การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต

เขตเลือกตั้ง (Constituency)หมายถึง เขตพื้นที่ที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งมีการนำคะแนนของเขตนั้นมารวมกันเพื่อกำหนดว่าใครจะเป็นผู้แทนของเขตนั้น หรือเรียกได้ว่าเขตเลือกตั้ง เป็นเขต หรือ อาณาบริเวณที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด จังหวัดหนึ่งๆอาจมีเขตเดียวหรือหลายเขต โดยทั่วไป การแบ่งเขตเลือกตั้งแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ เขตเลือกตั้งแบบที่มีผู้แทนราษฎรได้คนเดียว (single member districts) หรือที่เรียกว่า แบบแบ่งเขต กับแบบที่เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หลายคน (multi-member districts) หรือ แบบรวมเขต

1.การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

ประเทศที่ใช้เขตเลือกตั้งแบบ “แบ่งเขต” นั้น ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในการเลือกผู้แทนหลายประเภท เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาเมือง ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะได้รับเลือกตั้ง จากเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า วอร์ด (ward) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเคาน์ตี้ (county councils) ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะได้รับเลือกมาจากเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า council-seat district อย่างไรก็ดี ในระดับมลรัฐนั้น ส่วนใหญ่เขตเลือกตั้งจะใช้ระบบแบ่งเขต ซึ่งในแต่ละเขตจะเลือกผู้แทนได้ 1 คน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา ผู้แทนระดับชาติในทุกๆ กรณี จะได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต สำหรับในส่วนของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาจนถึงระดับชาติ ซึ่งได้แก่ นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการมลรัฐ และประธานาธิบดี ต่างก็ได้รับการเลือกตั้งตามครรลองของตน โดยวิธีการแบ่งเขต

1.1ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (First past-the-post หรือ FPTP systems) ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีผู้แทนได้หนึ่งคน(แบ่งเขต) ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน อาจใช้วิธีการจับสลาก การถือคะแนนสูงสุด (Plurality หรือ Simple majority) เป็นเกณฑ์เช่นนี้ อาจทำให้ ผู้ได้รับเลือกตั้งมีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นลักษณะเสียงข้างมากแบบสัมพันธ์ที่ ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นเพียงผู้ได้คะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครเลือกตั้งคนอื่นๆ นั้น

การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ที่เขตการเลือกตั้งหนึ่ง จะมีตัวแทนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับการเลือกตั้งเพียงคนเดียว ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกตัวแทนได้เพียงคนเดียว และทั้งประเทศจะมีตัวแทนของประชากรในแต่ละเขตการเลือกตั้ง เขตการเลือกตั้งละหนึ่งคนเท่านั้น การแบ่งเขตการเลือกตั้งประเภทเขตละหนึ่งคน จึงให้ความสำคัญกับสัดส่วนของประชากรในหนึ่งเขตการเลือกตั้ง ที่จะต้องมีจำนวนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ตามหลักความเสมอภาค เพื่อให้ได้ตัวแทนที่มาจากจำนวนประชากรที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียวนี้ ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษและยังคงใช้ตลอดมา ทั้งยังขยายไปยังประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ โดยจะใช้ควบคู่กับการกำหนดเขตการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต รูปแบบนี้มีข้อดีคือ เขตเลือกตั้งเล็กลง ทำให้ผู้แทนกับประชาชนมีความใกล้ชิด และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงก็น้อยลง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลัก “one man one vote” ที่ให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกผู้แทนได้ 1 คน แต่ก็มีข้อเสียคือ เขตเลือกตั้งเล็กลงทำให้การแข่งขันสูงขึ้น อาจนำมาซึ่งความรุนแรงได้ เพราะมีผู้ได้รับเลือกเพียงคนเดียว การทุจริตก็ทำได้ง่ายขึ้น ประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น


1.2 ระบบแบ่งเขตสองรอบ (Two-round หรือ TR systems) เป็นระบบการเลือกตั้งที่มุ่งเน้นอัตราส่วนของคะแนนเสียงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนผู้ใช้สิทธิออกเสียง กล่าวคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับเลือกก็ต่อเมื่อเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง เว้นแต่ในรอบแรกมีผู้สมัครคนหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง(Absolute majority) ก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเลือกตั้งรอบสอง(Run-off) รายละเอียด ของการเลือกตั้งรอบสองอาจมีแตกต่างกันไป บางประเทศให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนที่หนึ่งและที่สองเท่านั้น ที่มาแข่งขันกันอีกในรอบที่ 2 บางประเทศจะกำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไว้ และเฉพาะผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินขั้นต่ำที่กำหนดจึงจะมีสิทธิแข่งขันในรอบที่สอง การเลือกตั้งรอบสอง กรณีกำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำไว้ การเลือกตั้งรอบสองจะถือคะแนนสูงสุด และถ้าผู้แข่งขันกันเกิน 2 คน ผู้ชนะอาจไม่ได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างสัมบูรณ์

2. การเลือกตั้งแบบรวมเขต

การเลือกตั้งแบบรวมเขต หมายถึง เขตเลือกตั้งที่สามารถเลือกผู้แทนไปนั่งในสภานิติบัญญัติได้มากกว่าหนึ่งคน ตามสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ทั้งนี้การเลือกตั้งแบบรวมเขต ใช้กันในประเทศยุโรปตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมักใช้ควบคู่กับระบบการคิดคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งก็คือ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครอื่นๆ โดยการเลือกตั้งแบบรวมเขต แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่

2.1 ระบบรวมเขตเรียงเบอร์ (Block vote หรือ BV systems)

ในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หลายคน(รวมเขต)ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งสามารถเลือกผู้สมัครไว้หลายคน(เรียงเบอร์)แต่ไม่เกินจำนวนของผู้แทนหรือที่นั่งที่มีในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น เขตเลือกตั้งหนึ่งมี ผู้แทนได้ 3 คน ก็มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนได้ 3 คน และเลือกโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกผู้สมัครจากกลุ่มเดียวหรือพรรคเดียวกัน ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีบางประเทศบังคับให้เลือกเป็นพรรคใดได้คะแนนสูงสุด ผู้สมัครทุกคนของพรรคนั้นจะได้รับเลือกตั้ง ในกรณีนี้จะเรียกว่า เป็นระบบรวมเขตเลือกตั้งเป็นพวง

การเลือกตั้งในระบบนี้ จะยึดถือเขตการปกครองขนาดใหญ่ที่สำคัญเป็นหลัก ได้แก่ รัฐ มลรัฐ จังหวัด เป็นต้น ผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตเลือกตั้งแบบนี้ จะเลือกตัวแทนในจำนวนที่ไม่เกินจำนวนที่ตัวแทนเขตนั้นพึงมี รูปแบบนี้มีข้อดีคือผู้ลงคะแนนอาจเลือกผู้สมัครได้จากหลายๆ พรรค ทำให้มีอิสระในการลงคะแนน และการแข่งขันไม่สูงนัก

ในกรณีประเทศไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ใช้ระบบรวมเขตเบอร์เดียว สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.2 ระบบรวมเขตเบอร์เดียว(Single vote หรือ SV systems)

ในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หลายคน(รวมเขต) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งสามารถเลือกผู้สมัครได้คนเดียว(เบอร์เดียว)ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตนั้น มีแนวโน้มไปสู่การเกิดหรือมีลักษณะระบบสองพรรค (two party system) ในขณะที่การเลือกตั้งแบบรวมเขตจะก่อให้เกิดระบบหลายพรรค (multi party system) แต่ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากในกระบวนการทางกรเมืองมีปัจจัยหลายประการที่ส่วนกำหนดจำนวนพรรคการเมือง ในกรณีประเทศไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ใช้ระบบรวมเขตเบอร์เดียว ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่กำหนดให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดได้เพียง จังหวัดละ 1 คน โดยไม่คำนึงถึงเกณฑ์ด้านจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่

ที่มา

โคทม อารียา.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ระบบการเลือกตั้ง.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 13

ธโสธร ตู้ทองคำ,”หน่วยที่ 8 กระบวนการเลือกตั้ง” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 542 – 544.

สิริพรรณ นกสวน, “การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ” ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ ม.ร.ว. พฤทธิสาน ชุมพล (บรรณาธิการ) . คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (Concepts in contemporary political science). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 หน้า 103.