คณะกรรมาธิการ
ผู้เรียบเรียง : ปิยะวรรณ ปานโต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมายของคำว่าคณะกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการ (Committee) หมายถึง องค์กรภายในสภาที่ประกอบด้วย บุคคลที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภา ที่สภาแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ตามที่สภามอบหมาย และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รายงานต่อสภา
Kenenth Bradshaw[1] และ David Pring ได้ให้คำนิยามคำว่า “คณะกรรมาธิการ” ไว้ว่า คณะกรรมาธิการเสมือนเป็นเครื่องมือของสภา โดยผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการจะถูกนำมาพิจารณาอย่างเหมาะสม และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่จะได้แก่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน การคลังและการพิจารณาเกี่ยวด้วยการดำเนินงานของรัฐบาล
วิษณุ เครืองาม[2] ได้ให้ความหมายคณะกรรมาธิการ หมายถึง คณะบุคคลซึ่งประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญให้แก่สภาโดยอาจเรียกได้ว่าเป็นสภาเล็ก (Little Legislature) ในสภาใหญ่ การที่ต้องมีกรรมาธิการก็เพื่อต้องการจะแบ่งเบาภาระของสภานั่นเอง
จุดเริ่มต้นของระบบกรรมาธิการไทย
สำหรับประเทศไทย ได้รับแนวคิดระบบคณะกรรมาธิการมาจากประเทศตะวันตก และได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับ “คณะกรรมาธิการ” ไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย และเป็นกฎหมายสูงสุดใช้ในการปกครองประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้กำหนดให้รัฐสภามีสภาเดียว[3] คือสภาผู้แทนราษฎร ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติเกี่ยวกับระบบคณะกรรมาธิการเอาไว้ในมาตรา 26 วรรคหนึ่งว่า[4] “สภามีอำนาจตั้ง “อนุกรรมการ” เพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้สอบสวนเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้นเมื่อสภาไม่ตั้งก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้” โดยอนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่ออนุกรรมการ และผู้ที่ได้เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 24 ภายใต้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อจากคำว่า “อนุกรรมการ” เป็น “คณะกรรมาธิการ” และได้มีการบัญญัติองค์ประกอบย่อยของสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่า “คณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎร” ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับต่างให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบย่อยของฝ่ายนิติบัญญัติก็คือ คณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎรมาตลอด
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดบทบัญญัติในมาตรา 135 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกแต่ละสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคล ผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่อง ใด ๆ รวมถึงมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงพบว่า การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการที่ผ่านมามีอุปสรรคและปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไร้ซึ่งสภาพบังคับส่งผลไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารและการเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ขึ้นและมีผลบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้โดยให้อำนาจกรรมาธิการในการเรียกเอกสารและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ซึ่งหากบุคคลนั้นไม่มาจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐถือว่ามีความผิดทางวินัยด้วย นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการให้มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน
สำหรับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาเลือกจากรายชื่อสมาชิก โดยที่บทบาทของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นมีความสำคัญมากต่อการดำเนินงานของสภา รวมทั้งสามารถแบ่งเบาภาระหน้าที่งานของสภาได้เป็นอย่างดี และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมสภาที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญยิ่งในระบบรัฐสภาที่จะทำให้การทำงานของสภามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความสำคัญและประโยชน์ของคณะกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการถือเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการดำเนินงานของรัฐสภา เนื่องจากรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่กว้างขวางและครอบคลุมกิจการทุกด้านของประเทศ จะต้องพิจารณาปัญหากฎหมายที่หลากหลาย ดังนั้น จึงทำให้รัฐสภาจะต้องรับทราบข้อเท็จจริงและความเป็นไปในด้านต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาและการตัดสินใจแต่ด้วยข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อปริมาณงานของรัฐสภาได้ รวมถึงสมาชิกมีระยะเวลาในการประชุมที่จำกัด และสมาชิกรัฐสภาแต่ละบุคคลมีองค์ความรู้และความสามารถที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว[5] รัฐสภาจึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบในการพิจารณากฎหมายเฉพาะเรื่องหรือเพื่อดำเนินงานในกิจการต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของสภา และตามที่ได้รับมอบหมาย ส่งผลดีทำให้สมาชิกสามารถเข้าใจถึงปัญหาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้คณะกรรมาธิการมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ สภาสามารถเลือกสรรสมาชิกที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นตัวแทนของสภาเพื่อพิจารณารายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ของสภาได้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินของรัฐสภาได้รับประโยชน์จากระบบกรรมาธิการ ดังนี้
1) ทำให้ช่วยแบ่งเบาภารกิจของสภา เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ และภารกิจของสภาได้เพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากมีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการขึ้นเรื่อย ๆ
2) ทำให้ได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยทำงานในกิจการของสภาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
3) ทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากมีการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
4) ทำให้สามารถติดตามผลการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) ทำให้ช่วยผสมผสานความคิดเห็นที่แตกต่างของสมาชิกสภาให้ได้ข้อยุติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ประเภทของคณะกรรมาธิการ
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 สามารถจำแนกประเภทของคณะกรรมาธิการตามคุณสมบัติของบุคคลที่ประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมาธิการ และตามกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายให้กระทำได้เป็น 6 ประเภทคือ[6]
1) คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา คือ กรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเลือกหรือแต่งตั้งจากบุคคลผู้เป็นสมาชิกของแต่ละสภาประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ และตั้งไว้เป็นการถาวรตลอดอายุของสภา
2) คณะกรรมาธิการวิสามัญ คือ กรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภามีจำนวนตามที่ที่ประชุมของแต่ละสภากำหนด ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือพิจารณาศึกษาและสอบสวนเรื่องใด ๆ ที่แต่ละสภาพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลและความจำเป็นในกิจการของแต่ละสภาซึ่งไม่อยู่ในขอบข่ายของคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะใดคณะหนึ่ง หรือเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับขอบข่ายความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการสามัญหลายคณะ ควรได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จะสิ้นสภาพไปยกเว้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดวาระของวุฒิสภา
3) คณะกรรมาธิการร่วมกัน คือ กรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมและสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วย เพื่อหาทางปรองดองให้ได้ข้อยุติในความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎรในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
4) คณะกรรมาธิการเต็มสภา คือ คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยสมาชิกทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยมีประธานของแต่ละสภาทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งทั้ง 3 วาระในแต่ละสภา
5) คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา คือ คณะกรรมาธิการที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามอบหมายตามบทบัญญัติมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งกำหนดเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา
6) คณะกรรมาธิการตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมีเฉพาะในวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล ผู้ได้รับการเสนอซึ่งให้ดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ในหมวด 4 กรรมาธิการได้กำหนดไว้ในข้อ 82 ให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นสามสิบห้าคณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการ มีจำนวนสิบห้าคน โดยคณะกรรมาธิการจะมีบทบาทและมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการในคณะนั้น ๆ หากมีความจำเป็นจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะอื่นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ สมาชิกคนหนึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกินสองคณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการแต่ละคณะมีการเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขานุการ โฆษก และตำแหน่งอื่น ๆ ตามความจำเป็นจากกรรมาธิการในคณะนั้น ๆ
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ในหมวด 4 กรรมาธิการ ได้กำหนดไว้ในข้อ 77 ให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาขึ้น เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาหรือตามที่วุฒิสภามอบหมาย
คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาแต่ละคณะประกอบด้วย กรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน และให้มีจำนวนยี่สิบสองคณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการในคณะนั้น ๆ หากมีความจำเป็นหรือเห็นสมควร วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเพิ่มขึ้นหรือลดจำนวนคณะกรรมาธิการลงเมื่อใดก็ได้ และสมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้ไม่เกินสองคณะ เว้นแต่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้หนึ่งคณะ สำหรับสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาอื่นอีกมิได้
ส่วนข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงตราข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ในหมวด 5 กรรมาธิการ ได้กำหนดไว้ในข้อ 83 สภาอาจตั้งคณะกรรมาธิการให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาหรือตามที่สภามอบหมายโดยจะกำหนดให้เป็นคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้
คณะกรรมาธิการสามัญประกอบด้วยบุคคลซึ่งสภาตั้งจากสมาชิกของสภาเท่านั้น ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญจะตั้งจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกด้วยก็ได้ ในข้อ 84 ให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาหรือตามที่สภามอบหมาย ทั้งนี้ในการกระทำกิจการของคณะกรรมาธิการให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่และอย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นสำคัญ
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาแต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินยี่สิบหกคน และให้มีจำนวนสิบหกคณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการในคณะนั้น ๆ
หากมีความจำเป็นสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเพิ่มขึ้นหรือลดจำนวนคณะกรรมาธิการลงเมื่อใดก็ได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากลักษณะงานของคณะกรรมาธิการทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพบว่า เป็นงานหลักของฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นงานที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งในสมัยประชุมและนอกสมัยประชุม รวมทั้งเป็นงานที่มีลักษณะและขอบเขตที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจง ซึ่งลักษณะงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการจำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนระดมความคิดเห็นจากหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้กระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการจึงเป็นลักษณะของเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสภา โดยมีระบบช่วยอำนวยการ รวมทั้งมีการวางแผนการปฏิบัติงานที่ดี ส่งผลให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์ (2551). คณะกรรมาธิการ. กรุงเทพมหานคร. สำนักการพิมพ์. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 9.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 9–10.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 12–13.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 13.
- ↑ คณะอนุกรรมการบริหารองค์ความรู้ คณะกรรมการบริหารจัดการความรู้. (2555). องค์ความรู้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักการพิมพ์. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หน้า 99.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 100.
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557” (3 ตุลาคม 2557). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 196 ง, น.1,14.
คณะทำงานโครงการวิจัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2555). บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ประธาน สุวรรณมงคล. (2549). คู่มือการปฏิบัติงานคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร. ด้วยกองทุนการวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
สุรัชนี พานำมา. (2555). การควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ศึกษากรณีพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2539). กรรมาธิการ 1 และ 2. กองการพิมพ์ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.(2548). คู่มือคณะกรรมาธิการ. สำนักกรรมาธิการ 1 และ 2. สำนัก
การพิมพ์ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.(2551). ข้อบังคับการประชุม. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551. สำนักการพิมพ์ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2551). คณะกรรมาธิการ. สำนักการพิมพ์ : สำนักงานเลขาธิการสภา
ผู้แทนราษฎร.
ดูเพิ่มเติม
ปธาน สุวรรณมงคล. (2539). บทบาทของคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
วนิดา พัจพันโรจน์. (2550). การพัฒนาคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2549). บทบาทของคณะกรรมาธิการต่อนโยบายของรัฐบาล. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
โอภาส รัตนบุรี. (2543). การพัฒนาระบบกรรมาธิการวุ