สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย  ดร. เอกพลณัฐ  ณัฐพัทธนันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งเมืองหลวงของไทยและมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งแรกของไทย มีประวัติความเป็นมาจากการปรับปรุงการบริหารจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ภายหลังจากรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันในปี พ.ศ. 2514) กับเทศบาลนครหลวง ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13_ธันวาคม_พ.ศ._2515 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  อันเป็นการรวมการบริหารราชการส่วนภูมิภาคกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภายในพื้นที่ทั้งจังหวัดได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกสภาเขตมาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน  แต่ภายหลังจากนั้นด้วยกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนิสิตและนักศึกษาได้เดินขบวนประท้วงขับไล่ผู้นำเผด็จการทหาร คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศได้สำเร็จ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับกรุงเทพมหานครขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เมื่อมีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ดังกล่าว และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร_พ.ศ._2518 แทน ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงทำให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ครบวาระ 4 ปี ก็ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2520 โดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 6_ตุลาคม_พ.ศ._2519 อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับสภากรุงเทพมหานคร  จึงทำให้กรุงเทพมหานครต้องกลับมาใช้รูปแบบการบริหารงานของผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้งอีกครั้ง จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร_พ.ศ._2528 จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากประชาชนโดยตรงเป็นครั้งที่ 2 และกลายเป็นรูปแบบการเข้าสู่ตำแหน่งที่ใช้ต่อเนื่องมา[1] จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารวันที่ 22_พฤษภาคม_พ.ศ._2557 นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี ได้นำวิธีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกลับมาใช้อีก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 สั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์_บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[2]   

          อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร มีที่มาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น_พ.ศ._2542 รวมทั้งหมด 44 เรื่อง[3] ตัวอย่างของอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 89 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 ตัวอย่างเช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การขนส่ง การผังเมือง การควบคุมอาคาร การสังคมสงเคราะห์ การส่งเสริมกีฬา การส่งเสริมการประกอบอาชีพ เป็นต้น และตามมาตรา 16 และมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ตัวอย่างเช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การจัดการศึกษา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม เป็นต้น[4] นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆของราชการบริหารส่วนกลาง หรือราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีฐานะเป็นทบวงการเมืองนิติบุคคล ได้แบ่งโครงสร้างส่วนราชการออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานคร และ สภาเขตและสำนักงานเขต   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่หลายประการ ดังเช่น เร่งกำหนดนโยบายและบริหารราชการเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น[5]  สภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง การดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีวาระ 4 ปี เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ดังเช่น เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น และหลังจากนั้นมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแล้ว จะมีการเลือกประธานสภาจำนวน 1 คน และรองประธานสภาจำนวนไม่เกิน 2 คน ซึ่งมาจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการของสภากรุงเทพมหานครตามข้อบังคับของสภากรุงเทพมหานคร[6]  ในขณะที่สภาเขตและสำนักงานเขต ซึ่งแบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 ส่วน คือ สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นสำนัก และสำนักงานเขต ทำหน้าที่เป็นส่วนราชการระดับปฏิบัติการที่รับผิดชอบหน้าที่ต่างๆตามที่มีกฎหมายกำหนดที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ หรือตามอำนาจหน้าที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย โดยมีผู้อำนวยการเขต ซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และมีสภาเขตซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา[7]

 

ที่มาของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

          สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คือ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในสภากรุงเทพมหานคร โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และการพาณิชย์ในลักษณะที่เป็นไปตามข้อบัญญัติ มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 สมาชิกภาพของ ส.ก. เริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ4 ปี ตามอายุของสภากรุงเทพมหานคร หลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วันแต่ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครว่างลงเพราะสาเหตุอื่นๆ ดังเช่น ตาย ลาออก ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก สภากรุงเทพมหานครมีมติวินิจฉัยให้ออกเพราะเห็นว่าได้กระทำการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง เป็นต้น  จะต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ก. ขึ้นเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ขาดหายไป ภายในระยะเวลา 90 วัน เว้นเสียแต่ว่าอายุของสภากรุงเทพมหานครเหลือไม่ถึง 180 วันจึงจะไม่ต้องมีการจัดเลือกตั้งดังกล่าว   ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ก. เข้ามาทำหน้าที่แทนตำแหน่งที่หายไปจากกรณีดังกล่าวจะมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับอายุสภากรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่[8]

 

ความสำคัญของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

          สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีหน้าที่เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ฝ่ายบริหารเสนอต่อสภาเพื่อนำไปใช้ในแต่ละหน่วยงานของกรุงเทพมหานครว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ควรจะเพิ่มหรือลดจำนวนงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้กระบวนการทางนิติบัญญัติดังกล่าวจะเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ได้กำหนดไว้    นอกจากนี้ ส.ก. ยังมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร โดยใช้วิธีการควบคุมได้ 4 ประการ คือ ประการแรก การตั้งกระทู้ถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร  ประการที่สอง การเสนอญัตติผ่านที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ทประการที่สาม การเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในกรณีเกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร  และประการที่สี่ การเป็นกรรมการสภากรุงเทพมหานคร โดยมีอำนาจกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆเพื่อทำหน้าที่ติดตามผลการบริหารงานของฝ่ายบริหาร และรายงานต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ได้กำหนดไว้ต่อไป[9]         

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

          นับตั้งแต่มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาจนถึงฉบับ พ.ศ. 2528 (ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง และใช้มาจนถึงปัจจุบัน) ได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ในแง่ของสัญชาติผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่เดิมเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติหรือมีสัญชาติไทยพร้อมกับสัญชาติอื่นสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เมื่อมีคุณสมบัติอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เคยรับราชการทหาร เคยเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลาติดต่อกัน ไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันได้สัญชาติไทย เป็นต้น[10]เปลี่ยนมาเป็นให้สิทธิดังกล่าวเฉพาะกับบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น[11] ในแง่ของอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งยังคงกำหนดให้มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์เช่นเดิม จะแตกต่างกันเพียงแค่การนับระยะเวลาที่ ฉบับ พ.ศ. 2518 จะกำหนดให้ต้องอายุครบบริบูรณ์ตั้งแต่เดือนมกราคมในปีที่มีการเลือกตั้ง แต่ฉบับ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ต้องอายุครบบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง  และในแง่ของภูมิลำเนาของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มรายละเอียด คือ ฉบับ พ.ศ. 2518 จะบัญญัติเอาไว้เพียงแค่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่มาตรา 14 (3) ฉบับ พ.ศ. 2528 ได้เพิ่มเติมว่า “...หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กรุงเทพมหานครในปีที่สมัครหรือปีก่อนที่สมัครหนึ่งปี

          ประเด็นปัญหากีดกันผู้พิการทางการพูดและการได้ยินเสียง ถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของบุคคลที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่สำคัญ กล่าวคือ ในมาตรา 16 (6) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 ได้กำหนดห้ามบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่เคยมีการบัญญัติเช่นนี้เอาไว้ในฉบับอื่นๆก่อนหน้านี้   อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร_(ฉบับที่_5)_พ.ศ._2550

 

บรรณานุกรม

ด่วน! ใช้ ม.44 ให้สุขุมพันธุ์และทีมรองฯพ้นจากตำแหน่ง ตั้งอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.  มติชนออนไลน์, วันที่ 18 ตุลาคม 2559. แหล่งที่มา : http://www.matichon.co.th/news/326122 (เข้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559)

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

อรทัย ก๊กผล.  สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย กรุงเทพมหานคร.  นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547.

อ้างอิง 

[1] ดูใน อรทัย ก๊กผล, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย กรุงเทพมหานคร, (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 11-12 และ 15.

[2] ดูใน “ด่วน! ใช้ ม.44 ให้สุขุมพันธุ์และทีมรองฯพ้นจากตำแหน่ง ตั้งอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.,” มติชนออนไลน์, วันที่ 18 ตุลาคม 2559. แหล่งที่มา : http://www.matichon.co.th/news/326122 (เข้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559)

[3] ดูใน อรทัย ก๊กผล, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย กรุงเทพมหานคร, หน้า 52.

[4] เพิ่งอ้าง, หน้า 52-57.

[5] เพิ่งอ้าง, หน้า 30-31.

[6] เพิ่งอ้าง, หน้า 35-36.

[7] เพิ่งอ้าง, หน้า 41-51.

[8] ดูเพิ่มเติมใน มาตรา 21 ถึงมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

[9] ดูใน อรทัย ก๊กผล, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย กรุงเทพมหานคร, หน้า 37-38.

[10] ดูเพิ่มเติมใน มาตรา 38 (1) และมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[11] มาตรา 14 (1) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542