ไล่หนูตีงูเห่า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          “ไล่หนูตีงูเห่า” คือ แคมเปญทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจัดกิจกรรมปราศรัยหาเสียงในภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดศรีสะเกษภายหลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย 3 คน โหวตสวนมติพรรคหลายครั้งจนถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “งูเห่า” และในขณะนั้นมีข่าวลือว่า ส.ส. ทั้ง 3 คนจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 อันเป็นพรรคการเมืองที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค โดยที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีชื่อเล่นว่า “หนู” และสื่อมวลชนมักเรียกกันว่า “เสี่ยหนู” ดังนั้น ยุทธการ “ไล่หนูตีงูเห่า” ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้จึงหมายความถึงการไล่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มิให้มาดึง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยอีก หรืออาจกินความไปถึงการไล่พรรคภูมิใจไทยไปจากจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการที่พรรคเพื่อไทยชนะยกจังหวัด พร้อม ๆ กับการกำจัด “งูเห่า” หรือ ส.ส. 3 คนที่มีพฤติกรรมโหวตสวนมติพรรค โดยการประกาศเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แทนที่ 3 งูเห่า เพื่อเตรียมพร้อมสู่การในการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งนี้การปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วยแคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” ได้ระดมนักการเมืองคนสำคัญ ๆ มาอย่างพร้อมหน้า

 

พื้นภูมิหลังก่อนจะ “ไล่หนูตีงูเห่า”

          ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคได้สำเร็จ โดยสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐ (116) แล้ว รัฐบาลผสม ยังประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ (51) พรรคภูมิใจไทย (50) พรรคชาติไทยพัฒนา (10) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (5 เสียง) พรรคชาติพัฒนา (3) เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (136) พรรคอนาคตใหม่ (79) พรรคเสรีรวมไทย (10)[1] เป็นต้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยที่นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสี่ยหนู” จะมี ส.ส. เป็นอันดับ 5 รองจาก พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ แต่กระนั้นพรรคภูมิใจไทย ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการย้ายพรรคของ ส.ส. เข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทยด้วยสาเหตุที่ต่างกัน อาทิ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ 9 คน ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค[2] ส.ส. 3 คน จากพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังจากถูกขับให้พ้นออกจากสมาชิกพรรค[3] และการลาออกครั้งใหญ่ของ ส.ส. 34 คนจาก 10 พรรคช่วงท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุด 25[4] เป็นต้น จนพรรคภูมิใจไทยได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็น พรรคพลังดูด[5]

          สำหรับพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านนั้น ต้องเผชิญกับปัญหา ส.ส. โหวตสวนมติพรรคเป็นระยะ เช่น ส.ส. 3 คน โหวตสวนมติพรรค กรณีฝ่ายค้านเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 44 ช่วงปลายปี 2562[6] ส.ส. 2 คน โหวตไว้วางใจพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563[7] ส.ส. 7 คน ฝ่าฝืนมติพรรค โดย 3 คนไม่เข้าร่วมลงมติ และอีก 4 คน โหวตสวนมติพรรค ในกรณีลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564[8] และเมื่อถึงต้นเดือนมิถุนายน 2565 นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยขณะนั้น ได้ออกมาเปิดเผยชื่อ 7 ส.ส. งูเห่า ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งลงมติรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2566 วาระที่หนึ่ง ซึ่งรวมถึง ส.ส. ศรีสะเกษ 3 คน ได้แก่ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายธีระ ไตรสรณกุล และนางผ่องศรี แซ่จึง[9] ที่เคยขึ้นเวทีเปิดตัวร่วมกับพรรคภูมิใจไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565[10] อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับปัญหา “งูเห่า” เป็นระยะและออกมาให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่าจะลงโทษขั้นรุนแรงกับ ส.ส._งูเห่า เหล่านั้น แต่ตลอดวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 พรรคเพื่อไทยก็มีมติขับ ส.ส. จากความเป็นสมาชิกพรรคเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้รวมถึงนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายธีระ ไตรสรณกุล และนางผ่องศรี แซ่จึง แต่อย่างใด[11]

 

ยุทธการ “ไล่หนูตีงูเห่า”

