการเมืองในประเทศจากการเกิดขึ้นของกลุ่มนปช. หรือชื่อเต็มคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งสังคมไทยรู้จักกันดีว่ากลุ่มเสื้อแดง ที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ทางการเมืองมาโดยซึ่งสังคมไทยก็ทราบดีว่าเป็นพลังมวลชนที่สนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณที่ถูกรัฐประหาร ซึ่งหากเป็นการเคลื่อนไหวตามปรกติย่อมเป็นสิทธิที่มีการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญและยอมรับในฐานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย แต่สังคมไทยก็ทราบดีว่าการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ได้ล้ำเส้นของการใช้สิทธิในวิถีทางประชาธิปไตยไปมากเพราะเป็นกลุ่มคนที่ก่อให้เกิดความวุ่ยวายจนทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนบวกสามที่พัทยาในช่วงเดือนเมษายน 2552 ต้องล้มเลิกกลางคันเพราะผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปยังโรงแรมรอยัล คริฟ บีช ส่งผลเป็นการทำลายภาพพจน์ของประเทศและความเชื่อมั่นมหาศาล และกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลในกรุงเทพมหานครในช่วงสงกรานต์ จากการใช้ความรุนแรงปิดถนน หลายสาย มีการเผาสิ่งของ รถโดยสารประจำทาง ตลอดจนมีการไล่ล่าทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาลที่กระทรวงมหาดไทย ปรากฏเป็นข่าวทั้งภาพและเสียงออกไปทั่วโลก จนในที่สุดได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขสถานการณ์โดยใช้กำลังทหารเข้าควบคุม และคลี่คลายได้ในที่สุด
ณ ขณะนี้ปัญหาการเมืองภายในประเทศได้พัฒนาไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านคือ กัมพูชา ซึ่งได้มีการแต่ตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นผู้ต้องโทษหนีคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีซื้อที่ดินรัชดา เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา โดยเมื่อรัฐบาลไทยขอตัวให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ถูกรัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธ และตอบโต้ว่าเป็นการตัดสินคดีที่ไม่ชอบเพราะผลจากการรัฐประหาร
บรรดาเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงเป็นครั้งแรกของการรัฐประหารที่อดีตผู้นำรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารออกนอกประเทศ ไม่เคยหยุดความต้องการที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองใหม่อีกครั้ง บทเรียนการรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะทำความเข้าใจถึงอนาคตการเมืองไทยนับจากนี้ไป
องค์ประกอบของคณะ คปก.
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีองค์ประกอบของคณะบุคคลอย่างเป็นทางการในครั้งแรก ภายหลังการทำรัฐประหารตามที่ปรากฎในประกาศ คณะคปค. ฉบับที่ 11 เรื่องแต่งตั้งบุคคลสำคัญดำรงตำแหน่งในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 จำนวน 6 ท่าน ดังนี้
1.พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 1
4.พลอากาศเอก ชลิต พุกพาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 2
5.พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 3
6.พลเอก วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่ทั้งนี้ ภายหลังไม่นานก็ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะ คปก.ใหม่โดยมีการยกเลิกประกาศ คปก.ฉบับที่ 11 และประกาศใช้ ประกาศคปก.ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 แทน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
1.พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.พลอากาศเอก ชลิต พุกพาสุข เป็นสมาชิกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 2
3.พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสมาชิกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
4.พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ เป็นสมาชิกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5.พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ เป็นสมาชิกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6.พลเอก วินัย ภัททิยกุล เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
7.พลโท สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
8.พลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับสมาชิกของคณะรัฐประหาร ชุดนี้มีข้อสังเกตว่า หัวหน้าคณะและสมาชิกที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างก็เป็นเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 คล้ายกับกรณีคณะรัฐประหาร รสช. ที่ระดับผู้บัญชาการกองทัพต่างก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันคือจ.ป.ร. 5
สมาชิกของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ตามบทบัญญัติมาตรา 34 คณะคปก. ก็ได้เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2549 โดยประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอาจแต่งตั้งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินสิบห้าคน โดยมีอำนาจตามความในวรรคท้ายของมาตรา 34 ในกรณีที่เห็นสมควรประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาใดๆอันเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้
เหตุแห่งการรัฐประหารโดย คณะคปก.
สาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้ปรากฏเป็นถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการตามแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 23.50 น. ลงนามโดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารดังต่อไปนี้
ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนให้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ เคลือบแคลงสงสัย การบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคม จะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้ ดังนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนของชาวไทยทุกคน
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยได้คาดเดามาก่อนว่า อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เมื่อใดมีความขัดแย้งรุนแรง หากไม่สามารถหาทางออกได้ตามระบอบประชาธิปไตย แล้วการรัฐประหารก็จะเกิดขึ้น ถ้าจะสืบสาวราวเรื่องขึ้นไปถึงเหตุแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มสะสมมาตั้งแต่ที่สังคมไทยมีผู้คนหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ พรรคฝ่ายค้าน สื่อสารมวลชนเริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมาซึ่งมีการบริหารประเทศอย่างไม่น่าไว้วางใจ มีข้อโจมตีในความบกพร่องหลายประการซึ่งรู้จักดี ภายใต้นิยามที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
ชนวนของการนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเชื่อหากย้อนกลับไปดูการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ที่ได้รับคะแนนนิยมอย่างมากมายที่สนับสนุนเลือกพรรคไทยรักไทยเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ภายใต้คำขวัญว่า คิดใหม่ ทำใหม่ และนโยบายประชานิยมที่สามารถซื้อใจคนชนบทและคนเมืองที่เห็นประสบการณ์ความสำเร็จในทางธุรกิจมาก่อน แต่ภายหลังการหลุดพ้นจากคดีซุกหุ้นของอดีตนายกทักษิณ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ไม่มีความผิด การบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆก็ดูเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ นับเป็นนักการตลาดการเมืองชั้นนำคนหนึ่ง ที่ได้สร้างภาพภาวะผู้นำและทำการสื่อสารตรงกับประชาชน ขณะเดียวกันก็ดำเนินการควบรวมพรรคการเมืองต่างๆที่ร่วมรัฐบาล จนทำให้พรรคไทยรักไทยถือครองเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยพรรคฝ่ายค้านไม่มีโอกาสใช้กลไกรัฐสภาตรวจสอบได้ จนทำให้บรรยากาศการเมืองเป็นเผด็จการรัฐสภาไป ซึ่งส่วนหนึ่งนักวิชาการได้มีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่สร้างให้เกิดฝ่ายบริหารเข้มแข็ง เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ทำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันจากการแทรกแซงองค์การอิสระและสื่อมวลชนก็ทำให้ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจพังทลายลง
อย่างไรก็ดีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถบริหารประเทศได้ครบระยะเวลา 4 ปี นับจากวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 จนถึง 11 มีนาคม 2548 เป็นรัฐบาลพลเรือนไม่กี่ชุดที่สามารถอยู่ครบเทอมได้ตามวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่ครบกำหนดในวันที่ 5 มกราคม 2548 และสามารถนำพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามามีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 แต่การบริหารงานประเทศในสมัยที่สองนี้ก็ไม่ง่ายเมื่อสมัยแรกอีกต่อไป “ระบอบทักษิณ” “เผด็จการรัฐสภา” “การไม่จงรักภักดี” ฯลฯ คือข้อกล่าวหาที่เป็นคำถามให้อดีตนายกรัฐมนตรีตอบ แต่กลับไม่มีการชี้แจงคำตอบให้ประชาชนได้หายสงสัยในตัวผผู้นำรัฐบาลแต่อย่างใดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ
