การชุมนุมต่อต้าน รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
ผู้เรียบเรียง สุเจน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นำโดนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เกิดขึ้นหลัง “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” รายการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง (ซึ่งมีผู้วิเคราะห์เพียงคนเดียวคือนายสนธิ) ถูกปลดจากผังรายการโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) จากการอ่านข้อความ “ลูกแกะหลงทาง” ออกอากาศในวันที่ 9 กันยายน 2548 จนทำให้นายธงทอง จันทรางศุ บอร์ดบริหารโมเดิร์นไนน์ทีวีชี้ว่ามีการจาบจ้วงสถาบัน นอกจากนี้รายการดังกล่าวยังโจมตีรัฐบาลมาตั้งแต่กลางปี 2548 และพยายามเสนอประเด็น “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน หลังจากก่อนหน้าการจัดรายการเป็นไปในทางสนับสนุนนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด
หลังโดนปลดจากผังรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เริ่มต้นออกไปดำเนินรายการนอกสถานที่หลายครั้ง ครั้งแรกจัดขึ้นช่วงปลายเดือนกันยายน 2548 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หลังจัดรายการต่อเนื่องหลายครั้งและมีคนเข้าร่วมมากขึ้น จึงมีการย้ายการจัดรายการมาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วย้ายมาใช้อาคารลีลาศ สวนลุมพินี ทั้งนี้เนื้อหาของการจัดรายการนอกสถานที่จะถูกเผยแพร่อย่างละเอียดในสื่อของเครือผู้จัดการไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์และวิทยุชุมชน
13 มกราคม 2549 ระหว่างจัดรายการที่อาคารลีลาศ สวนลุมพินี มีการเปิดตัวผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และนักการเมืองอีกหลายคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท. ทักษิณ ในวันนี้ยังมีการเคลื่อนขบวนมวลชนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะสลายตัวกลับในช่วงเช้าโดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลงเหลือบางส่วนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายในเวลาต่อมา (ไทยโพสต์ 15 ม.ค. 2549)
การชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังในวันที่ 4 มีนาคม 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีการใช้แนวคิดการชุมนุมว่า “การชุมนุมกู้ชาติ” ช่วงเวลานั้นยังมีชนวนเหตุสำคัญคือ ครอบครัวชินวัตรได้ขายหุ้นบริษัทในเครือชินคอร์ปให้ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยได้รับยกเว้นภาษีจากกฎหมายที่เพิ่งมีผลบังคับก่อนการขายหุ้นไม่นาน (กรุงเทพธุรกิจ 23 ม.ค. 2549)
ช่วงค่ำวันที่ 4 มีนาคม 2549 นั้นเอง นายสนธิพยายามเดินหน้าขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ด้วยการยื่นหนังสือต่อสำนักราชเลขาธิการและต่อประธานองคมนตรีผ่าน พล.ร.ท. พะจุณณ์ ตามประทีป ที่ออกมารับแทน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ (อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ องคมนตรีต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง) นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือกับ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งเป็นผู้กระทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในเดือนตุลาคมจะเกิดขึ้นเพียงไม่นาน)
จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับนายสนธิแต่ละครั้งยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่ามีจำนวนเท่าใดแน่
อย่างไรก็ตาม การชูประเด็นขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ยังผลให้เกิดการแสดงจุดยืนของกลุ่มภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
11 กุมภาพันธ์ 2549 มีการชุมนุมอีกครั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในครั้งนี้มีการเปิดตัว “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” อันประกอบด้วยแกนนำ 5 คน คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยในส่วนของโครงสร้างการบริหารงานนั้นจะมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้กินเวลาไม่นานนัก โดยได้มีการนัดหมายชุมนุมแบบยืดเยื้ออีกครั้งที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งพลตรีจำลองประกาศว่าจะนำกลุ่มสันติอโศกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนด้วย
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เขม็งเกลียว พ.ต.ท. ทักษิณ ประกาศยุบสภาฯ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 ส่งผลให้รัฐบาลทักษิณกลายเป็นรัฐบาลรักษาการณ์โดยปริยาย
การชุมนุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ยังคงเกิดขึ้นโดยมีสโลแกน “เอาประเทศไทยของเราคืนมา” และมีการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยการยุบสภาเพื่อหาทางออก โดยระหว่างนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงสู่สนามเลือกตั้งด้วยเหตุที่ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งกระชั้นชิดจนฝ่ายค้านเสียเปรียบด้านการเมือง
นับจากวันที่ 26 มีการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมสองครั้งคือ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินกลางสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกครั้งคือวันที่ 14 มีนาคม 2549 เคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลและปักหลักที่นั่น ขณะที่นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ออกปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัดนานกว่าสองสัปดาห์
