มหาวิทยาลัยเปิดกับการเมืองไทย
ผู้เรียบเรียง พิสิษฐิกุล แก้วงาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยถูกจัดตั้งขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459
หลังการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น การศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน ทว่าในขณะนั้นกลับมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญข้างต้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีความมุ่งหมายให้เป็นตลาดวิชา และเป็น มหาวิทยาลัย เปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียนกฎหมายผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และเปิดกว้างให้ถึงผู้ที่เป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทน ฯ ผู้แทนตำบล ครู ทนายความ เข้าเรียน ได้ด้วย ปรากฏว่าในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเปรียบได้กับผลสืบเนื่องจากคำประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ อีกทั้งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ ศ. ดร. ปรีดีมีส่วนในการผลักดันระบุไว้ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมาคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ การศึกษาอันดีต้องสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดจึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้สมัครที่ต้องการแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา
แรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง มธก. ขึ้น อาจมาจากกลุ่มอดีตนักเรียนโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลอนุรักษนิยมช่วงเปลี่ยนผ่านของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกโอนไปขึ้นกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หนึ่งปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับถูกทำให้เสมือนถูกยุบหายไป จึงมีผลผลักดันให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้ง มธก. ขึ้น โดยเมื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ได้โอนทรัพย์สินตลอดจนคณาจารย์ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้ามาสังกัดในมหาวิทยาลัยใหม่นี้ด้วย
มธก. เปิดการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพียงหลักสูตรเดียวคือธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) ซึ่งสอนวิชากฎหมาย รวมถึงกฎหมายที่เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงวิชารัฐศาสตร์และวิชาเศรษฐศาสตร์บางส่วน ส่วนในระดับปริญญาโทนั้นมีแยกสามแขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และต่อมาได้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท และในระดับระดับปริญญาเอกมีสี่แขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต
การที่ มธก. จัดการเรียนการสอนแบบตลาดวิชา นักศึกษาจึงมิได้ประกอบด้วยผู้สมัครที่มีชาติตระกูลเท่านั้น หากประกอบด้วยชายหญิงที่มีภูมิหลังที่หลากหลายแตกต่างกัน บางคนถูกเพิกถอนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยแห่งอื่น บางคนมาจากชนชั้นยากจน จากชนชั้นกลาง จากชนบท จากเสมียนพนักงานและพวกลูกจ้าง บางคนต้องหาเลี้ยงครอบครัวและต้องพึ่งพาตนเองในการศึกษาเล่าเรียน กล่าวคือนักศึกษาของ มธก. รุ่นแรกๆนั้นโดยมากขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในสถาบันอื่น หากธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตน เพราะปรัชญาของมหาวิทยาลัยคำนึงถึงหลักความเสมอภาคในการศึกษาเล่าเรียนเป็นสำคัญ การเรียนการสอนจะเน้นไปที่การให้ผู้เรียนทราบความเป็นไปของสังคมได้ดีโดยสามารถมองสถานการณ์ในสังคมได้อย่างบูรณาการ และเข้าใจพลวัตของสังคมส่งผล เพื่อเสริมสร้างความสามารถที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ปี พ.ศ. 2483 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ปลุกระดมคนไทยทั้งประเทศให้ร่วมเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีนจากฝรั่งเศสที่สูญเสียไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีนักศึกษาชั้นเตรียมปริญญารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ได้เข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน สิ่งพิเศษอีกประการก็คือการเดินขบวนในครั้งนั้นมีนักเรียนและนักศึกษาหญิงหลายคนที่เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนในสมัยนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่หมายรวมคนทุกกลุ่ม ไม่ว่า เพศใด ศาสนาใด พื้นเพอย่างใด ก็สามารถที่จะเข้าร่วมแสดงอุดมการณ์ได้อย่างเสมอภาคทั้งสิ้น ค่านิยมดังกล่าวนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังนับแต่การสถาปนามหาวิทยาลัยเป็นต้นมา
