การเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความเป็นมา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังเหตุการณ์ยุติลงด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งของจอมพล ถนอม กิตติขจร และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจำนวน ๑๘ คน เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้นำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ มาเป็นแนวทางในการยกร่าง และได้ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีบทบัญญัติเพิ่มหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชนได้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น สำหรับองค์กรฝ่ายนิติบัญญัตินั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจำนวน ๑๐๐ คน โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๖ ปี สำหรับสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๔๐ คน และไม่เกิน ๓๐๐ คน การเลือกตั้งใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งข้อกำหนดเช่นนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี และเป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ๑ คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๐ คน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมดจะต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการประจำมิได้ และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานรัฐสภาก่อนเข้ารับตำแหน่ง อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีระยะเวลาในการบังคับใช้อยู่เพียง ๒ ปี ก็ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นผลให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๗ ตามมา เมื่อพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้ประกาศใช้ ได้มีพรรคการเมืองต่าง ๆ ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมตัวส่งผู้สมัครลงแข่งขันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๑๕๑๘ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง
พรรคการเมืองที่ยื่นจดทะเบียนในช่วงเวลานั้นและได้ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ พรรค ได้แก่
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งกำหนดให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน ๓ คน โดยวิธีการเลือกตั้งทางตรง จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตถือจำนวนประชาชน ๑๕๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทน ๑ คน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ๒๖๙ คน ผลการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ๒๐, ๒๔๓,๗๙๑ คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน ๙,๔๕๙,๙๒๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๑๗ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดภูเก็ต คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๘๘ จังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๓๑
พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ๗๒ ที่นั่ง พรรคธรรมสังคม ๔๕ ที่นั่ง พรรคชาติไทย ๒๘ ที่นั่ง พรรคเกษตรสังคม ๑๙ ที่นั่ง พรรคกิจสังคม ๑๘ ที่นั่ง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ๑๕ ที่นั่ง พรรคพลังใหม่ ๑๒ ที่นั่ง พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ๑๐ ที่นั่ง พรรคฟื้นฟูชาติไทย ๓ ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตย ๒ ที่นั่ง พรรคสังคมชาตินิยม ๑๖ ที่นั่ง พรรคไท ๔ ที่นั่ง พรรคเศรษฐกร ๑ ที่นั่ง พรรคประชาธรรม ๖ ที่นั่ง พรรคเกษตรกร ๑ ที่นั่ง พรรคเสรีชน ๑ ที่นั่ง พรรคสันติชน ๘ ที่นั่ง พรรคแรงงาน ๑ ที่นั่ง พรรคแผ่นดินไทย ๒ ที่นั่ง พรรคพลังประชาชน ๒ ที่นั่ง พรรคอธิปัตย์ ๒ ที่นั่ง พรรคพัฒนาจังหวัด ๑ ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม และเต็มไปด้วยความยากลำบาก กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ได้เสียงมากกว่าพรรคอื่น จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเกษตรสังคมมาร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภากลับไม่ได้รับการยอมรับจึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลว และเปิดทางให้พรรคกิจสังคมซึ่งมีเสียงในสภาเพียง ๑๘ เสียง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคอื่น ๆ มาร่วมอีก ๖ พรรค คือ พรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย พรรคสันติชน พรรคไทย พรรคพลังประชาชน และภายหลังมีพรรคประชาธรรมมาร่วมด้วย
การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เมื่อวันที ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๑๐๐ คน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ ดังรายชื่อต่อไปนี้
- อดีตรัฐมนตรี ประกอบด้วย
