แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (United Front of Thammasat and Demonstration) คือ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้น ภายใต้คำอธิบายว่าธรรมศาสตร์จะไม่ทนต่อเผด็จการและอำนาจที่กดขี่ความเจริญของไทย โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีผู้ติดตามเฟสบุคเป็น จำนวน 499,198 คน[1] ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มนอกจากมีแกนนำคนสำคัญอย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ยังประกอบด้วยสมาชิกจากกลุ่มต่าง ๆ ในฐานะแนวร่วมของขบวนการ อาทิ กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มดาวดิน สามัญชน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ภาคใต้ พรรควิฬาร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักเรียนเลว พรรคสามัญชน เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและถิ่นเกิด กลุ่มลูกพ่อขุนโค่นเผด็จการ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นต้น [2]
ภาพ : การแถลงข่าวของแกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563[3]

การเคลื่อนไหวของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมดำเนินการสืบเนื่องและยกระดับจากการเคลื่อนไหวจากกระแสแฟลชม็อบเยาวชนที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยความร่วมมือจากหลายกลุ่มและหลายสถานที่นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 และได้นำไปสู่การจัดกิจกรรมทางการเมืองและการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา[4] อาทิ
“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมกับสหภาพ นักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) กลุ่มแนวร่วมนิสิตมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสรีเทยพลัส จัดชุมนุมในชื่อ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มอาชีวะปกป้องประชาธิปไตยคอยดูแลความปลอดภัย[5]มีตัวแทนสถานทูตเยอรมนีเข้ามาสังเกตการณ์ สาระสำคัญของการชุมนุม คือ การย้ำถึงข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยไม่มีการทำรัฐประหาร นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ประการ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์[6] และย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องพูดถึงได้ในที่สาธารณะ และคนที่พูดเรื่องนี้จะต้องไม่ถูกคุกคาม[7] นอกจากนี้ยังได้ขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนร่วมกันเปิดแฟลชโทรศัพท์มือถือและชูสามนิ้ว เป็นการไว้อาลัยกับชาวไทยซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยหลายคนที่ถูกบังคับอุ้มหายในต่างประเทศ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมลงชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ด้วย[8]
ผลจากการกิจกรรมนี้ นำไปสู่ปฎิกิริยาโต้กลับจากรัฐบาลทั้งจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกลุ่มศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 2512 ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านการกระทำและการเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มนี้ ในขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แถลงการณ์ “แสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” พร้อมทั้งประกาศจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีกับบุคคลที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะดำเนินการกับนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยต่อไป[9] ในขณะที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 146 คน และคนทำงานภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปทั้งหมด 546 คน ลงชื่อร่วมออกแถลงการณ์ สนับสนุนการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เนื่องจากเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย[10]
“การชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี”
หลังจากที่ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุนนุม จึงยกระดับการชุมนุมโดยประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมโดยเดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังที่ทำการสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เพื่อร่วมกันอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน หลังจากนั้นแกนนำได้ผลัดกันปราศรัยและยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจที่อาจเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยกลับสู่ครรลองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง[11]
“ม็อบ24มีนา”
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม “เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร” บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อบอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน มีสิทธิ์ที่จะได้ชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสันติเพื่อสร้างและเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยในการชุมนุม โดยเนื้อหาการปราศรัยหลักยังยืนยันตามข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ประกอบด้วย ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก การจัดให้มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการชุมนุมครั้งที่ได้เพิ่มข้อเรียกร้องขอให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมให้ได้สิทธิประกันตัวเพื่อมาต่อสู้คดี รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น โดยมี นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากกลุ่ม ROOT นางสาวเบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ นายอรรถพล บัวพัฒน์ จากพรรคก้าวล่วง (กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล) เป็นผู้ปราศรัยหลัก[12] นอกจากนี้ยังกิจกรรมแสดงออกอย่างสันติวิธีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำชอล์กสีต่าง ๆ มาเขียนข้อความลงบนพื้นถนนและยังมีการนำป้ายผ้ามาให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เขียนแสดงความเห็นทางการเมืองด้วย[13]