ปัญหาของปรากฏการณ์ของระบอบทักษิณ ที่มีวิวัฒนาการจากวีรบุรุษขี่ม้าขาว หรืออัศวินควายดำที่สังคมไทยเชื่อว่าจะเป็นกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยต้องเข้ารับการช่วยเหลือจาก IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) แต่ก็กลับกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาโดยอาศัยกลไกของรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งมาใช้เป็นเกราะป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี และกอดกติการัฐธรรมนูญไว้อยู่กับตัวโดยอ้างว่าตนทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ และได้รับความชอบธรรมจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกเข้ามา 19 ล้านเสียง ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้นำพาต่อเสียงคัดค้านของกลุ่มพลังประชาชนที่รวมตัวกันขับไล่ร้องตะโกนให้ “ทักษิณ .....ออกไป ๆๆ” และออกมาตอบโต้กล่าวหาว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ จนทำให้สังคมไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี 2549 เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้างจากประเด็นทางการเมืองที่เป็นวิกฤติจริยธรรมของผู้นำ ซึ่งไม่สามารถมีกระบวนการตรวจสอบตามกลไกที่มีอยู่ได้ จนทำให้วิกฤติได้พัฒนาความร้ายแรงกลายเป็นการเผชิญหน้าในการจัดชุมนุมใหญ่หลายครั้งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ท้ายที่สุดนายกฯทักษิณ ได้ตัดสินใจใช้อำนาจออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2เมษายน 2549 ซึ่งว่ากันตามจารีตประเพณีในการปกครองของประเทศไทยในการใช้อำนาจยุบสภานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ครั้งนี้เหตุผลที่ใช้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น[1]
ผลจากพระราชกฤษฎีกายุบสภานี้ ผลักดันให้การเมืองถึงทางตันมากขึ้น จากการประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรครวมฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน ซึ่งสุดท้ายผลผลการเลือกตั้งก็ออกมาว่ามีคนมาลงคะแนนใช้สิทธิไม่ประสงค์จะลงคะแนน ถึง 9,051,706 หรือคิดเป็นร้อยละ 31.12 ในการลงคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ และ การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตการเลือกตั้ง 9,610,874 คะแนน หรือร้อยละ 33.14 โดยภายหลังจากการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถประกาศผลคะแนนทั้งหมดครบ 500 คนได้ โดยต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในหลายเขตใหม่เพราะมีผู้สมัครได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 20ตามมาตรา 74 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ในกรณีมีผู้สมัครคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น และมีแนวโน้มว่าจะได้ไม่ครบและเปิดสภาได้ทันภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ
ทางตันของการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้ดึงเอาสถาบันต่างๆลงมาแก้ไขปัญหานับแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ จากพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่มีต่อตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” ที่สถาบันศาลได้รับใส่เกล้าฯ ใช้อำนาจตุลาการเข้าแก้ไขปัญหา เริ่มจากการคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ตามมาด้วยคำพิพากษาของศาลอาญา วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ที่จำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน (พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. ) ที่ตกเป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 24, 42 และมาตรา 38 เป็นเวลาคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี จนนำไปสู่การสรรหา กกต.ชุดใหม่จากศาลฎีกา และกำลังประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองบนเวทีท้องถนนก็ยังคงไม่ยุติเพราะประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเชื่อว่าการเลือกตั้งถ้าจะเกิดขึ้นใหม่ ระบอบทักษิณก็จะสามารถกลับเข้ามาได้เสียงข้างมากเช่นเดิมจากเครือข่ายและอำนาจเงินที่มีอยู่ ดังนั้นจึงต้องชุมนุมกดดันทางการเมืองต่อไปให้รักษาการนายกรัฐมนตรี วางมือทางการเมืองโดยการลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549 เพื่อไม่ให้นายกฯทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศภายหลังจากการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอรค์แต่ก็เกิดรัฐประหารเสียก่อน
แถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งของคณะ คปก.
