ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระยาทรงสุรเดช"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ล Apirom ย้ายหน้า พระยาทรงสุรเดช (บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์) ไปยัง พระยาทรงสุรเดช โดยไม่สร้างห... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 21:15, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระยาทรงสุรเดช
นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรเพราะเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจโดยการออกแผนลวงให้มาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร กรรมการราษฎร รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในภายหลังมีความขัดแย้งกับแกนนำคนอื่นๆของคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม ทำให้ต้องเดินทางไปลี้ภัยในต่างประเทศจนถึงแก่อนิจกรรม
ประวัติส่วนบุคคล
นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชมีชื่อเดิมว่าเทพ พันธุมเสน เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2435 เป็นบุตรของนายร้อยโทไท้ พันธุมเสน นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 กับนางพุก เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตลงได้รับการอุปการะจากนายพันตรีหลวงนฤสารสำแดง (วัน พันธุมเสน) ผู้เป็นพี่ชายและเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ.2447 เมื่อมีอายุได้ 12 ปีได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกจนถึงพ.ศ.2449 ได้สอบไล่ได้หลักสูตรนักเรียนนายร้อยออกเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองราชการ แต่พระยาทรงฯมีผลการเรียนที่ดีและอายุยังน้อยจึงได้รับเลือกให้ไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนีพร้อมกับพระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์)โดยออกเดินทางเมื่อ พ.ศ.2450[1] เข้าศึกษาในวิชาทหารช่าง เรียนสำเร็จแล้วได้ออกเป็นนายสิบประจำกรมทหารช่างที่ 4 เมืองมักเคเบอร์ก แล้วเข้าศึกษาในโรงเรียนรบจนสำเร็จเป็นร้อยตรีประจำกองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก จนถึง พ.ศ.2458 จึงเดินทางกลับประเทศไทย รวมเวลาที่อยู่ในเยอรมนีเกือบ 8 ปีเต็ม[2]
พระยาทรงสุรเดชได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการที่กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์และเติบโตในตำแหน่งราชการจนได้เป็นปลัดกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนเลื่อนเป็นผู้บังคับกองพันที่ 2 ช่างรถไฟ กรมทหารบกช่างที่ 3 ในพ.ศ.2461[3] ได้รับมอบหมายให้สร้างทางรถไฟ 3 เส้นทางคือ
1.ทางรถไฟสายเหนือ จากอุโมงค์ขุนตานถึงเชียงใหม่
2.ทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงอรัญประเทศ
3.ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากสถานีโคราชถึงสถานีท่าช้าง[4]
พ.ศ.2467 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารบกช่างที่ 2 ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบกแล้วเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
เหตุการณ์สำคัญ
พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยได้รับการชักชวนจากร้อยโทประยูร ภมรมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับพระยาทรงฯมาตั้งแต่เด็ก ใน พ.ศ.2474[5] โดยพระยาทรงฯได้อธิบายเหตุผลที่เข้าร่วมดังนี้คือ
1.เป็นที่ประจักษ์แน่แล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินแสดงความไม่สามารถในการที่จะบงการโดยอำนาจอับโซลู้ดให้งานของชาติเจริญรุ่งเรืองได้
2.พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมดมุ่งแต่เพียงทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีต้องสละเกียรติยศด้วย[6]
เดือนมีนาคม พ.ศ.2474 พระยาทรงสุรเดชซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบกได้ถือโอกาสในการเป็น ประธานกรรมการสอบไล่นักเรียนนายร้อยที่จังหวัดราชบุรีรวบรวมหาพรรคพวกและคิดวางแผนการปฏิวัติร่วมกับพันโทพระประศาส์นพิทยายุทธผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก[7]
ในเวลาต่อมาในการประชุมคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้เสนอให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร และเสนอแผนการยึดอำนาจโดยให้ใช้กำลังทหารเข้ายึดพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อควบคุมพระองค์และให้ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จากนั้นจะได้ถวายอารักขาพระองค์ท่านไว้ จนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่แผนการนี้ถูกพระยาฤทธิอัคเนย์คัดค้านเพราะจะเกิดการปะทะและนองเลือด พระยาทรงฯจึงเสนอแผนการใหม่โดยลงมือทำการในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล[8]
