จิตติ ติงศภัทิย์
ผู้เรียบเรียง ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ประธานวุฒิสภา
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นนักกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งในวงการกฎหมายไทยเท่าที่เคยปรากฏมา ท่านได้ชื่อว่าเป็นบรมครูแห่งวงการกฎหมายไทย แนวความคิดทางกฎหมายของท่านยังคงมีอิทธิพลมากต่อวงการศึกษากฎหมายไทย ท่านเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ และมีความรู้เพียบพร้อม ตั้งมั่นอยู่ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมอันเป็นที่ยอมรับ ได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์” และเป็นที่นับถือจากสาธารณชนโดยทั่วไปตลอดมา
ประวัติและการศึกษา
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2451 ที่อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายทองจีน ติงศภัทิย์ มารดาชื่อนางละม้าย ติงศภัทิย์ มีน้องสาว 1 คน ชื่อ สำเนียง ติงศภัทิย์ สำหรับชีวิตวัยเยาว์นั้น บิดาของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ท่านอายุได้ 5 ขวบ จากนั้นมารดาจึงได้รับภาระเลี้ยงดูเพียงลำพังมาโดยตลอด ได้เข้ารับการศึกษาในชั้นต้นที่โรงเรียนครูเชย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้าน
ปี พ.ศ. 2467 สอบไล่ได้มัธยมบริบูรณ์ (มัธยม 8) จากโรงเรียนมัธยมปทุมคงคา
ปี พ.ศ. 2470 สำเร็จเนติบัณฑิตชั้นที่ 2 จากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
ปี พ.ศ. 2485 สำเร็จนิติศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ปี พ.ศ. 2500 สำเร็จนิติศาสตรมหาบัณฑิต LL.M. (Magna Cum Laude) และกฎหมายเปรียบเทียบ MC.L. จากมหาวิทยาลัย Southern Methodist Dallas, Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับเกียรตินิยมและเกียรติประวัติว่าทำคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของห้อง และเป็นคะแนนที่สูงสุดนับแต่เปิดหลักสูตรนี้มา
ในด้านชีวิตครอบครัว ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้สมรสกับคุณหญิงตลับ (โล่สุวรรณ) ติงศภัทิย์ เภสัชศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรีนายร้อยเอกหลวงมลายบรจักร (บุญมี โล่สุวรรณ) และนางจรูญ มลายบรจักร เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2489 มีบุตรธิดารวม 6 คน[1]
ชีวิตการทำงาน[2]
ชีวิตราชการของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ นั้น ได้เริ่มเป็นพนักงานอัยการเมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากนั้น 1 ปี ก็เป็นอัยการจังหวัดปราจีนบุรี เมื่ออายุได้เพียง 20 ปี แล้วได้ย้ายเข้าประจำกองคดีกรมอัยการในสมัยพระยามานวราชเสวี เป็นอธิบดีกรม เมื่ออายุได้ 25 ปี หลังจากนั้น จึงได้โอนมารับราชการเป็นผู้พิพากษารับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ คือ ผู้พิพากษาจังหวัดระนอง เลขานุการศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โดยครองตนเป็นผู้พิพากษาผู้ทรงคุณธรรมความรู้จนเป็นที่ยอมรับของนักกฎหมายทั้งหลาย ดำรงตนในวิชาชีพผู้พิพากษาได้ให้ข้อคิดว่า “ผู้พิพากษาที่ดีนั้น ต้องวางตนอยู่ในกรอบแห่งแบบธรรมเนียมของวิชาชีพ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้อสำคัญก็คือจะต้องทำตัวไม่ให้คนสงสัยว่าเราไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่เขา” ปี พ.ศ. 2512 ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ลาออกจากราชการไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนั้นศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แม้ว่าการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีลักษณะต่างจากการเป็นผู้พิพากษา แต่ก็ยังทำงานในฐานะนักกฎหมาย ใช้หลักวิชาชีพของนักกฎหมาย โดยให้ข้อคิดว่า “ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย แม้จะมาทำงานด้านบริการก็ต้องถือว่าความเห็นในทางกฎหมายต้องเป็นอิสระ นักกฎหมายจะต้องไม่ยอมเป็นเครื่องมือในทางนอกกฎหมายของใครทั้งนั้น”
ปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ต่อจากศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ระหว่างที่ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ ดำรงตำแหน่งคณบดีนั้น ได้ฝากผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ให้กับคณะนิติศาสตร์เป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ให้ทันต่อกาลสมัย เปิดสอนวิชาหลักวิชาชีพ นักกฎหมายเป็นวิชาบังคับ เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต เพื่อเสริมความรู้ทางกฎหมายให้แก่บัณฑิตสาขาอื่น ในด้านการบริหารงานในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์นั้น ได้ให้ความเห็นว่า “การบริหารงานในมหาวิทยาลัยนั้น ต้องให้อิสระแก่อาจารย์ในการสอนเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจารย์ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถถ่ายทอดความรู้นั้นได้อย่างแท้จริง การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะต้องได้บุคคลที่มีสติปัญญาแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในระบบประมวลกฎหมายอีกด้วย การรับบุคคลเข้ามาเป็นอาจารย์จึงไม่ใช่รับเพราะมีตำแหน่งว่างอยู่หรือเพื่อให้บุคคลมีงานทำเท่านั้น” นอกจากนี้ ยังทำงานให้กับส่วนราชการอื่น ๆ ในประเทศ ดังนี้[3]
1. ประธานคณะกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 6 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. ประธานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ กองที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3. กรรมการเนติบัณฑิตสภา
4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
5. กรรมการในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
6. กรรมการส่งเสริมพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม
7. กรรมการพิเศษพิจารณาสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ
8. กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์
9. ประธานคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ
10. กรรมการประจำคณะและกรรมการปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
11. อาจารย์พิเศษที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช และวิชากฎหมายอาญาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
12. ที่ปรึกษากฎหมาย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สำหรับบทบาทระดับนานาชาตินั้น ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ใน ปี พ.ศ. 2526 อันมีสำนักงานใหญ่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ICJ เนื่องจากพิจารณาว่า ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นนักกฎหมายไทยที่มีคุณธรรมและรักความเป็นธรรม ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ดังคำสัมภาษณ์ที่เคยให้ไว้ในวารสารรพีสารคือ “องค์การนั้น มิใช่องค์การของรัฐบาล หากเกิดจากการรวมตัวของนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เกียรติคุณ โดยมากเป็นฝรั่ง งานที่ให้ความสำคัญมากคือการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน สมาชิกหรือกรรมการนั้นเกิดจากการเชิญมิใช่สมัคร ส่วนมีคนไทยกี่คนในคณะกรรมการนั้น เนื่องจากผมไม่ได้ติดตามมาตลอด จึงไม่ทราบว่าแต่ก่อนมีใครเคยเป็นบ้าง ส่วนขณะนี้มีผมคนเดียวครับ”[4] และปีเดียวกันนั้นยังได้รับการประกาศให้เป็น “นักกฎหมายดีเด่น” โดยสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ต่อมาปี พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” กลุ่มสาขานิติศาสตร์อีกด้วย บทบาททางการเมือง
ภายหลังที่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค เมื่อภายหลังที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2517 ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2516 – 26 มกราคม 2518 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2518 – 6 ตุลาคม 2519 ระหว่างการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเป็นคนที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2518 – 6 ตุลาคม 2519 โดยขณะนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 96 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา ดังนั้น ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ จึงดำรงตำแหน่งรองประธานรัฐสภา โดยมีนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และด้วยความผันผวนทางการเมืองได้มีคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ต้องออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาไปโดยปริยาย ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2527 ระหว่างที่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ได้ทำหน้าที่สนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันครบรอบอายุ 80 ปี ว่า "หน้าที่องคมนตรีก็คงแล้วแต่ในหลวงท่านจะใช้ว่าท่านจะให้ทำอะไร