ภาพ : การชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม[14]
![]() |
![]() |
“ม็อบ 3 กันยา ราษฎรไม่ไว้วางใจ”
ในเวลาต่อมา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุมและเวทีปราศรัยซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับกลุ่มทะลุฟ้า ในการจัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมคู่ขนานไปกับจากจับตาดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล[15] ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน และลงมติ ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564 ภายใต้คำขวัญ “ทำหมันระบอบประยุทธ์ ตัดวงจรอุบาทว์ ปลดล็อกประเทศไทยไปด้วยกัน”[16] นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแอพพลิเคชั่นคลัปเฮาส์ในหัวข้อ “ม็อบนอนไว (โอเลนท์) ยังไงให้ชนะ กับแนวร่วม มธ.” และเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางเฟซบุ๊คแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอีกช่องทาง เพื่อแสวงหาแนวทางการปฎิบัติการไร้ความรุนแรงในฐานะเครื่องมือทางการเมืองและยกระดับการกดดันต่อรัฐบาลที่สามารถนำไปสู่ความได้เปรียบและชัยชนะทางการเมือง [17]
ภาพ : การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ร่วมชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564[18]
![]() |
![]() |
![]() |
การสลายการชุมนุมและการถูกดำเนินคดี
การเคลื่อนไหวของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ผ่านมานั้น เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจนถูกสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การที่ผู้ชุมนุมและมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เช่น ในการชุมนุม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่บริเวณศาลหลักเมือง[19] รวมทั้งการจับกุมดำเนินคดีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม เช่น การดำเนินคดีและคุมขัง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมทั้งการแจ้งขอกล่าวหาแก่แกนนำผู้ชุมนุมจากอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี จำนวน 12 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ซึ่งแม้ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก รวมทั้งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาต[20] เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีแก่ผู้ร่วมชุมนุม หากมีการกระทำผิดข้อหาละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 9 และ 10 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564[21] อีกทั้งหากการรวมกลุ่มนั้นมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ก็จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตลอดจนหากมีการปิดหรือกีดขวางการจราจร ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ด้วย รวมไปถึงการทำทัณฑ์บนผู้ปกครองของเยาวชนที่กระทำฝ่าฝืนข้อกำหนดและกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าว เป็นต้น[22]
อย่างไรก็ดี การดำเนินกิจกรรมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยังได้รับการต่อต้านจากกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ร่วมกับประชาชนจำนวนหนึ่งในการล่ารายชื่อ จำนวน 3,057 คน ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึง อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณบดีทุกคณะ เรื่อง ขอคัดค้านการนำชื่อธรรมศาสตร์ไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการกระทำใด ๆ ที่สร้างความวุ่นวาย และขอเรียกร้องให้ลบคำว่า “ธรรมศาสตร์” ออกจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นต้น[23]
อ้างอิง
[2] “เปิดโผรายชื่อ ดาวเด่นม็อบนักศึกษา ขึ้นปราศรัย 19-20 กันยายนนี้”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-523999 (29 กรกฎาคม 2564).
[3] “'เพนกวิน-รุ้ง' แกนนำสนท. แถลงแนวทางชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/ 897135(29 กรกฎาคม 2564).
[4] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “แฟลชม็อบนักศึกษา ถึง ชุมนุมใหญ่ของ "คณะราษฎร 2563" ลำดับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2563”, สืบค้นจาก https://www. bbc.com/thai/thailand-54741254 (29 กรกฎาคม 2564).
[5] “"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ชุมนุมลานพญานาค-ตัวแทนสถานทูต ร่วมสังเกตการณ์”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ politic/1907713 (29 กรกฎาคม 2564) และ “#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ผู้ชุมนุมเต็มลานลานพญานาค”, สืบค้นจาก https://themomentum.co/ ธรรมศาสตร์จะไม่ทน-ผู้ชุมนุมเต็มลานลานพญานาค/(29 กรกฎาคม 2564).
