อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
“ถ้าผมกลัวที่จะถูกปลด ผมปฏิวัติก็ได้ แล้วผมจะใหญ่ที่สุดในประเทศนี้
แล้วก็สั่งการได้ทุกอย่างเลย แต่ว่าเราเลี่ยงที่จะทำเช่นนั้น
เพราะมันแก้ปัญหาประเทศชาติไม่ได้”
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา[1]
“การปฏิวัติ” มักจะเป็นคำถามที่ใครก็ตามที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนับว่าเป็นตำแหน่งที่ถูกจับตามองมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ “พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา” นายทหารเสือราชินี ที่ถูกกล่าวขานถึงในนาม “พี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ตท.10) ของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อวันที่ 19_กันยายน_พ.ศ._2549 ชื่อของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เริ่มเป็นที่กล่าวถึงโดยทั่วไป และโดดเด่นยิ่งขึ้นเมื่อดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในช่วง พ.ศ. 2550-2553 ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก เนื่องจากในช่วงเวลานี้ต้องเผชิญกับการชุมนุมทั้งฝั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และฝั่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ดังนั้น บทบาทของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา จึงเป็นกุญแจสำคัญในการปลดพันธนาการแห่งความขัดแย้ง ทว่าหลังจากนั้นชื่อของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้งภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประยุทธ์_จันทร์โอชา น้องเล็กแห่งบูรพาพยัคฆ์
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คนของ พันเอก ประเชาวน์ เผ่าจินดา และนางบุญเรือน เผ่าจินดา หรือนางบุญเรือน อวยศักดิ์[2] ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายทหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พันเอก ประเชาวน์ เผ่าจินดา มีอิทธิพลต่อบุตรชายคนนี้อย่างยิ่งในการสร้างความใฝ่ฝันอยากจะเป็นทหารตั้งแต่วัยเยาว์ และยังเป็นผู้ริเริ่มให้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา สนใจในเรื่องเล่นดนตรี โดยเฉพาะการตีกลอง[3] จนกลายมาเป็นกิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานในท้ายที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนพันธะศึกษา ได้เพียง 1 ปี หลังจากนั้นจึงย้ายไปศึกษา ณ โรงเรียนอำนวยศิลป์ ใน พ.ศ. 2509 ร่วมรุ่นกับ พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ และ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เรียกกันว่า “รุ่นลมว่าว”[4] หลังจากนั้นสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ใน พ.ศ. 2510 ร่วมรุ่นกับ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และใน พ.ศ. 2512 ได้เข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 21 (จปร.21) และสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นชุดที่ต้องเรียนจบก่อนเพื่อนหลายคนในรุ่น เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เร่งด่วนของกองทัพบก[5]
หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้ติดยศร้อยตรี เป็นผู้บังคับหมวดอาวุธกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) และเข้าศึกษาในหลักสูตรชั้นนายร้อย โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ พ.ศ. 2517 ต่อมา ใน พ.ศ. 2520 ได้เข้าศึกษาในหลักสูตรชั้นนายพัน โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ และใน พ.ศ. 2525 ได้เข้าศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 61 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก นอกจากนี้พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ใน พ.ศ. 2536 และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสำหรับนักบริหาร) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ใน พ.ศ. 2544[6]
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา สมรสกับนางกุลยา เผ่าจินดา มีบุตร-ธิดา รวม 2 คน คือนายยุทธพงษ์ เผ่าจินดา และนางสาววิมลิน เผ่าจินดา
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เริ่มรับราชการทหารครั้งแรกในยศร้อยตรี เป็นผู้บังคับหมวดอาวุธกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) พ.ศ. 2520 เป็นนายทหารยุทธการ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2524 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2526 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ต่อมา พ.ศ. 2529 เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2533 เป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2535 เป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2539 เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ต่อมาใน พ.ศ. 2541 เป็นเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (บูรพาพยัคฆ์) และเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในปีเดียวกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2545 เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2546 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2547 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และ พ.ศ. 2548 ขยับขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ใน พ.ศ. 2549 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบก ใน พ.ศ. 2550 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ[7]
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังเคยปฏิบัติราชการพิเศษต่าง ๆ นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. 2515 ได้รับภารกิจปฏิบัติราชการสงคราม ในหน่วยผสม 333 ต่อมา พ.ศ. 2518 ปฏิบัติราชการพิเศษปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน พ.ศ. 2521 ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศในกองกำลังบูรพา และใน พ.ศ. 2525 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร[8]
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หลังจากนั้นมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงได้แปรสภาพไปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการนี้ชื่อของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมาอีกครั้ง โดยเป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน[9]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ใน พ.ศ. 2549 เกิดการยึดอำนาจรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในการนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำกองกำลังเข้ายึดอำนาจ ตามแผนการที่เรียกว่า “ปฐพี 149”[10] จนประสบผลสำเร็จ หลังจากการยึดอำนาจผ่านพ้นไป พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเป็นที่จับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป[11]