นายเชาวน์ ณ ศิลวันต์ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | นายเกรียง กีรติกร | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
พลเอก ครวญ สุทธานินทร์ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | นายเทียน อัชกุล | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย |
นายพันธุ์เลิศ บูรณะศิลปิน | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร | นายจรูญ สีบุญเรือง | อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ |
พลอากาศเอก บัว ศิริทรัพย์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม | พลเรือเอก ถวิล รายนานนท์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม |
นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข | นายบุญชนะ อัตถากร | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ |
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | นายพ่วง สุวรรณรัฐ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย |
นายมนูญ บริสุทธิ์ | รัฐมนตรีประจำสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี | นายเยื่อ สุสายัณห์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง |
นายเสริม วินิจฉัยกุล | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ | รองนายกรัฐมนตรี |
นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข | นายอภัย จันทวิมล | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
พลตำรวจเอก พิชัย กุลละวณิชย์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
- ทหารและตำรวจ ประกอบด้วย
พลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี | พลเอกสุรกิจ มัยลาภ |
พลเรือเอกยิ่ง ศรีหงษ์ | พลเรือเอกเล็ก แนวมาลี |
พลอากาศเอก หะริน หงสกุล | พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ |
พลโท เฉลิม อินทกนก | พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ ยมนาค |
พลโท ไสว ดวงมณี | พลโท ประสาน แรงกล้า |
พลโท สวัสดิ์ มักการุณ | พลเรือโท สนิท โปษะกฤษณะ |
พลตำรวจตรี หม่อมหลวงจเร สุทัศน์ | พันตำรวจโท สนอง อภัยวงศ์ |
- แพทย์ ประกอบด้วย
นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร |
นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ |
- นักกฎหมาย ประกอบด้วย
นายจิตติ ติงศภัทิย์ | นายจินดา ชัยรัตน์ | นางจันทนี สันตะบุตรี | นายชวน สิงหลกะ |
นายโพยม เลขยานนท์ | นายแถม สุรทิณฑ์ | นายเชื้อ คงคากุล | นายวินัย ทองลงยา |
นายเสนาะ เอกพจน์ | นายเสนอ บุณยะเกียรติ | นายเล็ก จุณณานนท์ | นายมานะ พิทยาภรณฑ์ |
นายมณี ชุติวงศ์ | นายประธาน ดวงรัตน์ | นายพจน์ บุษปาคม | นายมารุต บุนนาค |
พระมนูเวทยวิมลนาท | นายสนอง ตู้จินดา | คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ | หลวงอรรถไพศาลศรุดี |
หลวงอรรถวิภาพไพศาล | นายเหม สุไลมาน |
- พ่อค้านักธุรกิจ ประกอบด้วย
นายกิตติรัตน์ ศรีวิสารวาจา | นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ | นายเซ็งจือ ลือประเสริฐ | นายบุญธรรม ต. สุวรรณ |
นายบรรหาร ศิลปอาชา | นายประจวบ ภิรมย์ภักดี | นายประโพธิ์ เปาโรหิต | หม่อมราชวงศ์พัฒนไชย ไชยยันต์ |
นายสานนท์ สายสว่าง | นายอบ วสุรัตน์ | นายอาทร สังขวัฒนะ |
- นักหนังสือพิมพ์ ประกอบด้วย
นายอุทธรณ์ พลกุล | ที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ |
นายนพพร บุณยฤทธิ์ | บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ |
- อดีตข้าราชการและบุคคลทั่วไป ประกอบด้วย
นายนารถ มนตรเสวี | นายเพทาย อมาตยกุล | คุณหญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ | นายพา ไชยเดช |
นายอินทรีย์ จันทรสถิตย์ | นายโอบบุญ วณิกกุล | นางเอื้อทิพย์ เปรมโยธิน | นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ |
นายสนั่น สุมิตร | คุณหญิงสายหยุด ดิษฐการภักดี | นางสุวัฒนา เพชรทองคำ | นายสมจัย อนุมานราชธน |
นายสุหัท พิชัยรณรงค์สงคราม | นายไสว อินทรประชา | นายบรรณา ชโนดม | นายบุญ อินทรัมพรรย์ |
นางสาวนวลนาฏ อมาตยกุล | หม่อมหลวงซัง สนิทวงศ์ | นายทวี ศุขวนิช | นายดุษฎี ณ ระนอง |
หม่อมหลวงเจตน์ สุทัศน์ | นายสมจิตร เที่ยงธรรม | นางสมถวิล สังขทรัพย์ | นายประวิทย์ เลาหกุล |
ดร. จ่าง รัตนะรัต | นายสุขุม อัศเวศน์ | นายเล็ก วานิชอังกูร | นายโรจน์ สุวรรณสิทธิ์ |
นายนนทพันธ์ ภักดีผดุงแดน |
โดยมีนายจิตติ ติงศภัทิย์ เป็นประธานวุฒิสภา
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙
หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วย พรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย พรรคสันติชน พรรคไท พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธรรม ซึ่งเป็นการร่วมรัฐบาลที่มิได้ตั้งอยู่บนฐานของการยึดถือแนวนโยบายทางการเมืองร่วมกันเป็นหลัก หากแต่เป็นรัฐบาลผสมที่มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ พรรคธรรมสังคม ซึ่งมีสมาชิกในสภามากถึง ๔๕ คน จึงมีความข้องใจและขัดแย้งกับหัวหน้ารัฐบาลอยู่เสมอด้วยรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติต่ออย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งพรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมรัฐบาลนั้นต่างก็มีการเรียกร้องผลประโยชน์ต่างตอบแทนเมื่อเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งเสียงสนับสนุนของตนในการต่อสู้กับฝ่ายค้านในสภา ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพและขาดเสถียรภาพในรัฐบาลผสม จึงส่งผลให้รัฐบาลนำโดยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ประสบความยากลำบากในการบริหารประเทศ จนนำไปสู่การประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นการเลือกตั้งด้วยระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เป็นการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงจากประชาชน จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตถือเอาจำนวนประชาชน ๑๕๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน ๓๘ พรรค จากจำนวนพรรคการเมืองที่มีการยื่นจดทะเบียนทั้งหมด ๕๖ พรรค โดยในจำนวนนี้เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน ๑๔ พรรค คือ พรรคสยามใหม่ พรรคธรรมาธิปไตย พรรคไทสังคม พรรคพิทักษ์ไทย พรรคแนวร่วมประชาธิปไตย พรรคกรุงสยาม พรรคชาตินิยม พรรคไทยอิสระ พรรคพลังเกษตร พรรคพลังสยาม พรรคพลังเสรี พรรคชาติสยาม พรรคแนวราษฎร์ พรรคนิยมไทย
ในการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ๒๐,๕๒๘,๘๓๒ คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๙,๐๘๔,๑๐๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕.๖๓ คน จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดนครพนม คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๕๓ และจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดคือ จังหวัด เพชรบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ ๒๖.๖๔ ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
ผลการเลือกตั้งพบว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับการเลือกตั้งเพียง ๑๙ พรรค ดังต่อไปนี้
ชื่อพรรค | จำนวนที่นั่ง |
---|---|
พรรคประชาธิปัตย์ | ๑๑๔ ที่นั่ง |
พรรคชาติไทย | ๕๖ ที่นั่ง |
พรรคกิจสังคม | ๔๕ ที่นั่ง |
พรรคธรรมสังคม | ๒๘ ที่นั่ง |
พรรคพลังใหม่ | ๓ ที่นั่ง |
พรรคเกษตรสังคม | ๙ ที่นั่ง |
พรรคพลังประชาชน | ๓ ที่นั่ง |
พรรคสังคมชาตินิยม | ๘ ที่นั่ง |
พรรคสังคมนิยม | ๒ ที่นั่ง |
พรรคธรรมาธิปไตย | ๑ ที่นั่ง |
พรรคแนวร่วมประชาธิปไตย | ๑ ที่นั่ง |
พรรคแนวร่วมสังคมนิยม | ๑ ที่นั่ง |
พรรคแรงงาน | ๑ ที่นั่ง |
พรรคไทสังคม | ๑ ที่นั่ง |
พรรคพัฒนาจังหวัด | ๒ ที่นั่ง |
พรรคสยามใหม่ | ๑ ที่นั่ง |
พรรคประชาธิปไตย | ๑ ที่นั่ง |
พรรคสังคมก้าวหน้า | ๑ ที่นั่ง |
ส่วนอีก ๑๙ พรรคไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว ได้แก่ พรรคพลังเสรี พรรคชาตินิยม พรรคฟื้นฟูชาติไทย พรรคแนวสันติ พรรคกรุงสยาม พรรคเกษตรกร พรรคพลังสยาม พรรคชาติสยาม พรรคสันติชน พรรคประชาก้าวหน้า พรรคเศรษฐกร พรรคศรีอารยะ พรรคนิยมไทย พรรคสังคมประชาธรรม พรรคพลังราษฎร์ พรรคไทยรวมไทย พรรคไทยอิสระ พรรคสงเคราะห์อาชีพ และพรรคไท
การเลือกตั้งในครั้งนี้ ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดถึง ๑๑๔ ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยรวมตัวกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการกลับเข้าเมืองไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้นำการสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของกลุ่มต่าง ๆ จนเหตุการณ์ขยายตัวไปสู่ความรุนแรง และมีการใช้กำลังตำรวจเข้าระงับและกวาดล้างการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต กระทั่งยุติลงด้วยการเข้ายึดอำนาจการปกครอง โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เหตุการณ์รัฐประหารดังกล่าวจึงส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดสภาพไปเช่นเดียวกับบรรดาพรรคการเมืองที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๗
อ้างอิง
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๐ ฉบับพิเศษ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, ๒๕๔๒
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522
บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2520
โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ ๕ ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๔๔
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค ๒ ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๙
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, บทบาทของพรรคการเมืองไทยในการจัดตั้งรัฐบาลผสม, รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๑
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