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยัง “ดาวกระจาย” จัดมวลชนย่อยๆ ไปประท้วงตามจุดต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สถานทูตสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ไปปักหลักบริเวณสยามสแควร์ด้วยก่อนที่จะยุติการชุมนุมไปชั่วคราวพร้อมกับข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ลาออก
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ก็เกิดขึ้นโดยมีปัญหาตามมาทั้งก่อนและหลัง ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งจะมาถึงคือเกิดกระแสต่อต้านจากภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนกาช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” หรือ “No Vote” ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อแสดงการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายกรัฐมนตรีออกรณรงค์ช่วยลูกพรรคหาเสียงที่ซอยละลายทรัพย์ ยังมีแม่ค้าคนหนึ่งมาตะโกนขับไล่ ซึ่งต่อมาวิธีนี้กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือต่อต้านรัฐบาลที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมาใช้เสมอ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งคือ เมื่อพรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยจึงเป็นพรรคเดียวที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ถูกยุบส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผลคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายเขตเลือกตั้งมีเขตคะแนนโนโหวตมีสูงกว่าคะแนนที่ออกเสียงเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง และบางเขตมีคะแนนที่เลือก ส.ส. ไม่ถึงร้อยละ 20 จนทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์
ยังมีเหตุการณ์ผู้ลงคะแนนเสียง “ฉีกบัตร” เลือกตั้ง อาทิ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฉีกบัตรและยอมให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยสมัครใจเพื่อเป็นการประท้วงการเลือกตั้งในครั้งนี้
เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่สามารถรับรองสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก่อนให้เปิดการประชุมสภาฯ ทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง
จนวันที่ 25 เมษายน 2549 พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสกับคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มาปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์เพื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่า
“…ในเวลานี้อาจจะไม่ควรพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เองได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วเขาก็เลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วเขาก็คนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์ ไม่ทราบว่า เกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้ แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทางหนึ่ง ท่านอาจจะต้องลาออก เพราะไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องหาทางแก้ไขได้
“เขาอาจจะบอกว่า ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอก ไม่ใช่เรื่องของตัว ศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง เลยขอร้องว่าท่านอย่าไปทอดทิ้งความปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการผ่านออกไปได้
“แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะ ที่บอกว่า มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูก ก็จะต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมี จะมีสิทธิ ที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร
“ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้ คือการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป ทั่วแต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่า ท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี
“ตรงนี้ขอฝาก อย่างดีที่สุดถ้าเกิดท่านจะทำได้ ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณไป ดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ” ในวันเดียวกันยังทรงมีพระราชดำรัสกับผู้พิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรมความว่า
“ก็เลยต้องขอร้องฝ่ายศาล ให้คิด ให้ช่วยกันคิด เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลอื่นๆ เขายังบอกว่าศาล ขึ้นชื่อว่าศาล ดี ยังมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้ เพราะท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มี ไม่มีสมาชิกสภาถึง 500 คน ทำงานไม่ได้”
นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกรณีขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ว่า
“ก็ต้องพิจารณาดู ว่าจะทำยังไง สำหรับให้ทำงานได้ จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน เขาอาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี้พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย จริง แต่ลงพระปรมาภิไธยก็เดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา 7 นั้นไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีการบทบัญญัติแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้ แล้วก็ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอ บอกว่า ขอให้มี ให้พระราชทานนายกฯ พระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการ อย่างที่ถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 นี่ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ...”