พระยาทรงฯเป็นผู้วางแผนลวงให้มีการชุมนุมทหารในพระนครเพื่อก่อการยึดอำนาจ โดยในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระยาทรงฯในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ทำบันทึกถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบกและพันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ว่าจะทำการฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถรบ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและใช้รถรบจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ในการฝึก และให้แต่ละกรมส่งนายทหารเป็นผู้แทนไปดูการฝึกยุทธวิธีในครั้งนี้ ด้วยเกียรติคุณของพระยาทรงฯจึงทำให้ทุกหน่วยส่งทหารเข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้[9]
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อหน่วยทหารเข้าสู่จุดชุมนุมพลขณะที่กำลังของคณะราษฎรส่วนหนึ่งเข้าจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อ่านประกาศคณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองพร้อมตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารอันประกอบด้วย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดชและพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์[10]
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว_พ.ศ.2475 ประกาศใช้ พระยาทรงสุรเดชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวซึ่งมีจำนวน 70 นาย[11] ในวันดังกล่าวได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และที่ประชุมได้เลือกมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี) และได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติจำนาน 14 คน โดยพระยาทรงสุรเดชเป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฎร[12]
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ ได้มีการแต่งตั้งให้พระยาทรงสุรเดชเป็นรัฐมนตรี[13]
ความขัดแย้งในหมู่ผู้ก่อการฯได้ก่อตัวขึ้น เมื่อพระยาทรงสุรเดชเริ่มมีความขัดแย้งกับพระยาพหลพลพยุหเสนาและพันโทหลวงพิบูลสงคราม โดยมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น
ความขัดแย้งระหว่างพระยาทรงฯกับพระยาพหลฯ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงฯเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลใหม่ และดำเนินการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ เริ่มจากในการปฏิรูปกองทัพบก โดยพระยาทรงฯเห็นว่ากองทัพบกสยามควรจะเป็นกองทัพขนาดเล็กเช่นเดียวกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงได้วางรูปแบบให้เหมาะสมกับกำลังของประเทศซึ่งมีฐานะการเงินจำกัด งบประมาณการทหารถูกตัดทอนอยู่มาก กรมกองต่างๆที่เกินความจำเป็นควรถูกยุบ จนนำไปสู่การประกาศจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2475[14]และในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ภายใต้โครงสร้างใหม่พระยาทรงสุรเดชได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการและรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง[15] ภายใต้โครงสร้างกองทัพบกใหม่ทำให้นายทหารของกลุ่มผู้ก่อการฯเข้าคุมการบังคับบัญชาของกองทัพได้ทั้งหมด[16] แต่การดำเนินการดังกล่าวพระยาพหลฯซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกมิได้รู้เห็นด้วย ดังปรากฏใน “คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ”ไว้ดังนี้ “...เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ราว 1 เดือน หลวงชำนาญยุทธศิลป์ หลวงรณสิทธิพิชัย และผู้บังคับกองพันของเหล่าทหารม้า เหล่าทหารปืนใหญ่ เหล่าทหารสื่อสาร ได้ลอบประชุมกันที่ตึกทหาร วังปารุสกวัน เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก โดยมิให้พระยาพหลพลพยุหเสนารู้เห็นด้วย ในระยะนี้ วันหนึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนาลงไปรับแขกชั้นล่างได้ผ่านทหารยามไป เสร็จธุระจากรับแขกแล้วจะกลับขึ้นไปข้างบน ทหารยามคนนั้นได้ทำท่าเตรียมแทงไม่ยอมให้ขึ้น พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงตะโกนร้องเรียกให้พระยาทรงสุรเดชมาดู พระยาทรงสุรเดชบอกว่าทหารไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา การที่ทหารยามคนนั้นกระทำเช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นคำสั่งของพระยาทรงสุรเดชจะคิดแย่งอำนาจจากพระยาพหลพลพยุหเสนา[17]
ในกรณีความขัดแย้งกับหลวงพิบูลฯ เกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามที่จะย้ายหลวงพิบูลฯออกจากตำแหน่งนายทหารปืนใหญ่ไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยรบ (เจ้ากรมช่างแสงสรรพาวุธ) ซึ่งไม่มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร ดังปรากฎใน”คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ”ไว้ดังนี้ “..ต่อมาราว 1 เดือน พระยาทรงสุรเดชจะเอาหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเวลานั้นเป็นนายทหารปืนใหญ่ไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยรบ ซึ่งไม่มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมกำลัง หลวงพิบูลสงครามทราบเรื่องเข้าจึงไปสอบถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงจะย้ายให้ไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยรบ แต่ทหารยามได้เอาดาบปลายปืนกั้นไว้ ขณะนั้นพระยาทรงสุรเดชก็อยู่ที่นั่นด้วย
