เพื่อไทยการละคร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          “เพื่อไทยการละคร” เป็นแฮชแท็กที่กลายเป็นกระแสซึ่งปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง 8 พรรคการเมือง ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมใหม่ 11 พรรค ก่อนที่ในเวลาต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

 

การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 2566 โดยพรรคก้าวไกล

          ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง โดยได้จำนวน สส. ทั้งหมด 151 คน และได้คะแนนบัญชีรายชื่อถึง 14,438,851 เสียง[1] ก่อนที่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วย 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งหมด 312 คน ได้แถลงการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย[2] อย่างไรก็ตาม ภายใต้บทเฉพาะกาล 5 ปี ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้การให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จึงทำให้แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจึงต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (อย่างน้อย 376 เสียง) จึงจะถือว่าได้รับความเห็นชอบ ก่อนหน้าที่จะถึงวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลมั่นใจว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. อีก 64 เสียงอย่างแน่นอน[3]

          ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 มีวาระการลงมติให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลการลงมติปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ได้รับเสียงเห็นชอบทั้งหมด 324 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จึงทำให้นายพิธาไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4] ต่อมาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีการเสนอชื่อนายพิธาเพื่อลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 แต่ที่ประชุมมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่าย 8 พรรคร่วม 312 เสียงที่เห็นควรว่าลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ได้ กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่าย 188 เสียงพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 กระทำไม่ได้ เนื่องจากเสี่ยงผิดข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ในท้ายที่สุด ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วย 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เห็นว่าใช้มติตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 41 ได้ ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2[5]

          ภายหลังจากที่ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเพื่อลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ได้ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้แถลงขอโทษประชาชนที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเปิดโอกาสให้พรรคอันดับสอง คือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่ได้เคยลงนามใน MOU ไว้ และในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล[6]

 

การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

          หลังจากได้รับการส่งมอบไม้ต่อในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคเพื่อไทยได้เดินหน้าเชิญพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติร่วมหารือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2566[7] และในวันต่อมาได้เชิญพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐร่วมหารือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล[8] ก่อนที่จะมีการนัดหมายหารือกับ 8 พรรคร่วมเดิม ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 แต่ก็ต้องล่มลงโดยไม่มีการแจ้งเหตุผล[9]

          ก่อนที่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ “เริ่มต้นใหม่ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ'”' โดยมีใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงการขอถอนตัวจาก MOU 8 พรรค และไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

          “เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก สว. และ สส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี

          ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทยได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไข มาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน"[10]

 

#เพื่อไทยการละคร

          แฮชแท็ก #เพื่อไทยการละคร ได้กลายเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ภายหลังการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ขอยกเลิก MOU ที่ลงนามโดย 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยเรื่องนโยบายการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นมีรายงานว่าพรรคเพื่อไทยได้ขอให้พรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องการแก้ มาตรา 112 เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภามีความกังวลใจ และไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดทของพรรคเพื่อไทยได้ และจะไม่ยอมรับพรรคก้าวไกลหากจะร่วมรัฐบาลด้วย จึงทำให้พรรคเพื่อไทยมีความจำเป็นที่ไม่สามารถให้พรรคก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยพรรคเพื่อไทยจะไปจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่เอง จึงทำให้เกิดแฮชแท็ก #เพื่อไทยการละคร ปรากฏขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง[11] และนำภาพและคลิปวิดีโอย้อนเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 เช่น ภาพของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว พร้อมข้อความว่า "พรรคเพื่อไทยจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ให้ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้" หรือภาพของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร พร้อมข้อความว่า "เราไม่หวังส้มหล่น เราจะช่วยก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ" หรือคลิปวิดีโอการปราศรัยของนางสาวแพทองธารที่กล่าวว่า "หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศไทยเปลี่ยนทันที ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป."[12] นอกจากนี้ ก่อนหน้าการเลือกตั้ง นางสาวแพทองธารเคยแสดงจุดยืนว่าจะไม่จับมือกับคนทำรัฐประหาร “คุณเศรษฐา (ทวีสิน) ก็เคยพูดไปว่ารังเกียจรัฐประหาร ก็อยากให้ทุกคนดูหน้าดิฉันไว้ว่าก็คงไม่ได้ชอบ การรัฐประหารที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ล่าสุดที่ทุกคนจำความกันได้ ดิฉันก็คงไม่ได้ชอบ เพราะฉะนั้นการจับมือเนี่ย การที่ดิฉันไม่ตอบออกมาตรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพราะดิฉันให้เกียรติประชาชน ให้เกียรติประเทศ เพราะการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น แต่ถามว่าคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คนที่ทำรัฐประหารมา ดิฉันจะอยากจับมือด้วยไหมอันนี้ควรจะเป็นคำตอบที่ประชาชนก็น่าจะทราบดีอยู่แล้ว แล้วก็แน่นอนผลกระทบที่ได้รับนั้นดิฉันก็ต้องแยกเรื่อง เพราะฉะนั้นการตอบหรืออะไรออกไปอย่างใช้อารมณ์ มันก็ยังไม่ใช่แนวที่ดิฉันจะสามารถสื่อให้มีเหตุผลได้ แต่ถามว่า ดิฉันจะอยากจับไหมกับคนที่ทำรัฐประหาร ทั้ง 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นมันน่าจะชัดเจนอยู่แล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ"[13]

          ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ในการแถลงข่าวการจัดตั้งรัฐบาล นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่อประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น "เพื่อไทยการละคร" ว่า "ขอบคุณเสียงของพี่น้องประชาชน เราเป็นผู้แทนประชาชน เป็นองค์กรทางการเมืองที่อาสามารับใช้พี่น้องประชาชน ทุกคำวิพากษ์วิจารณ์เรารับฟัง ส่วนจะถูกใจหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิธีคิด และฐานจิตของแต่ละคน เราก็ยินดีที่จะรับมา อะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะมาปรับใช้ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็รับฟังมาแล้วผ่านไป เราปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นไม่ได้"  ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวเสริมต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าวว่า "เราปฏิเสธความคิดของคนที่เห็นแตกต่างกันไม่ได้ สิ่งที่วันนี้พรรคเพื่อไทยยืนยัน และจะได้รับการมองให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เราตั้งใจที่จะสลายความขัดแย้งจริง ๆ ตนคิดว่า เรามีหน้าที่ที่จะทำงาน และพิสูจน์ความจริงใจ ในการที่จะบริหารประเทศ และความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยจะเป็นบทสรุปในอนาคต เราได้กล่าวไปแล้วว่า หากเราคิดไม่ดีกับประเทศ หรือเราตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เราก็พร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่เราตั้งใจทำ"[14]

          ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยพร้อมแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย และพรรคใหม่ ซึ่งมีเสียง สส. รวมทั้งหมด 314 เสียง ได้แถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภาเพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่านายเศรษฐาจะได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เพียงพอและได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี[15] ก่อนที่ในวันต่อมา 22 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด 705 คน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย[16]

          “เพื่อไทยการละคร” กลายเป็นคำเรียกขานการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 จากการที่พรรคเพื่อไทยขอยุติการเป็นพันธมิตรกับพรรคก้าวไกล และยกเลิก MOU 8 พรรคร่วมเดิม ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกับ 11 พรรค ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยที่พรรคเพื่อไทยเคยมีวิวาทะจากยุทธการ “ไล่หนูตีงูเห่า” แต่ในท้ายที่สุดก็เป็นแต่เพียง “เทคนิคการหาเสียง” เมื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และพรรคที่สนับสนุนผู้นำคณะรัฐประหาร ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะไม่ร่วมจับมือกับคนทำรัฐประหาร การกลับลำของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จึงถูกกระแสสังคมส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเล่นละครจากการที่แต่เดิมสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล ก่อนที่ต่อมาจะยกเลิก MOU และจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคร่วมใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีพรรคก้าวไกลในรัฐบาลใหม่ในที่สุด

 

อ้างอิง

[1] "ผลเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการ สรุปชัดก้าวไกลได้ 151 ที่นั่ง ปชป.ไม่หาย 25 เท่าเดิม." ไทยรัฐออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2696846>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[2] "เลือกตั้ง 2566: วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง "รัฐบาลก้าวไกล" ตัดมาตรา 112." Thai PBS (22 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/328072>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[3] "“ก้าวไกล” ยันได้เสียง ส.ว.ครบแล้ว พร้อมโหวตหนุน “พิธา” นั่งนายกฯ." PPTV Online (7 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/200521>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[4] "เกาะติดรัฐสภา 13 ก.ค. วันโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ." BBC News ไทย (13 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/live/thailand-66177028>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[5] "โหวตนายกฯ รอบ 2 "พิธา" ล่ม มติสภา 395 ต่อ 312 เป็นญัตติต้องห้าม ตกไป." ไทยรัฐออนไลน์ (19 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2710727>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[6] "‘ก้าวไกล’ เปิดทาง ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประกาศหนุน ‘แคนดิเดตเพื่อไทย’ โหวตนายกฯ 27 ก.ค." Today (21 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/votepm-chaithawat>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[7] "สรุปจุดยืน "ภท.-ชพก.-รทสช" ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย." ฐานเศรษฐกิจ (22 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/thailand-elections/insight-election/571449>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[8] "เพื่อไทย จ่อปิดดีลตั้งรัฐบาล 300 เสียง 6 พรรค ไร้เงาก้าวไกล... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่." ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (23 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-1354286>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[9] "ด่วน! "เพื่อไทย" ยกเลิกประชุม 8 พรรคร่วม วันนี้." PPTV Online (25 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/201794>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[10] "'เพื่อไทย' ออกแถลงการณ์เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้าน." ประชาไท (2 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2023/08/105301>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[11] "ปูดแฮชแท็ก #เพื่อไทยการละคร หลังสลัด ก้าวไกล ร่วมรัฐบาล โซเชียลวิจารณ์เดือด." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (2 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/1081540>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[12] "โลกออนไลน์เดือด ผุด #เพื่อไทยการละคร ซัดแรง! เพื่อนทรยศ." Ch7HD (3 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://news.ch7.com/detail/661761>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[13] "เลือกตั้ง 66 ‘แพทองธาร’ ลั่นให้ดูหน้า ไม่ชอบรัฐประหาร แจงเหตุที่ไม่ตอบตรงเรื่องจับมือ" Today (18 เมษายน 2566). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/election-ink/>. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567.

[14] "ชลน่าน น้อมรับถูกวิจารณ์ เพื่อไทยการละคร บอกเป็นประโยชน์ก็รับ ไม่มีประโยชน์ก็ผ่านไป." มติชนออนไลน์ (10 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_4122003>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[15] "ดีลจบ 11 พรรคตั้ง "รัฐบาลเพื่อไทย" 314 เสียง "เพื่อไทย" คุม 8 กระทรวง." Thai PBS (21 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/330841>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[16] "ผลโหวตนายกฯ รอบ 3 : “เศรษฐา” ฉลุยนั่งนายกฯ คนที่ 30." Thai PBS (22 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/330890>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.