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยเปิดจนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการ ปกครอง ของคณะรัฐประหาร ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่าการเมืองออก เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้นักศึกษาฝักใฝ่การเมืองมากเกินไป ตำแหน่งผู้ประศาสน์ การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี โดยอธิการบดีคนแรกคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 มหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่สองของไทยก็กำเนิดขึ้นในชื่อ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีปณิธานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้ประชาชนได้มีโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมกัน โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือก การก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงเนื่องด้วยปัญหาการขาดแคลนที่เรียนในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสถานที่เรียนจำกัด ไม่สามารถรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งหมด จึงมีผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป
ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เขียนจดหมายจากอังกฤษในนามของ เข้ม เย็นยิ่ง ซึ่งเป็นชื่อรหัสในขบวนการเสรีไทย ส่งถึง ผู้ใหญ่บ้าน เข้ม เกียรติก้อง โดยหมายถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น มีใจความเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการให้มีรัฐธรรมนูญภายในปี 2515 หรืออย่างช้าข้ามมาปี 2516 อันเป็นการกระทำที่ท้าทายผู้มีอำนาจจนท่านต้องลาออกจากการเป็นคณบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาหลายคนที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้ไปประชุมพบปะกันที่ ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยตั้งแต่ ใน พ.ศ. 2515 ในส่วนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็มี ธีรยุทธ บุญมี จากจุฬาฯ เสาวณีย์ ลิมมานนท์ จากธรรมศาสตร์ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จาก เกษตรศาสตร์ ราชันย์ วีระพันธ์ จากรามคำแหง เป็นต้น สโมสรนิสิตจุฬาฯกลายเป็นที่ชุมนุมของนักกิจกรรมในช่วงนั้น
จากเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ถูกเปิดเผยโดยไม่ตั้งใจว่ามีการนำงบประมาณ ยานพาหนะ และอาวุธสงครามของราชการไปใช้ในล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่โดยผู้นำคณะเป็นคนใหญ่โตในคณะรัฐบาล ทั้งยังเคยมีดาราสาวคนหนึ่งร่วมไปอีกด้วย ความแตกเมื่อเฮลิคอปเตอร์ของทหารหมายเลข ทบ. 6102 ตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทิ้งให้ซากสัตว์ป่าหล่นเรี่ยราด จนเกิดคำถามและการต่อต้านจากองค์กรอนุรักษ์และประชาชนมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่าง รัฐบาลอ้างว่าไปสืบราชการลับเพื่ออารักขานายพลเนวินจากพม่า จากเหตุการณ์นี้เอง นิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกจำหน่ายในช่วง ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 ขายได้กว่า 200,000 เล่มภายใน 2 สัปดาห์ แล้วนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่ออกหนังสือชื่อ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ตามมามีข้อความกระทบผู้นำโดยตรงโดนคัดชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา เป็นผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วนำไปสู่ การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในระยะแรกเพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คนเข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมาได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และ เรียกร้อง ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน
กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขึ้น นำทีมโดย นายธีรยุทธ บุญมีและในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน โดยจะใช้เวลาติดต่อกันสองเดือน ในการรณรงค์ และในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่าง ๆ ตลอดเวลาสองวัน
เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ ทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทน นักการเมือง ข้าราชการ นิสิต นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักร้อง ฯลฯ โดยบุคคลทั้งหมดนี้มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการมอบรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยเร็ว บุคคลคณะนี้ประกอบด้วยสมาชิกเริ่มแรก จำนวน 100 คน ดังนี้ ประสาน มฤคพิทักษ์ นพพร สุวรรณพานิช สุเทพ วงค์กำแหง ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ธีระยุทธ บุญมี แล ดิลกวิทยรัตน์ มนตรี จึงศิริอาลักษณ์ เดชา อุบลวรรณา นพพร ไพรัตน์ ดร.อภิชัย พันธเสน ทวี หมื่นนิกร ศิริยุพา พูลสุวรรณ ธัญญา ชุนชฎาธาร วิสา คัญทัพ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปรีดี บุญซื่อ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชัยวัฒน์ สุริชัย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จินตนา เชิญศิริ ชูศรี มณีพฤกษ์ วันรักษ์ มิ่งมณนาคิน ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์ พินัย อนันตพงศ์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร พ.