การเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความเป็นมา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๔๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๒ สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยวุฒิสมาชิก ๑๐ คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑๐ คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก ๔ ประเภท ประเภทละ ๕ คน รวมทั้งสิ้น ๔๐ คน มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีกำหนดเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน สภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ และในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ คณะอภิรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ลงนามประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติทั้งสิ้น ๑๘๙ มาตรา มีลักษณะสำคัญแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น คือ มีการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล และป้องกันการใช้อำนาจรัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายมาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รัฐสภามีระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทน วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจำนวน ๑๐๐ คน มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีบริบูรณ์ สมาชิกภาพมีกำหนดคราวละ ๖ ปี แต่ในวาระเริ่มแรกให้มีการจับสลากออกจากตำแหน่งจำนวนกึ่งหนึ่ง
สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและใช้วิธีรวมเขตจังหวัด โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตจังหวัดถือเอาจำนวนราษฎร ๑๕๐,๐๐๐คนต่อผู้แทน ๑ คน วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ ๔ ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ประธานวุฒิสภา เป็นประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานสภา ส่วนฝ่ายบริหารนั้น คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่น้อยกว่า ๑๕ คน และไม่เกิน ๒๕ คน โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ ต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรและต่อวุฒิสภา และขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนหลังจากที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามจำนวนพลเมืองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นการเลือกตั้งทางตรง โดยวิธีรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัดคิดคำนวณโดยถือจำนวนประชาชน ๑๕๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม จึงมีการจัดการเลือกตั้งเฉพาะใน ๑๙ จังหวัด ทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นมาอีก ๒๑ คน จากที่มีอยู่เดิม ๙๙ คน ผลการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ๓,๕๑๘,๒๗๖ คน มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น ๘๗๐,๒๐๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๒๗ จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดสกลนคร คิดเป็นร้อยละ ๔๕.๑๒ และจังหวัดอุดรธานีมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดคือร้อยละ ๑๒.๐๒
ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ จำนวน ๒๑ คน จาก ๑๙ จังหวัด ประกอบด้วย
พลตรี ขุนปลดปรปักษ์ (พระนคร) | นายประพัฒน์ วรรธนะสาร (พระนคร) | ร้อยโท จารุบุตรี เรืองสุวรรณ (ขอนแก่น) | นายทอง พงศ์อนันต์ (ชัยภูมิ) |
นายทองย้อย กลิ่นทอง (เชียงใหม่) | นายสานนท์ สายสว่าง (นครปฐม) | นายเปี่ยม บุณยโชติ ( นครศรีธรรมราช) | นายนารถ เงินทาบ (มหาสารคาม) |
นายสุวัฒน์ พูนลาภ (ร้อยเอ็ด) | นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร) | นายทิม จันสร (อุดรธานี) | หลวงนรกิจบริหาร (ฉะเชิงเทรา) |
นายบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (เชียงราย) | นายเพทาย โชตินุชิต (ธนบุรี) | นายอนันต์ ขันธะชวนะ (นครราชสีมา) | นายเผด็จ จิราภรณ์ (พิจิตร) |
นายโกศล สินธุเศก (ราชบุรี) | นายประเทือง ธรรมสาลี (ศรีสะเกษ) | นายยืน สืบนุการณ์ (สุรินทร์) | นางอรพิน ไชยกาล (อุบลราชธานี) |
นายทองพูน อาจธะขันธ์ (อุบลราชธานี) |
การเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงในสภามากที่สุด คือ ประมาณ ๔๐ ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคประชาชนของนายเลียง ไชยกาล มี ๓๑ ที่นั่ง นอกนั้นเป็นพรรคอิสระ ๑๔ ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ ๑๒ ที่นั่ง และไม่สังกัดพรรคอีก ๒๔ ที่นั่ง ซึ่งการมีเสียงข้างมาในสภาผู้แทนราษฎรมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลค่อนข้างมาก เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการลงมติแสดงความไว้วางใจต่อรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว โดยที่วุฒิสภาไม่มีอำนาจลงมติแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ การจัดตั้งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังการเลือกตั้ง จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อรวมกลุ่มของพรรคการเมืองที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการพยายามดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอื่น ๆ ให้เข้ามาสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนตน การระดมพลังสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าด้วยกันนี้ ก่อให้เกิดการแนวร่วมพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “สหพรรค” ขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง ๖๓ ต่อ ๓๑ เสียง หลังจากที่ใช้เวลาในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นเวลาถึง ๑๑ วัน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านรัฐบาลก็คือฝ่ายสมาชิกที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก
การเปลี่ยนสมาชิกวุฒิสภากึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจำนวน ๑๐๐ คน มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีบริบูรณ์ สมาชิกภาพมีกำหนดคราวละ ๖ ปี แต่ในวาระเริ่มแรกให้มีการจับสลากออกจากตำแหน่งจำนวนกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมได้มีวาระครบรอบ ๓ ปี การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ ในวาระเริ่มแรก จึงได้มีการจับสลากรายชื่อสมาชิกวุฒิสภากึ่งหนึ่งออกจากตำแหน่ง เพื่อแต่งตั้งวุฒิสมาชิกชุดใหม่เข้ามาแทน โดยการจับสลากจัดขึ้นในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ปรากฏผล ผู้ที่จับสลากออกจากตำแหน่งจำนวน ๕๐ คน ดังต่อไปนี้
(๑) พล.ท. พระยาอภัยสงคราม | (๒) พ.ท. หลวงชัยอัศวรักษ์ | (๓) พ.อ. หม่อมสนิทวงศ์เสนี | (๔) พลโท พระยาสีหราชเดชโชไชย |
(๕) นายเชวง เคียงศิริ | (๖) พระยาบริรักษ์เวชชการ | (๗) พระยาอัชราชทรงสิริ | (๘) พลเอก มังกร พรหมโยธี |
(๙) พระยาสาริกพงษ์ธรรมพิลาส | (๑๐) พลตรี พระสุริยสัตย์ | (๑๑) พระยาสาริกพงษ์ธรรมพิลาส | (๑๒) พระยาศรีราชโกษา |
(๑๓) พลเรือตรี พระจักรานุกรกิจ | (๑๔) พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ | (๑๕) พลตรี พระยาอินทรวิชิต | (๑๖) พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ |
(๑๗) นายบรรจง ศรีจรูญ | (๑๘) พระนิตินัยประสาน | (๑๙) หลวงประกอบนิติสาร | (๒๐) พระอัพภันตราพาธพิศาล |
(๒๑) หลวงชลนุสสร | (๒๒) พลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร | (๒๓) นายสัญญา ยมะสมิต | (๒๔) พระยาบำเรอภักดิ์ |
(๒๕) พระยาจินดารักษ์ | (๒๖) นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา ภมลาศน์ | (๒๗) พันเอก พระรามณรงค์ | (๒๘) พระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ |
(๒๙) หม่อมเจ้าสฤษดิ์เดช ชยางกูร | (๓๐) พลเรือตรี พระยาวิจารณ์จักรกิจ | (๓๑) หม่อมเจ้าชัชชวลิต เกษมสันต์ | (๓๒) พระยาอนุมานราชธน |
(๓๓) พระยาโทณวนิกมนตรี | (๓๔) พระเพ็ชรคีรี | (๓๕) หม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิศกุล | (๓๖) พระทิพยเบญญา |
(๓๗) พระยาเมธาบดี | (๓๘) พลตรีพระยาพิไชยสงคราม | (๓๙) พระชัยปัญญา | (๔๐) หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล |
(๔๑) พลตรี หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล | (๔๒) พลตรี พระอุดมโยธาธิยุต | (๔๓) นาวาเอก หลวงสำรวจวิธีสมุทร | (๔๔) ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม |
(๔๕) นายจรินทร์ กฤษณะภักดี | (๔๖) พลโท พระยาศรีสรราชภักดี | (๔๗) พระมนูภาณวิมลศาสตร์ | (๔๘) พระตีรณสารวิศวกรรม |
(๔๙) พระยาอมาตยพงษ์ธรรมพิศาล | (๕๐) พระยาทรงสุรรัชฏ์ |
- ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้ครบจำนวน ดังนี้
โดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานวุฒิสภา และพระอัชราชทรงสิริ เป็นรองประธานวุฒิสภา
อ้างอิง
ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๖๗ เล่มที่ ๖๗ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๒
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม ๒๕๒๒
โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ ๕ ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๔๔
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๐
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑
คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, ๒๕๔๒