          แทนที่จะมีมติขับ ส.ส. ศรีสะเกษทั้ง 3 คน ให้พ้นจากสมาชิกภาพของพรรค ซึ่งจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยต้องสูญเสียที่นั่งไปให้กับพรรคการเมืองอื่นโดยปริยาย พรรคเพื่อไทยกลับเสนอแคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” ทันทีภายหลังปรากฏข่าว ส.ส. งูเห่า 7 คน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยวางกำหนดการที่จะรณรงค์ปราศรัยในพื้นที่อีสานตอนใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดศรีสะเกษ 3 เขต ประกอบด้วย อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล และอำเภอขุนหาญ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 โดยระดมบุคคลสำคัญและแกนนำของพรรคไปร่วมแคมเปญครั้งนี้ด้วย อาทิ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม (ดูภาพประกอบที่ 1)

 

Chase the rat, hit the snake.jpg
Chase the rat, hit the snake.jpg

 

ที่มา: “เพื่อไทยใช้กิจกรรม “ไล่หนู ตีงูเห่า” เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชุดใหม่,” เนชั่นออนไลน์ (17 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.nationtv.tv/news/378876908>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

 

          แกนนำพรรคเพื่อไทยขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีพรรคภูมิใจไทยและ 3 ส.ส. งูเห่า พร้อมกับการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดศรีสะเกษทั้ง 9 เขต ซึ่งรวมถึง 3 เขตเดิมของ ส.ส. งูเห่าด้วย ทั้งนี้ในพื้นที่อำเภอราษีไศลของ นางผ่องศรี แซ่จึง ได้เปิดตัวนางนุชนารถ จารุวงเสถียร พื้นที่อำเภอขุนหาญของ นายธีระ ไตรสรณกุล เปิดตัว นายอมรเทพ สมหมาย และพื้นที่อำเภอกันทลักของ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ เปิดตัว นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ แต่ที่น่าสนใจและเป็นที่จับตามองจากสื่อมวลชนอย่างมากก็คือ การตั้งเวทีในพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของนายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า

          ...ถ้าที่นี่มีหนูก็คงหนีไป ถ้ามีงูก็คงอกแตกตาย ส.ส. เรา 3 คน ที่พี่น้องเลือก เพราะเขาบอกไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่วันดีคืนร้าย พรรคภูมิใจไทยมาตั้งเวที แล้วชวน ส.ส. เพื่อไทยขึ้นเวทีเปิดตัวว่าอยู่ด้วยกันแล้ว แล้วจะเอาที่เหลือไปด้วย แบบนี้ใครเป็นหนู ใครเป็นงูไม่รู้ แต่คนศรีสะเกษเป็นคน คนมันมีศักดิ์ศรี และถ้าเราไปกับเขา เขาจะเอาพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก 4 ปี ดังนั้นเลือกตั้งรอบหน้าต้องรวมพลังกันให้เด็ดขาด[12]

          จากคำปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ชัดเจนว่าการจัดกิจกรรม “ไล่หนูตีงูเห่า” ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อขับไล่พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย “เสี่ยหนู” หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ออกไปจากพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยหวังว่าจะได้รับการเลือกตั้งยกจังหวัด พร้อมกับการประกาศให้ผู้เลือกตั้ง และประชาชนชาวศรีสะเกษรับรู้ว่าในการเลือกตั้งปี 2566 ส.ส. งูเห่าทั้ง 3 คน จะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายความนิยมของ ส.ส. พื้นที่เดิมไปในตัว

 

ปฏิกิริยาตอบสนองแคมเปญไล่หนูตีงูเห่า

          แม้จะมีความพยายามให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบว่ากิจกรรม “ไล่หนูตีงูเห่า” ของพรรคเพื่อไทยเข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 65 และ 66 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควรฯ หรือไม่ แต่ภายหลัง กกต. ก็ออกมาชี้แจงว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ให้นับรวมว่าเป็นเงินใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้าด้วย[13]

