ลงพระปรมาภิไธย
ผู้เรียบเรียง อรพรรณ สินธ์ศิริมานะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดเพียงพระองค์เดียว จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. 2475 ระบอบการปกครองเช่นนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ผ่านองค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะ มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นด้วยพระองค์เองโดยตรง
การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญเพราะบทกฎหมายและ พระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินจะมีผลบังคับใช้ได้ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ การลงพระปรมาภิไธยเป็นการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ความหมาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ ปรมาภิไธย ว่า “ปรมาภิไธย น. ชื่อ (ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เช่น ในพระปรมาภิไธย ทรงลงพระปรมาภิไธย” [1]
คำว่า พระปรมาภิไธย ประกอบด้วยคำว่า พระ+ปรม+อภิไธย มีความหมายว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง (อภิไธย แปลว่า ชื่อ) [2]
ลงพระปรมาภิไธย หมายถึง การลงพระนามของพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศ เพื่อให้บรรดาบทกฎหมายต่างๆ มีผลบังคับใช้ ขั้นตอนหลังจากที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา [3]
ความเป็นมาของการลงพระปรมาภิไธย
ตามประเพณีตั้งแต่อดีตของไทยเกี่ยวกับหนังสือราชการประเภทต่างๆ เช่น ศุภอักษร สารตรา ท้องตรา ใบบอก จะใช้การประทับตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งของ ผู้ที่ออกหนังสือนั้นๆ แทนการลงลายมือชื่อหรือลายเซ็น ส่วนพระมหากษัตริย์จะทรงประทับตราพระราชลัญจกรแทนการลงพระปรมาภิไธยในหนังสือสำคัญต่างๆ เช่น พระราชสาส์น พระบรมราชโองการ ประกาศต่างๆ เป็นต้น [4]
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่า การลงนามบนเอกสารโดยใช้ลายเซ็นแทนนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ก่อนผู้อื่น เพราะขณะเมื่อทรงผนวชได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและต้องมีลายพระหัตถ์ตอบชาวต่างประเทศในประเทศอเมริกาและที่เมืองปีนังบ่อยๆ ซึ่งจดหมายฝรั่งใช้เซ็นชื่อเป็นสำคัญ ทรงเซ็นพระนามเป็นอักษรฝรั่งเช่นกัน ทรงเซ็นพระนามว่า Fa Yai (ฟ้าใหญ่) แต่เมื่อเสวยราชย์แล้วทรงเซ็นพระปรมาภิไธยว่า S.P.P.M. Mongkut (สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ) การเซ็นชื่อก็มีผู้อื่นกระทำตามแม้ตัวจดหมายเป็นภาษาไทยก็เซ็นเป็นอักษรฝรั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเซ็นว่า Chulalongkorn กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเซ็นย่อว่า K.P.R.W.B.S. Mongkol สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเซ็นพระนามว่า Mahamala (มหามาลา) ส่วนการเซ็นเป็นอักษรไทยก็ทรงใช้ก่อน เริ่มมีในสัญญาบัตรตั้งขุนนาง ข้างท้ายทรงเซ็นว่า “สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ” ยาวตลอดหน้าสัญญาบัตร การเซ็นชื่อเป็นอักษรไทยแพร่หลายต่อมาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยที่ท้ายพระราชหัตถเลขาว่าChulalongkorn R.S. จุฬาลงกรณ์ ปร. และ สยามินทร์ [5]
ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยนั้นเป็นพระราชหัตถเลขาที่ทรงสั่งราชการแผ่นดินกับเสนาบดี แต่ไม่พบว่าทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายหรือพระบรมราชโองการ มีเพียงการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เช่น เมื่อปีพ.ศ. 2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการเรื่อง “ประกาศเรื่องถวายหนังสือ” มีการขึ้นต้นข้อความว่า “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ....” [6]
การลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายหรือการอื่นที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินปรากฏในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยที่ท้าย “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475” ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 วันที่ 26 มิถุนายน 2475 และ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 วันที่ 27 มิถุนายน 2475 นับแต่นั้นการลงพระปรมาภิไธยก็ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน [7]
หลักประมุขของประเทศไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง
พัฒนาการทางการเมืองของอังกฤษเป็นผลให้พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราชอำนาจทั้งในการตรากฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน จนในที่สุดได้พัฒนาไปสู่การ “ทรงอยู่ เหนือการเมือง” และ “ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง” ทรงทำหน้าที่เป็นประมุขอย่างเดียว โดยกิจกรรมทางการเมืองจะทรงทำตามบทบัญญัติ กฎหมาย และจารีตประเพณี โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นผลให้องค์พระประมุขทรงพ้นจากความรับผิดเพราะผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทน พระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นสถาบันที่ผู้ใดจะละเมิดหรือว่ากล่าวฟ้องร้องไม่ได้ (the King can do no wrong)
ประเทศไทยได้นำระบบรัฐสภาแบบอังกฤษมาปรับใช้ จึงนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยสิ่งใดที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 195 ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน”
ความสำคัญของการลงพระปรมาภิไธย
การลงพระปรมาภิไธย เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การบริหารประเทศดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยเพราะบทกฎหมายหรือพระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินล้วนต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธยจากพระมหากษัตริย์เสียก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ อย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงนำมาประกาศเพื่อใช้บังคับ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 90 บัญญัติไว้ว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป” [8] และในมาตรา 195 วรรคสอง กำหนดว่า “บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน” [9]
อนึ่ง พระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น พระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเช่นกัน
การลงพระปรมาภิไธยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้อำนาจอธิปไตย ดังนี้
1. ด้านนิติบัญญัติ
1.1 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง “สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้นๆ ตามมติของสภา” [10]
1.2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 110 วรรคหนึ่ง “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษํตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดพรรคของตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” [11]
1.3 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ขยายเวลาประชุม เปิดและปิดประชุม ตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม” วรรคสาม “เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้” และวรรคสี่ “ภายใต้บังคับมาตรา 129 การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา” [12]
1.4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 129 วรรคหนึ่ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้” [13]
1.5 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามมาตรา 107 “เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป...” [14]
1.6 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 108 วรรคสอง “การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา”[15]
1.7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 150 “ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้” [16]
ส่วนในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในร่างพระราชบัญญัตินั้น ตามมาตรา 151 กำหนดว่า “ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วัน แล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว” [17]
2. ด้านบริหาร
2.1 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 171 วรรคหนึ่ง “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” [18]
