การทรงเจรจากับรัฐบาลถึงเงื่อนไขหากจะให้ทรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรปอยู่นั้น ได้มีการส่งเอกสารราชการรวมทั้งรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปถวายเพื่อทอดพระเนตรอยู่โดยตลอดและเมื่อได้เสด็จประพาสเสร็จสิ้นแล้ว ในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ระหว่างที่ประทับอยู่ที่กรุงปารีส พระองค์ได้พระราชทานพระราชบันทึก ๒ ฉบับพร้อมกันแก่พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) อัครราชทูตผู้ซึ่งอาสาเป็น “คนกลาง” ระหว่างพระองค์กับรัฐบาล ซึ่งพระราชวังสันได้ส่งพร้อมจดหมาย ลงวันที่ ๒๖ เดือนนั้นถึง พลเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา นายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ โดยทางไปรษณีย์อากาศ
เนื้อหาของพระราชบันทึกเป็นการทรงเปิดการเจรจากับรัฐบาลว่ามีเงื่อนไขใดบ้างที่ต้องพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลตอบสนอง หากไม่ต้องการให้ทรงสละราชสมบัติ[1] และเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม สมเด็จกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงแจ้งพระยาพหลฯ ให้ทราบว่าทรงได้รับพระราชโทรเลข (ซึ่งน่าจะเป็นจากพระตำหนักโนล ที่ประทับทรงเช่าที่อังกฤษ) ทรงแสดงพระราชดำริเห็นว่า “อันธรรมดาที่มีพระมหากษัตริย์ขัดกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอยู่เช่นนี้ ไม่ว่าประเทศใด ย่อมไม่เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศนั้น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยปกปักรักษาผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยแล้ว จึ่งสมัครพระราชหฤทัยที่จะทรงสละราชสมบัติ”[2] ความจริงจังของพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติจึงได้ปรากฏขึ้น
ในหนึ่งในพระราชบันทึกสองฉบับนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ให้รัฐบาลสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการตามดำริที่จะเลิกทหารรักษาวัง หรือเปลี่ยนรูปโครงของกระทรวงวัง ทั้งสองอย่างนี้ ทรงยอมไม่ได้เป็นอันขาด “จะยอมตายดีกว่า ถ้ารู้สึกว่าถูกขังเมื่อใดจะลาออกทันที หรือพยายามหนี แต่จะไม่ยอมให้ขังไว้ทำเล่นตามชอบใจเป็นอันขาด...”[3] แสดงว่าทรงยืนหยัดเพื่อความปลอดภัยและเสรีภาพในการกระทำการของพระองค์
ในพระราชบันทึกอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งพระราชทานมาพร้อมกัน ทรงแสดงความไม่พอพระราชหฤทัยที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรไม่แยแสต่อการที่ได้ทรงยับยั้งร่างพระราชบัญญัติอากรมรดก ในประเด็นที่ทรงเห็นควรยกเว้นพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะ “ย่อมเป็นการทำลายฐานะของพระองค์และต่อไปก็จะไม่สามารถดำรงพระเกียรติยศไว้ให้สมควรเป็นที่เชิดชูของชาติได้” การที่สภาฯ ไม่ยอมลงมติตามที่ทรงร้องขอ “ส่อให้เห็นชัดว่าบุคคลบางจำพวก (ซึ่งเพื่อความสะดวกจะเรียกว่า “คณะราษฎร” ซึ่งได้เลิกล้มแล้ว ก็ยังมีอยู่) ถือว่าฉันเป็นข้าศึกตัวเอกของรัฐบาลและคณะราษฎร ความรู้สึกเช่นนี้ไม่เป็นของประหลาดเลย และฉันก็ได้นึกอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นไปเช่นนี้ตลอดไป...” ด้วยเหตุที่ว่าประวัติศาสตร์โลกชี้ให้เห็นชัดว่าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่จะทรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วถูกลดอำนาจลงโดยการกบฏ ที่จะทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อยู่ได้ตลอดไป” ในกรณีของพระองค์ ย่อมทรงถูกกระทบกระเทือนทุกครั้งที่เกิดมีบุคคลหมู่ใดไม่พอใจในรัฐบาลขึ้นมาด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ดังนั้น “แทนที่พระมหากษัตริย์จะเป็นกลางหรืออยู่นอกเหนือการเมืองได้ กลับกลายเป็นเหตุต้นไฟของการพิพาทกันในทางการเมือง ซึ่งเป็นของไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง และทำให้เป็นการลำบากที่จะมี Constitutional Monarchy ได้จริงๆ” ดังนั้น “ถ้าฉันลาออกจากตำแหน่งเสีย แล้วให้สภาฯ เลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วแต่จะเห็นควรขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะไม่ดีกว่าหรือ”
เป็นที่ชัดเจนว่า ทุกประเด็นที่ทรงหยิบยกมาเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาพระมหากษัตริย์ไว้ให้ทรงทำหน้าที่ในระบอบรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งเป็นพระราชประสงค์มาโดยตลอดก่อนหน้านี้ จากนั้นได้ทรงตั้งเงื่อนไขว่าหากรัฐบาลและสภาฯ จะให้ทรงดำรงตำแหน่งต่อไป ทรงขอให้ ๑. เลิกความระแวงสงสัย และทำตามที่ได้ทรงร้องขอแล้วนั้น ๒. ให้เลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรีและของรัฐบาลเก่าและขอให้ปราบปรามผู้ที่ดูถูกพระราชวงศ์จักรีอย่างเข้มงวด ๓. ต้องแสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ๔. พยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดต้นไฟ ซึ่งทรงเห็นว่ามีหนทาง ๒ อย่าง คือ ก. ความกลัวว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอย่างแรง และ ข. ความแค้นเคืองในเรื่องนักโทษการเมืองถูกลงโทษอย่างรุนแรง...ถ้าลดหย่อนผ่อนโทษเสียบ้าง น่าจะระงับความคิดในทางก่อการกำเริบได้บ้าง[4]