ได้มีผู้คัดค้านการที่จะย้ายหลวงพิบูลสงคราม จึงกระทำไปไม่สำเร็จ ส่วนนายทหารที่เป็นพวกของหลวงพิบูลสงครามก็จะเอาไปบรรจุในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลังทหาร และย้ายไปที่อื่นแล้วเอานายทหารที่เป็นพวกของพระยาทรงสุรเดชบรรจุควบคุมแทน การที่พระยาทรงสุรเดชกับพวกกระทำเช่นนี้แสดงว่า พระยาทรงสุรเดชจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหารซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่นั้นให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวแก่การเมืองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตั้งแต่นั้นมา พระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามก็ไม่ถูกกันเรื่อยๆมา...”[18]
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งอันเกิดจาก“เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี_พนมยงค์) ได้เสนอเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เพื่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีเนื้อหา 3 ส่วนคือ ส่วนแรกว่าด้วยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ส่วนที่สองเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และส่วนที่สามเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช....[19] พระยาทรงฯได้มีจดหมายไปถึงหลวงประดิษฐฯว่า ถ้าการปฏิบัติตามโครงการนี้ไม่เป็นไปในทางบังคับราษฎรแล้วก็ยินดีสนับสนุน รัฐบาลต้องเข้าไปมีส่วนด้วยในการเศรษฐกิจของประเทศชาติ เพราะการค้าตกอยู่ในมือของต่างด้าวมานานแล้ว แต่ทั้งนี้จะใช้อำนาจเผด็จการมาบังคับราษฎรไม่ได้[20] หลวงประดิษฐ์ฯได้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมานุการขึ้น 14 นายเพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงฯฉบับนี้ ในการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2475 (นับปีแบบเก่าเพราะมีการเปลี่ยนแปลงวันขี้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนเป็นวันที่ 1 มกราคม ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483) ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับเค้าโครงการฯ 8 นาย โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาทรงสุรเดชเป็น 2 ใน 4 ผู้ที่คัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ[21]
เมื่อเค้าโครงการเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสียงส่วนมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ จึงทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนมากกว่าจะเสนอเค้าโครงการฯ สู่สภาผู้แทนราษฎร ความวุ่นวายในสภาฯเมื่อมีสมาชิกพกอาวุธเข้าสู่ที่ประชุม พระยาทรงสุรเดชเสนอให้ค้นอาวุธสมาชิกฯก่อนเข้าประชุมในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2475 (นับตามปีปฏิทินแบบเก่า) เรื่องดังกล่าวได้ถูกตั้งเป็นกระทู้หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิก เช่น หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ พระยาศรยุทธเสนี นายจรูญ สืบแสง ตลอดจนถึงหลวงโกวิทอภัยวงศ์กล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ[22]
ความแตกแยกของกลุ่มผู้ก่อการแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้า อีกพวกหนึ่งมีพระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้า[23] พระยาทรงฯเป็นผู้สนับสนุนให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 [24]พร้อมกับออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์_พ.ศ._2476 หลวงประดิษฐมนูธรรมถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและในที่ประชุมคณะผู้ก่อการฯพระยาทรงฯเป็นผู้ที่สนับสนุนให้หลวงประดิษฐ์เดินทางไปต่างประเทศ[25]
พระยาทรงสุรเดชได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรีและพระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกาให้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476[26] แต่การประลองกำลังระหว่างพระยาพหลพลพยุหเสนากับพระยาทรงสุรเดชยังดำเนินต่อไป โดยพระยาทรงสุรเดชเสนอให้ 4 ทหารเสือ อันประกอบด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธลาออกจากทุกตำแหน่งทั้งทางทหารและการเมือง โดยให้เหตุผลว่า “ให้ทหารถอนตัวออกมาเสีย แล้วให้ทางฝ่ายพลเรือนดำเนินการต่อไปโดยลำพัง” ใบลาออกของ 4 ทหารเสือได้ส่งถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2476และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2476 โดยมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476[27]
