วุฒิสภา
ผู้เรียบเรียง วัชราพร ยอดมิ่ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา ซึ่งได้มีการใช้ระบบรัฐสภาทั้งในรูปแบบของสภาเดียว และสองสภา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นๆ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ปกครองในรูปแบบของสองสภา อันประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่หลักในการตรากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และหน้าที่อื่นๆ โดยกำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ วุฒิสภาจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองของไทย
ประวัติ ความเป็นมาของวุฒิสภาไทย
กล่าวได้ว่าวุฒิสภามีพัฒนาการเริ่มแรกในรูปแบบของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [1] ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 2 ประเภท ซึ่งสมาชิกประเภทที่ 2 นี้เองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า[2] “...ที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่สองไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครอง ป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกำลังในทางทรัพย์ คณะราษฎร ปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง...” แต่ทั้งสองกรณีดังกล่าวยังไม่ถือว่าวุฒิสภากำเนิดขึ้นอย่างแท้จริง วุฒิสภาเกิดขึ้นและมีบทบาทอย่างแท้จริงในระบบรัฐสภาไทยครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2489 จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดให้มีรัฐสภา ประกอบด้วยสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยสมาชิกพฤฒสภามีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จำนวน 80 คน ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าจะให้ประเทศไทยมีสถาบันหลักทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ได้กำหนดให้ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก พฤฒสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เริ่มใช้คำว่า “วุฒิสภา” ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ในการปกครองระบบรัฐสภาของไทยนั้นจะมีรูปแบบตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการปกครองแบบสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ฉบับ ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489[3] กำหนดให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จำนวน 80 คน โดยให้มี “องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงเป็นผู้เลือกสมาชิกพฤฒสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 กำหนดให้มีวุฒิสภา (เปลี่ยนชื่อมาจากพฤฒสภา) โดยพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 กำหนดให้มีวุฒิสภาจำนวน 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2511 กำหนดให้มีวุฒิสภา อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน จำนวนสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517[4] กำหนดให้มีวุฒิสภาอันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง โดยให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งวุฒิสภา แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) พุทธศักราช 2518 คือ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิกให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 84 ได้กำหนดที่มาของวุฒิสภาไว้ทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2518 เพียงแต่มิได้กำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาไว้แน่นอน ให้ขึ้นอยู่กับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534[5] กำหนดให้มีวุฒิสภา อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรืออาชีพต่างๆ จำนวน 270 คน แต่มีการแก้ไขจำนวนของสมาชิกวุฒิสภาจากจำนวนคงที่เป็นจำนวนสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้มีวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน นับเป็นมิติใหม่ทางการเมืองที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน
9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน (76 จังหวัด 76 คน) และมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา (74 คน)
บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภานั้นจะแตกต่างกันไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกหน้าที่ได้ 6 ประการ คือ
1. วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ[6] เป็นการกลั่นกรองและยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในส่วนของร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณร่ายจ่าย ถือเป็นอำนาจหน้าที่หลักของวุฒิสภา แต่อย่างไรก็ตามมีรัฐธรรมนูญของไทย 2 ฉบับที่ให้อำนาจวุฒิสภาริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
2. วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
2.1 การตั้งกระทู้ถาม รัฐธรรมนูญ (ที่บัญญัติให้มีสองสภา) ทุกฉบับ ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ในที่ประชุมวุฒิสภา
2.2 การเปิดอภิปรายทั่วไป[7] อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการเปิดอภิปรายทั่วไป รัฐธรรมนูญ (ที่ใช้ระบบสองสภา) สามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
ก) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจวุฒิสภามีอำนาจอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ มี 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เป็นการให้อำนาจทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาขอเปิดและกำหนดการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลร่วมกัน ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นการให้อำนาจแต่เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรขอเปิดอภิปรายแต่ให้ดำเนินการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยร่วมกันทั้งสองสภา
ข) การให้ความไว้วางใจนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายบริหารโดยการลงมติความไว้วางใจในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490
ค) การขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในปัญหาที่อภิปราย วุฒิสภามีอำนาจขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (ต่อมาถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535) รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2.3 การตั้งคณะกรรมาธิการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับ (ที่บัญญัติให้มีสองสภา) กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจเลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และเลือกสมาชิกหรือบุคคลที่มิได้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาแล้วรายงานต่อวุฒิสภา
3. วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญต่างๆ เป็นอำนาจที่ต้องกระทำในนามของรัฐสภา กล่าวคือ ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ การให้ความเห็นชอบในการทำหนังสือสัญญาสำคัญ การประกาศสงครามและ การปิดสมัยประชุมสามัญ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือถูกยุบรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในกรณีต่างๆ ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อมิให้กิจการหรือผลประโยชน์ของประเทศต้องกระทบกระเทือน
4. วุฒิสภามีอำนาจในการเลือก แต่งตั้งให้คำแนะนำ และให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ส่วนใหญ่จะเป็นตุลาการและกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น
5. วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการถอดถอนบุคคลที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ออกจากตำแหน่ง บุคคลที่วุฒิสภามีอำนาจลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ผู้พิพากษา อัยการและผู้ดำรงตำแหน่งสูงตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม เป็นต้น
6. วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่อื่นๆ [8] เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในนามของ “รัฐสภา” ที่มีทั้งการที่ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และไม่ต้องประชุมร่วมกัน ดังนี้
- การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- การพิจารณารับทราบรายงานประจำปีของหน่วยงานต่างๆ
- ด้านต่างประเทศ จะดำเนินการในนาม”สมาชิกรัฐสภาไทย” ผ่านองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ เช่น สหภาพรัฐสภา สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก องค์การรัฐสภาอาเซียน และการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
- ด้านการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นสื่อกลางในการนำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนไปบอกกล่าวให้ฝ่ายบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน ซึ่งแบ่งเป็นสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทแรก เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยกำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 1 เสียง และให้ออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ประเภทที่สอง สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา จำนวน 74 คน โดยสรรหาและคัดเลือกจากองค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้[9]
1. กำหนดให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นมาลงทะเบียน พร้อมทั้งเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันสรรหา ทั้งนี้แต่ละองค์กรเสนอชื่อได้ 1 คน องค์กรดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ก) เป็นองค์กรในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ข) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และ ค) เป็นองค์กรที่มิได้แสวงผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
2. คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรและคุณสมบัติผู้ได้รับเสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการเสนอชื่อซึ่งคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 1 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองมอบหมาย รวม 7 คน
3. คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาพิจาณาสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 74 คน และแจ้งผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้บัญชีรายชื่อ โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาและแจ้งผลการสรรหาไปยังประธานรัฐสภาเพื่อรับทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
วาระการดำรงตำแหน่ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หรือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาแล้วแต่กรณี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ อนึ่ง ในมาตรา 297 กำหนดให้ ในวาระเริ่มแรก ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหามีวาระ 3 ปี นับแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพ และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในวาระเริ่มแรกเมื่อสิ้นสุดสมาชิกสภาพแล้วสามารถได้รับการสรรหาให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้
การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 119 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อาทิเช่น ถึงคราวออกตามวาระ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115 การทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 116 มาตรา 265 หรือมาตรา 266 และขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม เป็นต้น
วุฒิสภาถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิรูประบบการเมืองไทย เพราะวุฒิสภาเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะทำให้การเมืองของไทยนั้นสะอาด โปร่งใสและมีคุณภาพ ดังนั้นวุฒิสภาต้องมีที่มาอย่างยุติธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ สมดังเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป
อ้างอิง
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549. หน้า 1.
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549. หน้า 1-2.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 4.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 7-8.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 9-10.
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). หน้า 7-8.
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). หน้า 8-9.
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551. หน้า 77-80.
- ↑ คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.
ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551. ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543.
สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า. บทความคัดสรรสำหรับสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.
บรรณานุกรม
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. คู่มือสมาชิกวุฒิสภา เล่มที่ 1. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.
นรนิติ เศรษฐบุตรและคณะ. บทบาทของวุฒิสภา : มุมมองของประชาชนและสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. วุฒิสภาไทย : รวมสาระจากบทความวิทยุความรู้เรื่องสมาชิกวุฒิสภากับศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2545.
ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551.
ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543.
สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า. บทความคัดสรรสำหรับสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.