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกใน พ.ศ. 2550 และหลังจากนั้นไม่นานักประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และมีรัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อยอดมาจากพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไป เป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก และจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดความหวาดระแวงในตัวพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และมีกระแสข่าวให้ปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก[12] แต่รัฐบาลก็ไม่มีท่าทีใด ๆ ในเรื่องนี้ จนกระทั่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน พ.ศ. 2551 แต่พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ได้ใช้กำลังในการจัดการแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า “สถานการณ์ไม่ถึงขั้นฉุกเฉิน เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรชุมนุมมานานแล้ว”[13] จนกระทั่งนายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ท่ามกลางผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เพิ่มความร้อนแรงในการชุมนุมมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่า ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” โดยเสนอทางออกว่านายกรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก นับว่าเป็นเรื่องที่ฮือฮาอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการ “ปฏิวัติผ่านหน้าจอ”[14] ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับ 5 องค์กรภาคเอกชน เสนอทางออกแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ให้ยุบสภา คืนอำนาจแก่ประชาชน แต่หลังจากนั้นไม่นาน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ก็พ้นจากตำแหน่งหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน[15]
หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ใน พ.ศ. 2553 มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาควบคุมดูแลสถานการณ์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน_พ.ศ._2548 แต่การชุมนุมลุกลามบานปลาย และนำไปสู่การกระชับพื้นที่ และสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553[16] แต่พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่อง จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553
หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ชื่อของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมาอีกครั้ง ในตำแหน่งรองประธานคณะที่ปรึกษา คสช. และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
ผลงานที่สำคัญในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เช่น “นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ_แบ่งปันความสุข” เป็นนโยบายที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต เข้าถึงการบริการสาธารณะ โดยเน้นหนักเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน และแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน[17] นอกจากนี้ทางพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังให้ความสำคัญกับบทบาทผู้นำชุมชน ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศ
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ ไอ.เอ็น.เอ็น.. สนธิ-คมช. ขุนพลปฏิวัติ 2549 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550).
วัธยา ไว. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา บูรพาพยัคฆ์ซ่อนคม (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ ,2553).
เว็บไซต์
ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก เข้าถึงจาก <>%20%20เมื่อ http://www.rta.mi.th/command/command31.htm> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
ข้อมูลคณะรัฐมนตรี เข้าถึงจาก <>%20เมื่อ http://www.thaigov.go.th/cabinet/item/85769-85769?lang=th> เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.
Timeline: เทียบแถลงการณ์ “สมาคมสื่อ” กับสถานการณ์ “การเมือง” เข้าถึงจาก <>%20เมื่อวันที่%2026%20เมษายน%20พ.ศ http://prachatai.com/journal/2012/12/44076> เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.
มท.เปิดตัวโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข” เข้าถึงจาก <>%20เมื่อวันที่%2026%20เมษายน%20พ.ศ http://www.tnamcot.com/content/26276> เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.
[1] พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับ 5 องค์กรภาคเอกชน เสนอทางออกแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ให้ยุบสภา คืนอำนาจแก่ประชาชน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551.
[2] วัธยา ไว, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา บูรพาพยัคฆ์ซ่อนคม, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ,2553), น.15-27.
[3] กองบรรณาธิการ ไอ.เอ็นเอ็น., สนธิ-คมช. ขุนพลปฏิวัติ 2549, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550), น.186-188.
[4] วัธยา ไว, อ้างแล้ว, น.29-30.
[5] วัธยา ไว, เพิ่งอ้าง, น.40.
[6] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[7] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[8] เพิ่งอ้าง.
[9] ข้อมูลคณะรัฐมนตรี เข้าถึงจาก http://www.thaigov.go.th/cabinet/item/85769-85769?lang=th เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.
[10] กองบรรณาธิการ ไอ.เอ็นเอ็น., อ้างแล้ว, น.178-185.
[11] กองบรรณาธิการ ไอ.เอ็นเอ็น., เพิ่งอ้าง.
[12] วัธยา ไว, อ้างแล้ว, น.104.
[13] วัธยา ไว, เพิ่งอ้าง, น.133.
[14] วัธยา ไว, เพิ่งอ้าง, น.137-138.
[15] วัธยา ไว, เพิ่งอ้าง, น. 139.
[16] Timeline: เทียบแถลงการณ์ “สมาคมสื่อ” กับสถานการณ์ “การเมือง”, เข้าถึงจาก http://prachatai.com/journal/2012/12/44076 เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.
[17] มท.เปิดตัวโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข”, เข้าถึงจาก http://www.tnamcot.com/content/26276 เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559.