การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ มักใช้ระบบสองสภา (bicameral parliamentary systems) ซึ่งประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในการปกครองระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิปดีและระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิปดี โดยวุฒิสภามักมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร แต่มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และ ประเทศไทย เป็นต้น
ด้านที่มาของผู้ดำรงตำแหน่ง กล่าวได้ว่า วุฒิสภา เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานนับตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยมีลักษณะทั่วไปที่เน้นการเข้ามาดำรงตำแหน่งของผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิของกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่งในปัจจุบันเห็นได้ว่า ที่มาของสมาชิกวุฒิสภามีความหลากหลาย ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่น วุฒิสภาออสเตรเลีย (Australian Senate) สมาชิกมีวาระ 6 ปี แต่มีการเลือกตั้งสมาชิกครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาในทุกๆ 3 ปี หรืออีกประเภทหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง เช่น วุฒิสภาแคนาดา (Canadian Senate ) สมาชิกจะได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการ (Governor General) ของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ โดยคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้การเลือกตั้งควบคู่กับการแต่งตั้ง เช่น กรณีของประเทศอินเดีย สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจากสมาชิกสภานิติบัญญัติประจำมลรัฐเลือกจำนวนไม่เกิน 238 คนและอีกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิปดีอีก 12 คน เป็นต้น
ส่วนที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มักเน้นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในประเทศ ด้วยระบบหรือวิธีการที่แตกต่างกันไป โดยมักคำนวณสัดส่วนสมาชิกจากจำนวนประชากรทั้งประเทศเป็นหลักมากกว่าการกำหนดสัดส่วนในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 480 คน ภายในวาระ 4 ปี โดยแบ่งที่มาของสมาชิกตามระบบการเลือกตั้ง กล่าวคือ สมาชิกจำนวน 180 คน มาจากการเลือกตั้งระบบสัดส่วนและสมาชิกจำนวน 300 คนมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในขณะที่สหรัฐอเมริกา กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 435 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในแต่ละมลรัฐ ซึ่งแต่ละเขตจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนจำนวนประชากรในแต่ละมลรัฐ เป็นต้น
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย
ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา แต่จะมีระบบและวิธีการที่แตกต่างกันไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้งตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยในภาพรวมมักเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการกำหนดเขตเลือกตั้ง หรือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งกล่าวได้ว่าภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้นมานับว่าได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ชัดเจนที่สุด นั่นคือ การนำระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ควบคู่กับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ที่ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนได้เพียง 1 คะแนนสำหรับเลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ๆ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนหมายเลขที่มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกและรูปแบบของระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อ
ตารางสรุปการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย
ครั้งที่ | วันที่ | ระบบการเลือกตั้ง | จำนวน ส.ส. |
---|---|---|---|
1 | 15 พ.ย. 2476 |
-เลือกตั้งผู้แทนตำบล ตำบลละ 1 คน ผู้แทนตำบลเลือก ส.ส. ของจังหวัด จังหวัดละ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน -ส.ส.ประเภทที่ 2 คณะราษฎรแต่งตั้ง |
78 |
2 | 7 พ.ย. 2480 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน -จังหวัดที่มีจำนวนประชากรเกิน 200,000 คน มีเขตเลือกตั้งเพิ่ม 1 เขต ทุก 200,000 คน |
91 |
3 | 12 พ.ย. 2481 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน -จังหวัดที่มีจำนวนประชากรเกิน 200,000 คน มีเขตเลือกตั้งเพิ่ม 1 เขต ทุก 200,000 คน |
91 |
4 | 6 ม.ค. 2489 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน -จังหวัดที่มีจำนวนประชากรเกิน 200,000 คน มีเขตเลือกตั้งเพิ่ม 1 เขต ทุก 200,000 คน |
96 |
5 | 5 ส.ค. 2489 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน -ยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 และให้มีการเลือกตั้งเพื่อทดแทนจำนวน 82 คน |
178 (96+82) |
6 | 29 ม.ค. 2491 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) - ส.ส. 1 คน ทุกจำนวนประชากร 200,000 คน |
96 |
7 | 5 มิ.ย. 2492 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) -จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง -เลือก ส.ส. เพิ่ม 21 คน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 |
120 (99+21) |
8 | 26 ก.พ. 2495 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) -กลับมาใช้ระบบสภาเดียว มี ส.ส. 2 ประเภท |
123 |
9 | 26 ก.พ. 2500 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) -ส่งผู้สมัครในนามของพรรค |
160 |
10 | 15 ธ.ค. 2500 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) |
160 |
11 | 10 ก.พ. 2512 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ (เขตจังหวัด) |
219 |
12 | 26 ม.ค. 2518 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
269 |
13 | 4 เม.ย. 2519 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
279 |
14 | 22 เม.ย. 2522 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
301 |
15 | 18 เม.ย. 2526 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
324 |
16 | 27 ก.ค. 2529 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
347 |
17 | 24 ก.ค. 2531 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
257 |
18 | 22 มี.ค. 2535 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
360 |
19 | 13 ก.ย. 2535 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
360 |
