ไฮด์ปาร์ค
ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ไฮด์ปาร์ค นโยบายประชาธิปไตยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2498 – 2500 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับการเมืองไทยสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่ายภายในรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีอำนาจบารมีทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นและมีความตึงเครียดแข่งขันอำนาจระหว่างกันโดยมีจอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่ระหว่างค่ายกำลังทั้ง 2 ค่าย นั่นคือ กลุ่มสี่เสาว์เทเวศร์ (สฤษดิ์) และกลุ่มซอยราชครู (เผ่า) จนทำให้นักวิชาการหลายคนเรียกการเมืองในยุคนี้ว่า “การเมืองสามเส้า” เพื่อถ่วงดุลอำนาจของ 2 ค่ายอำนาจ และเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ตนเอง จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้ปล่อยให้มี “บรรยากาศเปิด” ทางการเมือง โดยการเสนอให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตย
ในปี 2498 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เดินทางรอบโลกภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และไปอยู่ที่อเมริกาถึง 3 สัปดาห์ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยจอมพล ป. พิบูลสงครามก็เริ่มรณรงค์ “ประชาธิปไตย” ทันที โดยสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธุ์ 2500 เริ่มใช้คำขวัญประชาธิปไตยของอเมริกาว่าเป็นการปกครอง “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การค้า การรัฐประหารเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามเปิดให้มี “เพรสคอนเฟอร์เรนซ์” พบปะกับนักหนังสือพิมพ์ ปรากฏตัวท่ามกลางมหาชน และในเดือนกันยายน 2498 ก็อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้อีกครั้ง หลังจากมีการห้ามมาเป็นเวลา 3 ปี และในกระบวนการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงครามดังกล่าว ก็ทำให้เกิดศัพท์การเมืองใหม่ขึ้นมาใช้สำหรับเรียกการปราศัยหาเสียง นั่นคือ “ไฮด์ปาร์ค” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามอ้างว่า เพื่อให้เหมือนกับในประเทศอังกฤษที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตย[1]
แม้ว่านโยบายฟื้นฟูประชาธิปไตยจะได้รับการสนับสนุนจากจอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และนายวรการ บัญชา แต่ฝ่ายคณะทหารสายกองทัพบกซึ่งนำโดย พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่เห็นด้วยนัก ในการประชุมคณะรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2498 คณะรัฐประหารสายทหารก็ได้วิจารณ์รัฐบาลที่ยอมให้มีการไฮด์ปาร์คเพราะเห็นว่าเป็นการก่อกวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ยังคงยืนยันนโยบายประชาธิปไตยต่อไป
อย่างไรก็ตาม การไฮด์ปาร์คก็ได้พัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น มีการเรียกร้องให้เลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 เพราะการที่สมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลเสียครึ่งสภาได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประเทศสู่ประชาธิปไตย การไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงในวันที่ 22 ตุลาคม 2498 ส.ส.เพทาย โชตินุชิต แห่งธนบุรี ได้กรีดเลือดประท้วงเรียกร้องให้มีการยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร กลุ่มไฮด์ปาร์คได้เดินขบวนไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการยุบคณะรัฐประหารและยกเลิก ส.ส.ประเภทที่ 2
เมื่อเห็นว่าการไฮด์ปาร์คก้าวไปไกลเกินกว่าที่รัฐบาลจะยอมรับและควบคุมได้ จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงเริ่มหันกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2498 ขณะที่กลุ่มไฮด์ปาร์คได้นำประชาชนนับหมื่นคนเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบทเฉพาะกาล ยกเลิก ส.ส.ประเภทที่ 2 และคัดค้านกฎหมายประกันสังคม รัฐบาลก็สั่งการให้ตำรวจทหารม้าเข้าสะกัดกั้น มีการใช้กระบองและแส้ทำร้ายประชาชนจนทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ครั้งนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างเหตุผลว่า การชุมนุมและเดินขบวนนั้นเป็นไปเกินขอบเขต และผิดพระราชบัญญัติจราจร
การห้ามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามทำให้กลุ่มไฮด์ปาร์คงดการเดินขบวน แต่ก็ยังคงเปิดอภิปรายที่สนามหลวงต่อไป ในวันที่ 7 มกราคม 2499 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ไปปรากฏตัวบนเวทีไฮด์ปาร์ค กิตติศักดิ์ ศรีอำไพ ซึ่งเป็นโฆษกไฮด์ปาร์คในเวลานั้นได้นำเอาพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์มาสาบานตัวต่อหน้าพระแก้วมรกตกลางเวทีสนามหลวง ท่ามกลางประชาชนนับหมื่นคนว่า จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ตนเองไม่รู้ไม่เห็นกับการขังทิ้ง การยิงทิ้งอดีตรัฐมนตรี รวมทั้งการร่ำรวยผิดปกติของตน ขอให้ตนตายด้วยคมหอกคมดาบหากรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำเหล่านั้น
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2499 ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ดาวไฮด์ปาร์คคนสำคัญได้เริ่มการรณรงค์ประชาธิปไตยตามแบบของตนด้วยการนำการอดข้าวประท้วงรัฐบาลจนกว่าจะมีการยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 ปรากฏว่ามีประชาชนมาร่วมอดข้าวประท้วงกับเขาหลายคน ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2499 จอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามแก้ปัญหาโดยการสั่งอาหารมาตั้งโต๊ะเลี้ยงผู้ประท้วงอดข้าว แต่พีร์ บุนนาคหนึ่งในผู้ประท้วงแกล้งเอาอาหารไปเทให้สุนัขกินจนหมด ผลก็คือ ตำรวจได้เข้าจับกุมดาวไฮด์ปาร์ค 10 คนขณะที่กำลังอดข้าวประท้วงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2499 และตั้งข้อหาดาวไฮด์ปาร์คทั้ง 10 คนว่าเป็น “กบฏภายในราชอาณาจักร” และยังขู่ด้วยว่ากบฏเหล่านี้มีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต เหตุการณ์นี้ต่อมาถูกเรียกว่า “กบฏอดข้าว”
ผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ห้ามไม่ให้มีการไฮด์ปาร์คเกิดขึ้นอีก โดยให้เหตุผลว่า ผู้อภิปรายได้ “พูดเกินขอบเขตเป็นอันมาก” และกรมตำรวจก็ได้กล่าวหากรณีกบฏอดข้าวว่าเป็น “การแทรกแซงของคอมมิวนิสต์” จึงต้องจัดการเสียก่อน และต่อมาก็ได้ชี้แจงว่า นายทองอยู่เป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์ แต่ไม่นานหลังจากนั้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็ได้ชี้แจงว่าจะไม่ห้ามการไฮด์ปาร์ค เพียงแต่จะไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียงเพราะเป็นการรบกวน ผลก็คือ กบฏอดข้าวยังคงอดข้าวประท้วงต่อในที่คุมขัง จนกระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2499 ผู้อดข้าวส่วนใหญ่ก็เลิกล้ม แต่นายทองอยู่ที่ยังอดข้าวประท้วงต่อไปอีก 24 วันจนกระทั่งถูกนำส่งโรงพยาบาลในวันที่ 10 มีนาคม 2499 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ตำรวจได้ปล่อยตัวผู้ประท้วงอดข้าวทั้งหมด [2]