คณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ผู้เรียบเรียง : กฤติยา พชราพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมายของคณะกรรมาธิการและองค์กรอิสระ
กรรมาธิการ คือ บุคคลที่สภาแต่งตั้งขึ้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา
คณะกรรมาธิการคือ คณะบุคคลในสภามีหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมสภากำหนดไว้ และเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในระบบรัฐสภาที่จะทำให้การทำงานของสภามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
องค์กรอิสระ หมายถึง องค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรของรัฐอื่นหรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ความสำคัญของคณะกรรมาธิการและองค์กรอิสระ
คณะกรรมาธิการ เป็นกลไกสำคัญของสภาที่ช่วยให้สามารถติดตามผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สภาได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำหน้าที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิรูปการเมือง
ความเป็นมาของคณะกรรมาธิการและองค์กรอิสระ
สำหรับประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับ “คณะกรรมาธิการ” ไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยเริ่มตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ส่วนที่ 3 ระเบียบการประชุม มาตรา 26 บัญญัติไว้ว่า
“สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีกขั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการเมื่อสภาไม่ได้ตั้งก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเอง ตั้งขึ้นเป็นประธานได้
อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจง แสดงความเห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความเห็นตามมาตรา 24
ในการประชุมอนุกรรมการนั้นต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 3 นาย จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้ เว้นแต่อนุกรรมการนั้นจะมีจำนวนตั้งขึ้นเพียง 3 คน เมื่อมาประชุมแต่ 2 คน ก็ให้นับว่าเป็นองค์ประชุมได้”
ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างได้กำหนดบทบาทของคณะกรรมาธิการไว้ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของรัฐสภา ครอบคลุมในกิจกรรมทุกประเภท รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการทำงาน อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่สภามอบหมาย
องค์กรอิสระ ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับปฏิรูปการเมืองหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการในด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 75 วรรคสอง ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระขององค์กรฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 11 ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มี 1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3. คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 4. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
"องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" กำหนดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการปฏิรูปทางการเมือง โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระ แตกต่างกันไปตามกระบวนการในแต่ละองค์กร แต่มีหน้าที่เหมือนกัน นั่นก็คือ ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ รวมถึง มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมสรุปสำนวน และมีอำนาจวินิจฉัยดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐ โดยไม่คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประเภทของคณะกรรมาธิการ
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และข้อบังคับการประชุมสภาที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว สามารถจำแนกคณะกรรมาธิการได้เป็น 6 ประเภท คือ
1. คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา คือ กรรมาธิการที่สภาเลือกและตั้งจากบุคคลผู้เป็นสมาชิกสภาเท่านั้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการและตั้งไว้เป็นการถาวรตลอดอายุของสภา โดยมีจำนวนและคณะตามความจำเป็นในกิจการของสภานั้น
ข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 35 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 15 คน
หากมีความจำเป็นสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะอื่นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกิน 2 คณะ
ส่วนข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาขึ้น 22 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คน
หากมีความจำเป็นหรือเห็นสมควรวุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเพิ่มขึ้นหรือลดจำนวนคณะกรรมาธิการลงเมื่อใดก็ได้ และสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้ไม่เกิน 2 คณะ เว้นแต่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้หนึ่งคณะ ส่วนสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาอื่นอีกไม่ได้
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญ หมายถึง กรรมาธิการที่สภาแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น มีจำนวนตามที่ที่ประชุมสภากำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ
3. คณะกรรมาธิการร่วมกัน หมายถึง กรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกันอันประกอบด้วยบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด
4. คณะกรรมาธิการเต็มสภา หมายถึง คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยสมาชิกทุกคนในที่ประชุมสภาเป็นกรรมาธิการ โดยประธานของที่ประชุมทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการ
5. คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา หมายถึง คณะกรรมาธิการที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้งนี้ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา
6. คณะกรรมาธิการตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการประเภทนี้จะมีเฉพาะในวุฒิสภาเท่านั้น ในกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้นเป็นกรณี ๆ ไป โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวมีฐานะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าว พร้อมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ อันจำเป็นแล้ว จะรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
สำหรับการตั้งกรรมาธิการสามัญดังกล่าว จะตั้งจากสมาชิกที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเสนอชื่อจำนวน 3 คน จำนวนที่เหลือให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกจากรายชื่อสมาชิกที่คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเสนอจากกรรมาธิการคณะนั้น ๆ คณะละ 1 คน ส่วนการประชุมกรรมาธิการให้กระทำเป็นการลับ
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ
กรรมาธิการมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามอบหมายแล้วรายงานต่อสภาตามเวลาที่สภากำหนด
1.1 พิจารณาหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนที่สภาจะลงมติรับหลักการในวาระที่ 1
1.2 พิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สภามีมติรับหลักการแล้ว ในการนี้คณะกรรมาธิการมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดในร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และในขณะเดียวกันสมาชิกอื่นก็มีสิทธิเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นได้ด้วย
2. กระทำกิจการใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาและต้องระบุโดยชัดแจ้งไว้ในมติของสภาเป็นกรณี ๆ ไป แล้วรายงานต่อสภาตามเวลาที่กำหนด
ประโยชน์ของระบบกรรมาธิการ