ในเบื้องแรก รัฐบาลสนองพระราชบันทึกสั้นๆ ว่า “กิจการอันใดที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้กระทำไปนั้น...หาได้มีเจตนาที่จะขัดพระราชหฤทัยแต่ประการใดไม่ แต่ได้ปฏิบัติการโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น...คณะรัฐมนตรีจะได้พยายามหาลู่ทางที่จะจัดการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยทุกอย่างทุกประการ อันจะพึงกระทำได้ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ...และมีความปรารถนาแต่อย่างเดียวที่จะได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับมาครองราชย์สมบัติสืบต่อไปชั่วกาลนานเท่านั้น”
สำหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ คำสนองพระราชบันทึกเช่นนี้เป็นการย้ำให้ทรงเห็นดังที่ทรงเห็นอยู่แล้วว่า แม้รัฐบาลและสภาฯ ยังเห็นจำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์อยู่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมในอำนาจของตน แต่ไม่ต้องการอย่างแน่นอนที่จะให้ทรงมีพระราชอำนาจหรือพระราชสิทธิ์ในอันที่จะทรงมีอิทธิพลใดๆ ต่อการตัดสินใจของตน จึงอ้าง “การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีสาระหลักให้อำนาจแก่สภาฯ และคณะราษฎรที่อยู่เบื้องหลังมีอำนาจสูงสุด พระองค์จึงทรงมีพระราชโทรเลขทูลสมเด็จกรมพระนริศฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความสำคัญว่าพระองค์ “ไม่รู้สึกมีความเชื่อถือในคำพูดของพวกเหล่านี้เสียแล้ว” และทรงทราบว่า “อันเงื่อนไขประการใดซึ่งหม่อมฉันอาจตั้งขึ้นก็คงจะไม่ยอมรับด้วยความยินดี เพราะข้อเงื่อนไขของหม่อมฉันคงจะเป็นสิ่งที่ไม่พอใจสำหรับพวกเหล่านี้ ซึ่งมีความคิดไปในทางที่จะให้หม่อมฉันเป็นเพียงลูกมือทำอะไรตามต้องการเท่านั้น” [5]
ทางฝ่ายรัฐบาล เมื่อรับทราบเช่นนี้แล้ว จึงได้ตัดสินใจส่งคณะผู้แทนไปเฝ้าฯ ที่อังกฤษ “เนื่องจากเห็นว่าการที่จะกราบบังคมทูลโดยหนังสือหรือโทรเลขนั้นจะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้”[6] ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลทราบแน่แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตั้งพระราชหฤทัยจะสละราชสมบัติจริงๆ
คณะผู้แทนมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ซึ่งเดิมเป็นพระยาจินดาภิรมย์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ซึ่งในขณะดังกล่าวกำกับดูแลกรมร่างกฎหมายซึ่งใช้เวลานานในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทศบาล และนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ นารีสวัสดิ์) รัฐมนตรีผู้แทนรัฐบาลซึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ โดยมีนายดิเรก ชัยนาม ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม และสมาชิกคณะราษฎรเป็นเลขานุการ ต่อมารัฐบาลได้สั่งให้พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) อัครราชทูต ณ กรุงปารีสซึ่งเคยเสนอตัวเป็น “คนกลาง” แต่แรก ให้เดินทางไปสมทบด้วยโดย ตามหนังสือกราบบังคมทูลว่าได้มอบหมายให้คณะผู้แทน “หาลู่ทางที่จะจัดการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยทุกประการที่จะพึงกระทำได้ ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อตกลงประการใดแล้วจะได้รายงานเข้ามาขออนุมัติอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นการตกลงทางราชการ””[7]
ในเดือนธันวาคม ๒๔๗๗ คณะผู้แทนได้เดินทางไปถึงอังกฤษและได้เข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนั้น เมื่อรับสั่งถาม คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่ากำลังมีกำดำเนินการแก้ไขให้ยกเว้นพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภาษีมรดก จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงใช้โอกาสนั้นทรงรุกคืบด้วยการทรงอ้างถึงคำสนองพระราชบันทึกทั้งสองฉบับที่ว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยทรงขอให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั้งสภา อีกทั้งในการทรงบ่งชี้ถึงการกระทำบางประการของรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้กระทำตามระบอบรัฐธรรมนูญหรือตามหลักการประชาธิปไตย
