แหลมทอง
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคแหลมทอง
พรรคแหลมทองเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมีนายบุญพฤกษ์ จาฎามระ เป็นหัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ. อรรณพ พุกประยูร เป็นเลขาธิการพรรค
นโยบายของพรรคแหลมทอง
นโยบายด้านการเมือง พรรคแหลมทองจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีการแสดงรายการทรัพย์สินทั้งก่อนและหลังเข้าดำรงตำแหน่ง สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคแหลมทองเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และควรกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นควรจะกำหนดไว้ที่ 23-25 ปีเป็นอย่างน้อย
นโยบายด้านการปกครอง พรรคแหลมทองจะมุ่งกระจายอำนาจการบริหารราชการจากส่วนกลางไปสู่การบริหารในส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากกระทรวงมหาดไทยก่อน จากนั้นจะดำเนินการกระจายอำนาจหน้าที่ในทุกกระทรวง สำหรับการปกครองระดับท้องถิ่น พรรคแหลมทองจะเพิ่มอำนาจของท้องถิ่นในการตัดสินใจและกำหนดกฎระเบียบการบริหารของตนเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่การส่งเรื่องทุกอย่างมาตัดสินใจในส่วนกลางทั้งหมด สำหรับส่วนราชการในส่วนกลางนั้นมีหน้าที่เพียงตัดสินใจในระดับนโยบายเป็นหลัก
พรรคแหลมทองมองว่าปัญหาทางเศรษฐกิจมีสาเหตุมาจากเรื่องค่าครองชีพของประชาชน อันเนื่องมาจากประชาชนต้องบริโภคสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกำกับควบคุมราคาได้ ดังนั้น พรรคแหลมทองจึงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ 2 ประการคือ ประการแรก รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมราคาสินค้าต่างๆ ให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ประการที่สอง รัฐบาลต้องหามาตรการเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สอดรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้น ในระยะยาวรัฐบาลต้องสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนในระยะสั้นต้องสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงโลก ทั้งนี้รัฐต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และนำวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาการผลิตของเกษตกร
พรรคแหลมทองจะมุ่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยเร่งรัดการเกษตร มุ่งทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ของงบประมาณจะจัดสรรเพื่อพัฒนาการเกษตร จัดตั้งสหกรณ์ จัดหาตลาดต่างประเทศ โดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการในฐานะองค์กรบริหารและสนับสนุนการผลิตเกษตรกรรม พรรคแหลมทองจะมุ่งเสริมสร้างสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเคร่งครัดในการรักษากฎหมายและการดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดในการจัดการผู้กระทำการละเมิดกฎหมายและทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม ในระยะยาวรัฐต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ผู้คนอยู่ดีกินดี ก็จะทำให้โจรผู้ร้ายลดจำนวนลงในที่สุด
นโยบายด้านการศึกษา พรรคแหลมทองจะมุ่งแก้ไขปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นอันดับแรก โดยการปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม มีการจัดทำและปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับให้ทันสมัย กำหนดแผนการสอนและวิธีการการสอนที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับทักษะความรู้ของบุคลากรครูผู้สอนให้ได้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาสอนหนังสือให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษา รวมถึงสนับสนุนปัจจัยสี่แก่บุคลากรครูที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตชนบทห่างไกล
พรรคแหลมทองจะมุ่งพัฒนาระบบการชลประทานเพื่อให้เกษตรกรในทุกพื้นที่สามารถเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปี และจะทุ่มเทงบประมาณสำหรับการศึกษาวิจัยที่สำคัญ เพื่อพัฒนาการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จะเร่งรัดการจัดสรรที่ดินทำกิน โดยการจัดสรรพื้นที่รกร้างและไม่มีเจ้าของ รวมถึงป่าสงวนที่เตียนประมาณหนึ่งล้านไร่ สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศประมาณสองหมื่นครอบครัวสำหรับทำกิน โดยจะมีการยกเลิกกฎหมายการเช่า จำนอง หรือขายฝากที่ดิน โดยการเอาค่าพรีเมี่ยมมาจัดให้เกษตรกรโดยตรง โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สำหรับจัดซื้อปุ๋ยและเครื่องจักรการเกษตร จะส่งเสริมให้เกษตรกรจัดตั้งสหกรณ์ของตนเอง และจะออกมาตรการเก็บภาษีสำหรับผู้ที่ครอบครองที่ดินตั้งแต่ 200-300 ไร่ขึ้นไป นอกจากนี้ พรรคแหลมทอง จะส่งเสริมการสร้างระบบคมนาคมให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้าและผลผลิตการเกษตรควบคู่ไปด้วย
นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พรรคแหลมทองจะมุ่งสร้างระบบประกันสังคมให้เท่าเทียมกับในต่างประเทศ ทั้งหลักประกันในยามเจ็บป่วย หลักประกันในเรื่องที่อยู่อาศัย สำหรับการบริการทางการแพทย์และอนามัยนั้น พรรคแหลมทองจะมุ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลให้กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยเร่งด่วน และจะสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์ในระดับอนุปริญญาให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือการให้บริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงด้วย ส่วนระบบการบริการทางการแพทย์นั้นจะกำหนดให้เป็นการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่า ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคแนวสันติส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 26 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว
ที่มา
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518
ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524