การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) คือรัฐบาลกลางได้กระจายอำนาจทางการปกครองและการบริหารให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆเพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย[1]
ความสำคัญการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
1. เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความทั่วถึงในการให้บริการสาธารณะและแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน
2. เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริงและรวดเร็ว เพราความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกัน การรอรับบริการจากรัฐบาลแต่อย่างเดียวอาจไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงและล่าช้า
3. เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการประหยัดงบประมาณหรือเป็นการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะกิจการส่วนใหญ่ที่ท้องถิ่นรับมอบจากรัฐบาล ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยใช้รายได้ของตนเอง ซึ่งมาจากข้อกำหนดของกฎหมาย
4. ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการ รูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเบื้องต้น เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง หรือการตรวจสอบการกำกับดูแล การปฏิบัติหน้าที่ของสภาท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการปกครองในระดับประเทศ[2]
ความเป็นมาของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2435 ทรงปฏิรูปการบริหารราชการส่วนกลางโดยตั้งกระทรวง 12 กระทรวงและการปฏิรูปการบริหารส่วนภูมิภาคโดยทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล
ในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ.2440 โดยให้กระทรวงนครบาลจัดสุขาภิบาลขึ้นในกรุงเทพฯ แม้ว่ารูปแบบดังกล่าวจะไม่ใช่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจหรือการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น (Local self- government) เพราะสุขาภิบาลกรุงเทพฯเป็นลักษณะการปกครองท้องถิ่นโดยข้าราชการประจำ (Local government by government officials)[3] บางทีจะเรียกว่าการปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (Local State government)
พ.ศ.2448 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลที่ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาครโดยให้มีคณะกรรมการสุขาภิบาลประกอบด้วย กำนันเป็นหัวหน้า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ให้พ่อค้าในเขตสุขาภิบาลเข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ควบคุมดูแลและสอบบัญชี[4]
พ.ศ.2452 มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ.127 โดยการกำหนดให้มีสุขาภิบาล 2 ประเภทคือ สุขาภิบาลเมืองสำหรับท้องที่ที่ตั้งเมืองและสุขาภิบาลตำบลสำหรับท้องที่ที่ตำบล พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขาภิบาลจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการเมืองเป็นประธาน ปลัดเมืองเป็นเลขานุการ นายอำเภอในท้องที่ นายแพทย์สุขาภิบาล นายช่างสุขาภิบาล และกำนันในเขตสุขาภิบาลจำนวน 4 คน ส่วนสุขาภิบาลตำบล ให้มีคณะกรรมการสุขาภิบาลตำบล มีกำนันเป็นประธานและผู้ใหญ่บ้าน ในเขตท้องที่สุขาภิบาลเป็นกรรมการ[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลขึ้น โดยมีการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลใน พ.ศ.2473 แต่ที่ประชุมเสนาบดีสภาได้มีความเห็นว่าควรมีการทบทวน จนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลของคณะราษฎรจึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476[6] กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีเทศบาล 3 ระดับ ได้แก่เทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล โดยริเริ่มจัดตั้งเทศบาลครั้งแรกในปี พ.ศ.2478
พ.ศ.2495 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 โดยกำหนดว่าท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นสุขาภิบาลให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นเป็นสุขาภิบาล โดยมีคณะกรรมการสุขาภิบาลเป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอที่เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอเป็นประธานกรรมการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งปลัดอำเภอคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นปลัดสุขาภิบาล ในส่วนของการปฏิบัติงานประจำใช้การยืมตัวข้าราชการส่วนภูมิภาคมาช่วยปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานสุขาภิบาล[7]
พ.ศ.2496 มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล 2496 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นนิติบุคคล
พ.ศ.2498 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เพื่อส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเอกเทศ มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ในการดำเนินกิจการส่วนจังหวัด ซึ่งแยกออกเป็นส่วนต่างหากจากราชการแผ่นดิน โครงสร้างองค์กรแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติได้แก่สภาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนฝ่ายบริหารมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
พ.ศ.2499 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ.2499 โดยจัดตั้งสภาตำบลขึ้นอยู่ในการควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ และในปีเดียวกันนี้มีการตราพระราชบัญญัติบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ.2499 โดยกำหนดให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
พ.ศ.2518 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
พ.ศ.2521 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521ภายหลังการยุบสุขาภิบาลนาเกลือแล้วจัดระเบียบบริหารราชการใหม่ โดยนำหลักการจัดเทศบาลแบบผู้จัดการเมือง (City Manager) มาใช้ เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ เรียกว่าเมืองพัทยา
พ.ศ.2537 มีการตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 โดยในครั้งแรกเป็นการยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 ติดต่อกัน 3 ปี ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและมาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่ง คณะกรรมการบริหารมีกำนันเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ต่อมาได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 ให้มีการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะผู้บริหารมาจากความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและมีการแก้ไขอีกครั้งในปี พ.ศ.2546 โดยกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในจังหวัดนั้น[8]
พ.ศ.2540 มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจาการเลือกตั้งทางอ้อมโดยมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และต่อมา พ.ศ.2546 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2546 โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นรูปแบบที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด ได้มีการการบัญญัติรับรองการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ดังนี้
1. บัญญัติหลักการการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา 281 ว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่
2. บัญญัติหลักการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา 282 ว่า การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
3. บัญญัติความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา 283 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดและประเทศเป็นส่วนรวมด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งในการบริหารงานได้โดยอิสระและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่นให้จัดบริการสาธารณะได้โดยครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ จัดตั้งหรือร่วมกันจัดตั้งองค์การเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าเป็นประโยชน์ และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง
4. กำหนดรูปแบบสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในมาตรา 284 ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
- คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
- สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 70 ได้กำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ 4 รูปแบบ ดังนี้
2. เทศบาล
4. ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบคือ
1) [[ กรุงเทพมหานคร]] ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
2) เมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
องค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2498 ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 และมีการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติและประกาศคณะปฏิวัติจำนวน 11 ครั้ง พระราชบัญญัติที่ใช้ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่31 ตุลาคม 2540
โครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามมาตรา 7 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
1. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้มีจำนวนดังนี้ คือ
1) จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกินห้าแสนคน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ยี่สิบสี่คน
2) จังหวัดใดมีราษฎรเกิน ห้าแสนคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านคน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สามสิบคน
3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินหนึ่งล้านคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนคน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สามสิบหกคน
4) จังหวัดใดมีราษฎรเกินหนึ่งล้านห้าแสนคนแต่ไม่เกินสองล้านคน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สี่สิบสองคน
5) จังหวัดใดมีราษฎรเกินสองล้านคนขึ้นไป ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สี่สิบแปดคน
สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) การออกข้อบัญญัติจังหวัด (มาตรา 54)
(2)การตั้งกระทู้ถามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(3) เสนอข้อสอบถามต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าหน่วยงานราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ อันเกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาค (มาตรา 32)
(4) เลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นคณะกรรมการสามัญ และเลือกบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมเป็นคณะกรรมการวิสามัญเพื่อกระทํากิจการหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใดๆ อันอยู่ในวงงานของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วรายงานต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (มาตรา 33)
(5) อำนาจในการออกข้อบัญญัติชั่วคราว (มาตรา 57)
2. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้ (มาตรา 45)
(1) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
(2) จัดทําแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทําแผนพัฒนาจังหวัด ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
(3) สนับสนุนสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(5) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(6) อํานาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เฉพาะภายในเขตสภาตําบล
(7) คุ้มครอง ดูแล และบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(8) บํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น (7 ทวิ)
(9) จัดทํากิจการใดๆ อันเป็นอํานาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดําเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทํา ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง (8)
(10) จัดทํากิจการอื่นใดตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (9)
บรรดาอํานาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
เทศบาล
ตามมาตรา 7 ของ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดให้มีเทศบาล 3 ประเภทคือ เทศบาลตําบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร
1. เทศบาลตําบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตําบล (มาตรา 9)
2. เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ที่มีรายได้พอควร (มาตรา10)
3. เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป (มาตรา 11) ทั้งมีรายได้พอควร
เทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
1.[[ สภาเทศบาล]]ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามจํานวน (มาตรา 15)
1) สภาเทศบาลตําบล ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 12 คน
2) สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 18 คน
3) สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 24 คน
2. นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน (มาตรา 48 ทวิ)
นายกเทศมนตรีแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรี
1) เทศบาลตําบล ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสองคน
2) เทศบาลเมือง ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสามคน
3) เทศบาลนคร ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสี่คน
อำนาจหน้าที่เทศบาลตำบล
(1) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) ให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ
(3) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(4) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
(5) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
(6) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
(7) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(8) บํารุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลตำบลอาจมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(2) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(3) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(4) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(5) บํารุงและส่งเสริมการทํามาหากินของราษฎร
(6) ให้มีและบํารุงสถานที่ทําการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
(7) ให้มีและบํารุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(8) ให้มีและบํารุงทางระบายน้ำ
(9) เทศพาณิชย์
เทศบาลเมืองมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กิจการตามที่ระบุไว้ในอำนาจหน้าที่เทศบาลตำบล
(2) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(3) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(4) ให้มีและบํารุงสถานที่ทําการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้
(5) ให้มีและบํารุงทางระบายน้ำ
(6) ให้มีและบํารุงส้วมสาธารณะ
(7) ให้มีและบํารุงการไฟฟ้า หรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(8) ให้มีการดําเนินกิจการโรงรับจํานําหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
เทศบาลเมืองอาจทำกิจการดังต่อไปนี้
(1) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(2) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(3) บํารุงและส่งเสริมการทํามาหากินของราษฎร
(4) ให้มีและบํารุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
(5) ให้มีและบํารุงโรงพยาบาล
(6) ให้มีการสาธารณูปการ
(7) จัดทํากิจการซึ่งจําเป็นเพื่อการสาธารณสุข
(8) จัดตั้งและบํารุงโรงเรียนอาชีวศึกษา
(9) ให้มีและบํารุงสถานที่สําหรับการกีฬาและพลศึกษา
(10) ให้มีและบํารุงสวนสาธารณะ สวนสัตว์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
(11) ปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม และรักษาความสะอาดเรียบร้อยของท้องถิ่น
(12) เทศพาณิชย์
อำนาจหน้าที่ของเทศบาลนคร
(1) กิจการตามที่ระบุไว้ในอำนาจหน้าที่เทศบาลเมือง
(2) ให้มีและบํารุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
(3) กิจการอย่างอื่นซึ่งจําเป็นเพื่อการสาธารณสุข
(4) การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจําหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
(5) จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(6) จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