ซึ่งนักวิชาการด้านนิติศาสตร์บางท่านชี้ว่าเป็นการเริ่มกระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์”บางท่านคัดค้านพระราชดำรัสครั้งนี้ว่า เป็นการขัดกับหลัก “The King can do no wrong” (กษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิดเพราะมีผู้รับผิดชอบการกระทำของพระองค์เสมอ) ซึ่งครั้งหนึ่ง ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”
พระราชดำรัสนี้ส่งผลให้ประธานจาก 3 ศาล คือศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มาประชุมกัน จากนั้นวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้นมีปัญหาว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดการการเลือกตั้ง การจัดคูหาที่ส่งผลให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองยังได้ออกคำพิพากษาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนี้และผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเลือกตั้งที่ตามมาด้วย จากนั้นรัฐบาลจึงให้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 15ตุลาคม 2549
ล่วงเข้าสู่เดือนมิถุนายน การเมืองสงบลงชั่วคราวเนื่องจากงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ในเดือนกรกฎาคม
ถึงเดือนกรกฎาคม 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลับมาจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลในลักษณะ “คอนเสิร์ตการเมือง” ที่อาคารลีลาศ สวนลุมพินี
ยังปรากฎกรณีรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งข้อหาทำผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา อันนำมาซึ่งคำพิพากษาจำคุกคณะกรรมการการเลือกตั้งที่นำโดย พ.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ทำให้ทั้งสามต้องออกจากตำแหน่งเมื่อ 25 กรกฎาคม 2549 โดยก่อนหน้านี้ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนซึ่งส่อเค้าถึงคำตัดสินว่า
“เราต้องการให้ กกต. ทบทวนตัวเองอีกครั้ง ขอให้ กกต. ทั้งสามท่านคิดว่าจะทำสิ่งอันใด ขอให้ยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก ผมขอเปิดใจว่าศาลฎีกาและศาลยุติธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เคยทะเลาะกับ กกต. เป็นการส่วนตัว และไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ไม่เคยทำตัวสนับสนุนกลุ่มการเมือง เรายืนหยัดข้างประชาชน เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ประชาชนอาจจะอึดอัดที่ปัญหายืดเยื้อ แต่ขอให้เข้าใจว่าศาลต้องทำงานในกรอบของกฎหมาย ไม่อาจทำอะไรให้เร็วดั่งใจได้ เพราะกฎหมายเป็นกติกาของบ้านเมือง ศาลเป็นผู้รักษากฎหมาย สุดท้ายผมขอให้ประชาชนจับตาการไต่สวนคดี กกต. เป็นจำเลยของศาลอาญาอย่างใกล้ชิด เพราะมีกรณีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”
และก่อนหน้าคำตัดสินจะออกมา ได้มี กกต. ลาออกไปหนึ่งคน ทำให้พ้นจากการคำตัดสินลงโทษนี้
สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ ระหว่างมีการอ่านคำตัดสินมีผู้สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลไปชุมนุมกันที่ศาลจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน และบางส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาล จนภายหลังศาลต้องมีคำสั่งลงโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวในข้อหาหมิ่นศาล
ระหว่างนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ออกเดินสายบรรยายพิเศษไปตามหน่วยทหารและหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งมีคำกล่าวที่มีนัยยะสำคัญทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การเปรียบรัฐบาลเป็นจ๊อคกี้ ถ้าจ๊อคกี้ไม่ดีย่อมเปลี่ยนตัวได้
จนเดือนสิงหาคม 2549 ระหว่างที่รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเป็นประธานงานเปิดตัวหนังสือและซีดีที่ระลึก นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ก็มีประชาชนกลุ่มเล็กๆ ราว 20-30 คนมาตะโกนขับไล่จนเกิดเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านนายกรัฐมนตรี จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องมาเชิญทั้งสองฝ่ายออกจากบริเวณดังกล่าว
เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นอีกในวันที่ 21 สิงหาคม 2549 เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเปิดงานอุทยานการเรียนรู้ ดิจิตอล ทีเคปาร์ค เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ชั้น 8 แล้วผู้สนับสนุนและต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไปรออยู่เกิดปะทะคารมกัน เป็นเหตุให้หน่วยรักษาความปลอดภัยและชายฉกรรจ์ในชุดสีเข้มไม่ทราบสังกัดเข้าไปทำร้ายร่างกายฝ่ายต่อต้านจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในที่สุดกลุ่มผู้ต่อต้านนายกฯ และกลุ่มสนับสนุนบางส่วนถูกตำรวจจับข้อหารบกวนความสงบเนื่องจากเป็นต้นเหตุให้เกิดเสียงเอะอะรำคาญในที่สาธารณะ
ต่อมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศจะนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน 2549 เพื่อขับไล่รัฐบาล
ทว่าก่อนที่การเลือกตั้ง และการชุมนุมจะเกิดขึ้น ก็เกิดการรัฐประหารในค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน โดยที่ศาลไทยได้รับรองว่าผู้รัฐประหารสำเร็จนั้นคือ “องค์อธิปัตย์” (ผู้มีอำนาจอย่างถูกต้อง)
สิ้นสุดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่กินเวลายาวนานมาตั้งแต่ปลายปี 2548
ผลที่ตามมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสภาพ ทหารกลับเข้ามามีอิทธิพลต่อทิศทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง
การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณจึงถือว่าจบลงในวันที่ 19 กันยายน 2549
หนังสือแนะนำ
ปิยบุตร แสงกนกกุล. ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตยและตุลาการ. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์ , 2542.
รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก , มกราคม 2550 .
ที่มา
วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ . รัฐประหาร ทางออกสุดท้ายของการเมืองไทยยุคทักษิณ. นิตยสารสารคดี ปีที่ 22 ฉบับที่ 260 ตุลาคม 2549.
มติชนรายวัน 25 กันยายน 2549 ชุมชนคนออนไลน์ในคืนปฏิวัติ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ .ประวัติการเมืองไทย . กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 , 2544.
รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก , มกราคม 2550 .
วาสนา นาน่วม. ลับ ลวง พราง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน , 2545.
Kanchanapisek.or.th