หน้าที่ของพวกผมในฝ่ายกฎหมายตามปกติคือเรื่องอภัยโทษ ปัญหาอื่นก็แล้วแต่ท่านมีพระราชประสงค์ลงมาเป็นครั้งคราว ซึ่งการขออภัยโทษก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะโดยคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการซึ่งถึงที่สุดแล้ว อาจมีกรณีที่ต้องการมีการแก้ไขแต่ไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ ทางตุลาการก็ให้อยู่ในภาระของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายรัฐบาลคืออภัยโทษ ในทางทฤษฎีก็มอบให้ประมุขแห่งรัฐซึ่งก็ต้องมีฝ่ายบริหารลงนามรับสนอง"[5]และได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีจนถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 สิริอายุรวมได้ 86 ปี 11 เดือน 15 วัน ผลงานทางวิชาการ
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าต่อวงการกฎหมายของไทย ได้เขียนผลงานทางวิชาการไว้มากมายระหว่างที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนักวิชาการ ซึ่งผลงานดังกล่าวยังมี ผู้นำมาใช้อ้างอิงจนถึงปัจจุบัน ดังนี้[6]
1. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน
2. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบัญชีเดินสะพัดและตั๋วเงิน
3. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล
4. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
5. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 มาตรา 354 – 452
6. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย บรรพ 2 มาตรา 394- 405, มาตรา 406 – 419 เรื่อง จัดการงานนอกสั่งและลาภมิควรได้
7. ร่วมกับยล ธีรกุล ในหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 มาตรา 241 – 452
8. กฎหมายลักษณะครอบครัว รวมหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกา
9. หลักกฎหมายแพ่งลักษณะหนี้ แต่งโดย จี๊ด เศรษฐบุตร แก้ไขเพิ่มเติมโดย จิตติ ติงศภัทิย์ และดาราพร ถิระวัฒน์
10. ความรู้เบื้องต้นแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติมโดย จิตติ ติงศภัทิย์
11. คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1
12. คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอนที่ 1
13. คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอนที่ 2 และภาค 3
14. ร่วมกับไชยเจริญ สันติศิริ ในหนังสือแนวคำบรรยายอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา
15. หลักวิชาชีพนักกฎหมาย
16. Credit and Security in Thailand; the Legal Problems of Development Finance, St. Lucia, New York. University of Queensland Press. 1974 นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความไว้ทั้งสิ้น 43 บทความ และบันทึกประกอบหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกาทั้งสิ้น 50 ฉบับ
ที่มา
ชมรมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 2512., (2532) “ที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 80 ปี ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์”. กรุงเทพฯ : ประชาชนจำกัด.
พิเชษฐ เมาลานนท์, (2551) “อาจารย์จิตติ พร่ำวอนสอนอะไร?”. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สุขสันต์ จิรจริยาเวช และคณะ, (2539) “จิตติ ติงศภัทิย์ แบบอย่างแห่งสามัญชน”. กรุงเทพฯ : ชมรมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระธรรมวโรดม, (2540) “ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา.
อ้างอิง
- ↑ จิตติ ติงศภัทิย์. (ระบบออนไลน์) www.th.wikipedia.org/wiki/จิตติ ติงศภัทิย์ (สืบค้น ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552)
- ↑ อ้างแล้วใน www.th.wikipedia.org/wiki/จิตติ ติงศภัทิย์
- ↑ http://www.lawsiam/จิตติ/ (สืบค้น ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552)
- ↑ พิเชษฐ เมาลานนท์. “อาจารย์จิตติ พร่ำวอนสอนอะไร?”. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2551 หน้า 15 – 16.
- ↑ ชมรมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 2512. “ที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 80 ปี ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์”. กรุงเทพฯ : ประชาชนจำกัด, 2532. หน้า 62 – 63.
- ↑ จิตติ ติงศภัทิย์. (ระบบออนไลน์) http://law.tu.ac.th/hall_of _fame/jiti/index/html. (สืบค้น ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552)