ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


 ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 37[1]

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตของ พันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ กับนางเข็มเพชร จันทร์โอชา จากบุตรทั้งหมดสี่คน[2]  

          พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนสหกิจวิทยา จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากนั้นย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เพราะบิดาย้ายเข้ารับราชการที่ศูนย์การทหารราบค่ายธนรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2512 ระหว่างที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ พลเอกประยุทธ์ได้ถูกบันทึกในคอลัมน์เรียนดีของนิตยสารชัยพฤษ์ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์ โดยมีผลการเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่เคยได้ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกถามว่าหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วจะสอบเข้าเรียนต่อที่ไหน ประยุทธ์ตอบว่า เขาตั้งใจจะเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารและหวังว่าจะได้เป็นทหารบกในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบิดา[3]  พ.ศ. 2515 ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 หลังจากจบจากโรงเรียนเตรียมทหาร พ.ศ. 2519 ประยุทธ์ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 23 ในปีเดียวกัน พลเรือเอก สงัด_ชะลออยู่ พร้อมคณะนายทหาร 3 เหล่าทัพได้ก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 6_ตุลาคม_พ.ศ._2519 เนื่องจากสถานการณ์ความแตกแยกในบ้านเมืองและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์  

          นอกจากนั้นยังเข้าอบรมหลักสูตรด้านการทหาร เช่น หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 [4]

          ชีวิตครอบครัวพลเอกประยุทธ์สมรสกับนางนราพร จันทร์โอชา (สกุลเดิมโรจนจันทร์) อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดสองคน คือ นางสาวธัญญา และนางสาวนิฏฐา จันทร์โอชา

 

เหตุการณ์สำคัญ

          เมื่อเรียนจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พลเอกประยุทธ์เลือกเหล่าทหารราบ โดยเข้ารับราชการที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งมี พันโท ณรงค์ นันทโพธิ์เดช เป็นผู้บังคับกองพันในขณะนั้น

          พ.ศ.2526 ขณะที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบาที่ 3 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้นำกำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของเวียดนามที่เขาพนมประ อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี วีรกรรมในขณะนั้นทำให้ได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร[5]

'          พ.ศ. '2533 พลเอกประยุทธ์เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ พ.ศ. '2541 เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ปี พ.ศ. '2546 เลื่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ใน พ.ศ. '2549 ประยุทธ์ จันทร์โอชาดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. '2551 เลื่อนขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบก  จากนั้นพ.ศ. '2552 เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. '2553 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการการทหารบก ลำดับที่ 37

'          ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรับราชการในตำแหน่งพิเศษอื่นๆ  เช่นพ.ศ. '2530 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชองครักษ์เวร  พ.ศ. '2542 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้านายทหารเสริมกำลังพิเศษ พ.ศ. '2444 ปฏิบัติหน้าที่เป็นรองหัวหน้านายทหารเสริมกำลังพิเศษ พ.ศ. '2552 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชองรักษ์พิเศษ พ.ศ. '2555 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ตุลาการศาลทหารสูงสุด นอกจากนั้นยังได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นนายทหารพิเศษฯ ประจำหน่วย ดังนี้ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ [6]

          พลเอกประยุทธ์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19_กันยายน_พ.ศ._2549 ที่มีพลเอกสนธิ_บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โดยพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 หลังจากนั้นพลเอกประยุทธ์ได้รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

          พลเอกประยุทธ์ยังได้รับมอบหมายให้เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 และรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในสมัย รัฐบาลนายสมัคร_สุนทรเวช  และสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และได้ลงนามในคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกและยังเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2554       

          วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลรักษาการ มูลเหตุความขัดแย้งมาจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำไปสู่การประกาศยุบสภาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9_ธันวาคม_พ.ศ._2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย แม้จะประกาศยุบสภาแล้ว แต่การชุมนุมประท้วงกลับยกระดับมากยิ่งขึ้น จากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ยืดเยื้อและมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลรักษาการมีความเป็นไปได้ว่าจะนำพาไปสู่ความรุนแรง จนกระทั่งวันที่ 20_พฤษภาคม_พ.ศ._2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ลงนามในประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมไปถึงคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ฉบับที่ 3 เรื่องการนำเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ[7] ในการควบคุมสถานการณ์ตามพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเป้าหมายที่คาดการณ์ว่าจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลรักษาการ โดยกำลังหลักครั้งนี้มาจาก 4 กองพล ประกอบด้วย กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร. 2 รอ.) จังหวัดปราจีนบุรี และ กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร. 9) จังหวัดกาญจนบุรี กองทัพพยายามแสดงบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ แต่การเจรจากลับล้มเหลว ภายหลังจากการประกาศกฎอัยการศึก มีการเรียกคู่ขัดแย้งมาหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศและพลเอก ประยุทธ์ฝากการบ้านให้ทุกฝ่ายไปหาคำตอบแล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง วันถัดมา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 การหารือระหว่างตัวแทน 7 ฝ่าย และกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) กล่าวในที่ประชุมว่าอยากให้ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันทำให้ทุกอย่างดีขึ้นและพร้อมจะทำให้ทุกอย่างสงบโดยเร็ว ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวและบันทึกภาพด้านใน และการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สุดท้ายแล้วการประชุมไม่สามารถหาข้อยุติได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พลเอก ประยุทธ์จึงประกาศยึดอำนาจการปกครอง ต่อมาเวลา 16.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประทศตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างๆ ในแถลงการณ์ระบุถึงการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน โดยจะดำเนินการภายใต้แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 3 ระยะ คือระยะที่ 1 แก้ปัญหาเร่งด่วนและขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องที่ติดขัดและเป็นปัญหา ระยะที่ 2 คือการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูป และระยะที่ 3 คือ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จากแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แบ่งกลุ่มงานเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป[8]

          การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เหตุผลการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศว่า ความแตกแยกทางความคิดที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยได้นำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เป็นผลให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในรอบหลายปีที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเข้าควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงกำหนดค่านิยม 12 ประการ โดยแถลงในรายการโทรทัศน์ คืนความสุขให้คนในชาติ คืนวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 สรุปใจความได้ว่า สิ่งแรกที่ยังถือเป็นปัญหาของประชาชนคนไทยในทุกระดับชั้นซึ่งต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือ การกำหนดค่านิยมหลักให้ชัดเจน เพื่อสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็ง ดังนั้นประชาชนไทยต้องเข้มแข็งก่อน จึงเป็นที่มาของการสร้างค่านิยม_12_ประการ ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของสังคมไทยตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ค่านิยม 12 ประการ มีดังนี้ (1). มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (2). ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม (3). กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ (4). ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม (5). รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม (6). มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน (7). เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง (8). มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ (9). มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  (10). รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (11). มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา (12). คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง[9]

          วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีเนื้อหา ทั้งสิ้น 48 มาตรา[10] วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ไพบูลย์_คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร_วิชิตชลชัย และ ศ.ดร.วิษณุ_เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ต.วีระ_โรจนะวาศ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวชี้แจงการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  'โดยนายวิษณุเปรียบรัฐธรรมนูญชั่วคราว '2557 เป็นต้นธารแม่น้ำ_5_สาย ประกอบด้วย แม่น้ำสายแรกคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม่น้ำสาย 2 คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แม่น้ำสาย 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แม่น้ำสายที่ 4 คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แม่น้ำสายที่ 5 คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)[11]

          วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 191 เสียง เลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

          วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557 ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 8/2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม สมาชิกลงชื่อเข้าประชุมทั้งสิ้น 185 คน จากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 192 คน  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาประเทศไว้ 3 ระยะ ตั้งแต่เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ระยะแรกได้มุ่งระงับยับยั้งความแตกแยก ยุติการใช้กำลัง อาวุธสงครามก่อความรุนแรง แก้ไขผลกระทบจากการที่รัฐบาลและรัฐสภาเดิมก่อนหน้านั้นอยู่ในสภาพที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติกว่า 6 เดือน ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้า มุ่งสร้างความสุข ความสงบคืนสู่ประเทศ ระยะที่ 2 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลดบทบาทและภารกิจลงมาอยู่ในระดับการเป็นที่ปรึกษาและทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ตามด้วยการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อวางรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สู่ระยะที่ 3 คือ การใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร และการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีนโยบายต่างๆ 11 นโยบาย ได้แก่ 1. นโยบายการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ในระยะเร่งด่วน 3. นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ในระยะเฉพาะหน้า 4. นโยบายการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5. นโยบายการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน    6. นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่ และระยะยาวที่ต้องวากรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง  7. นโยบายการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน   8. นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนา และนวัตกรรม 9. นโยบายการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  10. นโยบายการส่งเสริมการบริหารราชกาแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ  11. นโยบายการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะหน้า จะเร่งปรับปรุงประมวลกฏหมายหลักของประเทศและกฎหมายอื่นๆที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน[12] 

          วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559 การเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพีระศักดิ์_พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล หลังจากการอภิปรายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสร็จสิ้น ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนน 153 เสียง ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  จำนวน 21 คน แปรญัตติภายใน 5 วัน และกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 วัน[13]  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในวาระที่ 2 ซึ่งภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 โดยมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง สภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้วไปยังนายกรัฐมนตรีให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อจัดทำการออกเสียงประชามติต่อไป[14]

          วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้วันที่ 7_สิงหาคม_พ.ศ._2559 เป็นวันออกเสียงประชาติ[15]

          วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดวันออกเสียงประชามติ (เพิ่มเติม)   ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มีสองประเด็น คือ (1). ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ทั้งฉบับ  และ (2). ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกําหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง ๕ ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี”[16]

          วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 วันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ในการออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิลงมติ ใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ และ 2.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นคำถามพ่วงเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผลการลงมติปรากฏว่า มีผู้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 15,562,027 คน ไม่รับ 9,784,680 คน คิดเป็นร้อยละ 61.40 ต่อ 38.60 ตามลำดับ โดยรวมผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27,623,126 คน จากผู้มีสิทธิออกเสียง 50,585,118 คน ส่วนประเด็นคำถามพ่วงนั้น ประชาชนเห็นด้วยกับคำถามพ่วง 13,969,594 คน ไม่เห็นด้วย 10,070,599 คน คิดเป็นร้อยละ 58.11 ต่อ 41.89 ตามลำดับ[17]

          หลังจากนั้นรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศจะดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้คือ หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ผ่านการเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะนำเนื้อหาคำถามพ่วงมาปรับและบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปรับแก้เนื้อหา 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ จากนั้นส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขนั้นไม่สอดคล้องกับผลประชามติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องนำกลับมาแก้ไขตามความเห็นชอบของศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก่อนจะส่งให้นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับผลประชามติ ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้วต่อไป เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วัน โดยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับได้แก่ (1). การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2). การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (3). คณะกรรมการการเลือกตั้ง (4). พรรคการเมือง และเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วให้ดำเนินการประกาศให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ในระหว่างนี้ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา  จำนวน 250 คนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกระบวนการปฏิรูปประเทศหลังจากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าการตรากฏหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศและได้รับการประกาศบังคับใช้ภายใน 120 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ส่วนคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี จะยังคงทำหน้าที่และมีอำนาจสมบูรณ์ไปจนถึงวันที่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่[18]

 

หนังสือแนะนำ

กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, (2557), เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์.

ยุคล วิเศษสังข์, (2559), ถอดรหัส...คำประกาศ "ผมสู้ตาย" ของทหารเสือชื่อ...พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด.

 

บรรณานุกรม

กองทัพบก, ประวัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบัญชาการทหารบก ลำดับที่ 37,  เข้าถึงจากhttp://www.rta.mi.th/command/command37.html เมื่อ 15 กรกฎาคม 2559

กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 37-39

กองทัพบก, ประวัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบัญชาการทหารบก ลำดับที่ 37,  เข้าถึงจากhttp://www.rta.mi.th/command/command37.html เมื่อ 15 กรกฎาคม 2559

คมชัดลึก.โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประชามติร่างรธน., เข้าถึงจาก โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประชามติร่างรธน., เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/news/politic/226364 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ค่านิยม 12 ประการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559. 

ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, แม่น้ำ 5 สาย, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=แม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559.

 ผู้จัดการออนไลน์.“ประยุทธ์” นำ ครม.แถลงนโยบาย 11 ด้าน เน้นยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวง, เข้าถึงจาก http:// www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000104782 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559. 

บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 19/2559, เข้าถึงจากhttp://dl.parliament.go.th/handle/lirt/475398 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 22/2559, เข้าถึงจาก http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/475401 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันออกเสียงประชามติ (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนที่ 58 ก, หน้า 11 เข้าถึงจาก http://www.mratchakitcha.soc.go.th/search_result.php เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559.

ประชาชาติ.สุดท้าย! กกต.สรุปผลประชามติไม่เป็นทางการที่ 94% รับร่างฯ 15.5 ล้าน ไม่รับ 9.7 ล้าน, เข้าถึงจาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1470574147 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.  

ยุคล วิเศษสังข์, ถอดรหัส...คำประกาศ "ผมสู้ตาย" ของทหารเสือชื่อ...พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, (กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2559), หน้า 63-95  

โพสต์ทูเดย์.เส้นทางหลังผลประชามติ Yes-No กำหนดอนาคตการเมืองไทย, เข้าถึงจาก http://www.posttoday.com/analysis/politic/447037 เมื่อ 10 สิงหาคม 2559.

วาสนา นาน่วม , เส้นทางพยัคฆ์ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือสู่หลังเสือ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 69.

 

อ้างอิง


[1] กองทัพบก, ประวัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบัญชาการทหารบก ลำดับที่ 37,  เข้าถึงจากhttp://www.rta.mi.th/command/command37.html เมื่อ 15 กรกฎาคม 2559

[2] กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 37-39

[3]กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 37-39

[4] กองทัพบก, ประวัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบัญชาการทหารบก ลำดับที่ 37,  เข้าถึงจากhttp://www.rta.mi.th/command/command37.html เมื่อ 15 กรกฎาคม 2559

[5] วาสนา นาน่วม , เส้นทางพยัคฆ์ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือสู่หลังเสือ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 69.

[6] กองทัพบก, ประวัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบัญชาการทหารบก ลำดับที่ 37,  เข้าถึงจากhttp://www.rta.mi.th/command/command37.html เมื่อ 15 กรกฎาคม 2559

[7]ยุคล วิเศษสังข์, ถอดรหัส...คำประกาศ "ผมสู้ตาย" ของทหารเสือชื่อ...พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, (กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2559), หน้า 63-95  

[8] กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 163-167

[9]ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ค่านิยม 12 ประการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559. 

[10]กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์, เขาชื่อตู่ จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 163-168.

[11] ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, แม่น้ำ 5 สาย, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=แม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559.

[12]ผู้จัดการออนไลน์.“ประยุทธ์” นำ ครม.แถลงนโยบาย 11 ด้าน เน้นยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวง, เข้าถึงจาก http:// www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000104782 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559.

[13]'บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่'19/2559, เข้าถึงจากhttp://dl.parliament.go.th/handle/lirt/475398 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

[14] บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 22/2559, เข้าถึงจาก http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/475401 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

[15] คมชัดลึก.โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประชามติร่างรธน., เข้าถึงจาก โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประชามติร่างรธน., เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/news/politic/226364 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.

[16] ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันออกเสียงประชามติ (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนที่ 58 ก, หน้า 11 เข้าถึงจาก http://www.mratchakitcha.soc.go.th/search_result.php เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559.

[17] ประชาชาติ.'สุดท้าย! กกต.สรุปผลประชามติไม่เป็นทางการที่ '94% รับร่างฯ 15.5 ล้าน ไม่รับ 9.7 ล้าน, เข้าถึงจาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1470574147 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559.    

[18] โพสต์ทูเดย์.'เส้นทางหลังผลประชามติ 'Yes-No กำหนดอนาคตการเมืองไทย, เข้าถึงจาก http://www.posttoday.com/analysis/politic/447037 เมื่อ 10 สิงหาคม 2559.