ภายหลังการลาออกพระยาทรงสุรเดชและพระประศาส์นพิทยายุทธได้ออกเดินทางไปอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด แต่ก่อนที่การลาออกจะมีผล ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการรัฐประหารโดยแต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาพระนคร มีหลวงพิบูลสงครามเป็นเลขานุการฝ่ายทหารบกและหลวงศุภชลาศัยเป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ[28] วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476 ได้มีการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยไม่มีชื่อพระยาทรงสุรเดชเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ พระยาพหลฯรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2476 เมื่อทราบข่าวว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมที่ถูกส่งไปต่างประเทศกำลังเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2476 พระยาทรงสุรเดชและพระประศาส์นพิทยายุทธตัดสินใจออกเดินทางไปยุโรปอย่างกระทันหัน ในการนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางพระยาทรงสุรเดชและพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์ได้กลับเข้ารับราชการโดยเข้าประจำกรมยุทธการทหารบกในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2476 และลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2476 โดยให้เหตุผลว่าต้องไปราชการพิเศษโดยไปดูงานการทหาร ณ ทวีปยุโรป[29]
ในระหว่างการเดินทางไปราชการพิเศษในครั้งนี้ ปรากฎว่านายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชได้ยกกำลังทหารฝ่ายหัวเมืองเข้ายึดอำนาจการปกครองในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ส่งโทรเลขเพื่อเรียกพระยาทรงฯกลับโดยพระยาทรงฯทราบข่าวขณะอยู่กลางทะเลหน้าเมืองโคลัมโบ พระยาทรงฯได้ส่งโทรเลขตอบกลับไปว่า “ เรื่องเล็กน้อยให้ทำกันไปเถอะ”[30]
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2477 พระยาทรงฯกลับจากการดูงานการทหาร ณ ทวีปยุโรปโดยเดินทางถึงประเทศไทย ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2477 หลวงพิบูลสงครามได้มีหนังสือเชิญพระยาทรงฯเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก พระยาทรงฯได้สงวนท่าทีในการเข้าร่วมโดยตอบหลวงพิบูลฯไปว่า “ขอตรึกตรองก่อน”[31] ครั้นถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2478 พระยาทรงฯได้ลาออกจากตำแหน่งประจำกรมยุทธการทหารบกเป็นนายทหารนอกราชการ[32] ปลายปี 2478 พระยาทรงฯได้รับการทาบทามจากพระยาพหลฯให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ แต่ก็ได้ตอบปฏิเสธโดยพระยาทรงฯ ให้เหตุผลว่า “ยังไม่สมควรจะเข้าร่วม”[33]
พระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงพิบูลสงครามพยายามดึงพระยาสุรเดชให้มาร่วมงาน โดยได้กำหนดลักษณะของตำแหน่งว่า “เป็นตำแหน่งที่พระยาทรงฯมีความชำนาญและอยู่ห่างไกลจากพระนคร” ซึ่งความชำนาญของพระยาทรงคือการเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ในที่สุดได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดหน่วยย่อยในกระทรวงกลาโหม(ฉบับที่ 2) ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนรบ ขึ้นในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2479 มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณกองพันทหารราบที่ 31 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระยาทรงฯเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรบ [34]
หลังจากที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 และไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 อีก 1 เดือนต่อมา หลวงพิบูลได้จับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไปจำนวน 51 คน และตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีโดยมีนายพันเอกหลวงพรหมโยธีเป็นประธานและกรณีนี้ทำให้พระยาทรงฯถูกสั่งให้ออกเดินทางไปต่างประเทศ[35] โดยพระยาทรงฯถูกปลดออกจากราชการในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2481 พระยาทรงฯจึงขออกเดินทางไปกัมพูชา และเมื่อไปถึงกรุงพนมเปญได้ส่งจดหมายลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 แต่อยู่ที่พนมเปญได้ไม่นานทางการกัมพูชาขอให้พระยาทรงฯออกเดินทางไปกรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม โดยฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นปกครองอินโดจีนอยู่เห็นว่ากัมพูชาอยู่ใกล้ไทยเกินไปและพระยาทรงฯเป็นบุคคลสำคัญที่วางใจในเกมการเมืองมิได้ เพื่อความปลอดภัยควรควบคุมอยู่ในไซง่อน ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2482 พระยาทรงฯจึงออกเดินทางไปไซง่อนตามคำสั่งผู้สำเร็จราชการอินโดจีน[36] พระยาทรงฯลี้ภัยอยู่ที่ไซ่ง่อนเป็นเวลา 4 ปีจึงได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่กรุงพนมเปญ
ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2487 พระยาทรงสุรเดชได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ ทั้งๆที่เป็นผู้ที่มีสุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรง จึงมีเสียงล่ำลือว่าเป็นการวางยาแต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้[37]
หนังสือแนะนำ
นรนิติ เศรษฐบุตร.(2527).บันทึกพระยาทรงสุรเดช, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.
