พรรคไทยสร้างไทย
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

พรรคไทยสร้างไทย (Thai Sang Thai Party : TST) #พรรคไทยสร้างไทย เป็นพรรคการเมืองที่พัฒนามาจากกลุ่มการเมืองที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วน เช่น โภคิน พลกุล และวัฒนา เมืองสุข ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมจัดตั้ง "กลุ่มสร้างไทย" ก่อนที่ในเวลาต่อมาได้รวมตัวกันในการสร้างพรรคการเมืองขึ้นใหม่ที่คุณหญิงสุดารัตน์ วางแผนให้เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ในทางการเมืองของตนเองก่อนส่งมอบให้คนรุ่นต่อไปขึ้นมาทำงานแทน[1]
ชื่อ “พรรคไทยสร้างไทย” หมายความถึง การสร้างความรักความสามัคคี ความเป็นพี่น้อง และการมีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุด ส่วนสัญลักษณ์ของพรรคเป็นตัวอักษรภาษาไทย “ส” ซึ่งประกอบด้วย สีแดง สีกรมท่า และสีน้ำเงิน ประกอบเป็นตัวอักษรหมายความว่าการสร้างพลังและปลดปล่อยศักยภาพคนไทยให้มาร่วมกันสร้างประเทศไทยในทุกมิติ ตามอุดมการณ์ เข็มมุ่งทิศทาง ยุทธศาสตร์ และนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย ส่วนสีแดง คือ การสร้างสังคมปรองดรองสมานฉันท์ประดุจคนไทยทุกคนมีเลือดสีเดียวกัน สีกรมท่า คือ การสร้างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เป็นธรรมเหมือนสีของทะเลที่สดใสซึ่งเชื่อมผืนแผ่นดินต่าง ๆ ให้เชื่อมต่อกัน และสีน้ำเงิน คือ การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง มีคุณภาพเน้นการรรับฟังและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นการรวมกันเพื่อความสมานฉันท์เป็นพี่เป็นน้อง[2]
พรรคไทยสร้างไทย จัดตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค และมี น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย และอดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เป็นเลขาธิการพรรคในช่วงแรก และเปลี่ยนเป็น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ มาเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 พรรคไทยสร้างไทย มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 65,331 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[3] นอกจากนี้ยังมีสาขาพรรค จำนวน 6 แห่ง และมีตัวแทนพรรค จำนวน 73 คน[4]
ภาพ : แสดงความเคลื่อนไหวของพรรคไทยสร้างไทยในวาระทางสังคมต่าง ๆ[5]

พรรคไทยสร้างไทยในเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
พรรคไทยสร้างไทยได้สนับสนุนให้ น.ต.ศิธา ทิวารี ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามของพรรค ซึ่งได้หมายเลข 11 ร่วมกับผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต โดยมี นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ภายใต้นโยบายเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทางรอดประเทศ หลุดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้งที่ยาวนานกว่า 15 ปี พร้อมประกาศถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในการดูแลปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ชาวกรุงเทพฯ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยคำขวัญในการหาเสียง “หายจน หมดหนี้ มีรายได้อย่างยั่งยืน” ภายใต้การนำเสนอจุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยในการเลือกตั้งในสนามกรุงเทพมหานครว่า พรรคสนับสนุนคนตัวเล็ก ซึ่งคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ หากคนตัวเล็กอยู่ได้ ประเทศและกรุงเทพฯ จึงจะอยู่ได้[6] ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครถือเป็นสนามการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการก่อตั้งพรรค โดยผลการเลือกตั้ง น.ต.ศิธา ทิวารี ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 7 ได้รับ 73,826 คะแนน ส่วนสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคไทยสร้างไทยได้ 2 ที่นั่ง โดยมีคะแนนรวมที่ได้รับจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 241,975 คะแนน[7]
ภาพ : การเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครของพรรคไทยสร้างไทยในปี พ.ศ. 2565

