เสรีชน พ.ศ. 2517 - 2519
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคเสรีชน
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ได้เดินทางไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฉบับที่ร่างโดยปราศจากการบงการของฝ่ายทหาร ในเวลานั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เชื่อกันว่ามีความเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 2517 มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับ พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติมาตรา 7 ให้บุคคล 15 คนก่อตั้งพรรคการเมืองได้โดยต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 1,000 คน ซึ่ง มากขึ้นกว่าพระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2 ฉบับก่อนหน้าที่กำหนดจำนวนสมาชิกไว้อย่างน้อย 500 คน(พ.ศ. 2498 และฉบับ พ.ศ. 2511) รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันเลือกตั้งถึง 41 พรรค เพื่อชิงตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 269 คน ซึ่งพรรคเสรีชนได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน 31 คน และได้รับเลือกตั้ง 1 คน
การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งคือ 135 เสียงเพราะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับเสียงตั้งมากที่สุดก็คือ 72 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 63 เสียง สภาจึงได้ประชุมลงมติกันเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรวมกับพรรคเกษตรสังคมซึ่งมี 19 เสียงรวมได้ 91 เสียงจัดตั้งรัฐบาลโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 แต่เมื่อแถลงนโยบายของรัฐต่อสภา ปรากฏว่าได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาเพียง 111 เสียง ไม่เห็นชอบ 152 เสียง รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงต้องลาออก และในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2518 สภาได้ประชุมกันและมีมติให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมจัดตั้งรัฐบาล โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 135 เสียง แต่การที่พรรคกิจสังคมมีเสียงเพียง 18 เสียง จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมถึง 8 พรรค เพื่อให้ได้เสียงเกินครึ่ง กระนั้นเมื่อบริหารประเทศไปได้ยังไม่ถึงปีก็จำต้องยุบสภาเพราะผู้ให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจริงๆก็มีเพียง 18 เสียงเท่านั้น การประกาศยุบสภาเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 ซึ่งปรากฏว่าในครั้งนี้ไม่มีผู้สมัครในนามพรรคเสรีชนลงสมัครรับเลือกตั้งเลย มีหลักฐานชิ้นหนึ่งกล่าวว่าพรรคเสรีชนได้เลิกทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ในปีนี้ แต่อย่างไรเสียหลังจากเหตุการณ์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็เกิดการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พล รอ. สงัด ชลออยู่ ซึ่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบสภายกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองฉบับ พ.ศ.2517 พรรคการเมืองต่างๆรวมทั้งพรรคเสรีชน (หากปรากฏหลักฐานแย้งว่ามีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ ก็ต้องหยุดดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปโดยปริยายอยู่ดี
ที่มา
เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปีประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.
พรรคการเมืองไทย. http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=5929.msg47927