การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 วันที่ 2 กรกฎาคม 2538
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 20 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 เกิดขึ้นจากการที่นายชวน หลีกภัย ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2535 อันเนื่องมาจากการถูกเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ จากพรรคฝ่ายค้าน ในประเด็นหลัก อันได้แก่ “เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01” ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม พ.ศ.2538 จึงได้มีการประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2538
สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2538 ครั้งนี้ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎกติกาของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2538) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ภายใต้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้[1] ดังนี้
1. สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเช่นเดียวกับรัฐมนตรี (มาตรา 95)
2. เปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากที่กำหนดไว้ตายตัว 360 คน เป็น จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน (มาตรา 106)
3. เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่บังคับให้พรรคการเมืองส่งสมัครไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (120 คน) มาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด (มาตรา 112)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อกำกับดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 115)
5. เพิ่มบทบัญญัติให้มีศาลปกครองเพื่อทำการพิจาณาคดีปกครอง (มาตรา 195)
ด้วยเหตุที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2538) ได้ส่งผลให้มีการบัญญัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2538 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2538 เพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2538 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 391 คน (ดังตารางด้านล่าง)
พรรคการเมือง | จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต (คน) |
---|---|
ชาติพัฒนา | 53 |
ประชาธิปัตย์ | 86 |
ชาติไทย | 92 |
ประชากรไทย | 18 |
กิจสังคม | 22 |
เอกภาพ | 8 |
พลังธรรม | 23 |
ความหวังใหม่ | 57 |
เสรีธรรม | 11 |
นำไทย | 18 |
มวลชน | 3 |
รวม | 391 |
สำหรับการเลือกตั้ง วันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2538 นี้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 23,462,746 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 37,817,983 คน คิดเป็นร้อยละ 62.04 มีบัตรเสีย 678,716 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.89 มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมี 391 คน ต่อจำนวน 155 เขตเลือกตั้ง และมีหน่วยเลือกตั้ง 61,373 หน่วย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครจำนวน 20 พรรค โดยประกอบไปด้วย พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคเอกภาพ พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคเสรีภาพ พรรครวมไทย พรรคสหชีพ พรรคนำไทย พรรคหลักสยาม พรรคสยามประชาธิปไตย พรรคดำรงไทย พรรคมวลชน พรรคธรรมประชาธิปไตย และพรรคกิจประชาธิปไตย
(1) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 11 พรรค คือ พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคเอกภาพ พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคเสรีภาพ พรรคนำไทย และ พรรคมวลชน
(2) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งหมด 9 พรรค ได้แก่ พรรคราษฎร พรรคเสรีภาพ พรรครวมไทย พรรคสหชีพ พรรคหลักสยาม พรรคสยามประชาธิปไตย พรรคดำรงไทย พรรคธรรมประชาธิปไตย และพรรคกิจประชาธิปไตย
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 2,372 คน และมีผู้ได้รับเลือกตั้งคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ชื่อผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัด สังกัดพรรค ผลคะแนน
ชื่อผู้ได้รับเลือกตั้ง | จังหวัด | สังกัดพรรค | ผลคะแนน |
---|---|---|---|
1.นายบรรหาร ศิลปอาชา | สุพรรณบุรี (1) | ชาติไทย | 218,376 |
2. นายบุญชู ตรีทอง | ลำปาง (1) | ชาติไทย | 212,914 |
3. นายเสนาะ เทียนทอง | สระแก้ว (1) | ชาติไทย | 204,829 |
4. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ | สุพรรณบุรี (1) | ชาติไทย | 204,070 |
5. นายชุมพล ศิลปอาชา | สุพรรณบุรี (1) | ชาติไทย | 200,896 |
6. นายบุรินทร์ หิรัญบูรณะ | สระแก้ว (1) | ชาติไทย | 188,363 |
7. นายวิทยา เทียนทอง | สระแก้ว (1) | ชาติไทย | 186,059 |
8. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน | สุราษฎร์ธานี (1) | ประชาธิปัตย์ | 171,583 |
9. นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ | พะเยา (1) | ประชาธิปัตย์ | 161,234 |
10. นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา | สุพรรณบุรี (1) | ชาติไทย | 158,354 |
สำหรับในส่วนของ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 ได้ส่งผลให้พรรคชาติไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงสูงสุด จนได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย พรรคมวลชน และพรรคกิจสังคม รวมเป็นจำนวนพรรครัฐบาลจำนวน 7 พรรคการเมือง โดยพรรครัฐบาลมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่ากับ 233 เสียง ต่อพรรคฝ่ายค้านที่มีคะแนนเสียงเพียง 158 เสียง จำนวน 5 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคเสรีธรรม และ พรรคเสรีภาพ
อีกทั้ง ชัยชนะของพรรคชาติไทยในการเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ยังส่งผลให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2538
ต่อมาเมื่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ปรากฎต่อสาธารณะชน รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับการวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเนื่องจากมีการแต่งตั้งบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง และไม่มีฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
ภายหลังจากการบริหารงาน รัฐบาลก็เริ่มสั่นคลอน อันเนื่องมาจาก รัฐบาลมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และมี 2 ครั้งที่รัฐมนตรีของพรรคพลังธรรมและพรรคประชากรไทยได้ลาออก และต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2539 พรรคพลังธรรมได้ขอถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าไม่พอใจภาพพจน์ของรัฐบาล อีกทั้งภายหลังจากการบริหารงานมาได้ 8 เดือนเศษ พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 รัฐมนตรี
มิเพียงเท่านั้นกรณีของการล้มเหลวในกิจการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี) รัฐบาลกลับยังโอบอุ้มธนาคาร ก็นับเป็นความล้มเหลวอีกประการหนึ่งที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลนายบรรหารที่ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจบ่อยครั้ง เมื่อปัญหาของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการทรุดหนักเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ รัฐบาลกลับ สั่งปิดกิจการโดยทิ้งภาระหนี้สินไว้ให้กับสังคม
ต่อมาพรรคฝ่ายค้านยังได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2539 อันเนื่องมาจากรัฐบาลได้เพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2539 และได้อนุมัติโครงการก่อสร้างต่าง ๆ รวม 25 โครงการ มูลค่ามากกว่า 400,000 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และโครงการซื้ออาวุธ เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มงบประมาณลงทุนในขณะที่ประเทศได้เริ่มประสบปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเศรษฐกิจ จนเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะสั่นคลอน และเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกของประเทศหดตัวลงติดลบในอัตราร้อยละ 1.9 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 24.8
จนเป็นเหตุให้นายบรรหาร ศิลปอาชา จำต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539[3]
ที่มา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2538).
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลและผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 กรกฎาคม 2538 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2538), น.11.
นพรัตน์ วงศ์วิทยาพาณิชย์, การก่อเกิดรัฐบาลพรรคเดียวในการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคไทยรักไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, น.64-66.
อ้างอิง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2538).
- ↑ ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลและผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 กรกฎาคม 2538 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2538), น.11.
- ↑ นพรัตน์ วงศ์วิทยาพาณิชย์, การก่อเกิดรัฐบาลพรรคเดียวในการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคไทยรักไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, น.64-66.