พรรครวมไทยสร้างชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) (United Thai Nation Party) เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งเป็น ลำดับที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564 โดย นายเสกสกล อัตถาวงศ์ โดยคำว่า "รวมไทยสร้างชาติ" เป็นคำพูดติดปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและมักจะใช้ในสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของภาครัฐ[1] ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ บริหารพรรคชุดใหม่ เลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคชุดใหม่ และเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค โดยมีอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทยเดิมเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคด้วย หลังจากนั้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 การประชุมใหญ่วิสามัญ พรรครวมไทยสร้างชาติได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยผู้ได้รับการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค โดยนายพีระพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทั้งเข้าไปเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังการลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายพีระพันธุ์เข้าร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

          นอกจากนี้ยังมีสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ได้แก่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพพรรคประชาธิปัตย์ และบุตรบุญธรรมของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค โดยมี นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นเหรัญญิก และนายเกรียงยศ สุดลาภา เป็นนายทะเบียน รวมทั้งมีกรรมการบริหารอื่น ประกอบด้วย นายวิทยา แก้วภราดัย รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤิทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง นายชื่นชอบ คงอุดม นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรองให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้แกนนำพรรคปฏิเสธมาโดยตลอด ยืนยันว่าตั้งพรรคมาเป็นสถาบันการเมือง โดยนายพีระพันธุ์ประกาศวิสัยทัศน์ต่อหน้าสมาชิกพรรคในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ว่า “เราจะไม่ทำให้ประชาชนและประเทศไทยผิดหวังในพรรครวมไทยสร้างชาติ” และ “จะสร้างรวมไทยสร้างชาติให้เป็นพรรคหลักของประเทศ นำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความมั่นใจ มั่นคงและจะชนะให้ได้มากที่สุด”[2]

 

ภาพ : คณะกรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ[3]

United Thai Nation Party (1).jpg
United Thai Nation Party (1).jpg

 

          พรรครวมไทยสร้างชาติ มีเจตนารมย์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคโดยมุ่งหวังที่จะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนและเป็นสถาบันการเมืองที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีการกำหนดอุดมการณ์พรรคในการยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างประเทศไปสู่ความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในทุก ๆ ด้าน ทั้งยังให้ความสำคัญกับการขจัดการทุจริตคอรัปชั่น การประพฤติมิชอบ และการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างสังคมที่มีความถูกต้องเป็นธรรม และเป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลและปฏิบัติงานการเมืองอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม สุจริตในทุกขั้นตอน

 

ภาพ : ตราสัญลักษณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

United Thai Nation Party (2).png
United Thai Nation Party (2).png

          ในส่วนของตราสัญลักษณ์ของพรรค พรรครวมไทยสร้างชาติใช้สัญลักษณ์แถบสีธงชาติไทย แดง-ขาว-น้ำเงิน ที่แผ่เป็นฐานมาจากทั้งสองด้าน แล้วพุ่งขึ้นบรรจบกันเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมปลายแหลม หมายถึง การหลอมรวมใจของชาวไทยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกภูมิภาคที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว ถ่ายทอดจุดยืนของพรรคในการร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นสมัครสมานที่จะพาปวงชนชาวไทย ก้าวข้ามอุปสรรคความขัดแย้ง พร้อมทั้งนำประเทศชาติของเรามุ่งสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน การใช้ยอดแหลมของรูปทรงสามเหลี่ยมที่ชี้พุ่งขึ้น หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองไม่มีที่สิ้นสุด และตัวหนังสือชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เป็นการใช้ร่วมกัน ทั้งตัวหนังสือแบบมีหัวและแบบไม่มีหัว สะท้อนแนวคิดการผสมผสานคุณค่าแบบไทยที่สอดคล้องกับวิถีโลกสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน อย่างไรก็ดีการใช้สีในตราสัญลักษณ์ ได้แก่ สีแดง หมายถึง ประเทศชาติบ้านเมืองของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ส่วนสีขาว หมายถึง ศาสนาทุกศาสนาที่ปวงชนชาวไทยต่างเหล่านับถือและยึดมั่น และการใช้สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นหลักชัยที่ค้ำจุนชาติบ้านเมืองให้มีความสงบสุข[4]