พรรคไทยสร้างไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคไทยสร้างไทยมีผู้สมัคร จำนวนทั้งสิ้น 423 คน โดยแบ่งเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อ จำนวน 97 คน ซึ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 66 คน และมาจากการย้ายพรรค 31 คน โดยมาจากพรรคเพื่อไทยในสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นจำนวน 12 คน และส่งผู้สมัครในระบบแบ่งเขต จำนวน 326 คน โดยเป็นผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 132 คน คิดเป็นร้อยละ 40.49 ซึ่งมาจากพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลมากที่สุด จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 14 คน คิดเป็นร้อยละ 10.61 และพรรคเพื่อไทย 12 คน คิดเป็นร้อยละ 9.09 ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ได้แก่ การุณ โหสกุล, ชวลิต วิชยสุทธิ์ และ ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ในขณะที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 194 คน คิดเป็นร้อยละ 59.51 ซึ่งมาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด จำนวน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 36.6 รองลงมาประกอบอาชีพส่วนตัว จำนวน 47 คน คิดเป็นร้อยละ 24.23 และข้าราชการประจำ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 15.98
ภาพ : แสดงข้อมูลผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของพรรคไทยสร้างไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566[8]

ทั้งนี้พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี นักธุรกิจ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ น.ต.ศิธา ทิวารี[9] ภายใต้จุดยืนของพรรคที่จะไม่รับใช้การสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อนำพาประเทศออกจากการแย่งอำนาจการเมือง 2 ขั้ว และความเสี่ยงสูงที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามการเมือง” ครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม โดยพรรคไทยสร้างไทยขอเป็นทางรอดประเทศเพื่อนำชัยชนะมาสู่ประชาชน ภายใต้จุดยืน คือ ประชาธิปไตยเพื่อประชาชนและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มุ่งดูแลคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดจนแก่และมีความมั่นคง ไม่ยอมส่งต่อความยากจนและภาระหนี้สินให้คนรุ่นต่อไป เพื่อสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุด[10]
ภาพ : รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี[11]

ทั้งนี้ผลการเลือกตั้ง[12] ปรากฏว่าพรรคไทยสร้างไทยได้รับคะแนนบัญชีรายชื่อรวม 338,042 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.86 ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 1 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์[13] ในขณะที่คะแนนแบ่งเขตรวม 870,538 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 2.22 โดยได้รับการเลือกตั้งใน 5 เขต ได้แก่
1. อุบลราชธานี เขตเลือกตั้งที่ 9 นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ได้ 31,311 คะแนน (ร้อยละ 36.17)
2. ร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ 7 นายชัชวาล แพทยาไทย ได้ 42,484 คะแนน (ร้อยละ 46.04)
3. อุดรธานี เขตเลือกตั้งที่ 3 นายหรั่ง ธุระพล ได้ 36,250 คะแนน (ร้อยละ 43.69)
4. อุดรธานี เขตเลือกตั้งที่ 6 นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ได้ 27,751 คะแนน (ร้อยละ 32.80)
5. ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 1 นางสุภาพร สลับศรี ได้ 53,130 คะแนน (ร้อยละ 48.09)
อย่างไรก็ดีในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 พรรคไทยสร้างไทยได้ร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ร่วมกับ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ พรรคไทยสร้างไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มพลังและปลดปล่อยให้คนไทยสามารถทำมาหากินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยไม่มีนโยบายหรือแนวคิดที่จะยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ[14]
ภาพ : การแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนระหว่าง 8 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม[15]

