การเลือกตั้งทางตรง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งทางตรง

การเลือกตั้งทางตรง (direct election) เป็นรูปแบบการเลือกผู้ลงสมัครตำแหน่งทางการเมือง ที่ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้นๆ ได้โดยตรงตามที่ตนเองต้องการ สำหรับการเลือกตั้งผู้สมัครในตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (le suffrage universel direct) ของฝรั่งเศส ที่ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 เป็นต้น ซึ่งวิธีการได้มาซึ่งผู้ชนะหรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ระบบการเลือกตั้ง ทั้งนี้โดยทั่วไปใช้ระบบมักใช้ระบบคะแนนสูงสุด (plurality system) และ ระบบลงคะแนนสองรอบ (two round system) นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบบัญชีรายชื่อ (party list) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้การคำนวณคะแนนและผู้ที่ได้รับเลือกจากสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับกับผู้สมัครที่พรรคการเมืองได้จัดทำบัญชีรายชื่อขึ้นมา

การเลือกตั้งทางตรงในประเทศไทย

การเลือกตั้งทางตรงในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีการริเริ่มใช้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 เป็นแบบแบ่งเขต 1 เขตมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร1 คน จังหวัดที่มีราษฎรเกิน 200,000 คนให้มีเขตเลือกตั้งเพิ่มอีก 1 เขต ต่อจำนวนพลเมืองทุก ๆ 200,000 คน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังได้นำแนวทางการเลือกตั้งทางตรงมาใช้กับการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น

การเลือกตั้งทางตรงกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้รับเลือกตั้งกับประชาชน

โดยทั่วไปแล้ว การเลือกตั้งทางตรง มีผลอย่างยิ่งต่อลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งกับประชนชน ที่จำเป็นจะต้องมีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากนักการเมืองที่หวังผลในการได้รับการเลือกตั้งจะต้องสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือประชาชนในเขตเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้นักการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่และมุ่งเน้นการสร้างผลงานให้ปรากฏผลชัดเจน ตลอดจนตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น การนำเสนอหรือกำหนดนโยบายที่น่าสนใจเพื่อให้ตนเองหรือพรรคการเมืองของตนสามารถชนะการเลือกตั้งได้ เป็นต้น

ที่มา

ธโสธร ตู้ทองคำ,”หน่วยที่ 8 กระบวนการเลือกตั้ง” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8. สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 541 – 542 .