ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้เรียบเรียง สุเทพ เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
หลักการสำคัญประการหนึ่ง ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา คือ การให้รัฐสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูง และเป็นที่มาของการเข้าสู่อำนาจบริหาร ด้วยเหตุนี้จึงมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินนั้นเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชนเสียโอกาสอันพึงจะได้รับจากรัฐ โดยมีกลไก และเครื่องมือที่ใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร หรือเพื่อแนะนำ เสนอความเห็น ท้วงติงความบกพร่องเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินในวุฒิสภา เป็นต้น และเพื่อให้การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินยังประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการตั้งองค์กรตรวจสอบภายนอกที่มีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีชื่อว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ความหมาย
“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายใต้ชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” มีเจตนารมณ์มุ่งหวังให้มีกลไกในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีตำแหน่ง ออมบุดสแมน (Ombudsman)[1]ทำหน้าที่ดูแลปัดเป่าเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยที่ประชาชนสามารถ ร้องทุกข์ต่อพ่อขุนรามคำแหงได้โดยการสั่นกระดิ่งที่ปากประตูเมือง หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา หรือการ “ตีกลองร้องฎีกา” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เป็นการร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงบำบัดปัดเป่าความทุกข์ยากแก่ราษฎร
ประวัติความเป็นมาของผู้ตรวจการแผ่นดิน
กมล สนธิเกษตริน เป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินในประเทศไทยครั้งแรก ในชื่อเรื่อง ออมบุดสแมนในประเทศไทย[2] เผยแพร่ในวารสารบทบัณฑิตย์ ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2511) แต่ไม่ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นไม่เอื้อต่อการมีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลง ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้จุดประกายการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Ombudsman แห่งมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา และได้พยายามเสนอให้บรรจุผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2517) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วย เพราะเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินได้อยู่แล้ว หากมีปัญหาในการควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐ เห็นสมควรใช้กลไกทางศาลปกครองจะเหมาะสมกว่า แต่ทั้งศาลปกครองและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่างไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกเลยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา
จนกระทั่งหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในคราวจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2534) ได้มีการหยิบยกเรื่องการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้นมาอีกครั้ง แต่ด้วยเหตุผลเดิม ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญตัดออก แต่ในคราวแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้เกือบทั้งฉบับในปี พ.ศ. 2538 ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้สั้น ๆ เพียงมาตราเดียวว่า “ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภามีจำนวนไม่เกินห้าคนตามมติของรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภา”[3] และวรรคสองได้กำหนดรายละเอียดว่า คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง การถอดถอน และอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ในเมื่อไม่มีการออกกฎหมายมารองรับตลอดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ ผู้ตรวจการรัฐสภา จึงเป็นเพียงองค์กรที่มีอยู่เฉพาะในรัฐธรรมนูญแต่ไม่อาจจัดตั้งขึ้นได้ จนกระทั่งกระแสการปฏิรูปทางการเมืองทำให้ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางด้วยความคาดหวังของสังคมว่าจะเป็น “การส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการชิอำนาจรัฐ ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”[4] เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้บังคับ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเป็นองค์กรหนึ่งที่จะสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ รวมทั้งบทบาท อำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
แม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเนื่องมาจากการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) ยังให้คงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้ แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนไป เพราะมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาด้วย เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นองค์กรของรัฐสภา จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสียใหม่ เป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”
ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ การรวมเป็นองค์ประกอบของผู้ตรวจการแผ่นดินให้ทำการประชุมเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน
การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน
กระบวนการได้มาซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินนี้ ไม่แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งกรรมการในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา (2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด (4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (5) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (6) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคนซึ่งต้องไม่ซ้ำกับบุคคลที่เป็นกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอื่น และ (7) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคนซึ่งต้องไม่ซ้ำกับบุคคลที่เป็นกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอื่น เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกและสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องเลือกผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ที่ไดรับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
เมื่อได้รับรายเชื่อแล้วภายในสามสิบวัน ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในการพิจารณาของวุฒิสภาให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ หากเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับรายชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ในกรณีนี้ หากคณะกรรมการสรรหาไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาและมีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้ส่งรายชื่อ(เดิม)นั้นให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติที่ยืนยันตามมติเดิมคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง ปัจจุบันประกอบด้วย พลเอก ธีรเดช มีเพียร เป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปราโมทย์ โชติมงคล และนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน
