การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นระบบการเลือกตั้งที่มีการจัดแบ่งเขตการเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกที่ลงสมัครของพรรค และลักษณะการคำนวณคะแนนเสียงในการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักพบว่าหลายประเทศมีการนำระบบการเลือกตั้งทั้งสองแบบนี้ไปใช้ควบคู่กัน แต่จำนวนผู้แทนแบบแบ่งเขตเท่านั้นที่มีจำนวนคงที่ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ส่วนจำนวนผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อมักใช้ประเทศหรือภูมิภาคเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงที่ได้กับจำนวนที่นั่งในสภาในส่วนของสมาชิกที่มาจากระบบบัญชีรายชื่อตามเกณฑ์หรือรูปแบบที่กำหนดไว้ในแต่ละประเทศ
การเลือกตั้งแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง
เป็นการเลือกตั้งที่มีการกำหนดเขตพื้นที่ให้เป็นเขตการเลือกตั้ง (Constituency) โดยสัมพันธ์กับจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งแนวทางการในการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ จะเป็น 1 คน 2 คน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการแบ่งเขตเลือกตั้งและประเภทของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่กำหนดในแต่ละประเทศ (ดูเพิ่มเติม การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต, การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน)
การเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ (Party-list proportional representation) เป็นรูปแบบของการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนเสียงหรือความนิยมจากประชาชนกับที่นั่งที่พรรคการเมืองจะได้รับในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบของการเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรค ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้ รูปแบบบัญชีรายชื่อ
(1) บัญชีรายชื่อแบบปิด (closed list) เป็นระบบที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกลงคะแนนให้ผู้สมัครจากบัญชีใดบัญชีหนึ่งของพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองในการกำหนดลำดับผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ และถ้าบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้รับเลือก ผู้สมัครทุกคนในบัญชีรายชื่อนั้นหรือพรรคนั้นก็จะได้รับการเลือกตั้งตามสัดส่วนของคะแนนที่พรรคได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งเป็นระบบที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยแบบบัญชีรายชื่อหรือแบบสัดส่วน ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550
(2) บัญชีรายชื่อแบบเปิด (opened list) เป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนผู้ลงคะแนนในการเลือกทั้งบุคคลและพรรคการเมืองที่ตนเองพอใจ โดยไม่ต้องยึดตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนดมา โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
- แบบเปิดเต็มที่ (fully open list) รายชื่อผู้สมัครที่ปรากฏในบัญชีจะถูกเรียงลำดับจากการสุ่มหรือเรียงตามตัวอักษร ซึ่งไม่เน้นผู้ที่พรรคต้องการให้ได้เป็นผู้แทนมากที่สุดอยู่ลำดับแรก เหมือนในกรณีของไทย ระบบนี้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีอิทธิพลต่อการจัดเรียงลำดับใหม่ ทำให้ผู้สมัครที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งให้ความนิยมมากที่สุดจะได้รับเลือกก่อน และเรียงลงมาตามลำดับความพอใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งในบางกรณีอาจเติมชื่อผู้สมัครคนอื่นๆลงในบัญชี หรือขีดชื่อบุคคลที่ตนไม่ต้องการออกก็ได้ ดังตัวอย่างระบบบัญชีรายชื่อของประเทศสวิสเซอร์แลนด์
- แบบเปิดบางส่วน (partially open list) เป็นการเปิดให้องค์กรพรรคการเมืองและผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการตัดสินว่าผู้สมัครรายใดจะได้รับการเลือกตามลำดับ ซึ่งระบบนี้ได้รับการเสนอให้ใช้ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament) และการเลือกตั้งสมาชิกสภาขุนนางของอังกฤษ (House of Lords) ในปี 2000 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูประบบการแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางของอังกฤษ
สำหรับตัวอย่างระบบบัญชีรายชื่อในประเทศฟินแลนด์ มีการจัดระบบบัญชีรายชื่อโดย ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครหนึ่งคน จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา ในการนับคะแนนว่าพรรคการเมืองหนึ่งจะได้รับการจัดสรรกี่ที่นั่งขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่พรรคได้ทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนของพรรคการเมืองอื่นในเขตนั้น ในขณะที่ผู้สมัครแต่ละคน จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่แต่ละคนได้รับ ตัวอย่างเช่น ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งมีสิทธิได้ 3 ที่นั่ง ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 3 แรก จะได้รับการเลือกตั้งไป ไม่ว่าผู้สมัครทั้ง 3 คนนี้จะอยู่ในอันดับใดของบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้กำหนดไว้ก็ตาม ระบบบัญชีรายชื่อของฟินแลนด์ถูกเรียกว่า เป็นแบบ “กึ่งเปิด” ที่ให้สิทธิกับประชาชนเลือกผู้สมัครที่ตนเองพอใจได้โดยตรง ไม่ใช่เลือกได้แต่พรรคการเมือง แต่ก็มีข้อเสีย คือ ผู้สมัครของพรรคจะต้องแข่งขันกันเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาความแตกแยกในพรรคได้ง่าย
ข้อสังเกตต่อระบบบัญชีรายชื่อ
(1) เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อเสียงข้างน้อย เพื่อให้ทุกกลุ่มหรือทุกพรรคมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนคะแนนนิยมหรือคะแนนที่ได้รับ
(2) นิยมใช้สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ ในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศที่มีการเลือกตั้ง
(3) มีข้อวิจารณ์ว่าไม่เปิดโอกาสให้เลือกผู้สมัครเป็นรายบุคคลและผู้สมัครไม่จำเป็นต้องคลุกคลีกับพื้นที่
ที่มา
โคทม อารียา.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ระบบการเลือกตั้ง.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 19.
เฉลิมพล ไวทยากูร.”ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีเปิด” Retrieved from URL www.nccc.go.th/constitution/ NewsUpload/119_1_aaa.pdf
บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. “การเลือกตั้งและพรรคการเมือง : บทเรียนจากเยอรมัน” .กรุงเทพฯ :สถาบันนโยบายศึกษา,2542 หน้า 99.
สิริพรรณ นกสวน, “การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ” ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ ม.ร.ว. พฤทธิสาน ชุมพล (บรรณาธิการ) . คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (Concepts in contemporary political science) .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 หน้า 112-113.
Rob Richie and Steven Hill.” “The Case for Proportional Representation” Retrieved from URL http://www.thirdworldtraveler.com/Political/CaseForPropRep.html