20 | 2 ก.ค. 2538 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
391 |
21 | 17 พ.ย. 2539 |
-รวมเขตเรียงเบอร์ -เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ไม่เกิน 3 คน |
393 |
22 | 6 ม.ค. 2544 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน จำนวน 400 คน -บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน |
500 |
23 | 6 ก.พ. 2548 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน จำนวน 400 คน -บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน |
500 |
24 | 2 เม.ย. 2549 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน จำนวน 400 คน -บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน(ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นโมฆะ) |
500 |
25 | 15 ต.ค. 2549 |
-แบ่งเขต 1 เขต 1 คน จำนวน 400 คน -บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน(การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกยกเลิกไป หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549) |
500 |
26 | 23 ธ.ค. 2550 |
-แบ่งเขต (จำนวน ส.ส.ในแต่ละเขต และจำนวนเขตในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร)จำนวนทั้งหมด 400 คน -แบบสัดส่วน จำนวน 80 คน |
480 (400+80) |
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย
กรณีของประเทศไทยนั้น วุฒิสภาเดิมใช้ชื่อว่า “พฤฒสภา” ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 กำหนดให้มีสมาชิกจำนวน 80 คน จากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยผ่านผู้แทนตำบล หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วุฒิสภา” โดยมีที่มาจากที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกหรือแต่งตั้งตามที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับได้บัญญัติไว้ จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้มีการกำหนดให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 200 คน ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาได้เท่าไรขึ้นอยู่กับสัดส่วนจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ด้านวิธีการลงคะแนน กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาได้เพียง 1 คน เท่านั้น ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2549
จากนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับเปลี่ยนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 150 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด กับ สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 76 คนโดยกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหาที่มีตำแหน่งเชื่อถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นอิสระ มีความยุติธรรมและได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจำนวนของสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหามีจำนวนเท่ากับสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด 150 คน ดังนั้นจึงได้สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาเป็นจำนวน 74 คน โดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ประกอบไปด้วย
(1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
(2) ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
(4) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(5) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(6) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวน 1 คน
(7) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ
โดยกรรมการเหล่านี้จะดำเนินการเลือกกันเองให้กรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานกรรมการ และในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ และกำหนดแนวทางให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยต้องคำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาเป็นสำคัญ และให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย
ด้านกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภานั้น มีขั้นตอน ดังนี้
(1) คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดระยะเวลาให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน วิชาการ วิชาชีพ และภาคอื่น ๆ ได้เสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยยื่นความจำนงเป็นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเอกสารและหลักฐานต่างๆ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ ซึ่งองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องมิใช่เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
(2) คณะกรรมการการเลือกตั้งรวบรวมรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการสรรหาภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอชื่อ
(3) คณะกรรมการสรรหาดำเนินการพิจารณาบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ถือว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด โดยมติในการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
จากเงื่อนไขดังกล่าว ได้มีการดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากการเสนอชื่อขององค์กรต่างๆ เพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยได้มีการกำหนดให้วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นวันสรรหาสมาชิกวุฒิสภาและต่อมาได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จำนวน 74 คน โดยแบ่งเป็น ภาควิชาการ จำนวน 15 คน ภาครัฐ จำนวน 14 คน ภาคเอกชน จำนวน 15 คน และภาควิชาชีพ จำนวน 15 คน
ที่มา
“การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา”,Retrieved from URL http://library2.parliament.go.th/giventake/ content_elect/senate_summary.pdf โคทม อารียา.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ระบบการเลือกตั้ง.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 11 – 12.
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 37 ก (22 กุมภาพันธ์ 2551).
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2550 วิชญ์ชัย ธรรมประดิษฐ์.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง วุฒิสภา.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 10-11.
วิชญ์ชัย ธรรมประดิษฐ์.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า.
“House of Representatives”,Retrieved from [URL] http://en.wikipedia.org/wiki/ House_of_ Representatives
“Senate” ,Retrieved from [URL] http://en.wikipedia.org/wiki/Senate