ต.ต. อนันต์ เสนาขันธ์ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อรุณ วัชรสวัสดิ์ ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม พิทักษ์ ธรัชชัยนันท์ ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ น.พ.วิชัย โชควัฒนา ฟัก ณ สงขลา สมเกียรติ อ่อนวิมล ดร.เขียน ธีระวิทย์ วัชรี วงค์หาญเชาว์ อัจฉรา สภัสอังกูร สุมิตรา เต็งอำนวย ดร.เสริม ปุณณะหิตานนท์ สุธน สุนทราภา สุชาดา กาญจนพังคะ สุมาลย์ คงมานุสรณ์ ภาสกร เตชะสุรังกูล ธวัชชัย ณ ลำพูน ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ชวชาติ นันทะแพทย์ จุฬา แก้งมงคล เทอดศักดิ์ จันทร์สระแก้ว สุวัฒน์ ทองธนากุล คำสิงห์ ศรีนอก ปรีชา แสงอุทัย ณรงค์ เกตุทัต เสนีย์ ด้านมงคล อุดร ทองน้อย สุรชัย จันทิมาธร สถาพร ศรีสัจจัง ถวัลย์ วงค์สุภาพ สมคิด สิงสง วิชัย บำรุงฤทธิ์ ไพสันต์ พรหมน้อย ไพบูลย์ วงษ์เทศ ประยงค์ มูลสาร ทศพล ยศรักษา สุดาทิพย์ อินทร พรชัย วีรณรงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ธรรมเกียรติ กันอริ สุรพล วัฒนกุล วีรศักดิ์ สุนทรศรี เทพ โชตินุชิต เลียง ไชยกาล ไขแสง สุกใส ร.ต.ประทีป ศิริขันธ์ สมพล ฆารสไว ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ประกอบ สงัดศัพท์ พล.ต.ต.สง่า กิติขจร เสถียร จันทิมาธร ดาราวัลย์ เกษทอง วีรพงษ์ รามางกูร ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร ดร.วารินทร์ วงค์หาญเชาว์ ชนินทร์ ดีวิโรจน์ เหม ศรีวัฒนธรรมา เจริญ คันธวงศ์ ดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ พิชัย รัตตกุล ศุภชัย มนัสไพบูลย์ วิบูลย์ อิงตากุล สมเกียรติ โอสถสภา กมล จันทรสร ประยูร พูนบำเพ็ญ ประทุมพร วัชรเสถียร พนม ทินกร ณ อยุธยา ชัยศิริ สมุทรวาณิช สุชาติ สวัสดิ์ศรี พิภพ ธงไชย นิวัติ กองเพียร ดร.ศักดา สายบัว อรรณพ พงษ์วาท
การแจกใบปลิว หนังสือ และบัตรลงประชามติ ของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในตลาดนัดสนามหลวงได้รับความสนใจจากประชาชนโดยทั่วไป ตลอดเวลาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ทุกระยะ พร้อมกับจ้างช่างภาพจากร้านถ่ายรูปมาถ่ายภาพทุกคนไว้เป็นหลักฐานด้วย หลังจากแจกใบปลิวขอประชามติที่สนามหลวงแล้ว กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ได้ไปรวมกลุ่มวางแผนขั้นต่อไปที่ลานอนุสาวรีย์ และรอหนังสือซึ่งกำลังพิมพ์มาเพิ่มเติม และออกเดินแจกต่อแถวคลองหลอด ข้ามไปหน้ากรมประชาสัมพันธ์ และนัดพบกันที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางลำภู ก่อนจะออกเดินไปที่บริเวนสยามสแควร์จนถึงตลาดประตูน้ำ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ร่วมกับตำรวจนครบาลนำกำลังเข้าจับกุม โดยตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าประกบเป็นรายตัว และล็อกจับพร้อมกัน จนเป็นเหตุให้กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญแตกฮือ มีหลายคนสะบัดหลุดจากการจับกุมได้และหลบหนีไป คงจับได้เพียง 11 คน คือนายธีระยุทธ บุญมี อดีตเลขานุการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย นายบัณฑิต เฮงนิลรัตน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบุญส่ง ชโลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมานุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย อดีตอาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนพพร สุวรรณพานิช นักหนังสือพิมพ์ "มหาราษฎร์" นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักหนังสือพิมพ์สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นายประพันธุ์ศักดิ์ กมลเพชร นักการเมือง
หลังจากที่อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ต่อมาตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ ส.น. หัวหมาก ได้ไปจับกุม นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ ปีที่3 นำตัวไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล จากกรณีที่ตำรวจได้จับกุมกลุ่มบุคคลผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญนั้น ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมกรรมการบริหารของศูนย์เป็นการด่วน และได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ว่า
- if:
border: 1px solid #AAAAAA;
}}" class="cquote" |
width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: | 10px=20px | 30px=60px | 40px=80px | 50px=100px | 60px=120px | “ |