เสทื้อน ศุภโสภณ.(2535).ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, กรุงเทพฯ : บริษัทครีเอทีฟพับลิชชิ่ง.
สำรวจ กาญจนสิทธิ์.(2523).ชีวิตพระยาทรงฯในต่างแดน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บงกช.
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2559.พิมพ์ครั้งที่ 6).
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543).
นรนิติ เศรษฐบุตร.บันทึกพระยาทรงสุรเดช, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2527.
นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555).
บัญชร ชวาลศิลป์,พลเอก,เส้นทางพระยาทรงฯ (12) : ปฐมเหตุของความขัดแย้ง เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/article/519974 เมื่อ 6 กันยายน 2559
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542.
สำรวจ กาญจนสิทธิ์.ชีวิตพระยาทรงฯในต่างแดน , กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บงกช, 2523).
เสทื้อน ศุภโสภณ.ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, กรุงเทพฯ : บริษัทครีเอทีฟพับลิชชิ่ง, 2535).
[1] เสทื้อน ศุภโสภณ.ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : บริษัทครีเอทีฟพับลิชชิ่ง, 2535), หน้า 1-2.
[2] นรนิติ เศรษฐบุตร.บันทึกพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2527).หน้า 2-3.
[3] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 3.
[4] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 3.
[5] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 14.
[6] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 27.
[7] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 29.
[8] เสทื้อน ศุภโสภณ.หน้า 14..
[9] เสทื้อน ศุภโสภณ.หน้า 14..
[10] นรนิติ เศรษฐบุตร. วันการเมือง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 151.
[11] นรนิติ เศรษฐบุตร (2), หน้า 159.
[12] นรนิติ เศรษฐบุตร (2), หน้า 163.
[13] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 166.
[14] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 143.
[15] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 146.
[16] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543),หน้า 197.
[17] บัญชร ชวาลศิลป์,พลเอก,เส้นทางพระยาทรงฯ (12) : ปฐมเหตุของความขัดแย้ง เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/article/519974 เมื่อ 6 กันยายน 2559
[18] บัญชร ชวาลศิลป์,พลเอก,เส้นทางพระยาทรงฯ (12) : ปฐมเหตุของความขัดแย้ง เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/article/519974 เมื่อ 6 กันยายน 2559
[19] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542), หน้า 4.
[20] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 198.
[21] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์,หน้า 282-283.
[22] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 206.
[23] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 218.
[24] นรนิติ เศรษฐบุตร(2), หน้า 144.
[25] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 214.
[26] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 211.
[27] เสทื้อน ศุภโสภณ, หน้า 223.
[28] นรนิติ เศรษฐบุตร (2), หน้า 143.
[29] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 252.
[30] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 295.
[31] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 314.
[32] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 320.
[33] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 323.
[34] เสทื้อน ศุภโสภณ,หน้า 348-351.
[35] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2559.พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 190.
[36] สำรวจ กาญจนสิทธิ์.ชีวิตพระยาทรงฯในต่างแดน.(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บงกช, 2523), หน้า 49.
[37] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 20.