อย่างไรก็ดี หลังจากการรายงานตัวและรับบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อรัฐสภาแล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยได้แสดงเจตจำนงจะลาออกจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภายหลัง และไม่ประสงค์รับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล[16] โดยประกาศเจตนารมณ์ขอเป็น “เสาเข็ม” ลงหลักปักฐานตั้งพรรคให้สำเร็จและเป็น “สะพาน” เชื่อมโยงคนทุกวัยเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ทำให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ทั้งนี้บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปของพรรคไทยสร้างไทยที่จะขึ้นแทนคุณหญิงสุดารัตน์คือ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคซึ่งเป็นบัญชีรายชื่ออันดับที่สอง[17]
อ้างอิง
[1] “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในวัย 60 ปี กับภารกิจสร้าง “ไทยสร้างไทย””, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-56950873 (12 มิถุนายน 2566).
[2] “ที่มาของชื่อพรรคไทยสร้างไทย”, สืบค้นจาก https://thaisangthai.org/about-us/ (12 มิถุนายน 2566).
[3] “พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/129 (12 มิถุนายน 2566).
[4] “ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566”, สืบค้นจาก https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=21544 (12 มิถุนายน 2566).
[5] “ร่วมสร้างไทย”, สืบค้นจาก https://thaisangthai.org/take-action/ (12 มิถุนายน 2566).
[6] “คุณหญิงสุดารัตน์ ปล่อยคาราวานรถแห่รอบกรุง หนุนศิธา เป็นผู้ว่า กทม. ทางเลือกทางรอดประเทศ”, สืบค้นจาก https:// workpointtoday.com/politics-6549/ (12 มิถุนายน 2566).
[7] “ไทยสร้างไทยพอใจผลงานสนาม กทม. ประกาศเดินหน้าลุยสนามการเมืองใหญ่ พร้อมทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประชาชน”, สืบค้นจาก https://thestandard.co/thaisangthai-satisfied-with-bangkok-election-result (12 มิถุนายน 2566) และ “เช็กผลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม ส.ก. ใครชนะ เรียลไทม์”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-937096 (12 มิถุนายน 2566).
[8] “ผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขตพรรคไทยสร้างไทย 326 คน: ย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลมากที่สุด และมีผู้สมัครกว่า 30 พรรคย้ายมา”, สืบค้นจาก https://rocketmedialab.co/election-66-13/ (12 มิถุนายน 2566).
[9] “พรรคไทยสร้างไทย ส่งผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครบ 100 รายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ 3 คน”, สืบค้นจาก https://www.tpchannel. org/news/20793 (12 มิถุนายน 2566).
[10] “พรรคไทยสร้างไทย จัดปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ พร้อมประกาศเป็นทางรอดประเทศ”, สืบค้นจาก https://thainews.prd. go.th/th/news/detail/TCATG230328144253483(12 มิถุนายน 2566).
[11] “รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”, สืบค้นจาก https://thaisangthai.org/board/(12 มิถุนายน 2566).
[12] “ผลการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ”, สืบค้นจาก https://www2.ectreport.com/overview (12 มิถุนายน 2566).
[13] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ”, สืบค้นจาก https://www.ect. go.th/ect_th/download/article/article_20230621120728.pdf (22 มิถุนายน 2566).
[14] “10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112”, สืบค้นจาก https://freedom.ilaw.or.th/freedom-of-expression-101/QA-112 (12 มิถุนายน 2566).
[15] “เลือกตั้ง 2566: พิธานำตั้งรัฐบาล 8 พรรค มั่นใจ “ผ่าน” ด่านโหวตนายกฯ แก้ ม. 112 ต้องจบในเอ็มโอยู”, สืบค้นจาก https:// www.bbc.com/thai/articles/cxxy10x6006o#:~:text=สำหรับรัฐบาลผสมเบื้องต้น%20313, พลังสังคมใหม่%20(1%20ที่นั่ง) (12 มิถุนายน 2566).
[16] “เลือกตั้ง 66 ‘คุณหญิงสุดารัตน์’ เตรียมลาออกจาก ส.ส. หลังได้เป็นในรอบ 19 ปี เปิดทางให้คนใหม่”, สืบค้นจาก https:// workpointtoday.com/politic-sudarat-2/(12 มิถุนายน 2566).
[17] "สุดารัตน์" ลาออก ส.ส. ไทยสร้างไทย เลื่อน "ฐากร" แทน, สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/329566 (31 สิงหาคม 2566).