ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ผู้เรียบเรียง เชษฐา ทองยิ่ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างเช่นประเทศไทย เมื่อใดที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชกรณียกิจไม่ได้ เช่น ทรงประชวร ทรงผนวช ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แทนพระมหากษัตริย์ ในการลงพระนามาภิไธย ลงพระนาม หรือลงนามในพระราชบัญญัติและกฎหมายต่างๆ หรือจะปฏิบัติพระราชภาระต่าง ๆ ที่สำคัญแทนพระมหากษัตริย์ เช่น การออกรับคณะบุคคลสำคัญหรือทูตานุทูตจากต่างประเทศที่เข้าเฝ้าฯ หรือมาเยือนประเทศ รวมถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ความหมายของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึงบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง เพื่อบริหารพระราชภาระต่าง ๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้[1]
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นับเป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระต่าง ๆ เสมือนองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะได้รับความคุ้มครองในสถานะเดียวกับพระราชินี และรัชทายาท ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109-112) ที่มีบทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทำการใดๆที่เป็นการประทุษร้ายต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือกระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้รวมถึงผู้พยายามกระทำความผิด หรือผู้ที่กระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งต้องระวางโทษในความผิดเช่นเดียวกับได้กระทำต่อองค์พระราชินี หรือรัชทายาท[2]
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ได้บัญญัติให้ "คณะกรรมการราษฎร" (ต่อมาเรียกคณะรัฐมนตรี) เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระแทนพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร[3] ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 บทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เริ่มมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากมิได้ทรงตั้งไว้หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราวก่อน[4]
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้บัญญัติให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ดังนั้น การตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากมิได้ทรงตั้งไว้หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว[5]
ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ ดังนั้น หากพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที นอกจากนี้กรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เอาไว้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์[6]
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะมีรายละเอียดและกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น กว่าฉบับก่อนๆ กล่าวคือ
1) เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
2) หากกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้เป็นอำนาจของคณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3) ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีดังกล่าว หรือหากว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
4) ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบสันตติวงศ์เพื่อทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดังกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
นอกจากนี้ บทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กล่าวมาคือ มีการบัญญัติให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งขึ้น ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่ด้วย[7]
บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาจนถึงฉบับปัจจุบัน จะมีความคล้ายคลึงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ดังที่กล่าวไปแล้ว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับปัจจุบัน) บัญญัติให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายใต้วิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1) เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
2) หากในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3) ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีดังกล่าวข้างต้น หรือหากว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน โดยในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นหรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีนี้ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นนี้ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
4) ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
5) ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตาม 4) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน และในกรณีเช่นนี้ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
นอกจากนี้ ก่อนที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งขึ้นจะเข้ารับหน้าที่ จะต้องมีการปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ตามถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"[8]
จากที่กล่าวมาทั้งหมด พอจะสรุปให้เห็นถึงการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามารถกระทำได้ใน 4 กรณี[9] คือ
กรณีแรก พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เลย
กรณีที่สอง ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือในกรณีที่ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กรณีที่สาม ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าในกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้น ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
กรณีที่สี่ ถ้าหากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกรณีหนึ่งหรือกรณีที่สอง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย
การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทยในอดีต ตามหลักฐานที่ปรากฏพบว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่พระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ที่ประชุมแห่งสมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้มีมติให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2411-2416) ต่อมาในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2440) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ" ถือเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย) นอกจากนี้ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2450) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[10]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองในช่วงปลายรัชกาล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร[11]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร ในระหว่างที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน(พ.ศ.2475)และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตร ณ ทวีปยุโรป (11 มกราคม 2476 - 2 มีนาคม 2477)[12]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างที่พระองค์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ (7 มีนาคม 2477 -19 สิงหาคม 2478) สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)
ต่อมาเมื่อเจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรม และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินชราภาพสุขภาพไม่สมบูรณ์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ (16 ธันวาคม 2484 - 31 กรกฎาคม 2487) ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว (1 สิงหาคม 2487 - 20 กันยายน 2488) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ยังไม่สามารถเสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ (20 กันยายน 2488 - 5 ธันวาคม 2488) [13]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลายโอกาส ดังนี้
- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ รัฐสภามีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (25 มิถุนายน 2489 - 27 มิถุนายน 2492)
- เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสด็จฯนิวัตประเทศไทยเพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ รัฐสภามีมติตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี แต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก (28 มิถุนายน 2492 - 2493)
- เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนิวัตประเทศไทย แต่จะต้องเสด็จกลับไปรักษาพระอาการประชวรยังต่างประเทศอีก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง (6 มิถุนายน 2493 - 19 มีนาคม 2494)
- เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2494)[14]
- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช ในปี พ.ศ.2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[15] (จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของประเทศไทย)
- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (พ.ศ.2502) อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป (พ.ศ.2503) ปากีสถาน สหพันธ์มลายู นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (พ.ศ.2505) จีนและญี่ปุ่น (พ.ศ.2506) ออสเตรีย (พ.ศ.2507) อังกฤษ (พ.ศ.2509) อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (พ.ศ.2510) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (จากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี")[16]
- นอกจากนี้ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศฟิลิปปินส์ (พ.ศ.2506) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย[17]
จากที่กล่าวมา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระต่างๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ และหากจะกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นที่พึ่งหรือผู้เป็นที่พึ่งของพระมหากษัตริย์ ก็คงมิได้ทำให้ความหมายผิดไป อย่างเช่น การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ซึ่งทรงเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระอภิไธยจากพระบรมราชินีเป็น"พระบรมราชินีนาถ" ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า"นาถ" แปลว่า"ที่พึ่ง หรือผู้เป็นที่พึ่งพิง"[18] ดังนั้น "พระบรมราชินีนาถ" จึงมีความหมายว่าพระบรมราชินีผู้เป็นที่พึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในการปฏิบัติพระราชภาระต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขต่อประเทศชาติและประชาชนนั่นเอง
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ,ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์), กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 628.
- ↑ “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 95 (ฉบับพิเศษ), วันที่ 15 พฤศจิกายน 2499.
- ↑ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 27 มิถุนายน 2475.
- ↑ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 10 ธันวาคม 2475.
- ↑ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 30, วันที่ 10 พฤษภาคม 2489.
- ↑ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 64, วันที่ 9 ธันวาคม 2490.
- ↑ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 17, วันที่ 21 มีนาคม 2492.
- ↑ “ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, วันที่ 24 สิงหาคม 2550.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย, อ้างแล้ว, หน้า 628.
- ↑ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ประเทศไทย) (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้นวันที่ 15 ตุลาคม 2552.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง 2517, หน้า 833.
- ↑ คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี, คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก, พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2539 หน้า 26.
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), อ้างแล้ว , หน้า 956.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. 2542, กรุงเทพฯ : บริษัท นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546, หน้า 576.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2548.
บรรณานุกรม
คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2539.
คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย(ฉบับสมบูรณ์), กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี(2475-2517), กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง,2517.
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ประเทศไทย) (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้น ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2552.
“ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 95 (ฉบับพิเศษ), วันที่ 15 พฤศจิกายน 2499.
“ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 27 มิถุนายน 2475.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49,วันที่ 10 ธันวาคม 2475.
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 30, วันที่ 10 พฤษภาคม 2489.
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 64, วันที่ 9 ธันวาคม 2490.
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 17,วันที่ 21 มีนาคม 2492.
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, วันที่ 24 สิงหาคม 2550.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ:บริษัทนานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546, หน้า 576.