 

พรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

          ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ย้ายเข้ามาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐ เช่น นายอนุชา นาคาศัย นายสุชาติ ชมกลิ่น และนายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายชุมพล จุลใส และนายอนุชา บูรพชัยศรี ส่วนอดีตสมาชิกจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญกุล อดีตสมาชิกจากพรรครวมพลัง ได้แก่ นายสุพล จุลใส และอดีตสมาชิกจากพรรคพลังท้องถิ่นไทย นายจารึก ศรีอ่อน และอดีตสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ได้แก่ นายวินท์ สุธีรชัย และนายทศพร ทองศิริ รวมทั้งอดีตสมาชิกจากพรรคประชาชาติ ได้แก่ นายอนุมัติ ซูสารอ เป็นต้น[5]

          ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ส่งผู้สมัครจำนวน ครบทั้ง 500 คน โดยผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน ซึ่งเป็นผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 207 คน คิดเป็น 51.75% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 193 คน คิดเป็น 48.25% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 99 คน คิดเป็น 51.3% โดยไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดิมเนื่องจากพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2566 นี้เป็นครั้งแรก ในขณะที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด จำนวน 52 คน และที่มาจากการย้ายพรรคอื่น จำนวน 48 คน ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด 14 คน รองลงมาก็คือพรรคพลังประชารัฐ 8 คน ตามมาด้วยพรรคพลังท้องถิ่นไท เพื่อแผ่นดิน และภูมิใจไทย พรรคละ 4 คน[6] ซึ่งพรรคได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

          ด้านการการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติใช้แคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” พร้อมกับการประกาศ 6 ยุทธศาสตร์เร่งด่วน ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนำเสนอนโยบายที่มีความโดดเด่น ได้แก่ การเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาท ต่อเดือน เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย การปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันไดเป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน โครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ภาค 2 โครงการแรงงานและข้าราชการยามเดือดร้อน เบิกส่วนประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้ ตลอดจนการแก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ ได้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิทำกิน เป็นต้น[7]

          พรรครวมไทยสร้างชาติได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 23 คน โดยได้รับคะแนนรวมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 3,607,575 คะแนน และได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 4,766,408 คะแนน คิดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 13 ที่นั่ง รวมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคได้รับทั้งหมด จำนวน 36 คน

 

ตาราง : แสดงรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตพรรครวมไทยสร้างชาติและคะแนนที่ได้รับ[8]

