คณะกรรมาธิการเต็มสภา
ผู้เรียบเรียง : วัชราภรณ์ จุ้ยลำเพ็ญ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
กรรมาธิการ คือ บุคคลที่สภาแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของสภา บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรืออาจเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปที่มิได้เป็นสมาชิกสภาก็ได้
กรรมาธิการนี้จะทำงานกันเป็นคณะ ประกอบด้วยบุคคลตามจำนวนที่สภากำหนดและเมื่อคณะกรรมาธิการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ต้องรายงานต่อสภาเพื่อทราบหรือเพื่อมีมติตามกฎหมายต่อไป[1]
คณะกรรมาธิการเต็มสภา
คณะกรรมาธิการเต็มสภา หมายถึง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองอันเป็นการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราแทนคณะกรรมาธิการโดยถือว่าสมาชิกทุกคนในที่ประชุมประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการ และประธานของที่ประชุมเป็นประธานคณะกรรมาธิการ [2]
คณะกรรมาธิการเต็มสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยรับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว แต่เนื่องจากมีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประกอบกับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีความสลับซับซ้อน โดยคณะรัฐมนตรีร้องขอ หรือเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ หรือเมื่อสมาชิกวุฒิสภาเสนอญัตติในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน และที่ประชุมวุฒิสภาอนุมัติ หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอญัตติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภาโดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติ ให้พิจารณารวดเดียวเป็น 3 วาระได้ โดยให้สมาชิกทุกคนในที่ประชุมประกอบเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ในระหว่างการประชุมเพื่อหารือในรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่ถือว่าเป็นการประชุมสภาแต่ให้นับว่าเป็นการประชุมพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการและการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา เมื่อพิจารณาในวาระที่ 2 เรียบร้อยแล้วจะเป็นการพิจารณาวาระที่ 3 ขั้นให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ โดยที่ประชุมก็จะเปลี่ยนเป็นการประชุมสภาเช่นเดิม [3]
ตัวอย่างพระราชบัญญัติที่มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา เช่น
- พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552
- พระราชบัญญัติคุ้มครองการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 ในประเทศไทย พ.ศ. 2556
- พระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2556
คณะกรรมาธิการ นับเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งขององค์กรนิติบัญญัติ ที่จะต้องกระทำกิจการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสภา เพื่อมุ่งเสริมสร้างภารกิจขององค์กรนิติบัญญัติให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการให้กับรัฐสภา ทั้งในด้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การติดตามตรวจสอบและควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร จึงถือได้ว่าบทบาทของกรรมาธิการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่หากสภามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนสภาก็สามารถพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภาในวาระที่สองได้ โดยที่ประชุมสภาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการไปพร้อมกัน
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557” (3 ตุลาคม 2557). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 196 ง, น. 1
ความรู้เรื่อง “กรรมาธิการ”. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/committee/committee_knowledge.pdf
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์.
สถาบันพระปกเกล้า. (2544).สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) 8. คณะกรรมาธิการ กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
อ้างอิง
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) 8. คณะกรรมาธิการ. หน้า 2
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์. 2556. หน้า 106.
- ↑ ความรู้เรื่อง “กรรมาธิการ”. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ ewt/parliament_parcy/download/committee/committee_knowledge.pdf