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันสมัย มองว่าการทรงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของพระองค์ชนิด ๑๘๐ องศาอย่างชัดเจน เพราะทรงเป็นเสมือนผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม ๒๔๗๕ มาด้วยพระองค์เองในสมัยที่พระยามโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรี บัดนี้ทรงอ้างว่าความจริงไม่ทรงพอพระทัยรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่ทรงยอมผ่านไปเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่น่าเชื่อ...”[8]
แต่จากมุมมองของผู้เขียนบทความนี้ ซึ่งพยายามเข้าใจและเข้าถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่าที่จะกระทำได้ เห็นว่าการทรงรุกคืบเช่นนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนท่าทีของพระองค์แต่อย่างใด ด้วยเหตุที่ว่าเป็นพระราชประสงค์จำนงหมายโดยตลอดแล้วว่าจักต้องทรงอำนวยให้เกิดมีระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม การทรงรุกคืบในครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องกับสิ่งที่ทรงเรียกร้องมาก่อนหน้าแล้ว หากแต่ว่า สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อว่ามีวิธีการที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการมีกษัตริย์กับการมีประชาธิปไตยได้ ซึ่งก็คือโดยการให้มีระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ย่อมมองการทรงรุกคืบในครั้งนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนท่าทีของพระองค์ การทำความเข้าใจกับ “ตัวเอก” ของเรื่องอย่างที่เขาเข้าใจตนเอง จึงสำคัญ
ด้วยมุมมองการวิเคราะห์เช่นนี้ จะได้พิจารณาการโต้ตอบกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีต่อไป อย่างรวบยอดเพื่อมิให้ยืดยาวเกินจำเป็น เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดพระราชประสงค์ที่จะให้มีระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยประเภทหนึ่ง โดยตลอด
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเท้าความว่าได้ทรงตกลงที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญด้วยเข้าพระราชหฤทัยว่าแผนการของคณะราษฎรคือการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากแต่ว่าเมื่อได้ทอดพระเนตรธรรมนูญการปกครองที่ทูลเกล้าถวาย ทรงรู้สึกทันทีว่าหลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของพระองค์ไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการฯ ต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียว แต่เพื่อรักษาความสงบไว้ก่อน จึงได้ทรงยอมผ่อนผันไปทั้งๆ ที่ไม่ได้ทรงเห็นด้วยเลย ครั้นเมื่อกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ พระองค์ได้ทรงพยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างฯ อยู่ตลอดเวลาว่าควรถือหลักประชาธิปไตยอันแท้จริงจึงจะถูก และได้เคยทรงตักเตือนพระยามโนฯ ว่าการที่จะให้มีสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งคณะรัฐบาลเป็นผู้ตั้งเองนั้น จะเป็นเหตุทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นได้และเป็นอันตรายต่อวิธีการปกครองแบบใหม่ แต่ก็ไร้ผล เพราะคณะผู้ก่อการฯ ยืนยันจะยึดอำนาจไว้ในมือของตนให้จงได้ อย่างน้อยเป็นเวลา ๑๐ ปี การที่จะทรงโต้เถียงต่อไปอาจเป็นการแตกหักร้ายแรง จึงได้ทรงยอมให้เป็นไปตามนั้น การคาดการณ์ของพระองค์ค่อยๆ เป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ จนต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดชและพวกถึงกับยกกองทหารมาประชิดพระนคร ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย โดยในการยกกำลังมานี้ ก็ได้หยิบยกเอาการตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้นเป็นข้ออ้างสำคัญข้อหนึ่งในการที่เห็นสมควรทำลายรัฐบาลเสียโดยกำลังและโดยผิดกฎหมายเพราะไม่มีทางอื่นที่จะทำได้ ครั้นเมื่อเสด็จฯ กลับมาจากสงขลา รัฐบาลก็ได้เสนอให้แต่งตั้งพวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และหาได้มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์ในการงานดีกว่าสมาชิกประเภทที่ ๑ เลย จึงทำให้มีผู้กล่าวว่าความประสงค์คือการกุมอำนาจไว้ให้ได้มากกว่าที่จะเป็นการให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงขอ ดังนี้
๑. ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ เพื่อให้ราษฎรมั่นใจได้ว่าระบอบการปกครองไม่ได้เป็น “สมบูรณาญาสิทธิของคณะ” ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ได้ทรงสละพระราชอำนาจ “ให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดคณะหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง” โดยทรงแนะนำว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และเป็นผู้ที่เคยชินกับการงานมาแล้ว เช่นเคยรับราชการในตำแหน่งสูงๆ เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงการให้คณะบุคคลใดเป็นผู้เลือกเพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงติเตียนว่าเลือกพวกพ้อง โดยอาจให้ผู้มีความรู้ เช่นผู้ที่เคยเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรเป็นผู้เลือก เป็นต้น