2.2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนด ตามมาตรา 184 วรรคหนึ่ง “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้” [19] รวมทั้งมาตรา 186 วรรคหนึ่ง “ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้” [20]
2.3 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 187 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” [21]
2.4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าราชการ ตามมาตรา 193 “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย” [22]
3. ด้านตุลาการ
3.1 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ ตามมาตรา 200 วรรคหนึ่ง “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย” [23]
3.2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” [24]
3.3 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมและการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 220 วรรคหนึ่ง “การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” [25]
3.4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองและการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง “การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองก่อนตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” [26]
3.5 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 225 “การแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป” [27]
นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ยังทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
1.1 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 229 วรรคหนึ่ง “คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต” [28]
1.2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 242 วรรคหนึ่ง “ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” ส่วนการแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ตามมาตรา 242 วรรคสอง “ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบ” [29] จากนั้นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป
1.3 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” [30]
1.4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 252 วรรคสอง “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 6 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่น” [31]
2. องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ
2.1 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 255 วรรคสาม “การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอัยการ และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา” และวรรคสี่ “ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด” [32]
2.2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 256 วรรคหนึ่ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 6 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย” [33]
สรุป
บทกฎหมายต่างๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และพระบรมราชโองการ จะมีผลใช้บังคับได้นั้นต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยก่อน และเมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ทั้งนี้ การลงพระปรมาภิไธย เป็นการใช้พระราชอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศ เช่น ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
อ้างอิง
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2542. หน้า 651.
- ↑ กาญจนา นาคสกุล. “พระบรมนามาภิไธย-พระปรมาภิไธย” คลังความรู้. [on line] Accessed 3 July 2009. Available from http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID183
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรม ศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548. หน้า 818.
- ↑ พระยาอนุมานราชธน. พระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง. พระนคร : กรมศิลปากร, 2493. หน้า 1.
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. สาส์นสมเด็จ เล่ม 15. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2505. หน้า 270-271.
- ↑ “ประกาศเรื่องถวายหนังสือ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 วันอังคาร เดือนยี่ แรมหกค่ำ ปีวอก ฉศก ศักราช 1246. หน้า 21.
- ↑ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. “การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก. [on line] Accessed 4 July 2009. Available from http://guru.sanook.com/encyclopedia
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551. หน้า 65.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 159.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 96.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 85.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 100-101.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 101.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 83.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 83.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 124.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 124-125.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 144.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 152.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 155.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 155.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 158-159.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 162.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 164.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 179.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 182.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 183.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 186.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 201.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 205.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 213.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 216.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 217.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรม ศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐสภา. กรุงเทพฯ : เจฟิล์มโปรเซส, 2539.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ธ ทรงเป็นร่มฉัตรรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.
บรรณานุกรม
กาญจนา นาคสกุล. “พระบรมนามาภิไธย-พระปรมาภิไธย” คลังความรู้. [on line] Accessed 3 July 2009. Available from http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID183
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรม ศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
จเร พันธุ์เปรื่อง. “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” รัฐสภาสาร. ปีที่ 47 ฉบับที่ 6, มิ.ย. 2542. หน้า 63-93.
ธงทอง จันทรางศุ. “ฐานะของพระมหากษัตริย์ตามระบอบรัฐธรรมนูญ” รัฐสภาสาร. ปีที่ 31 ฉบับที่ 9, ก.ย. 2526. หน้า 7-15.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. “การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก. [on line] Accessed 4 July 2009. Available from http://guru.sanook.com/encyclopedia
“ประกาศเรื่องถวายหนังสือ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 วันอังคาร เดือนยี่ แรมหกค่ำ ปีวอก ฉศก ศักราช 1246. หน้า 21.
พระยาอนุมานราชธน. เรื่องพระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง. พระนคร : กรมศิลปากร, 2493.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2542.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. สาส์นสมเด็จ เล่ม 15. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2505.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐสภา. กรุงเทพฯ : เจฟิล์มโปรเซส, 2539.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ธ ทรงเป็นร่มฉัตรรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.
หยุด แสงอุทัย. “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” รัฐสภาสาร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1, ธ.ค. 2499. หน้า 29-34.