การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 วันที่ 13 กันยายน 2535

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 เกิดขึ้นเนื่องจาก นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2534)

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2534) กฎกติการการเลือกตั้งยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 99 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) มาตรา 99-102 แต่อย่างไร โดยได้กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ทั้งหมด 360 คน ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ (เท่ากับประชากรในขณะนั้นประมาณ 150,000 คนขึ้นไป ต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน) โดยการใช้การเลือกตั้งโดยตรงแบบผสม เขตละไม่เกิน 3 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง และพรรคการเมืองนั้นจะต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 120 [1]

อีกทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการยุบพรรคสามัคคีธรรม เพราะถูกระบุว่าเป็นพรรคที่สนับสนุน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นอกจากนั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ยังได้สละตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย มาก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ภายใต้ชื่อ “พรรคชาติพัฒนา” และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคอีกด้วย

สำหรับการเลือกตั้ง วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 นี้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 19,760,377 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 31,855,156 คน คิดเป็นร้อยละ 61.59 มีบัตรเสีย 503,534 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.57 มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมี 360 คน ต่อจำนวน 142 เขตเลือกตั้ง และมีหน่วยเลือกตั้ง 59,018 หน่วย

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง-การเลือกตั้งทั่วไป
13 กันยายน พ.ศ.2535 [2]
พรรคการเมือง จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต (คน)
ชาติพัฒนา 60
ประชาธิปัตย์ 79
ราษฎร 1
ชาติไทย 77
ประชากรไทย 3
กิจสังคม 22
เอกภาพ 8
มวลชน 4
พลังธรรม 47
ความหวังใหม่ 51
เสรีธรรม 8
รวม 360

การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 2,372 คน และมีผู้ได้รับเลือกตั้งคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ชื่อผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัด สังกัดพรรค ผลคะแนน

ชื่อผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัด สังกัดพรรค ผลคะแนน
1.นายบรรหาร ศิลปอาชา สุพรรณบุรี (1) ชาติไทย 181,572
2. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี (1) ชาติไทย 172,076
3. นายชุมพล ศิลปอาชา สุพรรณบุรี (1) ชาติไทย 168,169
4. นายดุสิต รังคสิริ แพร่ (1) ชาติไทย 140,754
5. นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ พะเยา (1) ประชาธิปัตย์ 130,255
6. นายชวน หลีกภัย ตรัง (1) ชาติไทย 188,363
7. นายกร ทัพพะรังสี นครราชสีมา (4) ชาติพัฒนา 121,912
8. นายเมธา เอื้ออภิญญกุล แพร่ (1) ชาติไทย 121,537
9. นายสุวัจน์ ลิปพัลลภ นครราชสีมา (1) ชาติพัฒนา 119,097
10. นายทวี สุระบาล ตรัง (1) ประชาธิปัตย์ 117,778

ในส่วนของ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 ได้ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงสูงสุด จนได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคกิจสังคม รวมเป็นจำนวนพรรครัฐบาลจำนวน 5 พรรคการเมือง โดยพรรครัฐบาลมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่ากับ 207 เสียง ต่อพรรคฝ่ายค้านที่มีคะแนนเสียงเพียง 153 เสียง จำนวน 6 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคชาติพัฒนา พรรคเสรีธรรม พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคมวลชน และพรรคประชาไทย

อีกทั้ง ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ในการเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ยังส่งผลให้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 20 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2535

ต่อมารัฐบาลได้ถูกเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ จากพรรคฝ่ายค้าน ในประเด็นหลัก อันได้แก่ “เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01” ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม พ.ศ.2538 และเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารของพรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีมติว่าฝ่ายรัฐบาลตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ชัดเจน จึงเห็นควรงดออกเสียงให้ รัฐบาล และมติของพรรคพลังธรรมทำให้เสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาลหายไป 47 เสียง ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกลุ่ม 16 ที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ประกาศว่า จะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล จึงทำให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐนตรี ได้ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2538

ที่มา

นคร และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542), น.155-156.

คณะทำงาน ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, รายงานฉบับสมบูรณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 มีนาคม 2535.

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 13 กันยายน 2535. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2538), น.97.

อ้างอิง

  1. รวบรวมจาก, นคร และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542), น.155-156. และ คณะทำงาน ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, รายงานฉบับสมบูรณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 มีนาคม 2535.
  2. ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 13 กันยายน 2535 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2538), น.97.