๒. ในเรื่องพระราชอำนาจคัดค้านร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙ กำหนดว่าสภาผู้แทนราษฎรอาจยืนยันให้เป็นไปตามเดิมได้โดยความเห็นข้างมากธรรมดานั้น ทรงเห็นว่า โดยที่สภาฯ ยังไม่ได้เป็นสภาฯ จากการเลือกตั้งทั้งหมด การทรงคัดค้านนั้นน่าจะเป็น “เรื่องสำคัญมากและเกี่ยวกับการได้เสียของประชาชนหรือหลักการอันสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง” เพราะฉะนั้น “ก่อนที่จะให้สภาฯ ลบล้างคำคัดค้านของประมุขของชาติได้ ควรต้องให้ปรากฏแน่ชัดว่าราษฎรมีความเห็นด้วยกับนโยบายหรือกฎหมายนั้นจริงๆ” ทรงแนะนำให้มีการออกเสียงลงประชามติ (plebiscite) หรือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ หรือ ๓ ใน ๔ แล้ว จึงจะลบล้างคำทรงคัดค้าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไว้ด้วยว่า “ข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาปรับความซักทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย...เมื่อคัดค้านให้เป็นผลจริงๆไม่ได้แล้ว ยังซักทอดกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นการหนักมือมาก”[9]
๓. ทรงขอให้รัฐบาลทำตามหลักการของรัฐธรรมนูญจริงๆ คือ ก. ให้เสรีภาพในการพูดการเขียนการโฆษณาจริงๆ และ ข. ให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผย และการตั้งสมาคม ประเด็นแรก มีที่มาจากการที่หนังสือพิมพ์ถูกปิด ทรงเห็นว่า ควรถูกปิดได้ต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น และทรงขอให้เลิกการจับกุมราษฎรโดยหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล” ในประเด็นหลัง เนื่องมาจากการที่ในเวลานั้น ยังตั้งสมาคมการเมืองไม่ได้ ทรงเห็นว่า ควร “ให้ตั้งได้ถ้าวัตถุที่ประสงค์ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ให้ทหารบกทหารเรือและตำรวจประจำการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง”[10]
๔. ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะมีวิธีการที่ขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน ที่อาจถูกจับ และถูกนำตัวขึ้นให้คณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาลพิจารณา และกรรมการนั้นอาจสั่งเนรเทศบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ในที่อันมีเขตจำกัดได้ นับเป็นการตัดสิทธิของพลเมืองในการที่จะต่อสู้ข้อหาของเจ้าหน้าที่ ควรชำระ “โดยเปิดเผย” ในศาลหลวง จำเลยมีทนายความ “ไม่ใช่ตัดสินอย่างงุบงิบ ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลอาจขาดความยุติธรรม เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรง”[11]
๕. ทรงเห็นว่า เพื่อความสงบในบ้านเมืองในระยะยาว ควรมีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมือง พร้อมกันนั้นทรงเสนอแนะการลดโทษแก่เขาเหล่านั้นแบ่งตามประเภทของโทษ
๖. ทรงขอให้ข้าราชการที่ถูกปลดออกฐานถูกสงสัยว่าจะมีความผิดทางการเมืองได้รับบำเหน็จบำนาญตามเดิม เพราะหากอดอยาก อาจเป็นตัวการก่อความไม่สงบได้ อีกทั้งจะเป็นความกรุณาต่อครอบครัวของเขา
๗. ทรงขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมข้าราชการที่ยังถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับ “การกบฏ” ครั้งใดๆ ก็ตาม ด้วยเหตุผลเดียวกัน
๘. ทรงย้ำอีกครั้งถึงการที่ได้ทรงขอก่อนหน้านี้ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรแก่พระองค์ว่า จะไม่ตัดกำลังและตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ และให้คงฐานะทหารรักษาวังที่เป็นอยู่ในเวลานั้นไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้มีอาวุธเท่ากับกองร้อยกองพันทหารราบอื่นๆ ทรงอธิบายไว้ด้วยว่า ในเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะคงมีกรมทหารที่ทรง “พอจะควบคุมมิให้ยุ่งเหยิงทางการเมืองได้ เอาไว้รักษาพระราชวังและรักษาพระองค์โดยใกล้ชิดเท่านั้น” เพื่อเป็นการอุ่นพระทัย เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
ในสองย่อหน้าสุดท้ายทรงไว้ว่า เมื่อรัฐบาลตกลงจะรับรองแล้วขอให้เสนอสภาฯ ให้มีมติรับรองด้วยทุกข้อ และต้องให้พระองค์พอพระราชหฤทัยว่าได้จัดการตามที่ทรงร้องขอจริงๆ แล้ว จึงจะเสด็จฯ กลับสยาม
หลังจากนั้น ได้มีการโต้ตอบกันระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต่อไป สรุปความได้ว่า โดยมาก ทั้งสองฝ่ายรักษาจุดยืนของตน รายละเอียดบางประการที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