เมื่อเปรียบกับคณะรัฐประหารในอดีต คณะ คปก. มีการออกแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งไม่มากนัก และได้ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นรัฎฐาธิปัตย์ เพียงระยะเวลาประมาณแค่สองอาทิตย์ เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งก็จะพบว่ามีความน่าสนใจอยู่ในที เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกภายหลังที่โครงสร้างการเมืองการปกครองไทยได้เปรียนโฉมหน้าไปอย่างมากภายหลังการปฏิรูปการเมืองที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลายองค์กร ดังนั้นความยุ่งยากในการจัดการภายหลังการรัฐประหารจึงมีอยู่พอสมควร ประกอบกับสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาจากกระแสของประชาธิปไตยทั่วโลก และความเปลี่ยนแปลงในสภาพเศษฐกิจสังคม ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ การรัฐประหารในประเทศใดประเทศหนึ่ง ในทางระหว่างประเทศจะทำให้ประเทศนั้นไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมโลก ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ คณะคปก.เลือกที่จะอยู่ในอำนาจด้วยระยะเวลาที่สั้น และรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยเร็ว
เมื่อพิจารณาถึงแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งของคณะ คปก. ทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็นแถลงการณ์ คปก. 2 ฉบับ ประกาศ คปก. จำนวน 36 ฉบับ คำสั่งหัวหน้าคณะคปก. จำนวน 20 ฉบับ และต่อมาเมื่อคณะคปก.เปลี่ยนสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็มีประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จำนวน 7 ฉบับ[2] ในบรรดาแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่งของคณะคปก. นั้น มีทั้งที่เป็นการชี้แจงทั่วไป การสั่งห้าม การสั่งให้ปฏิบัติดำเนินงาน การบังคับใช้เป็นกฎหมายทั้งแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิก และถือเป็นกฎหมายใหม่ โดยมีรายชื่อฉบับที่สำคัญ ดังนี้
1.แถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 19 กันยายน 2549
2.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549
3.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 11 เรื่องแต่งตั้งบุคคลสำคัญดำรงตำแหน่งในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 20 กันยายน 2549
4.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 20 กันยายน 2549
5.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 20 กันยายน 2549
6.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 14 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 21 กันยายน 2549
7.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมืองลงวันที่ 21 กันยายน 2549
8.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 18 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 22 กันยายน 2549
9.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 22 กันยายน 2549
10.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ลงวันที่ 24 กันยายน 2549
11.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน 2549
12.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 24 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลสำคัญดำรงตำแหน่งในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 29 กันยายน 2549
13.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 กันยายน 2549
14.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 26 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน 2549
15.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549
16.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 28 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 และฉบับที่18 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549
17.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549
18.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
19.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
20.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 เรื่อง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
21.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 35 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
22.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
ผลกระทบของแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งของคณะคปก. กับการเมืองไทย
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงไม่มีการรัฐประหารครั้งใด ที่ได้สร้างผลกระทบกระเทือนต่อสังคมไทยได้มากถึงขนาดนี้ และผลกระทบหลายส่วนก็ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงการเมืองไทยปัจจุบัน ถ้าพิจารณาภาพรวมผลกระทบส่วนใหญ่ได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการใช้อำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในช่วงเวลาตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึง 30 กันยายน 2549 ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ไม่ว่าเป็นการสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยเจตนารมณ์สำคัญในการเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิรูปการเมือง นอกจากนี้ตามประกาศ คปก.ฉบับที่ 3 ที่ให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็ยังมีวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ สำหรับสถาบันการเมืองที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสิ้นสุดลงได้แก่ องคมนตรี และศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่น่าสังเกตจากผลของการรัฐประหารครั้งนี้จะพบว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วย และกฎหมายบางฉบับก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยอำนาจของคณะคปก. ตามที่ปรากฏในประกาศคปก.ที่ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 (ประกาศคปก.ฉบับที่ 12)พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 (ประกาศคปก.ฉบับที่ 13) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 (ประกาศคปก.ฉบับที่ 14) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (ประกาศคปก.ฉบับที่ 15) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ประกาศคปก.ฉบับที่ 19) [[พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542]] (ประกาศคปก.ฉบับที่ 19)
บรรดาประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีอยู่หลายฉบับและมีสถานเป็นกฎหมายนั้น จะพบว่ามีประกาศสำคัญบางฉบับที่ส่งผลต่อการเมืองไทยที่ทำให้เกิดปมประเด็นปัญหาของสถานการณ์ความขัดแย้งหลายเรื่องจากการใช้อำนาจของ คปก. สื่บเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเรื่องที่สำคัญ 2 กรณี ได้แก่ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายจากการตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังในเรื่องการลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ที่ศาลรัฐธรรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง (ประกาศคปก.ฉบับที่ 27) และ การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (ประกาศคปก.ฉบับที่ 30) ซึ่งจะได้พิจารณาเป็นลำดับ ดังนี้
1)ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 เรื่องการแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549
ประเด็นสำคัญของการใช้อำนาจตามประกาศดังกล่าวอยู่ใน ข้อ 3 ที่กำหนดให้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
โดยผลของประกาศคปก.ฉบับที่ 27 จึงทำให้เป็นการเพิ่มการกำหนดโทษให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ซึ่งแต่เดิมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง พ.ศ.2541 ไม่ได้บัญญัติไว้ และบทบัญญัตินี้ต่อมาในการตัดสินคดีที่อัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 35 ซึ่งทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้นำมาประกอบการวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 3-5 /2550 30 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
โดยได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 66(1) และ(3) และให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 และพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 66(2) และ(3) กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 111 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 19 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพัฒนาชาติไทย ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 3 จำนวน 3 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคแผ่นดินไทย ฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2549 มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
สิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้จากการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่อ้างอิง ประกาศ คปก. ฉบับที่ 27 ก็คือ ประกาศดังกล่าวเป็นการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษหรือไม่ ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไปในทางอาญาสากลนั้น มีข้อห้ามเช่นนี้อยู่ การไม่เห็นด้วยต่อการวินิจฉัยดังกล่าวเพราะประกาศ คปก.ฉบับที่ 27 ฝ่าฝืนหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง นั้นปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรกในคำแถลงการณ์กลุ่มห้าอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กรณีการยุบพรรคการเมือง ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 โดยมีรายชื่ออาจารย์ลงนามท้ายแถลงการณ์ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล และอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพราะเห็นว่าการลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นโทษทางอาญา การใช้กฎหมายย้อนหลังในคดีนี้โดยใช้อำนาจประกาศ คปก.ฉบับที่ 27 จึงไม่ขัดต่อหลักกฎหมายอาญาทั่วไป[3] ตามเหตุผลในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้ตัดสินในคดีนี้[4]
2)ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
ประกาศฉบับดังกล่าวได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการ 12 ท่าน ซึ่งได้กำหนดให้เลือกกันเองเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง คือ นายนาม ยิ้มแย้มมีหน่วยงานที่ดูแลงานด้านธุรการคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งรายชื่อกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศฉบับดังกล่าว ได้แก่
คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 5 ของประกาศคปก.ฉบับที่ 30 ดังนี้
(1)ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(2)ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานขอรัฐอื่น ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบหรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(3)ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(4)ตรวจสอบการกระทำของของบุคคลใดๆที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
นอกจากนี้ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และมีพฤติการณ์ว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปรกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นปรกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้
การดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลารวม 1 ปี 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2549 - 30 มิถุนายน 2551 มีผลงานสำคัญในการพิจารณาเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ คตส.จำนวน 13 เรื่อง ได้แก่[5]
1)เรื่องจัดซื้อชุดอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX
2)เรื่องท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ
3)เรื่องกรณีภาษีเงินได้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น
4)เรื่องเงินกู้ EXIM BANK
5)เรื่องการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว
6)เรื่องการจัดซื้อต้นกล้ายางพารา
7)เรื่องการจ้างก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการกลางฯ (Central Lab)
8)เรื่องแอร์พอร์ต ลิงค์
9)เรื่องกล่าวหาธนาคารกรุงไทย
10)เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดยการเคหะแห่งชาติ บ้านเอื้ออาทร
11)เรื่องกิจการโทรคมนาคมในส่วนภาษีสรรพสามิต
12)เรื่องการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม.
