หลวงพรหมโยธี
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลวงพรหมโยธี : เด็กชายปัญญา
หลวงพรหมโยธีนั้นท่านไม่ได้ชื่อปัญญา แต่ “เด็กชายปัญญา” เป็นตัวเอกตัวหนึ่งในหนังสือแบบเรียนเรียกกันสมัยนั้นว่าเป็นแบบเรียนที่เรียกว่า “เบสิค” ตัวเอกในหนังสือมีอยู่สองคน คือ เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายที่เรียกกันว่าชุด “เรณู-ปัญญา” เป็นแบบเรียนที่สอนให้เด็กเรียนรู้ภาษาไทยในรูปแบบใหม่ นัยว่าเอามาจากฝรั่ง และที่คุณหลวงพรหมฯต้องถูกล้อโดยให้ฉายา “เด็กชายปัญญา” ก็เพราะในช่วงเวลานั้นคุณหลวงพรหมฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง ชีวิตทางการเมืองและการทหารของท่านมีอยู่หลายบทบาท เพียงแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านมากว่ากึ่งศตวรรษ คนก็อาจลืมชื่อท่านไปบ้างเท่านั้น ดังนั้นเรามารู้จักนายทหารที่คลุกคลีกับการเมืองของไทยท่านนี้ดูบ้าง แม้ท่านจะไม่ใช่หมายเลขหนึ่งก็ตาม
หลวงพรหมโยธีเป็นคนธนบุรี ชื่อของท่านคือ มังกร ตอนหลังเมื่อไม่ใช้บรรดาศักดิ์ท่านจึงเป็น พลเอกมังกร ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2439 ที่บ้านบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (สมัยนั้น) เป็นบุตรของหมื่นสาธิตพิทักษ์ (เทียน ผลโยธิน ) กับนางอุ่น เขาเล่าว่าท่านกำพร้าแม่มาตั้งแต่อายุยังน้อย สำหรับการศึกษาเบื้องต้นนั้นท่านเริ่มเรียนหนังสือจากวัด โดยไปอาศัยอยู่กับอาซึ่งเป็นพระที่วัดบางประทุน และมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม จากนั้นไปเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเษกจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วจึงวกกลับมาเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนที่จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี 2455 เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยในปี 2458 และเข้ารับราชการทหารได้ยศนายร้อยตรี ปี 2459 อาชีพรับราชการทหารก็ได้รับความเจริญก้าวหน้า ถึงปี 2470 ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และในปีถัดมาก็ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงพรหมโยธี ส่วนชีวิตสมรสของท่านนั้น ภรรยาแรกของท่านคือ คุณหญิงทองเจือ และภรรยาคนต่อมาคือหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี 2475 นั้น นายร้อยเอกหลวงพรหมโยธีก็ได้เข้าร่วมโดยอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการฯสายทหาร ดังจะเห็นได้ว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หลวงพรหมฯได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 ในวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2475 แต่ท่านก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก มาได้รับตำแหน่งการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯครั้งแรกโดยการแต่งตั้ง ในวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2476 แทนพระยาวิชัยราชสุมนตร์ที่ลาออก แต่หลวงพรหมฯก็เป็นสมาชิกสภาฯอยู่ต่อมาประมาณ 2 ปี ก็ได้ลาออกจากสภาฯในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2478 แต่ตำแหน่งทางทหารก็เป็นไปด้วยดี เพราะในเดือนมิถุนายน ปี 2481 ขณะที่มียศเป็นพันเอก ท่านก็ได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และในวันที่ 9 กรกฎาคมปีเดียวกันหลวงพรหมฯ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 อีกครั้งครั้นพันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกสืบแทนพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพรหมโยธีก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงกลาโหม ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2481 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้นก็คือนายกรัฐมนตรี พันเอกหลวงพิบูลสงคราม เชื่อกันว่าท่านเป็นคนที่หลวงพิบูลสงครามไว้วางใจค่อนข้างมาก เพราะอีก 4 เดือนต่อมา ท่านก็ได้รับการปรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จึงนับว่าเป็นผู้มีอำนาจสำคัญในตอนนั้น ดังจะเห็นได้ว่า ตอนที่พระยาทรงสุรเดช หมดอำนาจถูกเพ่งเล็งว่าจะทำการล้มรัฐบาล จะต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอินโดจีนนั้น หลวงพรหมฯท่านนี้เป็นผู้ที่ลงนามตอบอนุญาตให้พระยาทรงฯเดินทางออกไปได้ และต่อมาเมื่อมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีกบฏในเวลานั้น ประธานศาลพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งก็คือหลวงพรหมโยธี ท่านนี้นั่นเองหลวงพรหมโยธี ได้รับตำแหน่งนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2481
ตำแหน่งประจำทางทหารของหลวงพรหมฯเองก็ขยับจากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2482 นับว่าท่านเป็นขุนพลคู่ใจของนายกฯหลวงพิบูลสงครามอย่างเห็นได้ชัด และในภาวะเตรียมรบของบ้านเมือง ในปี 2483 หลวงพรหมโยธีก็ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพด้านบูรพา ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญทางทหารในวันนั้น ครั้นถึงปี 2484 อันเป็นปีที่ไทยได้ทำสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้นปี หลวงพรหมฯ ก็ได้ขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 สิงหาคม ปี 2484 แต่ท่านก็เป็นอยู่ไม่นาน เพราะเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และไทยยอมให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยนั้น เมืองไทยก็เหมือนตกอยู่ในภาวะสงคราม นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลฯจึงกลับมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอีกครั้ง โดยหลวงพรหมฯ ยังช่วยงานเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
หลวงพรหมโยธีเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของหลวงพิบูลฯอยู่ตลอดมา จนรัฐบาลหลวงพิบูลฯเจอมรสุมทางการเมืองในสภาฯ เพราะสภาฯไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดถึง 2 ฉบับ หลวงพิบูลฯจึงจำต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี และหลวงพรหมฯก็ต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปด้วย ไม่เพียงแต่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น หลวงพรหมฯ ยังลาออกจากตำแหน่งนายทหารประจำการมาเป็นนายทหารกองหนุน ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2488 ด้วย
ครั้นมีการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี2490 และจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กลับมามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลวงพรหมโยธี ก็ฟื้นคืนมาดีทั้งตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งทางทหาร หลังจากบีบให้รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ออกไปได้แล้ว จอมพล ป.ก็กลับมาตั้งรัฐบาล และหลวงพรหมฯก็ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ ร่วมรัฐบาลในวันที่ 11 เมษายน ปี 2491 นับเป็นการฟื้นทางการเมืองร่วมกับนายโดยแท้