ตามที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนหลายอาชีพ มีทั้งอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ตลอดจนศิลปิน นักธุรกิจ ได้รวมกลุ่มกันขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดโดยสันติวิธี และให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน พร้อมกับกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิและเสรีภาพของมนุษยชน ทั้งหมดนี้ทางกลุ่มได้นำเนินการโดยเปิดเผย แต่ปรากฎว่าเมื่อกลุ่มนี้เริ่มดำเนินงาน โดยออกชักชวนประชาชนให้สนใจศึกษา เพื่อให้เกิดสำนึกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ทางรัฐบาลได้ออกคำสั่งจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า เป็นการยุยงส่งเสริม ก่อให้เกิดการมั่วสุมทางการเมือง ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 11 คน จากการกระทำของกลุ่มประชาชนดังกล่าว ทางศูนย์ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาอันบริสุทธิ์ เพราะได้ระบุชัดแล้วว่าเป็นการดำเนินการโดยเปิดเผยและสันติวิธี ทั้งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ กับประชาชน ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ ว่าจะพยายามให้การศึกษากับประชาชน ให้เข้าใจสิทธิเสรีภาพของตนในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่พฤติกรรมของรัฐบาลที่ได้สั่งให้จับกุมประชาชนในครั้งนี้ ได้พยายามสร้างสถานการณ์ขึ้น เพื่อยัดเยียดข้อหาร้ายแรงอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติให้กับประชาชนกลุ่มนี้นั้น เป็นการส่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่ตนเองจะได้ครองอำนาจต่อไป และนอกจากนี้ยังเป็นการชี้ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่า ตลอดเวลาที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการให้ประชาชนเข้าใจถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เป็นการหลอกลวงประชาชน พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลายคงจะได้ตระหนักแล้วว่า ไม่มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้ จะปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพอันชอบธรรมของตนตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากรัฐบาลของพวกเผด็จการฟาสซิสต์ และคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่ต้องการปกครองตนเอง ดังนั้นการกระทำของรัฐบาลครั้งนี้นั้น ทางศูนย์ฯถือว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ เพื่อที่จะสร้างจักรแห่งความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล โดยมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนตกอยู่ในอำนาจอธรรมของรัฐบาลตลอดกาล ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในนามของประชาชนชาวไทย ขอยืนหยัดร่วมกับประชาชนชาวไทย ในการพิทักษ์รักษาสิทธิและเสรีภาพ ของปวงชนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยจนถึงที่สุด |
width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: | 10px=20px | 30px=60px | 40px=80px | 50px=100px | 60px=120px | ” |
{{#if:| —{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}} }}}} |
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฎว่ามีแผ่นโปสเตอร์ โจมตีการจับกุมครั้งนี้อย่างรุนแรง โดยได้มีการชักชวนนักศึกษาไปเยี่ยมเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่ถูกจับกุม โดยได้รวมกลุ่มกันไฮปาร์คอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะไปขึ้นรถของมหาวิทยาลัย 2 คัน ประมาณ 100 คน เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยมุ่งตรงไปยังโรงเรียนตำรวจบางเขน เมื่อเวลา 13.25 น. แต่รถคันหนึ่งเสียที่ถนนพระอาทิตย์ จึงมีนักศึกษาไปถึงที่หมายเพียงคันเดียว และยังได้มีนักศึกษาบางส่วนได้นำรถส่วนตัวตามไปด้วย เมื่อไปถึงก็ได้มีการต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ที่รออยู่ก่อนแล้ว เพื่อขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ มีทั้งตำรวจท้องที่บางเขน ตำรวจรถวิทยุนครบาล โดยมี พ.ต.อ. กำปั่น สายทองคำ ผู้กำกับการตำรวจนครบาลเขต4 เป็นผู้เจรจากับนักศึกษา โดยได้แจ้งให้ทราบว่า ทางการได้อนุมัติ เป็นการพิเศษให้เข้าเยี่ยมได้ชุดละ 5 คน เพราะสถานที่คับแคบและยังมีผู้ต้องหาอื่นๆ รวมอยู่ด้วย จากนั้นได้จัดรถเพื่อรับไปยังที่คุมขังที่อยู่ห่างประตูโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตร
วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกปิดโปสเตอร์ทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องให้งดการสอบ และให้นักศึกษาไปชุมนุนกันที่ลานโพธิ์ หน้าตึกศิลปศาสตร์ จากนั้นก็ระดมล่ามโซ่ตึกทุกคณะ และติดตั้งเครื่องขยายเสียงเป็นศูนย์กลางการอภิปราย เรียกร้องให้ต่อต้านรัฐบาล เมื่อนักศึกษาที่มาสอบเข้าตึกไม่ได้ ก็ไปรวมกันอยู่ที่ลานโพธิ์ตามคำเรียกร้อง จนเวลา 08.30 น. ได้มีนักศึกษาชักธงสีดำขึ้นสู่เสาบนยอดตึกโดม แต่คงค้างไว้เพียงครึ่งเสาเท่านั้น ดร. อดุลย์ วิเชียรเจริญ รองอธิการบดีฯ ต้องไปขอร้องให้นักศึกษาเองธงลง นักศึกษาก็ปฎิบัติตามโดยดี
ด้านมหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประมาณ 1,000 คน ได้นัดกันไปชุมนุมกันที่หน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง แล้วพลัดกันขึ้นพูดคัดค้านการจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 12 คน ส่วนการหยุดสอบเพื่อเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ตัดสินใจลงไป โดยแน่นอนว่าจะหยุดสอบหรือไม่