รัฐบาลแสดงความประหลาดใจที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงร้องขอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุที่ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะที่มีการร่าง ได้แจ้งว่าพระองค์พอพระราชหฤทัยมาก รัฐบาลปฏิเสธว่าไม่ได้คัดเลือกพรรคพวกเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และไม่เคยทราบว่าพระยามโนฯ ได้ถวายคำสัญญาว่าจะเปิดโอกาสให้พระองค์ได้ทรงคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อ รัฐบาลยังเห็นว่าการที่เสด็จฯ กลับจากสงขลาช้ามากทำให้ไม่มีเวลาที่จะถวายรายชื่อให้ทอดพระเนตรก่อน ส่วนในเรื่องของพระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ รัฐบาลปฏิเสธข้อทรงแนะนำทั้งสิ้นและยืนยันจุดยืนที่จะรักษา “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญถาวร”[12]
วิเคราะห์ได้ว่า เท่ากับว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมกระบวนการเปลี่ยนแปลงผ่านไปสู่การมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั้งสภาให้อยู่ในมือของรัฐบาลและโดยที่ไม่ให้พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกระบวนการนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเห็นได้ชัดเจน
เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยกับสาระบางส่วนของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วงที่กำลังยกร่างอยู่จริงหรือไม่ กอบเกื้อ สุวรรณฑัต-เพียร[13] วิเคราะห์ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสังเกตเห็นสาระอันแท้จริงของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเภทลายลักษณ์อักษรและเป็นประมวลกฎหมาย ว่ากำหนดให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจ หรือแม้ “พระราชสิทธิสามประการ” ที่จะพระราชทานคำปรึกษา พระราชทานกำลังใจ และคำทรงเตือนสติ จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในเวลานั้น สำหรับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเห็นว่าที่ทรงอ้างในช่วงหลังนี้ว่าไม่ทรงพอพระราชหฤทัยตั้งแต่แรกแล้ว และทรงอธิบายว่าทรงยอมให้ผ่านไปเพื่อความรวดเร็ว “เป็นคำอธิบายที่ไม่น่าเชื่อ” เขาเขียนต่อไปว่า “รัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม ๒๔๗๕ ได้ฟื้นฟูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างมาก และขอเพียงให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทรงว่ากล่าวได้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่เป็นจริงได้ แน่นอนว่าในขณะที่คนอย่างพระยามโนฯ เป็นนายกฯ พระปกเกล้าฯ ย่อมไม่ทรงต้องกังวล ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ หากแต่คือการตกจากอำนาจไปของพระยามโนฯ ต่างหาก ที่เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างกะทันหัน”[14] สมศักดิ์ได้ยกตัวอย่างประเด็นสองประเด็นในพระราชบันทึกระหว่างที่ทรงต่อรองมาอภิปราย เช่น ประเด็นสมาชิกประเภทที่ ๒ ว่าต้องพระราชประสงค์ “จะทรงแต่งตั้งคนพวกนี้เอง” ประเด็นสิทธิการตั้งพรรคการเมือง ว่าทรง “เปลี่ยนพระทัยพยายามต่อรองเพิ่มอำนาจให้แก่พระองค์เองและแวดวงของพระองค์ และลดหรือแยกสลายอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งฝ่ายหลังก็เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงปฏิเสธไป[15]
ข้อวิเคราะห์ทั้งของกอบเกื้อและสมศักดิ์ข้างต้นนี้ มีความเป็นไปได้อยู่ แต่จะสรุปเป็นข้อเท็จจริงแน่นอนไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับว่าแท้จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับพระยามโนฯ ได้เจรจาพาทีกันอย่างไร
หากแต่จากมุมมองที่พยายามจะเข้าใจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จากการติดตามศึกษาเรื่องราวที่ดำเนินมาวิเคราะห์ได้อีกรูปแบบหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบดีถึงแก่นสาระของรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะที่กำลังยกร่างอยู่นั้น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว จึงทรงเห็นว่าพระองค์ควรที่จะทรงทัดทานอย่างชัดเจนเฉพาะส่วนที่เห็นได้โดยง่ายว่ากระทบต่อพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือส่วนของ “พระราชปรารภ” เป็นสำคัญ โดยอาจทรงหวังว่าพระยามโนฯ จะเป็น “ตัวกลาง” ที่จะอำนวยให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงถกเถียงกับคณะราษฎรโดยตรง แต่ทรงเพียงแต่พระราชทานคำปรึกษา คำแนะนำ และคำเตือนสติก็จะเป็นการเพียงพอ หากแต่เมื่อพระยามโนฯ หลุดจากอำนาจแล้ว พระองค์ไม่มีหนทางอื่นนอกจากที่จะทรงติดต่อโดยตรงกับพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ไม่ว่าเขาจะมีอำนาจและอิทธิพลจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่รัฐบาลและคณะราษฎรกำลังแสดงอาการของการใช้อำนาจคณาธิปไตยแบบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และแล้วพระองค์ก็ทรงพบว่า พระยาพหลฯ ไม่ได้แยแสแม้กับการทรงใช้พระราชสิทธิ์
