การปฏิรูปการเมือง
ผู้เรียบเรียง : วิชาญ ทรายอ่อน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2557จากระบบสมบูรญาณาสิทธิราชเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดระยะเวลา 82 ปี ที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการรัฐประหารในประเทศไทยหลายครั้งซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น คณะผู้กระทำรัฐประหาร สถาปนาอำนาจตนเองเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ ยกเลิก แก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือธรรมนูญการปกครองตลอดถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศขึ้นใหม่ตามแนวทางของตนโดยให้เหตุผลว่าต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหรือ “ปฏิรูปการเมือง”
ความหมาย
การปฏิรูปการเมืองมาจากสองคำ คือคำว่า “การปฏิรูป” กับคำว่า “การเมือง”การปฏิรูปตรงกับคำว่า “Reform”ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลตามพจนานุกรมตรงๆ ว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมตามสมควรทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม สภาพที่สมควร[1] การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขบางสิ่งบางอย่างที่ผิดไปจากที่ควร จึงต้องปรับใหม่และต้องกระทำอย่างเป็นกระบวนการ ใช้เวลาในการดำเนินการ ต้องมีความอดทน ไม่สามารถได้มาโดยใช้อำนาจ ใช้กำลังเข้าหักโค่น คำว่า“การปฏิรูป”จึงไม่ใช่ “การปฏิวัติ” (Revolution) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ทันทีทันใดเปลี่ยนอย่างฉับพลัน รวดเร็ว เข้าสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายโดยใช้กำลังอำนาจและไม่ใช่“การพัฒนา” ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นในทางที่ดี
ส่วนคำว่า “การเมือง”ตรงกับคำว่า “politics” ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลตามพจนานุกรมว่างานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน การบริหารประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายกิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินการเมืองนั้นยังหมายถึงกระบวนการและวิธีการ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน เพื่อดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง และสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุกกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งรวมไปถึงใน บริษัท แวดวงวิชาการ และในวงการศาสนา การเมืองจึงหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ ในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจ ในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคมการเมืองเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆให้แก่สังคมอย่างชอบธรรม
เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกัน “การปฏิรูปการเมือง” (Political Reform) จึงหมายความว่าการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในสังคม เช่นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมืองเพื่อทำให้การพัฒนาทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยชนิดที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทได้มากขึ้น มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มีวุฒิภาวะในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆได้อย่างสันติวิธี การปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายที่จะทำให้โครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมืองแบบใหม่ สามารถมีบทบาทในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาวได้มากกว่าที่แล้วมา ซึ่งการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ การปฏิรูปการเมืองจึงมีเป้าหมายแนวทางและมาตรการที่เป็นระบบชัดเจนเป็นรูปธรรมที่จะแก้ไขสภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่ โดยที่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์นั้นเสีย ก็จะกระทบถึงความชอบธรรมและประสิทธิภาพของสถาบันและกระบวนการทางการเมืองในอันที่จะเป็นเครื่องมือในการลดและแก้ไขความขัดแย้งภายในสังคมตลอดจนในการผลักดันให้มีการพัฒนาประเทศ
การปฏิรูปการเมืองไทย
การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 82 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนปัจจุบันเข้าสู่ยุคปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเฉพาะสองทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่ามีแนวคิดการผลักดันการปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นในเกือบทุกรัฐบาล ในปี 2535 - 2537 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี มีนายมารุต บุนนาค เป็นประธานรัฐสภาจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย(.คพป) ยกร่างข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองโดยมีศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ก็ได้ส่งมอบข้อเสนอที่ผ่านการระดมความคิดเห็นจากหลายกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม เพื่อการปฏิรูปการเมืองแก่ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2538 โดยนำเสนอว่า การปฏิรูปการเมืองที่สำคัญจะต้องประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 4 ข้อคือ 1) สามารถแก้ไขปัญหาของการเมืองทั้งระบบได้ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง และควรหามาตรการแก้ไขทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่แก้ไขที่จุดหนึ่ง แล้วไปสร้างปัญหาอีกจุดหนึ่ง 2) ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสุจริตและประสิทธิภาพทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบการเมืองโดยขจัดการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรทางการเมือง 3) การยกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) ให้เป็นการปฏิรูปการเมือง ต้องทำให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน (Package) เพื่อสร้างความสุจริตและประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นแก่ระบบการเมือง หรือแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม และ 4) การปฏิรูปการเมืองดังกล่าว ยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นกรอบหลัก โดยมุ่งปรับปรุงระบบรัฐสภาแบบล้าสมัยให้เป็นระบบรัฐสภาแบบทันสมัยและมีเหตุผล (Rationalized Parliamentary System) สำหรับปัญหาของระบบการเมืองไทยนั้นเกิดจากสาเหตุ 2 ประการหลักคือ ความไม่สุจริตและความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเมือง ซึ่งจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ด้วยการปฏิรูปการเมือง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมในรัฐบาลดังกล่าว
จนมาถึงสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2538 - 2539 หัวหน้าพรรคพรรคชาติไทย ได้นำนโยบายที่เคยรณรงค์หาเสียงโดยประกาศเป็นสัญญาประชาคมในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2539 ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อปฏิรูปการเมือง และได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 โดยแต่งตั้งนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการปฏิรูปการเมืองไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 นี้เอง เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชนที่เป็นที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดที่เคยมีรัฐธรรมนูญมา ทั้งในส่วนที่มา รูปแบบและเนื้อหา คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองชุดดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปการเมือง โดยคำนึงถึงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยได้พิจารณาประกอบกับสภาพโครงสร้างและค่านิยมของสังคมไทย รวมทั้งสภาพปัญหาและลำดับความเร่งด่วนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาปฏิรูปการเมืองและได้กำหนดเป็นแนวทางการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วน 6 ประการ ดังนี้ 1) ปฏิรูปแนวทางพัฒนาการเมือง โดยการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองขึ้นมาดำเนินการตามแผนพัฒนาการเมือง 2) ปฏิรูปการจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม 3) ปฏิรูประบบราชการและระบบตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา ระบบตรวจสอบเงินแผ่นดิน ศาลคดีการเมือง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร 4) ปฏิรูประบบพรรคการเมือง ให้มีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคของมวลชนและมีการดำเนินการที่เป็นประชาธิปไตย 5) ปฏิรูประบบเลือกตั้ง และให้มีองค์การควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับ เช่นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ฯลฯ และ 6) ปฏิรูปการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ออกกฎหมายว่าด้วยประชาพิจารณ์ ในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนสามารถรวมกลุ่มเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน ของสังคม และของประเทศ โดยให้หน่วยงานของรัฐยอมรับและพิจารณาความคิดเห็นของกลุ่มด้วย[2]
ต่อมาได้มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล 5 ประการ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งที่คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานคุณธรรม โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นฐานในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งนำมาซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ในที่สุด
ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภาได้ลงนามคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 39 คน มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ศึกษาและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้พิจารณา แล้วเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในทางปฏิบัติแล้วมีปัญหา ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จึงเห็นสมควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบางประเด็นและบางมาตราเป็นการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมืองในระยะต่อไป รวม 6 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นยุบพรรคการเมือง และการ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 237) ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง 2) ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 93 ถึงมาตรา 98) 3) ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 111 ถึงมาตรา 121) 4) ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา(มาตรา 190) 5) ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 265) และ6) ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 266) จากนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองไว้ 3 ข้อ คือ 1) การปฏิรูปการเมือง จะมุ่งเน้นการแก้ไขตัวบทกฎหมายต่าง ๆ แต่ไม่มีการมองไปที่การปฏิรูปตัวบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากตัวบุคคลทั้งสิ้น โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมืองและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง หากได้บุคคลที่ไม่มีคุณธรรม และเล่นพรรคเล่นพวก การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปได้ยาก 2) การปฏิรูปการเมือง นอกจากจะพิจารณาถึงสถาบันและกฎหมายแล้วต้องพิจารณาถึงเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรมของนักการเมืองประกอบด้วย โดยเฉพาะต้องแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง การผูกขาดระบบเศรษฐกิจ 3) การสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นปัญหาเรื่องเดียวกัน จึงควรดำเนินการทั้ง 3 เรื่องตามลำดับ คือ การสร้างความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง[3] แม้จะมีข้อเสนอจากคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้มีการหยิบยกข้อเสนอดังกล่าวมาดำเนินการต่อแต่อย่างใด สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงเรื่องข้อเสนอทางออกประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2556 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
“รัฐบาลพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และรัฐบาลพร้อมที่จะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และพยายามผลักดันให้มีการใช้เวทีรัฐสภามากกว่าท้องถนนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนยังดำเนินการที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างเช่นจากโครงการประชาเสวนาในการหาทางออกของประเทศ ทั้งในประเด็นแนวทางการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเสนอพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาค และการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลทั่วโลกยอมรับ …โดยรัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองร่วมกันคิดว่าเราจะวางอนาคตบ้านเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน อันจะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการพัฒนาชาติ สร้างความไว้วางใจ และความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง”[4]
