พระยาราชวังสัน
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระยาราชวังสัน : รัฐมนตรีกลาโหมคนแรก
ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นมีขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่คุมกิจการทหารของประเทศนั้นถือว่ามีความสำคัญ แต่รัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของรัฐบาลนั้นก็มิใช่คนของคณะราษฎรหรือคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด หากแต่เป็นนายทหารเรือใหญ่ที่เคยเป็นองคมนตรีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก่อน และเป็นพี่ชายของนายทหารเรือที่เป็นหัวหน้าผู้ก่อการสายทหารเรือคนสำคัญ รัฐมนตรีกลาโหมที่ว่านี้คือ นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน ผู้เป็นพี่ชายของนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัยนั่นเอง และเชื่อกันว่าตอนที่หลวงสินธุ์สงครามชัยเข้าร่วมทำงานก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เที่ยวชักชวนเพื่อนนายทหารเรือเข้าร่วมก่อการฯ ด้วยนั้น ท่านมิได้แย้มพรายหรือชวนพี่ชายผู้นี้เข้าร่วมงานด้วยแต่อย่างใด ที่จริงอายุของพี่น้องคู่นี้ห่างกันมาก คือห่างกันถึง 15 ปี และเขายังว่ากันว่าที่หลวงสินธุสงครามชัยได้ทุนรัฐบาลไปเรียนวิชาทหารเรือที่เดนมาร์คนั้นก็เพราะพี่ชาย เพราะโดยทั่วไปบุตรชายคนโตของนายทหารจะได้รับการส่งเสริมส่งให้ไปเรียน และช่วงที่หลวงสินธุสงครามชัยโตถึงวัยเรียนอายุได้17-18 ปีนั้น พระยาราชวังสันยังไม่มีบุตรชายโตพอ และท่านก็เป็นผู้เลี้ยงดูหลวงสินธุสงครามชัยผู้เป็นน้องชายตลอดมา ดังนั้นเรามารู้จักชีวิตของพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีกลาโหมคนแรกกัน
พระยาราชวังสันไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่เป็นคนเมืองสมุทรสาคร เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2429 ที่บ้านท่าจีน มีบิดาชื่อนายเล็ก มารดาชื่อนางจู ชื่อเดิมของพระยาราชวังสันนั้นคือ ศรี มีการบันทึกไว้ว่าท่านได้ศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ จากนั้นนายศรีจึงได้เข้าศึกษาต่อเป็นนักเรียนนายเรือในปี 2446 ตอนนั้นท่านมีอายุได้ 17 ปี จึงนับว่าท่านเป็นคนเรียนเร็ว เรียนจบมาแล้วก็เข้ารับราชการเป็นนายทหารเรือ ขณะที่ท่านอายุได้ 25 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิยัตินาวายุทธ และมียศเป็นนายนาวาตรี ได้เป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงคำรณสินธุ์ นำเรือลำนี้เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยเมื่อปี 2455 ตำแหน่งอื่นในกองทัพเรือที่ท่านเคยเป็นก็เช่นเคยเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งมหาจักรี เคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนายเรือ และตำแหน่งสำคัญยิ่ง คือ เสนาธิการทหารเรือ
แม้มิได้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯและมิได้เป็นนักกฎหมายตามอาชีพก็ตาม แต่ปรากฏว่านายพลเรือโท พระยาราชวังสันได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดกติกาในการสร้างระบอบการปกครองที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะท่านได้รับแต่งตั้งเพิ่มเติมให้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วยในเดือนกันยายน ปี 2475 หลังการแต่งตั้งทั้งชุดจำนวน 7 คนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปีเดียวกัน อนุกรรมการชุดนี้มีหัวหน้ารัฐบาล คือ ประธานคณะกรรมการราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน และ มีกรรมการที่เป็นนักกฎหมาย ได้แก่ พระยาเทพวิทุร พระยามานวราชเสวี พระยานินิศาสตร์ไพศาล พระยาปรีดานฤเบศร์ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับนายทหารบกอีกหนึ่งคนคือ นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์ ส่วนอนุกรรมการที่ตั้งเพิ่มเข้ามาพร้อมท่านนั้น ได้แก่ พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งก็เป็นนักกฎหมาย ดังนั้นท่าน จึงเป็นนายทหารเรือแต่เพียงคนเดียวในคณะที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ที่จริงก่อนหน้านี้รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ ก็ได้มอบหมายตำแหน่งสำคัญให้ท่าน คือให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม ปี 2475 ตำแหน่งนี้ว่างมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน เพราะเสนาบดีท่านเดิม พลเรือเอกกรมหลวงสีหวิกรมเกรียงไกร ที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ลาออก และรัฐบาลก็ยังไม่ได้ตั้งใครเป็นแทน คงให้ปลัดทูลฉลองของกระทรวงทำหน้าที่ดูแลแทน ดังนั้น พระยาราชวังสันจึงนอกจากจะเป็นบุคคลที่หัวหน้ารัฐบาลไว้ใจแล้ว ก็ยังเป็นบุคคลที่คณะผู้ก่อการฯวางใจด้วย และที่คณะผู้ก่อการฯวางใจนั้นก็คงเนื่องจากการที่ท่านเป็นพี่ชายของหลวงสินธุ์สงครามชัย ผู้ก่อการฯ คนสำคัญนั่นเอง ครั้นต่อมาเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเรียบร้อยและนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร จนเรียบร้อยประกาศใช้ได้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 แล้ว ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีพระยามโนปกรณ์ฯเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้ไม่มีทั้งตำแหน่งกรรมการราษฎรและตำแหน่งเสนาบดี แต่เจ้ากระทรวงก็คือรัฐมนตรี ครั้งนี้พระยาราชวังสันได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนชีวิตสมรสของท่านนั้นท่านได้สมรสกับคุณถนอมศรี ต่อมาภริยาคนแรกเสียชีวิตท่านจึงได้สมรสกับคุณหญิงระจิตร ราชวังสัน
แต่เมื่อมีการยึดอำนาจซ้ำ ในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 โดยคณะผู้ก่อการฯส่วนหนึ่งที่เป็นทหารนำโดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาที่เป็นหัวหน้า และมีนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นเลขานุการฝ่ายทหารบก กับนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย เป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ เข้าล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ จึงทำให้พระยาราชวังสันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปด้วย และคงเนื่องมาจากการที่พระยาราชวังสันเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอยู่ในรัฐบาล การยึดอำนาจครั้งที่ 2 นี้จึงไม่มีชื่อหลวงสินธุสงครามชัยเข้าร่วมการยึดอำนาจด้วย แต่หลวงสินธุสงครามชัยก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาลและมีบทบาทนำต่อมาในกองทัพเรือได้
ส่วนพระยาราชวังสันหลังจากพ้นตำแหน่งจากรัฐบาล เว้นว่างงานในตำแหน่งสำคัญอยู่ประมาณหนึ่งปี ทางรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งท่านไปเป็นตัวแทนประเทศชาติในตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน นับเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศอันสำคัญ ในปี 2477 และท่านได้เป็นทูตอยู่สืบมา จนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2482