[6] “ดูรายละเอียดได้ใน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ใช้รัฐสภาแก้กฎหมายได้ 5 ข้อ”, สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/5779 (29 กรกฎาคม 2564)
[7]“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน: "อันตรายต่อประเทศ-เกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต" บางปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องจากเวที มธ.”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53737348 (29 กรกฎาคม 2564).
[8] “เริ่มแล้ว! เวที ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/ 893082 (29 กรกฎาคม 2564).
[9] “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน: "อันตรายต่อประเทศ-เกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต" บางปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องจากเวที มธ.”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53737348(29 กรกฎาคม 2564).
[10] “"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน": เปิดรายชื่อคณาจารย์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์หนุนผู้ชุมนุมกรณีปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” , สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/other-news-53748472(29 กรกฎาคม 2564) และ “ภาคประชาสังคม 546 คนออกแถลงการณ์ยัน 10 ข้อเสนอของน.ศ.ไม่ผิดกม. ร้องรบ.เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/08/89031(29 กรกฎาคม 2564).
[11] “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม เผยกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นหนังสือ ถึงสถานทูตเยอรมนีเย็นนี้”,สืบค้นจาก https://www.brighttv.co.th/ news/politics/geemany-embassy-mob(29 กรกฎาคม 2564).
[12] “ประมวล #ม็อบ24มีนา 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' ที่แยกราชประสงค์ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” , สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/03/92261(29 กรกฎาคม 2564).
[13] “ยิ่งค่ำ คนยิ่งแน่น #ม็อบ24มีนา เขียนชอล์ก-แสดงศิลปะ ‘ยกเลิก 112’ แยกราชประสงค์”,สืบค้นจาก https://www.matichon. co.th/politics/news_2640370(29 กรกฎาคม 2564).
[14] “เกาะติด ม็อบ24มีนา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”,สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/politics/473359(29 กรกฎาคม 2564).
[15] “ธรรมศาสตร์-ทะลุฟ้าเปิดเวทีแยกราชประสงค์ 3 กันยาฯ”,สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/958000 (31 สิงหาคม 2564).
[16] “ป่วนอีกแล้ว!3นิ้วปลุกแต่เช้า นัดสุมหัวชุมนุมใหญ่3กันยายน ร่วมกันตีคู่ขนานศึกซักฟอก”,สืบค้นจาก https://www.naewna.com/ politic/598297(29 สิงหาคม 2564).
[17] “ม็อบนอนไว(โอเลนท์)ยังไงให้ชนะ กับแนวร่วมมธ.”,สืบค้นจาก https://ios.clubhouse.com/event/M8w89aja(31 สิงหาคม 2564).
[18] “แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นัดรวมพลม็อบ 3 กันยา “แยกราชประสงค์” ,สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-752666 (3 กันยายน2564).
[19] “ประมวลเหตุการณ์ "สลายม็อบ13กุมภา" อนุสาวรีย์ปชต.สู่ศาลหลักเมือง ปืนดัง ประทัดยักษ์สนั่น”,สืบค้นจาก https://www.pptvhd 36.com/news/ประเด็นร้อน/142079 (29 กรกฎาคม 2564).
[20] “ศาลให้ประกันตัว 12 แกนนำชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี วางเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ อีก”,สืบค้นจาก https:// thestandard.co/court-grants-bail-to-12-activists/(29 กรกฎาคม 2564).
[21] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/202/T_0008.PDF
[22] “บช.น.จัดคฝ.ดูแลม็อบวันนี้ คาด 3 ก.ย.อาจมีความรุนแรง เผย ก.ค.-ส.ค.จับแล้ว 375 คน ชี้ผิดซ้ำปรับ-จำคุก” ,สืบค้นจาก https:// www.matichon.co.th/news-monitor/news_2918182 (3 กันยายน2564).
[23] “ศิษย์เก่า มธ.-ปชช.จี้กลุ่มแนวร่วมฯ ตัดคำว่า “ธรรมศาสตร์” ออกจากชื่อม็อบ”,สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/news/ 185156/https://www.dailynews.co.th/news/185156/(31 สิงหาคม 2564).