ดังนั้น เมื่อในการสนองพระราชบันทึก รัฐบาลปฏิเสธว่าไม่ได้ละเมิดเสรีภาพโดยไม่มีเหตุจำเป็น และแสดงความฉงนสนเท่ห์ว่า เหตุใดจึงทรงเห็นควรอนุญาตให้ตั้งสมาคม (พรรค) การเมืองได้ในคราวนี้ทั้งๆ ที่ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามโนฯ ทรงแนะนำว่าไม่ควรอนุญาตมาก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงอธิบายตอบว่า แต่ก่อนนั้น ต้องพระราชประสงค์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ขออนุญาตตั้งสมาคมคณะชาติขึ้นแข่งขันกับสมาคมคณะราษฎร แต่ไม่ทรงเห็นว่าขณะนั้นเป็นจังหวะเวลาที่ควรมีการเมืองแบบอยู่กันคนละขั้วคนละฝ่ายกันของพรรคการเมือง (adversarial politics) แต่ในช่วงหลังนี้ การเกิดกบฏขึ้นได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า มีพรรคการเมืองดำเนินการอยู่อย่างลับๆ อยู่ดี และหากยังให้เป็นการผิดกฎหมาย พรรคเหล่านั้นก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการพยายามยึดอำนาจด้วยกำลัง จึงทรงเห็นว่าจะเป็นการดีกว่าที่จะให้มีพรรคการเมืองแข่งขันกันโดยถูกกฎหมาย ทั้งรัฐบาลเองก็ควรประกาศเสียทีเดียวว่าจะดำเนินการอย่าง Socialist (สังคมนิยม) หรือ Liberal (เสรีนิยม)[16]
เกี่ยวกับประเด็นหลังนี้ ต้องเท้าความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เคยมีพระราชวิจารณ์ส่วนพระองค์ว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีลักษณะเป็นสังคมนิยมแบบถึงรากถึงโคน ซึ่งทรงเห็นว่าจะเป็นอันตรายยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่และเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้น่าจะทรงเห็นอีกว่า เป็นระบอบสาธารณรัฐซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงทรงทัดทานมิให้รัฐบาลพระยามโนฯ ประกาศเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล หากแต่ว่าหลังจากที่พระยามโนฯ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ทรงเล่ามากกว่าครั้งเดียวว่า พระยามโนฯ ได้จัดการกับหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างแรงและได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรไป แม้ว่าจะได้ทรงใช้พระราชสิทธิเตือนสติพระยามโนฯ ถึงผลที่อาจตามมาแล้ว ดังนั้น พระราชดำริในคราวนี้ข้างต้น จึงไม่ได้เป็นการทรงกลับลำแต่อย่างใด พระองค์ยังคงเน้นว่าไม่ควรมีการรื้อฟื้นเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมาเพราะจะมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันก็ควรอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้ภายใต้บทบัญญัติเชิงรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีพรรคใดที่มีอาวุธ หรือทหารตำรวจหนุนหลัง ซึ่งก็คือให้เป็นไปดังที่เป็นอยู่ในระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในตะวันตกขณะนั้น
จึงวิเคราะห์ได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงกระทำการ ๒ ประการควบคู่กันไป คือ หนึ่ง ทรงพยายามอำนวยให้เกิดระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญที่แท้จริงขึ้น และสอง ทรงพยายามเกื้อหนุนให้เกิดระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งมีการปกครองโดยหลักนิติธรรม (The rule of law) เป็นฐานที่จำเป็นอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยที่มั่นคง ขึ้นในสยาม หากแต่ว่าคณะราษฎรเห็นจากมุมมองและจุดยืนของตนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงแต่กำลังทรงพยายามที่จะเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะให้คณะราษฎรตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในการแข่งขันกับฝ่าย “นิยมเจ้า”
ต่อคำทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอ้างว่าพระราชบัญญัติมีไว้เพื่อการป้องกันมากกว่าที่จะปราบปราม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงโต้ว่า “วิธีการอันดีเยี่ยมในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดกบฏขึ้นได้นั้น ก็โดยดำเนินการปกครองอย่างดีและโดยกำจัดข้อไม่พอใจต่างๆ เสีย มิใช่โดยวิธีปราบปราม กฎหมายใหม่นี้ไม่ให้ความยุติธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งจะต้องจัดการไป อันที่จริงไม่จำเป็นเลยที่จะหันเข้าใช้ศาลพิเศษทุกรายไป ความจริงศาลนี้ไม่ควรจะตั้งขึ้นเลย นอกจากในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ ...”[17]
ในเรื่องการลดโทษ รัฐบาลย้ำว่าจะพิจารณาดำเนินการอภัยโทษได้ก็ต่อเมื่อได้มีการตัดสินคดีทุกคดีแล้วเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นว่าเช่นนั้นเป็นการยกโทษแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีผลดีแต่ประการใด รัฐบาลโต้ว่าเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา ซึ่งก็คือรัฐบาลต้องการที่จะคงกดดันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน ในส่วนของการคืนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ถูกปลด รัฐบาลรับจะดำเนินการ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงยอมรับคำตอบนี้ ส่วนในประเด็นทหารรักษาวัง รัฐบาลยอมตามทรงขอ
ระหว่างที่การเจรจาโต้ตอบกำลังดำเนินไปอยู่นี้ มีการพิจารณาแก้ไขร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาชญา ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการถวายฎีกาขอรับพระราชทานอภัยโทษที่จะให้คำถวายฎีกาต้องผ่านการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและหากไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยตกลงมาภายใน ๒ เดือน ก็ให้ถือว่าเรื่องราวนั้นตกไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรง “ยอมรับไม่ได้เลยทีเดียวเพราะเป็นการตัดสิทธิ์ซึ่งราษฎรมีอยู่ก่อนยิ่งขึ้นไปอีกมิใช่หรือ” รัฐบาลตอบว่า “รัฐบาลมองไม่เห็นว่าจะเสียหลักยุติธรรมอย่างใด” ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ “ตามพระราชประสงค์ เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นไปแล้ว จะปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ได้เลย ไม่ว่าเวลาจะล่วงพ้นไปนานเท่าใด”[18]
วิเคราะห์ได้ว่า การแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันของรัฐบาลเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในขณะนั้นรัฐบาลต้องการที่จะเห็นบรรดากบฎที่ต้องคำตัดสินแล้ว ได้รับโทษประหารชีวิต หรือโทษจำคุกหรือจองจำจริง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงธำรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจหนึ่งเดียวที่ทรงมีเหลืออยู่ในอันที่จะทรงรักษาสัญญาที่ได้พระราชทานไว้แก่ปวงประชาราษฎรแต่ครั้งที่บรมราชาภิเษกว่าจะทรง “จัดการปกครองและป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป” ไว้ให้ได้ ซึ่งก็คือพระราชอำนาจตามจารีตประเพณีของสยามที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “เจ้าชีวิต” หากแต่ว่า ในมุมมองของรัฐบาล พระองค์กำลังทรงพยายามเอื้อต่อกบฏฝ่าย “นิยมเจ้า” และต้องพระราชประสงค์ที่จะให้มีการปล่อยตัวเขาเหล่านั้นให้สามารถรวมตัวกันต่อต้านคณะราษฎรได้
อนึ่ง ต่อมา หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้สละราชสมบัติแล้ว ได้มีการลดโทษ เช่นจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยในหลายกรณีเป็นบนเกาะตะรุเตา
สรุป
รวมความว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลมีจุดยืนตรงกันข้ามกันในประเด็นที่เป็นหลักการ ดังนั้นในวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงยื่นคำขาดให้รัฐบาลถวายคำตอบที่ตรงไปตรงมาต่อคำขอของพระองค์ภายในวันที่ ๒๗ ปรากฏว่ารัฐบาลยืนกราน ครั้นวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (พ.ศ. ๒๔๗๘ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติจากพระตำหนักโนล ตำบลแครนลีย์ ประเทศอังกฤษ พระราชทานไปยังเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าคณะผู้แทนจากกรุงเทพฯ ซึ่งถูกส่งไปเฝ้าฯ นั้น ณ สถานอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน พระราชหัตถเลขาฉบับลายพระหัตถ์มีอยู่ในการสละราชสมบัติ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ พร้อมบทวิเคราะห์พระราชหัตถเลขา อีกทั้งบทวิเคราะห์สรุปรวมพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับระบอบการปกครองตั้งแต่ต้นรัชกาลถึงวาระที่สละราชสมบัติ ซึ่งก็คือการสรุปรวมสาระสำคัญของการวิเคราะห์ในเรื่องเกี่ยวกับพระราชทัศนะและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” “ประชาธิปไตย” และ “ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ”
วิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่เริ่มเป็นการขู่จะสละราชสมบัติได้กลายเป็นการทรงสละราชสมบัติจริงๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหวังว่าระยะห่างจากกรุงเทพฯ จะอำนวยให้การทรงขู่เช่นนั้นมีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น การรับสั่งเช่นนี้กับนายเจมส์ แบกซเตอร์ก่อนเสด็จฯ ไปยุโรป น่าจะเป็นว่า ทรงพร้อมอยู่ที่จะสละราชสมบัติจริงๆ มิฉะนั้นจะทรงหวังให้การทรงขู่เกิดประสิทธิผลได้อย่างไร และหากติดตามศึกษาให้ดี จะเห็นได้ว่าทรงมีเหตุผลหลายอย่างหลายประการอยู่แล้วทั้งที่ได้รับสั่งให้ทราบและในพระราชหฤทัยว่าเหตุใดจึงควรที่จะสละราชสมบัติ อีกทั้งเมื่อใด การทรงขู่จึงมิได้เป็นเพียงการขู่ แต่เป็นการพร้อมที่จะทรงทำจริง ดังนั้น ในการทรงตั้งเงื่อนไขหากต้องการให้ทรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป จึงน่าจะเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของพระองค์ที่จะทรงดูแลให้เกิดมีระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญในสยามให้ได้ เพื่อที่จะได้เป็นช่องทางของการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการมีพระมหากษัตริย์กับการมีประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นการทดสอบครั้งสุดท้ายกับสถานการณ์ที่เป็นจริงว่าเหตุผลที่ทรงมีอยู่แล้วว่าเหตุใดจึงควรที่จะสละราชสมบัติเป็นเหตุผลที่เหมาะควรหรือไม่ การทรงพระราชมานะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะบรรลุสิ่งที่ทรงเห็นว่าถูกต้องจนถึงที่สุดจริงๆ เช่นนี้ สอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ว่า “ถ้าเราทำการใดๆ ไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้ว ก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่โดยสุดกำลังแล้ว” บัดนั้น ได้ทรงพยายามทำการงานตามหน้าที่โดยสุดพระกำลังแล้ว จึงทรงพร้อมที่จะสละราชสมบัติ
ข้อวิเคราะห์นี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากข้อวิเคราะห์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ว่า “เมื่อทรงเริ่มใช้การขู่สละราชย์ครั้งหลังสุดนี้พระองค์ไม่ได้ทรงคิดจะสละราชย์จริงๆ แต่ทรงประเมินประสิทธิภาพของ “อาวุธ” นี้สูงเกินไป จึงทรงผลักการต่อรองและตัวพระองค์เองไปสู่จุดอับ ทำให้ทรงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องสละราชย์จริงๆ”
สำหรับหนังสือของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เรื่อง กรณี ร.๗ สละราชสมบัติ: การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง นั้น นครินทร์ได้เขียนไว้ในบทสรุปเองว่า “มิได้เน้นเรื่องราวอันเป็นสาเหตุ กระบวนการ และผลกระทบทางการเมืองที่สืบเนื่องจากการสละราชสมบัติแต่ประการใด หากแต่เน้นการศึกษาวิจัยไปที่ “กระบวนการจัดการความจริงว่าด้วยพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย” กล่าวคือเป็นการนำเสนอ “เรื่องบอกเล่า” แบบต่างๆ เกี่ยวกับการสละราชสมบัติโดยพิจารณาว่าเรื่องบอกเล่าเหล่านั้นประสงค์จะจัดการความจริงอย่างไร ดังนั้น จึงมิได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเขียนฐานข้อมูลนี้ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจ ย่อมจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนั้นในแง่ของการได้รับการเตือนให้มีสติในเวลาที่อ่าน “เรื่องเล่า” และ “บทวิเคราะห์” ต่างๆ ว่าต่างก็มีการตีความอยู่ไม่มากก็น้อย
บรรณานุกรม
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๔๖. กรณี ร.๗ ทรงสละราชสมบัติ: การตีความและการสารต่อความหมายทางการเมือง. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ๒๕๔๔. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก.
สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรง
สละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่)
Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development, 1932-2000. London and New York: Routledge Curzon.
อ้างอิง
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๕-๑๔.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ“แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๘.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑๐-๑๔.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑๙-๒๐.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๒๒.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๒๖.
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ๒๕๔๔. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก) , หน้า ๑๖.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๓๘.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๓๙.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๓๙.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑๐๔.
- ↑ Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development, 1932-2000. (London and New York: Routledge Curzon) , pp. 35-36.
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ๒๕๔๔. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก) , หน้า ๑๖.
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ๒๕๔๔. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก) , หน้า ๑๘.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๔๔.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ“แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑๐๕.
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการ. ๒๕๓๖. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง. (ซึ่งเป็นการนำหนังสือ “แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่) , หน้า ๑๑๑-๑๑๒.