ทางด้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เรียกคณะกรรมการประชุมด่วน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนเย็นของวันที่ 9 ตุลาคม ต่อมา นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ฯ ได้ออกมาแถลงว่า ที่ประชุมได้พูดถึงท่าทีของรัฐบาล และรู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลได้พยายามตั้งข้อหา คอมมิวนิสต์แก่ผู้ถูกจับกุม การที่รัฐบาลระบุเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้ประชาชนเข้าใจว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีหัวเอียงซ้าย และอยู่คนละฝ่ายกับประชาชน ทางด้านมหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษานับพันคนได้จับกลุ่มกันอยู่ที่หน้าบริเวณอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง มีการพูดโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงเช่นเดิม นายสมพงษ์ สระกวี นายกองค์การนักศึกษารามคำแหง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าจะหยุดสอบในวันที่ 13 ตุลาคม แล้วจะไปร่วมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมด จนกว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 13 คน
ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คือเหตุการณ์ที่ถูกผลักดันจากนักศึกษามหาวิทยาลับเปิด 2 แห่งของประเทศไทย ที่แม้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่ใช่มหาวิทยาลัยเปิดในทางกฎหมาย ทว่าในทางจารีต และอุดมการณ์ที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง ทำให้นักศึกษามีแนวคิดแบบหัวก้าวหน้า
ชัยชนะของขบวนการนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่สามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้ ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเปลี่ยนมาสู่ยุคการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ความตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากห้องเรียนในสถานศึกษา สู่โรงงานและท้องไร่ท้องนารวมทั้งตามถนนหนทางทั่วไป ช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาได้รับความชื่นชมยกย่องจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อสามารถกำจัดผู้นำเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้แล้ว สังคมไทยควรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดถอนรากถอนโคน โดยมองข้ามความจริงที่ว่า แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่แกนโครงสร้างทางอำนาจของเผด็จการยังคงอยู่ เพียงถอยฉากไปฟักตัวรอเวลาเหมาะสมที่จะเติบโตขึ้นมาอีก หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา คลี่คลายลง ขบวนการนักศึกษามีบทบาทเป็นแกนกลางเชื่อมประสานการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนาไทยเข้าด้วยกัน รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ศรพรหม วาศสุรางค์ เขียนในหนังสือ “อย่าเป็นเพียงตำนาน” ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้ว่า
- ช่วง 2 เดือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นั้น กรรมกรนัดหยุดงานเพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ครั้ง และในปีถัดมากระแสการนัดหยุดงานก็พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 700 ครั้ง ถึงขนาดสามารถกล่าวได้ว่า ขบวนการกรรมกรกว่าร้อยละ 80 เคยนัดหยุดงานในช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น ปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกรเกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นที่สะสมมานานจนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกันในการทำงาน จนกระทั่งปี 2517 กรรมกรก็ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ออกประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศได้สำเร็จ และนำไปสู่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในปีถัดมา กระแสการเคลื่อนไหวของกรรมกรที่ถี่ขึ้น ได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพแรงงานในวิสาหกิจต่างๆ แล้วเติบโตขยายตัวก่อตั้งองค์กรกลางสหภาพแรงงาน และองค์การสภาลูกจ้างแรงงานในที่สุด
- ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในชนบทนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ชาวนาชาวไร่ผู้ประสบความเดือดร้อนมาช้านานได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาชาวนา ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงเดือนพฤษภาคม ชาวนาจำนวนมากได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องหนี้สินและปัญหาการครอบครองที่ดิน ปลายเดือนมิถุนายน 2517 ชาวนาได้จัดชุมนุมใหญ่เป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง และชุมนุมกันอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในที่สุดก็มีการก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่”