(7) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(8) การส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว
องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552 โดยมีมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
โครงสร้างการบริการขององค์การบริหารส่วนตำบลแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายได้แก่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีมีเพียงสองหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหมู่บ้านละสามคน
2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล
(1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
(2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(3) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
(4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(8) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการดังต่อไปนี้
(1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
(2) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(3) ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
(4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
(5) ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์
(6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
(7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
(8) การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
(10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
(11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
(12) การท่องเที่ยว
(13) การผังเมือง
กรุงเทพมหานคร
เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต มีสำนักงานใหญ่เรียกว่า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย
1. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
(2) สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร
(3) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ
(4) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
(5) วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย
(6) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
(7) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
2. [[ สภากรุงเทพมหานคร]] ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้ง มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
(1) การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
(2) การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
(3) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(4) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(5) การผังเมือง
(6) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
(7) การวิศวกรรมจราจร
(8) การขนส่ง
(9) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ
(10) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
(11) การควบคุมอาคาร
(12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
(13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
(14) การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (14 ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นการสาธารณูปโภค
(15) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
(16) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(17) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
(18) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
(19) การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
(20) การจัดการศึกษา
(21) การสาธารณูปการ
(22) การสังคมสงเคราะห์
(23) การส่งเสริมการกีฬา
(24) การส่งเสริมการประกอบอาชีพ
(25) การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
(26) หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
เมืองพัทยา
เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิกแล้วใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 แทน
โครงสร้างการบริหารเมืองพัทยา
1. สภาเมืองพัทยา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่เลขานุการสภาเมืองพัทยา
2. นายกเมืองพัทยา มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย
(2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเมืองพัทยา
(3) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษา
(4) วางระเบียบเมืองพัทยา
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาหรือนายกเทศมนตรีหรือคณะเทศมนตรี
อำนาจหน้าที่เมืองพัทยา
มาตรา 62 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาไว้ดังนี้
(1) การรักษาความสงบเรียบร้อย
(2) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(3) การคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(4) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(5) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(6) การจัดการจราจร
(7) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(8) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และการบำบัดน้ำเสีย
(9) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(10) การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ
(11) การควบคุมอนามัยและความปลอดภัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพและสถานบริการอื่น
(12) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
(13) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(14) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา
ส่วนประเด็นเรื่องการกำกับดูแลเมืองพัทยานั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยา โดยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกเมืองพัทยาชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยา
บรรดาเรื่องที่เมืองพัทยาต้องเสนอไปยังรัฐมนตรีหรือกระทรวง ทบวง กรม ให้นายกเมืองพัทยารายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำความเห็นเสนอรัฐมนตรี หรือกระทรวง ทบวง กรม แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกเมืองพัทยาปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนแล้ว แต่นายกเมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรีบด่วน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกเมืองพัทยาไว้ตามที่เห็นสมควรได้
นอกจากนี้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือประโยชน์ของประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้
อ้างอิง
- ↑ ธันยวัฒน์ รัตนสัค, การบริหารราชการไทย, (เชียงใหม่ : สำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555), หน้า 193.
- ↑ สมบูรณ์ สุขสำราญ, “การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ”,วารสารราชบัณฑิตยสถาน, ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2545, หน้า 343-344.
- ↑ ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ.2440-2550, (กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550), หน้า 89.
- ↑ สุวัสดี โภชนพันธุ์, ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย, (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 7
- ↑ เพิ่งอ้าง , หน้า 8-9.
- ↑ ธันยวัฒน์ รัตนสัค,การบริหารราชการไทย, หน้า 195.
- ↑ เฉลิมพงศ์ มีสมนัย,การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในการบริหารราชการไทย,(นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช,ปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2547), หน้า 125.
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 196.
หนังสืออ่านประกอบ
มานิตย์ จุมปา, คำอธิบายกฎหมายปกครองว่าด้วยการจัดระเบียบราชการบริหาร, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548)
อำนวย ปิ่นพิลา, การบริหารราชการไทย, (กรุงเทพมหานคร : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชบัฎ, หมู่บ้านจอมบึง, 2554)
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552
พระราชบัญญัติ เทศบาล พ ศ 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2552
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537แก้ไขเพิ่มเติมถึง(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552