1. ช่วยแบ่งเบาภาระของสภา เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของสภาได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทุกขณะ และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาไม่อาจจะพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบ จำเป็นจะต้องมอบหมายให้คณะกรรมาธิการช่วยเหลือพิจารณากลั่นกรองเพื่อสภาจะได้วินิจฉัยปัญหา หรือกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพทั้งยังประหยัดเวลาให้สภาอีกด้วย
2. ทำให้ได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในกรณีที่สภามีปัญหาที่จะต้องพิจารณา และต้องอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยเฉพาะก็สามารถแต่งตั้งบุคคลนั้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการได้
3. ทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะปัญหาต่างๆ ได้รับการพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบอย่างแท้จริงจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ ทั้งได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยใกล้ชิด
บทบาท อำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
คณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตั้งขึ้นตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 121 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า
ในการที่วุฒิสภาจะพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
การดำเนินการของคณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
ซึ่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 หมวด 5 การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ ข้อ 101 – ข้อ 110 ได้กำหนดว่า
ข้อ 101 เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินสิบห้าคน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้นเป็นกรณีๆ ไป
ข้อ 102 การตั้งกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 ให้ตั้งจากสมาชิกที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเสนอชื่อ มีจำนวนสามคน จำนวนที่เหลือให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกจากรายชื่อสมาชิกที่คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเสนอจากกรรมาธิการคณะนั้นๆ คณะละหนึ่งคน
ข้อ 103 การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 ต้องมีกรรมาธิการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 104 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญคณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 อาจเรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานอันจำเป็นจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งให้มีหนังสือเชิญบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาให้ข้อเท็จจริง หรือชี้แจงเกี่ยวกับประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ประสงค์จะทราบ หากปรากฏว่ามีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และข้อมูลหรือข้อเท็จจริงนั้นยังไม่เป็นที่ยุติ ให้บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีสิทธิชี้แจงและแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อความเป็นธรรม
ข้อ 105 การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 ให้กระทำเป็นการลับ โดยผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุม และได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม
ข้อ 106 เมื่อคณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 ดำเนินการตามหน้าที่เสร็จแล้ว ให้เสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภา
รายงานดังกล่าวให้จัดทำเป็นรายงานลับ และให้ระบุข้อมูล หรือข้อเท็จจริง พยานหลักฐานอันจำเป็น พร้อมรายละเอียดเป็นรายบุคคล
ข้อ 107เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายงานของคณะกรรมาธิการตามข้อ 106 แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน และให้เลขาธิการวุฒิสภาจัดส่งเฉพาะระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สมาชิกโดยไม่ต้องจัดส่งรายงานลับของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปด้วย
ข้อ 108 ในการประชุมวุฒิสภา ให้คณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยให้เลขาธิการวุฒิสภาแจกจ่ายสำเนารายงานลับของคณะกรรมาธิการให้แก่สมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา สำเนารายงานลับดังกล่าวสมาชิกจะนำออกนอกห้องประชุมมิได้
ก่อนนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการต่อที่ประชุมวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมาธิการร้องขอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้มีการดำเนินการประชุมลับ
ในกรณีที่มิได้มีการประชุมลับ ให้ประธานวุฒิสภาสั่งงดการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและหรือวิทยุโทรทัศน์ ถ้ามีและให้เลขาธิการวุฒิสภาส่งรายงานลับตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเพื่อพิจารณาก่อนว่าจะสมควรเปิดเผยหรือไม่ และถ้าคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเห็นว่าไม่สมควรเปิดเผย ให้เลขาธิการวุฒิสภาแยกรายงานลับดังกล่าวออกจากรายงานการประชุมวุฒิสภาและเก็บรักษาไว้ โดยจะเปิดเผยมิได้
ข้อ 109 เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเสร็จแล้ว ให้สมาชิกส่งคืนสำเนารายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญตามข้อ 101 ต่อเลขาธิการวุฒิสภาในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อนำไปทำลายตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ต่อไป โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการหรือผู้ที่ประธานคณะกรรมาธิการมอบหมาย เป็นผู้กำกับในการทำลายนั้น
ข้อ 110 ให้นำความในหมวด 4 ว่าด้วยกรรมาธิการมาใช้บังคับกับการดำเนินการของคณะกรรมาธิการโดยอนุโลม เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้แล้วในหมวดนี้
คณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ได้กำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 ประกอบข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 หมวด 5 การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น โดยในการดำเนินการคณะกรรมาธิการสามัญฯ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งการเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไปยังคณะกรรมาธิการ
สรุป
คณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 121 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ คณะกรรมาธิการตามมาตรา 121 นี้ จะมีเฉพาะในวุฒิสภาเท่านั้น ในกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้นเป็นกรณี ๆ ไป โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวมีฐานะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ พร้อมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ อันจำเป็นแล้ว จะรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการช่วยให้สภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถวินิจฉัยปัญหาหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพทั้งยังประหยัดเวลาให้สภาอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าบทบาทของคณะกรรมาธิการมีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบบรัฐสภา เพราะบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างได้กำหนดบทบาทของคณะกรรมาธิการไว้ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของรัฐสภา ครอบคลุมในกิจกรรมทุกประเภท รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการทำงาน อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่สภามอบหมาย
บรรณานุกรม
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2555). “ระบบงานรัฐสภา 2555” กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2556). เอกสารประกอบการพิจารณา ของ คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อ หน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับ การเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ.