การชุมนุมทางการเมือง
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การชุมนุมทางการเมืองเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาการขาดความชอบธรรมของสถาบันทางการเมือง (lack of political institution legitimacy) อีกด้วย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การชุมนุม” หมายถึง การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ อาทิเช่นเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา รวมทั้งเพื่อการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ จึงอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ หรือแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น[1]
หลักการสำคัญเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง
หลักเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการชุมนุมนั้น ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 (Universal Declaration of Human Right 1948 - UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2509 (International Covenant on Civil and Political Right 1966 - ICCPR) ส่วนหลักเกณฑ์สำคัญภายในประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้มีการรับรองสิทธิในการชุมนุมไว้ใน มาตรา 20 (1) ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ” และ มาตรา 28 ยังกำหนดรับรองอีกว่า “บุคคลชอบที่จะได้รับประโยชน์จากระเบียบระดับสังคมและระดับระหว่างประเทศอันจะอำนวยให้การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ทำได้อย่างเต็มที่” มาตรา 29 (2) ยังได้กำหนดไว้อีกว่า “การใช้สิทธิและเสรีภาพนั้น บุคคลจำต้องอยู่ภายใต้เพียงเท่าที่จำกัดโดยกำหนดแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพโดยชอบในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อศีลธรรม ตลอดจนความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสวัสดิภาพโดยทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย” ซึ่งหมายความว่า แม้ “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ” ตาม มาตรา 20 (1) จะได้รับการรับรองตามที่ได้เสนอข้างต้นก็ตาม แต่สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเช่นว่านี้ ก็อาจถูก “จำกัด” โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้เช่นกัน หากต้องเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เฉพาะเรื่องดังที่กล่าวข้างต้น ดังเช่น กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ได้มีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศเพื่อจัดระเบียบการใช้สิทธิชุมนุมในที่สาธารณะให้ดำเนินไปได้โดยไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอื่น หรือกระทบเพียงน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ” ใน มาตรา 21 ว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของไทยจะได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรส่วนใหญ่ก็ได้ให้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวสืบเนื่องมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกฎหมายลําดับพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะโดยตรง แต่ภายหลังจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดําเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 2550 รวมถึงการชุมนุมสาธารณะขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในห้วงเวลาดังกล่าวได้กลายเป็นข้อกล่าวอ้างที่นํามาสู่การบัญญัติ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558[2]
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม การคุ้มครองเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบ เช่น การอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ ซึ่งนำไปสู่การสานเสวนาในภาคประชาสังคม และระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล
นอกจากนั้น เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นสิทธิที่ได้รับการหนุนเสริมจากสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิด้านความคิดมโนธรรมสำนึกและศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าวเสรีภาพในการชุมนุมจึงมีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อพัฒนาการของบุคคล ศักดิ์ศรีและการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของบุคคลทุกคน และเพื่อความก้าวหน้าและสวัสดิการของสังคม อีกทั้งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติหรือนโยบายที่หลากหลายอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ โดยหน่วยงานของรัฐไม่ได้มีบทบาทในการขจัดสาเหตุของความตึงเครียดโดยการลดทอนความเป็นพหุนิยม หากต้องประกันว่ากลุ่มต่าง ๆ ต้องเปิดกว้างต่อความคิดและความเห็นซึ่งกันและกัน และอำนวยให้เกิดการคุ้มครองการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้วยวิธีประการต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดกรอบกฎหมายที่เกื้อหนุน
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แต่มาตรฐานเสรีภาพการชุมนุมในประเทศยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ และมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ทราบว่าแท้จริงแล้วสิทธิในเสรีภาพการออกมาชุมนุมอย่างสงบของประชาชนนั้น มีอย่างล้นเหลือ และบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการจำกัดควบคุมเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเกินตัว[3]
การชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย
นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย และได้มีการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 มีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่
1) 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีสาเหตุที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2501 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสืบทอดอำนาจต่อเนื่องโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ในช่วงเวลานี้ไม่มีการเลือกตั้ง และประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง อีกทั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร บุคคลสำคัญในคณะรัฐประหารมิได้รับการยอมรับจากประชาชน ประกอบกับประเด็นการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่นิสิต นักศึกษา ประชาชนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้[4]
2) 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2519 ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวา เช่น ขบวนการนวพล ขบวนการกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง กรุงเทพมหานคร[5]
3) พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 สืบเนื่องจากการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หลังการรัฐประหาร มีการจัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมและการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. นำไปสู่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง มีการปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุมมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
4) การชุมนุมทางการเมืองช่วง พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) เป็นการชุมนุมทางการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองช่วงเวลานี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อเนื่องตลอดกว่า 15 ปี
4.1) การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีบทบาทในช่วง พ.ศ. 2548-2552 มีจุดประสงค์ในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ_ชินวัตร นำไปสู่การรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต่อมาหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งเพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร_สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย_วงศ์สวัสดิ์
4.2) การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ช่วง พ.ศ. 2549 – 2550 ในภายหลังได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน โดยมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ ช่วง พ.ศ. 2552 - 2553 จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
4.3) การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์_ชินวัตร โดยมีข้อเสนอให้จัดตั้งสภาประชาชนที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อควบคุมการปฏิรูปการเมือง กลุ่ม กปปส. มีบทบาทในการขัดขวางการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนำไปสู่การรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
4.4) การชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2563-2564 เป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะประชาชนปลดแอก) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นการชุมนุมใหญ่สุดในรอบ 6 ปี มีการยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อรัฐบาล ได้แก่ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การประท้วงในเดือนกรกฎาคมนั้นเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อมาได้มีการขยายแนวร่วมการชุมนุมไปสู่การเกิดกลุ่มต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น คณะราษฎร_2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มเสรีเทย กลุ่มดาวดินสามัญชน กลุ่มREDEM กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มสลิ่มกลับใจ กลุ่มนักเรียนเลว และมีการยกระดับข้อเรียกร้อง เช่น ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ยุบสภาผู้แทนราษฎรและยกเลิกวุฒิสภา หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับรัฐบาลแห่งชาติและรัฐประหาร แก้ไขพระราชอำนาจและกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย (มาตรา 112) ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพิ่มสิทธิพลเมือง เศรษฐกิจและการเมือง การปฏิรูประบบการศึกษาไทย การเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง และการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19[6]
การชุมนุมทางการเมืองจึงเป็น “เครื่องแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมือง” ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพอันเนื่องมาจากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ประการหนึ่ง ที่ได้รับรองการชุมนุมโดยสงบ (peaceful assembly) ทั้งหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม มักเกิดปัญหาการตีความว่าการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะอย่างไรจึงจะถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ การจัดระเบียบการใช้สิทธิเสรีภาพในด้านนี้ของพลเมืองให้ดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างเหมาะสมกับบริบททางสังคมและหลักนิติธรรม จึงมีความสำคัญจำเป็นทั้งในทางความคิดฐานรากทางการเมืองและการปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน
อ้างอิง
[1] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. (2021). สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://www.amnesty.or.th/our-work/assembly/
[2] มติชน. (2563). รายงานหน้า2 : พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กับปัญหาสิทธิเสรีภาพ. หนังสือพิมพ์มติชน 22 พฤศจิกายน 2563. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_2452430
[3] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. อ้างแล้ว.
[4] วิกิพีเดีย. (2021). เหตุการณ์ 14 ตุลา. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุการณ์ 14 ตุลา
[5] วิกิพีเดีย. (2021). เหตุการณ์ 6 ตุลา. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุการณ์ 6 ตุลา
[6] วิกิพีเดีย. (2021). การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021
จาก https://th.wikipedia.org/wiki/การประท้วงในประเทศไทย_พ.ศ._2563–2564