การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 วันที่ 22 เมษายน 2522

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความเป็นมา

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ แล้ว รัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแข่งขันระหว่าง กลุ่มการเมืองและผู้สมัครอิสระต่าง ๆ เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ ยังไม่อนุญาตให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเหล่านั้นก็คือบรรดาพรรคการเมืองเก่าที่สำคัญ ๆ ซึ่งมีบทบาททางการเมืองในช่วงก่อนการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเสียเป็นส่วนมาก

 

ผลการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นการเลือกตั้งทางตรง โดยวิธีการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน ๓ คน จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตถือเอาจำนวนประชาชน ๑๕๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน การเลือกตั้งออกเป็น ๑๒๖ เขต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ๓๐๑ คน โดยในกรุงเทพมหานคร มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๓๒ คน ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ปรากฏผลในลักษณะคล้ายกับผลการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่ผ่านมา นั่นคือไม่มีกลุ่มการเมืองใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลผสมระหว่างบุคคลในคณะของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ กลุ่มเกษตรสังคม กลุ่มเสรีธรรม กลุ่มกิจประชาธิปไตย กลุ่มชาติประชาชน กลุ่มรวมไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สังกัดกลุ่มใด

 

ผลกระทบจากการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลผสมภายใต้การนำของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องประสบกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพในการทำหน้าที่รัฐบาลอย่างมาก นอกจากความไม่เป็นเอกภาพภายในสมาชิกสภากลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมตั้งรัฐบาลแล้ว ยังประสบกับแรงกดดันภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาภาวะน้ำมันขาดแคลน และรัฐบาลต้องขึ้นราคาน้ำมันอย่างสูง ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นด้วย ซึ่งก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันจากปัญหาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก เป็นต้น รัฐบาลจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากประชาชนและแรงกดดันภายในสภาผู้แทนราษฎรให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเร่งด่วน

 

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันมาก เพราะในคณะรัฐมนตรีชุดปรับใหม่นี้มีรัฐมนตรีที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง ๓ คนเท่านั้น ทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภามีน้อยลง แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาก็ตาม แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ยังผลให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่แถลงนโยบายต่อสภา

เมื่อรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออก ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐบาลผสม ระหว่างบุคคลในกลุ่มของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติประชาชน โดยหัวหน้าพรรคต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย พลเอก ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายบุญชู โรจนเสถียร รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม

 

อ้างอิง

ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522

โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ ๕ ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๔๔

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, บทบาทของพรรคการเมืองไทยในการจัดตั้งรัฐบาลผสม, รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๑

กระมล ทองธรรมชาติ, สมบูรณ์ สุขสำราญ และปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, การเลือกตั้ง พรรคการเมือง และเสถียรภาพของรัฐบาล, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑

คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, ๒๕๔๒

ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522

 

ดูเพิ่มเติม