หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

หลวงเดชาติวงศ์ฯ : รัฐมนตรีผู้ตายในหน้าที่

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ถึงรัฐมนตรีที่เสียชีวิตในขณะที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ท่านผู้นี้
คือ หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ประสบอุบัติเหตุขณะเดินทางไปตรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะจากเมืองกาญจนบุรีออกไปทางชายแดนพม่า เส้นทางรถไฟสายนี้ถูกสร้างขึ้น
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่น แต่ทางรถไฟสายนี้หลังสงครามแล้วอยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น  โรม  บุนนาคได้บันทึกเรื่องเล่าถึงอุบัติเหตุครั้งนั้น จึงขออนุญาตยกมาให้ดู

“...ในเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เมื่อมาถึงหลัก ก.ม. 262 ระหว่างสถานีปรังกาสีกับนิเถะ ซึ่งเป็นสะพานข้ามห้วยคอยทา ไม้หมอนรถไฟซึ่งไหม้เกรียมอยู่แล้วได้หักลง เป็นผลให้รางทรุด ขบวนรถตรวจราชการ
ของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมตกลงไปลึก 8 เมตรทั้งขบวน นายจรุง จิรานนท์ แพทย์ของกรมรถไฟตายคาที่ ม.ล.กรี และนายปุ่น สกุนตนาค อธิบดีกรมรถไฟ รวมทั้งคนขับรถบาดเจ็บสาหัส คนบาดเจ็บน้อยได้เดินทางกลับมาที่สถานีปรังกาสีเพื่อตามคนไปช่วย ม.ล.กรี ทนพิษบาดแผลอยู่ได้ 1 ช.ม. ก็เสียชีวิต และกว่าจะนำศพมาถึงสถานีธนบุรีก็เป็นเวลา 1 0.00 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ...”

หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในชื่อเดิมว่า ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ที่บ้านถนนตรีเพชร อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปี 2445 บิดา ได้แก่ ม.ร.ว.เล็ก เดชาติวงศ์ มารดา
คือ ม.ล.ปุ้ย การศึกษาของ ม.ล.กรี มีว่าท่านศึกษาจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ อันเป็นโรงเรียนหลวงที่เด่นดัง
ในสมัยนั้น และท่านเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง ต่อมาจึงได้ทุนออกไปศึกษาที่ต่างประเทศจากกรมรถไฟหลวง
โดยท่านได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษในปี 2463 ขณะที่ท่านมีอายุได้ 18 ปี สถานศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ม.ล.กรี เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
และเดินทางกลับมารับราชการทำงานใช้ทุนที่กรมรถไฟหลวงในปี 2469 เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง
การปกครองแผ่นดินในปี 2475 ปรากฏมีชื่อ ม.ล.กรี ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์แล้วท่านได้เข้าร่วมงานเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ด้วยโดยเป็นผู้ก่อการฯ สายพลเรือน และท่านก็คงเป็นบุคคลสำคัญในสายพลเรือน ดังนั้น ตอนที่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน 70 คน หลวงเดชาติวงศ์ฯ จึงเป็นหนึ่งในจำนวน 70 คนที่ได้รับการแต่งตั้งด้วย สำหรับชีวิตครอบครัวท่านได้สมรส
กับเจ้าหวลกลิ่น ธิดาของพระยาราชดำรงเดช (ผล ศรุตานนท์) ผู้มีเชื้อสายของเจ้าเมืองแพร่

ชีวิตการทำงานของหลวงเดชาติวงศ์ฯ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ มีเวลาค่อนข้างสั้นเพียง 15 ปี
เท่านั้นเอง โดยหลังจากทำงานที่กรมรถไฟหลวงมาได้ 8 ปี ท่านก็ย้ายงานจากกรมรถไฟหลวงมาเป็น
นายช่างอยู่ที่กรมโยธาเทศบาล ทำงานอยู่ที่กรมใหม่ ท่านก็มีความก้าวหน้าในงานด้านวิศวกรรมของท่าน
ได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากอง และเป็นนายช่างใหญ่ จนถึงปี 2484 สมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ม.ล กรี
ก็ย้ายกรมใหม่มาอยู่กรมทางหลวง และได้เป็นอธิบดีกรมทางหลวง อีกสองปีต่อมาในปี 2486 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยได้เข้าร่วมด้วยนั้น ท่านได้ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนี้ ม.ล.กรี ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง ต่อจากนั้นก็ได้ขยับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนั้นจึงถือว่าท่านเป็นผู้
ที่หลวงพิบูลสงครามไว้วางใจ

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่าท่านก็ได้เข้าร่วมงานเสรีไทยด้วย ซึ่งเป็นงานอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม และอยู่ภายใต้การนำของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ เวลาที่ท่าน
เข้าร่วมงานเสรีไทยนั้น จึงน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2487 เป็นต้นมา เพราะ ม.ล.กรี ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี 2487 โดยอ้างว่าต้องไป “ดำเนินการบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย” แสดงว่าสมัยนั้นรัฐมนตรีจะไปทำงานบริษัท แม้จะเป็นบริษัทของรัฐบาลก็ต้องลาออก
แต่หลังจาก ม.ล.กรี ลาออกจากรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามได้ประมาณ 5 เดือน นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามเองก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลของท่านแพ้เสียงในสภาซ้ำกันถึงสองครั้ง
ในการเสนอพระราชกำหนดต่อสภาผู้แทนราษฎร

เสร็จสิ้นสงครามแล้ว หลวงเดชาติวงศ์ฯ ก็ไม่ได้มาร่วมรัฐบาลใหม่ที่ตามมาอีกสามรัฐบาล จนถึงรัฐบาลชุดที่สี่ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ม.ล.กรี จึงได้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 25 มีนาคม ปี 2489 ครั้นนายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ล.กรี ก็ยังได้เข้าร่วมรัฐบาลต่อมาด้วย จึงแสดงว่าท่านเอง
ก็เป็นผู้ที่ทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไว้วางใจ และชอบใจในฝีมือการทำงานของท่านด้วย เข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ท่านได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ครั้งสุดท้ายของ ม.ล.กรี  เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2490 รถไฟที่ท่านนั่งไปตรวจราชการที่เส้นทางรถไฟสายมรณะในจังหวัดกาญจนบุรี เกิดรางรถไฟพัง รถตกเหว จนท่านเสียชีวิตดังที่กล่าวมาแล้ว

นามของหลวงเดชชาติวงศ์วราวัฒน์นี้ ต่อมาทางราชการได้เสนอให้ตั้งชื่อสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมถนนพหลโยธินเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครสวรรค์ สะพานเดชาติวงศ์นี้เปิดให้ใช้งานครั้งแรก
ในปี 2493 ในสมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งท่านกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้ง
และผู้ที่ไปเปิดสะพานนี้ก็คือนายปฐม โพธิแก้ว  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในตอนนั้น