13)การจัดซื้อที่ดินของกองทุนฟื้นฟู (ที่ดินรัชดาภิเษก)
การดำเนินงานของคณะกรรมการ คตส.นี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานความสำเร็จของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สามารถพิสูจน์ให้สาธารณชนและสังคมไทย เห็นว่าการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีเหตุผลรองรับถึงความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ไม่สามารถเอาผิดกับนักการเมืองที่ทุจริตได้ ปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการใช้อำนาจของคณะคปก.นี้ คือการศึกษาบทเรียนความล้มเหลวของคณะ รสช. และพยายามดำเนินการตามกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ได้วางไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังจะเห็นได้จากไม่ได้มีการประกาศยกเลิกกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ดังนั้นจะเห็นว่ากระบวนการตัดสินทั้งหมดจะมีความชอบธรรม โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และถึงแม้ว่าจะมีการฟ้องคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปก. ฉบับที่ 27 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการตัดสินยืนยันถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551
ในบรรดาคดีซึ่ง คณะกรรมการ คตส. ได้เข้าไปตรวจสอบนั้น ณ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินไปแล้วสองคดี คือ คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ และคดีทุจริตกล้ายาง โดยผลของคดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ว่า จำเลยที่ 1 อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรค สาม และมาตรา 122 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คุณหญิง พจมาน ชินวัตร
ส่วนคดีทุจริตกล้ายางนั้น ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 พิพากษายกฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการปลูกยางพารา ยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกร ในแหล่งปลูกยางใหม่ภาคอีสานและภาคเหนือ และพวกรวม 44 คน ซึ่งประกอบกลุ่มคณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการและพิจารณาประกวดราคาการจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร และบริษัทเอกชนในความผิดที่ปปช.ยื่นฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 กรณีที่มีการนำเงินของกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไปใช้ในการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราคา 1,440 ล้านบาท ซึ่งศาลวิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความเป็นมา จากการที่รัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการที่จะพัฒนาการปลูกพืชผลด้านการเกษตร โดยการเสนอโครงการนั้นก็มิได้ เนินการโดยลำพังของนายเนวินจำเลยที่ 4 หรืออธิบดีกรมวิชาการเกษตรจำเลยที่ 19 แต่ยังได้มีหน่วยงานอื่น ร่วมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งนั้นด้วย ส่วนการประกวดราคากลุ่มเอกชน ก็ไม่ได้ทำการฝ่าฝืน เกี่ยวกับระเบียบการประกวดราคา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างใด
สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปถึงความสำเร็จในผลของการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาการทุจริจของอดีตรัฐบาลทักษิณ ก็คือการตัดสินคดียึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มูลค่า 7.6 หมื่นล้าน ที่คาดว่าการตัดสินจะออกมาในตอนต้นปี พ.ศ.2553 นั้นก็จะเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ยังคงสนับสนุนในตัวอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่มากพอสมควร และอีกฟากหนึ่งคือคนไทยที่รู้ทันทักษิณกันหมดแล้ว ผลกระทบจากการรัฐประการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่แบ่งเป็นหลายภาคซึ่งต้องติดตามชมกันต่อไปอย่าได้กะพริบตา
ที่มา
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ . คตส.ฝากไว้ในแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : (มปท),2551.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง .รู้ทันทักษิณ เล่ม 1-5. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน , 2547.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอมรา ประสิทธิรัฐสินธ์. รู้ทันภาษา รู้ทันทางเมือง : ทักษิณสมัย . กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน , 2547.
สมคิด เลิศไพฑูรย์และเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล. รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย เล่ม 6 . กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2552 .
เอกบุญ วงส์สวัสดิ์กุล (บรรณาธิการ) . การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง . กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2552.
อ้างอิง
- ↑ .... โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นำความกราบบังคมทูลฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้วนั้น ต่อมา ได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้าการชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด หรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภาและความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ”
- ↑ สามารถค้นหาข้อมูลทั้งหมดได้จาก หนังสือ รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย เล่ม 6 รวบรวมโดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์และอาจารย์ ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2552 . หรือ ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองไทย บนเวบไซต์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (www.law.tu.ac.th)
- ↑ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมการถกเถียงทางวิชาการระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ใช้อำนาจตามประกาศ คปก. ฉบับที่ 27 ในหนังสือ การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง รวบรวมโดย อาจารย์ดร.เอกบุญ วงศ์ สวัสดิ์กุล . กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2552.
- ↑ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3 – 5 /2550 เรื่องอัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย ลงวันที่ 30 พฤษภาค 2550 สามารถค้นรายละเอียดได้ในเวบไซต์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th
- ↑ รายละเอียนดผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบโปรดดู ในหนังสือ ปัจฉิมบท คตส. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พันธกิจการตรวจสอบแทนประชาชน 30ก.ย.2549 -30 มิ.ย.2551 ฝากไว้ในแผ่นดิน . กรุงเทพฯ : (มปท.), 2551