กสิกรรมกร
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคกสิกรรมกร
พรรคกสิกรรมกร เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมีนายศราวุฒิ ปฤชาบุตร เป็นหัวหน้าพรรค นายสุวินัย คุ้มสุวรรณ เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญของพรรค คือ “ประชาชนอยู่สุขสบาย คือนโยบายของพรรคกสิกรรมกร”
นโยบายของพรรคกสิกรรมกร
พรรคกสิกรรมกรมีแนวนโยบายแบบสังคมนิยม นโยบายทางการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญโดยกำหนดห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดึงพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นโยบายด้านการศึกษา พรรคกสิกรรมกรจะผลักดันการออกกฎหมายวางแนวทางการศึกษา กำหนดให้มีการสอนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน ส่งเสริมให้เอกชนตั้งโรงเรียน จัดการศึกษาให้เปล่าโดยรัฐบาลจะแจกเสื้อผ้าแก่นักเรียนคนละสองชุด ให้มีการยืมหนังสือจากโรงเรียนในแต่ละภาคเรียน ไม่ควรให้มีการสอนพิเศษ เพราะมีหลักประกันในการศึกษาทุกคน รัฐให้การศึกษาฟรีแก่ทุกคนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ห้า การศึกษาหลังจากชั้นประถมปีที่ 7 ต้องมีการจัดการศึกษาในสาขาวิชาชีพรองรับด้วย
นโยบายด้านการปกครอง พรรคกสิกรรมการจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าหน่วยราชการ นายอำเภอ ผู้กำกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด พรรคกสิกรรมกรจะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนปกครองกันเองหรือเลือกผู้ปกครอง เพื่อขจัดปัญหาระหว่างผู้บริหารกับประชาชน ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ตำแหน่งผู้กำกับ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ควรเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง มิใช่มาจากการแต่งตั้ง พรรคกสิกรรมกรจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อให้รับรู้สิทธิหน้าที่ของนักการเมือง
นโยบายด้านสังคม พรรคกสิกรรมกรจะให้หลักประกันทุคนในการหางาน และให้หลักประกันการดำรงชีพในยามชรา ผู้ใช้แรงงานทั้งหมดต้องเข้าสหพันธ์ ถ้าสหพันธ์หางานให้แก่ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ สหพันธ์จะต้องจ่ายเงินยังชีพทุกวันจนกว่าจะหางานให้ได้ ยกเว้นตำแหน่งผู้จัดการตำแหน่งเลขานุการส่วนตัว ตำแหน่งที่รับผิดชอบทางการเงน เช่น สมุห์บัญชี หรือพนักงานเก็บเงิน นอกจากนั้น ตำแหน่งอื่นใดทั้งหมดต้องให้สหพันธ์เป็นผู้จัดหางานและกำหนดอัตราเงินเดือนให้ การรักษาพยาบาลสำหรับแรงงานนั้นเป็นแบบให้ฟรี ไม่เก็บเงินค่าประกันสังคม แต่จะเอาจากภาษีรายได้และการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก โดยตั้งกระทรวงการท่องเที่ยว
นโยบายด้านการเกษตร พรรคกสิกรรมกรเห็นว่า จะต้องมีการปฏิรูประบบการค้าผลผลิตทางเกษตรกรรมกับต่างประเทศ โดยรัฐจำเป็นต้องเป็นผู้กำหนดการผลิตสินค้าเกษตรกรรมในประเทศ ผลผลิตใดที่สามารถแปรรูปได้ ต้องให้รัฐบาลเท่านั้นค้าขายวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตการเกษตรนั้น โดยห้ามมิให้เอกชนส่งวัตถุดิบออกนอก ยกเว้นสินค้าการเกษตรที่มีการแปรรูป และข้าว โดยรัฐบาลเป็นผู้ติดต่อเจรจาการค้ากับต่างประเทศโดยตรง ในขณะเดียวกันก็จะยอมให้เอกชนดำเนินการค้าในรูปบริษัทมหาชน การจัดการผลผลิตการเกษตร พรรคกสิกรรมกรจะผลักดันให้รัฐจัดระบบสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมผลผลิตหรือยุ้งฉาง โดยในแต่ละตำบลหรือหมู่บ้านจะต้องมีสหกรณ์แห่งหนึ่ง รัฐเป็นผู้ให้หลักประกันในการค้าผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ เพื่อเป็นการตัดพ่อค้าคนกลาง
นโยบายด้านการบริหาร พรรคกสิกรรมกรจะปล่อยกิจการสาธารณูปโภคให้เป็นอิสระ ให้เอกชนแข่งขันกันทำ แม้แต่องค์การโทรศัพท์ก็ให้เป็นบริษัทมหาชน แล้วแบ่งเขตรับผิดชอบ กิจการใดที่ประชาชนทำได้ให้ประชาชนทำ ถ้าไม่เกี่ยวกับความมั่นคงและความลับของประเทศ
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคกสิกรรมกรจะถือว่าประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศตามวิถีทางของตนเอง ไม่ฝักใฝ่ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและจีนแดง แต่จะผูกสัมพันธไมตรีกับทุกประเทศ แต่หากมีนโยบายการบริหารประเทศที่ตรงกันกับประเทศอื่นก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นการดำเนินตามประเทศนั้นแต่อย่างใด และต้องกำหนดให้มีการนำสนธิสัญญาระหว่างประเทศทุกฉบับมาประกาศเผยแพร่ในภาษาไทย
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคกสิกรรมกรส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 22 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว
ที่มา
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518
ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524