ต่อมาในการประชุม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมที่ประชุมได้วางกรอบการดำเนินงานในการวางเป้าหมายการปฏิรูปและหาทางออกประเทศไทย ดังนี้ 1) การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความมั่นคงแข็งแรง 2) ต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่มควรได้รับ 3) มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี 4) สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่กลุ่มในสังคมควรได้รับ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม 5) มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย 6) สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน และ7) ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง และยังให้ยึดแนวทางการปฏิบัติโดยให้รวบรวมผลงานการศึกษาจากทุกหน่วยงานที่มีการเสนอมา สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะทำในรูปคณะกรรมการ 3 คณะ คือ การเมืองเศรษฐกิจ และสังคม และแบ่งการทำงานออกมาเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาเร่งด่วน และปัญหาระยะยาว แนวทางในการพิจารณาศึกษาซึ่งในเบื้องต้นนี้มีข้อเสนอแนะที่สภาปฏิรูปการเมืองควรพิจารณา คือ 1) สภาปฏิรูปการเมือง ควรประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการยอมรับในเบื้องต้นอันจะนำมาสู่ความร่วมมือในอนาคต 2) รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสภาปฏิรูปการเมือง ต้องไม่แทรกแซงการทำงานของสภาปฏิรูปการเมือง โดยรัฐบาลเพียงแต่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้สภาปฏิรูปการเมืองทำงานอย่างมีอิสระ 3) เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ ต่างประสบปัญหาเสมอ ดังนั้น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐที่สำคัญในการปฏิรูปการเมือง ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานทางวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นกลางทางการเมือง 4) การปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปในภาพกว้าง กล่าวคือต้องปฏิรูปทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพราะทุกภาคส่วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน และต่างได้รับผลกระทบซึ่งกันและกัน และ5) การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง และโครงสร้างทางสังคม ถึงแม้จะได้รับเสียงขานรับจากพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นเป็นอย่างดี แต่ก็ได้รับการเมินเฉยและไม่เข้าร่วมจากพรรคฝ่ายค้านและคู่ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มต่างๆ จึงทำให้การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่นี้ล้มเหลวอีกครั้ง
การปฏิรูปทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 นาฬิกา โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ และได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ข้อมูลจากเอกสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน โดยกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้แจ้งเหตุผลของการยึดอำนาจไว้ 10 ข้อด้วยกัน คือ 1) มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงหยั่งลึกจากระดับประเทศไปถึงระดับครอบครัวคนไทย 2) การใช้อำนาจการปกครองที่กระทำอยู่เดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก และการกระทำผิดของกลุ่มต่างๆ ได้อีกต่อไป 3) แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าเลือกตั้งต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้ อาจเกิดปัญหาความวุ่นวายไม่จบสิ้น 4) การชุมนุมทางการเมืองที่มีต่อเนื่องมาถึง 6 เดือน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางความคิด และการแก่งแย่งผลประโยชน์ทางการเมือง ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา (วิกฤตการณ์การเมือง พ.ศ. 2548 – 2553 และ พ.ศ. 2556 – 2557) ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี จนไม่อาจปรองดองกันได้ 5)ปัญหาทุจริต มีคดีความจำนวนมากอยู่ในชั้นศาล และยังรอกระบวนการยุติธรรมตัดสิน 6)การบังคับใช้กฎหมายปกติต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่มทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง ความเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย โดยเฉพาะแกนนำที่มีความผิดตามกระบวนการยุติธรรม นำไปสู่การยุยงปลุกปั่นแนวร่วมของฝ่ายตน ให้พร้อมที่จะกระทำใดๆ ต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรง 7) การบริหารราชการแผ่นดินในห้วงที่ผ่านมาไม่สามารถกระทำได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และก่อปัญหาความเดือดร้อนต่อประชาชนทุกระดับจนถึงรากหญ้า 8)มีการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 112 ทั้งทางลับและเปิดเผย สร้างความไม่พอใจและเกลียดชังของประชาชนโดยรวมที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ 9) การปลุกระดมมวลชนที่มุ่งเอาชนะฝ่ายตรงข้ามโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ทวีความรุนแรงและเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และ (10) ปรากฏชัดว่ามีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธรวมถึงการตระเวนอาวุธสงครามจำนวนมาก เพื่อปฏิบัติการอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามของตน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกองทัพจะยอมให้เกิดขึ้นในประเทศชาติไม่ได้โดยเด็ดขาด[5]
หลังจากนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงนับแต่นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะได้ออกมาพูดในรายการ” คืนความสุขให้แก่คนในชาติ”ผ่านทางโทรทัศน์รวมรายการเฉพาะกิจแห่งปะเทศไทย โดยได้ประกาศโรดแมป (Roadmap) ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง 3 ระยะ 1)จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉับชั่วคราวเสร็จสิ้นแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะตรวจทานแก้ไข เมื่อเรียบร้อยจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงพระปรมาภิไธยให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2557 นี้ 2) จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ ภายในเดือนกันยายน 2557 ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติจะใช้วิธีการสรรหา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากทุกภาคส่วนจังหวัดเข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเดือนตุลาคม 2557 ในส่วนของการปฏิรูปในสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว จะกำหนดให้มีการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน องค์กรยุติธรรม และเรื่องอื่นๆ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติจะจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จ ทั้งหมดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือเดือนกรกฎาคม 2558 3) เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมีผลบังคับใช้ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงหลังเดือนตุลาคมปี 2558
ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2557 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้น 48 มาตรา มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ได้บัญญัติเรื่องสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ในมาตรา 27 ให้มีหน้าที่รักษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งสิ้น 11 ด้าน คือ 1)การเมือง 2)การบริหารราชการแผ่นดิน 3)กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4)การปกครองท้องถิ่น 5)การศึกษา 6)เศรษฐกิจ 7)พลังงาน 8)สาธารณสุข 9)สื่อมวลชน 10)สังคม 11)อื่นๆ และบัญญัติอำนาจหน้าที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ในมาตรา 31 ดังนี้ (1) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำ แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง ๆ แล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2)เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ (3)พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก ให้นำความในมาตรา 13 และมาตรา 18 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม
มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าทุกรัฐบาลต่างพยายามปฏิรูปการเมืองตามแนวทางของตนหรือตามแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองชุดต่างๆ นำเสนอ แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นระบอบที่ทุกรัฐบาลเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าเป็นระบอบที่ดีและเป็นคุณต่อประเทศชาติ
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์. (2538). ญี่ปุ่นปฏิรูปการเมือง.กรุงเทพมหานครฯ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ประเวส วะสี. (2540). การเดินทางแห่งความคิด:ปฏิรูปการเมือง.กรุงเทพมหานครฯ สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน คณิน บุญสุวรรณ. (2547). 7 ปีปฏิรูปการเมือง : หนีเสือปะจระเข้. กรุงเทพมหานครฯ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
อ้างอิง
- ↑ พจนานุกรมภาษา.ปฏิรูป.[ออนไลน์].วันที่ค้นข้อมูล24 กรกฎาคม 2557เข้าถึงได้จากhttp://th.w3dictionary.org/index.php?q=%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B
- ↑ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง. รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก), (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., 2538), หน้า 5 -8
- ↑ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ. รายงานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2552) หน้า 45 – 48
- ↑ สรุปจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ชินวัตร. ข้อเสนอทางออกประเทศไทยวันศุกร์ที่2 สิงหาคมพ.ศ. 2556 ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล [ข้อมูลออนไลน์] วันที่ค้นข้อมูล 4สิงหาคม 2557 เข้าถึงได้จาก http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM05UVTFOVE01T1E9PQ==
- ↑ เอกสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน ศูนย์ประชาสัมพันธ์เอกสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน โดยกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ [ข้อมูลออนไลน์] วันที่ค้นข้อมูล 4 สิงหาคม 2557เข้าถึงได้จากhttp://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=2&ved=0CCQQFjAB&url=http%3A%2F%2Fwww.4thinfantry.in.th%2FROAD%2520MAP252025E025B82584%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%258A.pdf&ei=UpLgUy7IZCfugTauoHoCA&usg=AFQjCNEgf8_JD_NHnc55KnMHD5n4i1FgcQ&sig2=u0RBZC3XHRpuHbZSgY8Kg&bvm=bv.72197243,d.c2E
บรรณานุกรม
คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง. (2538) รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง(คปก), กรุงเทพมหานคร : (ม.ป.ท.)..
คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย. (2540). การปฏิรูปการเมืองไทย.กรุงเทพมหานครฯ สำนักพิมพ์เรือนแก้ว
ธีรยุทธบุญมี. (2540) รศ.ดร..ปรัชญาแห่งการปฏิรูปการเมือง.กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์วัลยา
คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ. (2552) รายงานคณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐสภา, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
มนตรี รูปสุวรรณ. (2552).รศ.ดร.. บทบาทวุฒิสภาในการปฏิรูปการเมือง.วารสารจุลนิติ ฉบับ ก.ค. – ส.ค.
พจนานุกรมภาษา.ปฏิรูป.[ออนไลน์].วันที่ค้นข้อมูล24 กรกฎาคม 2557เข้าถึงได้จาก http://th.w3dictionary.org/index.php?q=%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B
ลิขิต ธีรเวคิน.ศ.ดร.. รัฐธรรมนูญ-การปฏิรูปการเมืองและการบริหาร.ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [ออนไลน์].วันที่ค้นข้อมูล24 กรกฎาคม 2557 http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8% 90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
วิทยากร เชียงกูล.ปฏิรูปการเมือง.[ออนไลน์].วันที่ค้นข้อมูล24 กรกฎาคม 2557เข้าถึงได้จาก http://witayakornclub.wordpress.com/2008/04/04/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%97/
คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป การเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. บทสรุปรายงานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ: (ม.ป.ท.). ม.ป.ป.