อำนาจหน้าที่
ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจหน้าที่มากขึ้น และกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ การตรวจ สอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล การติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น ตลอดจนการพิจารณาสอบสวนได้ด้วยตนเองโดยไม่มีคำร้องเรียนหากเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวมหรือเป็นการคุ้มครอง ประโยชน์สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม การตรวจสอบ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมซึ่งไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล การใช้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องมีผู้ร้องเรียน แต่หากการกระทำดังกล่าวนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเห็นว่ามีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ อาจพิจารณาสอบสวนโดยไม่มีผู้ร้องเรียนได้
2. ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3. ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
4. รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นประจำทุกปี และให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะ
5. อาจเสนอเรื่องและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และอาจเสนอเรื่องและความเห็นต่อศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ผลการดำเนินงาน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนแรก จึงถือเป็นวันเริ่มต้นของใช้อำนาจหน้าที่ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาเป็นจำนวนมาก หากนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2550 ปรากฏจากรายงาน 7 ปีผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ตัวอย่างผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน พบว่ามีทั้งสิ้นถึง 15,974 เรื่อง[5] ในจำนวนนี้จำแนกตามประเภทผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
1. เรื่องเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญ
2. เรื่องเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วส่งศาลปกครอง
3. เรื่องร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารายงานให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทราบเป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง
4. เรื่องที่เสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
5. เรื่องที่ผู้ร้องเรียนให้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม
6. เรื่องที่สำนักราชเลขาธิการขอข้อมูลหรือขอความเห็นจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. “7 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวอย่างผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน” อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. กรุงเทพฯ, 2550. หน้า 1
- ↑ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เดือนตุลา. กรุงเทพฯ, 2549. หน้า 2
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112. ตอนที่ 7 ก. หน้า 1. 10 กุมภาพันธ์ 2538. มาตรา 162 ทวิ
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114. ตอนที่ 55 ก. 11 ตุลาคม 2540. หน้า 1 (คำปรารภ)
- ↑ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. “7 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวอย่างผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน” อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. กรุงเทพฯ, 2550. หน้า 7
หนังสือแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
“เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
“ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา.
“7 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวอย่างผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน” สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา.
บรรณานุกรม
“เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.” สำนักกรรมาธิการ 3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : 2550
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. “แนวคิดผู้ตรวจการรัฐสภาเพื่อการพัฒนาทางการเมืองในระบอบรัฐสภา” วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2534
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. รายงานผลการวิจัยเรื่อง “ออมบุสด์แมน การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้นในประเทศไทย” สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ : 2533.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112. ตอนที่ 7 ก. หน้า 1. 10 กุมภาพันธ์ 2538.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114. ตอนที่ 55 ก.หน้า 1. 11 ตุลาคม 2540.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124. ตอนที่ 47 ก. 24 สิงหาคม 2550.
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เดือนตุลา. กรุงเทพฯ, 2549.
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. “7 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวอย่างผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน” อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. กรุงเทพฯ, 2550
อธิบายเพิ่มเติม
“Ombudsman” มาจากภาษาสวีดิช แปลว่า "ผู้แทน" หรือ "ผู้รับมอบอำนาจในการตรวจการ" ในประเทศอังกฤษ เรียกว่า Parliamentary Commissionner of Administration ซึ่งมีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกัน ออมบุดสแมน เป็นบุคลากรหรือองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครอง โดยจะรับเรื่องที่ร้องเรียนมาจากประชาชน หรือนำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินการของฝ่ายปกครองมาพิจารณาแล้วสรุปรายงาน โดยมีการเสนอแนะทางแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานของฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือต่อประชาชนทั่วไป เพื่อก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่อไปก่อตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ซึ่งองค์กรนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่บรรลุผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี และได้มีการวิวัฒนาการเรื่อยมา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในประเทศเหล่านี้ มีอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างไปจากฝ่ายตุลาการ โดยจะไม่เป็นผู้ออกคำวินิจฉัยหรือสั่งการให้มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันมีผลบังคับทางกฎหมายโดยตรงเหมือนดังศาล แต่จะทำหน้าที่พิจารณาว่า ประชาชนได้รับความเป็นธรรมเดือดอย่างไร หลังจากนั้นก็จะส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา สำหรับประเทศไทยก็ได้รับเอาแนวคิดดังกล่าว มาศึกษาและเป็นแนวทางการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน (ของรัฐสภา)