คณะกรรมาธิการร่วมกัน
ผู้เรียบเรียง: สวีณา พลพืชน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบ การสรรหาและถอดถอนบุคคลในองค์กรต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด[1]
อำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมาย หมายถึง อำนาจในการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย[2]
ในการกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา นั้นประกอบด้วยสมาชิกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภาจึงกำหนดกลไกการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนสมาชิกรัฐสภาและให้รายงานต่อสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
ความหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการไว้ในมาตรา 135 โดยบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา มติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องระบุกิจการหรือเรื่องให้ชัดเจนและไม่ซ้ำหรือซ้อนกัน[3] ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และข้อบังคับการประชุมสภา สามารถจำแนกคณะกรรมาธิการออกเป็น 6 ประเภท[4] กล่าวคือ
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญ
4. คณะกรรมาธิการตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ
5. คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา
6. คณะกรรมาธิการร่วมกัน
กรรมาธิการ หมายถึง บุคคลที่สภาแต่งตั้งขึ้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อให้พิจารณากฎหมายหรือกระทำกิจการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา[5]
คณะกรรมาธิการร่วมกัน หมายถึง กรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่งตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกันอันประกอบด้วยบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วก็จะสิ้นสภาพไป[6] คณะกรรมาธิการร่วมกันได้มีการตั้งครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
อำนาจหน้าที่
กรรมาธิการมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ดังนี้[7]
1. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภามอบหมาย แล้วรายงานต่อสภาตามเวลาที่สภากำหนด
1.1พิจารณาหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนที่สภาจะลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง
1.2พิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สภามีมติรับหลักการแล้ว ในการนี้คณะกรรมาธิการมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียด ในร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และในขณะเดียวกันสมาชิกอื่นก็มีสิทธิ เสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นได้ด้วย
2. กระทำกิจการใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาและต้องระบุโดยชัดเจนชัดแจ้งไว้ในมติ ของสภาเป็นกรณีๆ ไป แล้วรายงานต่อสภาตามเวลาที่กำหนด
ความสำคัญ
1. ช่วยแก้ไขปัญหาความเห็นที่ไม่ตรงกันในร่างพระราชบัญญัติ ระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร
2. ช่วยแบ่งเบาภาระของสภา เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของรัฐสภามีจำนวนมากและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาไม่อาจจะพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบ จึงจำเป็นต้องมอบหมายให้คณะกรรมาธิการช่วยเหลือในการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อสภาจะได้วินิจฉัยปัญหาหรือกิจการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและ มีประสิทธิภาพ
3. ทำให้ได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในกรณีที่สภามีปัญหาที่จะต้องพิจารณา และต้องอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากด้านนั้นๆ โดยเฉพาะก็สามารถแต่งตั้งบุคคลนั้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการได้
4. ทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะปัญหาต่างๆ ได้รับการพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบอย่างแท้จริงจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ ทั้งได้ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยใกล้ชิด
การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณา หากวุฒิสภามีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมกลับคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีบทบัญญัติให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาตามจำนวนที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ซึ่งแต่ละสภาจะตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้นๆ มีจำนวนเท่ากันประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น
วิธีการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน
กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งบุคคลประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ในทางปฏิบัติคณะกรรมาธิการร่วมกันจะพิจารณาเฉพาะเนื้อความหรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยวุฒิสภา ในประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วย เมื่อคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาได้ข้อยุติแล้ว คณะกรรมาธิการร่วมกันต้องรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อประธานสภาทั้งสอง เพื่อให้สภาทั้งสองพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณา ซึ่งไม่มีการกำหนดว่าให้สภาใดพิจารณาก่อนหรือหลัง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณา แสดงว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันล่วงพ้นไปนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย และถ้าสภาผู้แทนราษฎร ลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎร อาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
คณะกรรมาธิการร่วมกันอาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือ แสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันต้องมีกรรมาธิการของสภาทั้งสองมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
ตัวอย่างการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันที่ผ่านมา เช่น
1. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2548ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุมจึงได้มีมติกำหนดจำนวนบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 175(3) จำนวนสภาละ 12 คน[8]
2. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 (สมัยประชุมสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 28 เมษายน 2547 ที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งวุฒิสภาได้ลงมติแก้ไขเพิ่มเติม จึงกำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 175(3) สภาละ 12 คน[9]
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,ระบบงานรัฐสภา 2555, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2556, หน้า 29.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา 2555, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์,2555, หน้า 10.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2557, หน้า 98.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 , หน้า 126.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 , หน้า 126.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 , หน้า 133.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 ,หน้า 137.
- ↑ สำนักงานวุฒิสภา (2548) รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2548,กรุงเทพมหานคร:สำนักการพิมพ์, หน้า 20.
- ↑ สำนักงานวุฒิสภา (2547) รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 24 (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547,กรุงเทพมหานคร:สำนักการพิมพ์, หน้า 1-3.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ.ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2533.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์,2557.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.ระบบงานรัฐสภา.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2556.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา 2555.กรุงเทพมหานคร:สำนักการพิมพ์,2555.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 24 (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2547.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2548.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2548.
หนังสือ / เอกสารอ่านเพิ่มเติม
คณิน บุญสุวรรณ.ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2533
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์,2557
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.ระบบงานรัฐสภา.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2556
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา 2555.กรุงเทพมหานคร:สำนักการพิมพ์, 2555
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 24 (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2547
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2548.กรุงเทพมหานคร: สำนักการพิมพ์, 2548