สุราษฎร์ธานี

นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์

เขต 1

27,978 คะแนน

นายพิพิธ รัตนรักษ์

เขต 2

24,625 คะแนน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ

เขต 3

46,456 คะแนน

นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน

เขต 4

26,043 คะแนน

นายปรเมษฐ์ จินา

เขต 5

25,520 คะแนน

นายธานินท์ นวลวัฒน์

เขต 7

30,359 คะแนน

ราชบุรี

นางสาวกุลวลี นพอมรบดี

เขต 1

52,941 คะแนน

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์

เขต 4

54,815 คะแนน

ชลบุรี

นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง

เขต 4

36,128 คะแนน

ตรัง

นายถนอมพงศ์ หลีกภัย

เขต 1

25,965 คะแนน

เพชรบุรี

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์

เขต 1

40,235 คะแนน

พัทลุง

นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร

เขต 2

41,201 คะแนน

พิษณุโลก

นายพงษ์มนู ทองหนัก

เขต 3

22,765 คะแนน

นครศรีธรรมราช

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

เขต 1

44,233 คะแนน

นราธิวาส

นายวัชระ ยาวอหะซัน

เขต 1

29,006 คะแนน

ชุมพร

นายวิชัย สุดสวาสดิ์

เขต 1

36,222 คะแนน

นายสันต์ แซ่ตั้ง

เขต 2

32,501 คะแนน

นายสุพล จุลใส

เขต 3

41,231 คะแนน

สงขลา

นายศาสตรา ศรีปาน

เขต 2

20,553 คะแนน

นครสวรรค์

นายสัญญา นิลสุพรรณ

เขต 3

32,100 คะแนน

นครปฐม

พันโทสินธพ แก้วพิจิตร

เขต 2

33,770 คะแนน

ชัยนาท

นายอนุชา นาคาศัย

เขต 1

43,935 คะแนน

 

ภาพ : สื่อประชาสัมพันธ์การหาเสียงและการประกาศผลการเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ [9]

United Thai Nation Party (3).png
United Thai Nation Party (3).png

 

United Thai Nation Party (4).png
United Thai Nation Party (4).png

 

          ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเป็นว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่อไป ส่งผลให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 14 ของพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นเป็นว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน[10] รวมทั้งการแสดงจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติในการไม่ลงมติสนับสนุนให้ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลในการลงรับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ผลักดันโดยพรรคก้าวไกล[11]

 

อ้างอิง

[1] “พรรครวมไทยสร้างชาติ", สืบค้นจาก https:// thestandard.co/election2566-party/พรรครวมไทยสร้างชาติ/ (10 มิถุนายน 2566).

[2] “รวมไทยสร้างชาติตั้งเป้ากวาด ส.ส. ใต้ยกภาค “หมดเวลาวัฒนธรรมเสาไฟฟ้า”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/ c3gw4n2ern0o (10 มิถุนายน 2566).

[3] “รวมไทยสร้างชาติยุคใหม่ “พีระพันธุ์” นั่งหัวหน้าพรรค ชูนโยบายแก้กฎหมายล้าสมัย สร้างสังคมเท่าเทียม”, สืบค้นจาก https://united thaination.or.th/2022/08/3805/(10 มิถุนายน 2566).

[4] “ตราสัญลักษณ์พรรค”, สืบค้นจาก https:// unitedthaination.or.th/เกี่ยวกับเรา/(10 มิถุนายน 2566).

[5] “อัพเดต ส.ส.ย้ายพรรคเข้ารวมไทยสร้างชาติ 47 คน บ้านใหญ่-นายทุนเพียบ”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/ news-1217816 1 มีนาคม 2566(10 มิถุนายน 2566).

[6] “ผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ 500 คน : ย้ายมาจากพรรคอื่นเกินครึ่ง รวมแล้วกว่า 30 พรรค”, สืบค้นจาก https://rocketmedia lab.co/election-66-11/ 26 เมษายน(10 มิถุนายน 2566).

[7] “พรรครวมไทยสร้างชาติ”, สืบค้นจาก  https://thestandard.co/election2566-party/พรรครวมไทยสร้างชาติ/(10 มิถุนายน 2566).

[8] “รายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี พ.ศ.2566 อย่างเป็นทางการ”, สืบค้นจาก https://official.ectreport.com/by-party(10 มิถุนายน 2566).

[10] “พีระพันธุ์ ลาออก ส.ส.รวมไทยสร้างชาติ ขอทำหน้าที่เลขาธิการนายกฯ”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-1338486?fbclid=IwAR0tPyBC8Q9ohEyvQLqqgMXYO9msDAc4AlZzwps9sYo6VRd7_WMaI3A2Kh8 (30 มิถุนายน 2566).

[11] “รวมไทยสร้างชาติ ไม่โหวตประธานให้ก้าวไกล อัด แก้ ม.112 คนรักสถาบันไม่ยอมแน่”, สืบค้นจาก  https://www.thairath.co.th/ news/politic/2706176 (1 กรกฎาคม 2566).