          อย่างไรก็ตาม กระแสตอบโต้ที่ดุเดือดยิ่งกว่ากลับมาจากพรรคภูมิใจไทย โดยในวันที่ 19 มิถุนายน 2565 นายอนุทินชาญวีรกูลก็โพสต์ข้อความบน Facebook พร้อมภาพประกอบระบุว่า “คนภูมิใจไทย หัวใจคิดบวก ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน #ศรีสะเกษยกทีม #พรรคภูมิใจไทย #เลยต้องลุยเอง” และในภาพประกอบปรากฏ ส.ส. ศรีสะเกษ และผู้ที่จะย้ายมาสังกัดเป็นว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายปวีณ แซ่จึง (สามีนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย) นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล และยังปรากฏข้อความในภาพว่า “ไม่มีหนู ไม่มีงูเห่า มีแต่คนบ้านเรา ที่พัฒนา”[14] ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ได้แสดงความเห็นตอบโต้แคมเปญของพรรคเพื่อไทยว่า ตามปกติแล้วการรณรงค์หาเสียงควรโชว์นโยบายมากกว่าการกล่าวโทษผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของจังหวัดศรีสะเกษ ทั้ง ๆ ที่ผู้มาปราศรัยกลับไม่ใช่คนในพื้นที่แต่อย่างใด “ยิ่งคิดชื่อแคมเปญแบบนี้ ผมยิ่งรู้สึกว่าดูถูกคนที่เค้าอยากพัฒนาบ้านเกิดนะ อุดมการณ์อาจต่างกัน แต่อย่ากล่าวหาว่าคนอุดมการณ์ต่างน่ารังเกียจ”[15]

 

บรรณานุกรม

“9 อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ย้ายซบ “ภูมิใจไทย” อย่างเป็นทางการ.” ThaiPBS (25 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/289278>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“กกต.ชี้เพื่อไทยจัดไล่หนูตีงูเห่า ไม่เข้าข่ายผิดกม. แต่ทำให้เงินค่าใช้จ่ายเลือกตั้งครั้งหน้าลดลง.” ไทยโพสต์ (20 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/politics-news/165222/>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

“‘ก๊วนธรรมนัสแตก’ ลือย้ายซบเพื่อไทย บางส่วนไปภูมิใจไทย และมีกลับถิ่นเก่าพปชร.ด้วย.” Workpoint Today (11 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/scoop-politics-tommanut/>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ชื่นมื่นอดีต 34 ส.ส.แห่ซบ ภท.เปิดตัว “ลูกเนวิน-ลูกชนม์สวัสดิ์” รวมถึงนักการเมืองดังและทายาท.” ผู้จัดการออนไลน์ (16 ธันวาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9650000119393>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ดุเดือด 'ณัฐวุฒิ' เห่าหนูกัดงูเห่า โชว์ชาวศรีสะเกษ.” ไทยโพสต์ (18 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/politics-news/164114/>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

“ตามคาด! “เพื่อไทย” ขับ 2 งูเห่า “ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล” พ้นพรรค ระทึกก่อนประชุมพบ ส.ส.ตรวจโควิดเป็นบวก.” ผู้จัดการออนไลน์ (12 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9640000101195>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“เปิดชื่อ 10 งูเห่า โผล่ช่วยรัฐบาลคว่ำมติตั้ง กมธ. ม.44.” ThaiPBS (5 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286746>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“เปิดชื่อ 7 ส.ส.เพื่อไทย โหวตสวนมติ พบงูชุมที่ ‘ศรีสะเกษ-นครนายก-ปทุมธานี’.” มติชนออนไลน์ (4 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_2922015>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ภท.สัญจรศรีสะเกษ เปิดตัว ส.ส.พท.ย้ายซบลงสมัยหน้า “ศักดิ์สยาม” ลั่นกวาดยก จว.มอบ 1 รมต..” .” ผู้จัดการออนไลน์ (20 พฤษภาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9650000048052>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ภูมิใจไทยโชว์ “พลังดูด” เปิดตัวงูเห่าคึกคัก แห่สมัครพรึบ! “น้องเพลง” ก็มา.” ไทยรัฐออนไลน์ (17 ธันวาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2579781>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ภูมิธรรม แฉ 7 งูเห่าเพื่อไทย โหวตสวนมติพรรค รับงบประมาณ 66.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (3 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-946205>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“ยุ่งแล้ว! พรรคเสรีพิศุทธ์-เพื่อไทย มีงูเห่าโหวตไว้วางใจ 'บิ๊กป้อม'.” ไทยโพสต์ (28 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/58418>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

“เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ.” BBC (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

““ไล่หนู ตีงู” สะท้อนอะไร? “โต้ง สิริพงศ์ “ย้อนถามพท.บุกศรีสะเกษ แนะชูนโยบาย.” กรุงเทพธรุกิจ (17 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/1010688>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

““อนุทิน” ยัน ไม่มีงู-หนู คนที่มาอยู่กับภูมิใจไทยล้วนมีผลงานและฝีมือ.” ไทยรัฐออนไลน์ (19 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2422977>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

 

อ้างอิง

[1] “เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ,” BBC (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[2] “9 อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ย้ายซบ “ภูมิใจไทย” อย่างเป็นทางการ,” ThaiPBS (25 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/289278>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[3] “‘ก๊วนธรรมนัสแตก’ ลือย้ายซบเพื่อไทย บางส่วนไปภูมิใจไทย และมีกลับถิ่นเก่าพปชร.ด้วย,” Workpoint Today (11 ตุลาคม 2565), เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/scoop-politics-tommanut/>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[4] “ชื่นมื่นอดีต 34 ส.ส.แห่ซบ ภท.เปิดตัว “ลูกเนวิน-ลูกชนม์สวัสดิ์” รวมถึงนักการเมืองดังและทายาท,” ผู้จัดการออนไลน์ (16 ธันวาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9650000119393>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[5] “ภูมิใจไทยโชว์ “พลังดูด” เปิดตัวงูเห่าคึกคัก แห่สมัครพรึบ! “น้องเพลง” ก็มา,” ไทยรัฐออนไลน์ (17 ธันวาคม 2565), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2579781>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[6] “เปิดชื่อ 10 งูเห่า โผล่ช่วยรัฐบาลคว่ำมติตั้ง กมธ. ม.44,” ThaiPBS (5 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/286746>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[7] “ยุ่งแล้ว! พรรคเสรีพิศุทธ์-เพื่อไทย มีงูเห่าโหวตไว้วางใจ 'บิ๊กป้อม',” ไทยโพสต์ (28 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/58418>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[8] “เปิดชื่อ 7 ส.ส.เพื่อไทย โหวตสวนมติ พบงูชุมที่ ‘ศรีสะเกษ-นครนายก-ปทุมธานี’,” มติชนออนไลน์ (4 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_2922015>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[9] “ภูมิธรรม แฉ 7 งูเห่าเพื่อไทย โหวตสวนมติพรรค รับงบประมาณ 66,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (3 มิถุนายน 2565), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-946205>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[10] “ภท.สัญจรศรีสะเกษ เปิดตัว ส.ส.พท.ย้ายซบลงสมัยหน้า “ศักดิ์สยาม” ลั่นกวาดยก จว.มอบ 1 รมต.,” ,” ผู้จัดการออนไลน์ (20 พฤษภาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9650000048052>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[11] “ตามคาด! “เพื่อไทย” ขับ 2 งูเห่า “ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล” พ้นพรรค ระทึกก่อนประชุมพบ ส.ส.ตรวจโควิดเป็นบวก,” ผู้จัดการออนไลน์ (12 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9640000101195>. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566.

[12] “ดุเดือด 'ณัฐวุฒิ' เห่าหนูกัดงูเห่า โชว์ชาวศรีสะเกษ,” ไทยโพสต์ (18 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/politics-news/164114/>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

[13] กกต.ชี้เพื่อไทยจัดไล่หนูตีงูเห่า ไม่เข้าข่ายผิดกม. แต่ทำให้เงินค่าใช้จ่ายเลือกตั้งครั้งหน้าลดลง,” ไทยโพสต์ (20 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/politics-news/165222/>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

[14] อนุทิน” ยัน ไม่มีงู-หนู คนที่มาอยู่กับภูมิใจไทยล้วนมีผลงานและฝีมือ,” ไทยรัฐออนไลน์ (19 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2422977>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.

[15] ไล่หนู ตีงู” สะท้อนอะไร? “โต้ง สิริพงศ์ “ ย้อนถามพท.บุกศรีสะเกษ แนะชูนโยบาย,” กรุงเทพธรุกิจ (17 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/1010688>. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566.