ทว่าเนื่องจาก 14 ตุลา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐเก่า เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าชนชั้นปกครองและเปิดโอกาสให้พ่อค้านายทุนสัมปทานทั้ง หลายเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์กัน พวกเขาเหล่านี้ร่วมกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมต่างเกรงกลัวจะสูญเสียอำนาจ จากการตื่นตัวของพลังนักศึกษาประชาชน พ.ศ. 2518-2519 จึง เป็นปีที่กระบวนการสังหารกลุ่มก้าวหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้นำกรรมกร ชาวนา นักศึกษา อาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ตกเป็นเหยื่อการลอบสังหาร เดือนสิงหาคมปี 2519 นักศึกษาจึงรวมตัวกันอีกครั้งจนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในบทสัมภาษณ์แกนนำนักศึกษาในปี พ.ศ. 2519 คนหนึ่งว่า ในช่วงก่อนและระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในแง่ข้อเท็จจริงก็คือ ตลอดช่วงปี 2519 ลักษณะของเหตุการณ์มีความรุนแรงขึ้นอย่างเปิดเผย มีการลอบฆ่าผู้นำชาวนา ฆ่านักการเมือง ฆ่าผู้นำนักศึกษา พอปี 2519 ก็ใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมการเดินขบวน มีการจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวามาสู้กับนักศึกษา อาทิ กระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ มีการก่อกวน ดังนั้นเหตุการณ์มันจึงมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเราก็รู้อยู่ แต่ขณะเดียวกันความรุนแรงมันมีลักษณะของการก่อกวน มีการขว้างระเบิดใส่ ยิงปืนใส่ มีแนวคิดแบบ ขวาพิฆาตซ้าย ที่ประมาณ อดิเรกสารเป็นผู้เปิดประเด็น ซ้ายปะทะขวา คือสองข้างใช้ความรุนแรงเข้าหากัน
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 จอมพล ประภาส จารุเสถียรกลับเข้ามาประเทศไทย นักศึกษาจึงชุมนุมประท้วงทันที ในเหตุการณ์วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2519 มีความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากมีการยกขบวนนักศึกษา 3 คันรถจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ทว่ามีการปาระเบิดใส่นักศึกษารามคำแหงเสียชีวิตไป 2 คน แล้วก็ตอนที่ประภาสเดินทางออก และกลุ่มกระทิงแดงบุกเข้าทำร้ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 19 กันยายน พ.ย. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร กลับมาเมืองไทยเข้ามา โดยบวชเป็นเณรเข้ามา สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจัดอภิปราย นัดชุมนุมแบบประกาศว่าไม่เห็นด้วย และกำหนดเวลาให้รัฐบาลผลักดันทรราชย์ออกไป เหตุการณ์การฆ่าหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงเป็นการทำให้กระบวนการทางการเมืองในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นของนักศึกษาหยุดชะงัก และมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่หนีเข้าป่าไปเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่สามคือ มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช ได้ก่อตั้งขึ้น แต่ด้วยการที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนทางไกลบทบาทในทางการเมืองจึงไม่ชัดเจนนัก ส่วนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเปิดทั้งสองแห่งก่อนหน้านี้ก็ได้กลับสู่เมืองอีกครั้งเนื่องจากวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 รัฐบาลประกาศ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นักศึกษา และปัญญาชนจำนวนมากทยอยออกจากป่า
ปัจจุบัน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในสมาพันธ์นิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนนท) แต่โดยรวมแล้วจะเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมของนักศึกษาเสียมาก และมีบางส่วนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองใน ม๊อบเสื้อเหลือง และมีบางกลุ่มก็ชุมนุมกับม๊อบเสื้อแดง ในช่วงก่อนเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
ที่มา
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 http://legal.tu.ac.th/menu/law_tu/pdf/pdf_c/พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์%20พ.ศ.2495.pdf
ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://www.tu.ac.th/intro/about/swf/history1.htm
ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=19&d_id=19
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปรีดีกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=12&s_id=10&d_id=3
ความสำคัญของ ๒๗ มิถุนายน กับการเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://learners.in.th/file/archan_joe/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%20%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B0.doc
คนเดือนตุลา 2516 : จะให้หรือไม่ให้รัฐธรรมนูญ http://www.baanjomyut.com/library/14tula/page01.html
ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ความหอมหวานแห่งชัยชนะ http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=13&s_id=1&d_id=1
บทสัมภาษณ์ผู้นำนักศึกษาบางคนสมัย 6 ตุลา 19 จะเห็นว่า รูปแบบการทำลายฝ่ายตรงข้ามยังเหมือนเดิม เหมือนเป็นคนชุดเดิมวางแผน http://www.prachataiwebboard.com/webboard/id/8856