9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ยกเอามาเขียน คือวันที่ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 ของประเทศ หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ที่ได้ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาจะปรับเปลี่ยนรูปแบบ แนวคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างไร จึงได้ลงทุนเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ในเรื่องความเป็นมานั้นดูได้จากคำปรารภของรัฐธรรมนูญนี้นั่นเอง ที่มีความตอนหนึ่งว่า
“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาติ นับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงได้เสนอญัตติต่อสภาผู้แทน
ราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
ที่น่าจะย้อนไปดูสักนิดก็คือความคิดที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากข้อเสนอของสมาชิกประเภทที่สองที่มาจากการแต่งตั้งในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเองที่เสนอ ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้งอย่างพวกตน โดยเสนอกันเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้พิจารณาจนนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 15 คน โดยกรรมาธิการก็ได้ไปประชุมและเลือก นายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน และมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขานุการ
ต่อมาเมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องไปเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ขอลาออกไป และกรรมาธิการก็ได้เลือกพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมาธิการแทน และได้ร่างรัฐธรรมนูญต่อมาจนเรียบร้อย
เมื่อคิดจะเลือก ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งออกไปก็ได้คิดเรื่องการมีสองสภา จึงเป็นที่มาของการมี “พฤฒสภา” ขึ้นมาเป็นสภากลั่นกรอง
การมีสองสภาก็ต้องการให้สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพียงแต่สมาชิกจากสภาผู้แทนฯ มาจากการเลือกตั้งทางตรง ส่วนสมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม
“มาตรา 24 พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ”
เมื่อมีพฤฒสภาซึ่งเสมือนสภาสูงของประเทศ จึงได้มีการกำหนดให้สมาชิกต้องมีคุณสมบัติที่แสดงถึงความอาวุโส และวุฒิที่แตกต่างจาก ส.ส. เช่น ต้องมีอายุตั้งแต่สี่สิบปี และศึกษาจบปริญญาตรี เป็นต้น
การมีพฤฒสภาครั้งนั้นจึงเป็นต้นแบบที่ต่อมาเมืองไทยได้มีสองสภาและเรียกว่าวุฒิสภา แต่ที่มานั้นต่อมาก็มีทั้งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด หรือจากการเลือกตั้งทั้งหมดจนถึงล่าสุดนี้มีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งกับที่มาจากการสรรหา มีจำนวนใกล้เคียงกันโดยให้ที่มาจากากรเลือกตั้งมีจำนวนมากกว่า
การที่มุ่งหวังให้พฤฒสภากลั่นกรองกฎหมาย หรือระบบสองสภานี้ ทำให้ต้องเพิ่มเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เดิมร่างกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่มีผลใช้บังคับได้เลย แต่เมื่อมีพฤฒสภา ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็จะต้องไปผ่านพฤฒสภา ที่จะต้องมีขั้นตอนการพิจารณาแม้ว่าจะผ่านเลยก็ต้องใช้เวลาเพิ่ม หากเห็นไม่ตรงกันมีการแก้ไข ก็มีขั้นตอนที่จะต้องตกลงกัน
ในเรื่องกลั่นกรองกฎหมายนี้ ดูเผิน ๆ จะเป็นเรื่องเสียเวลา แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา ถ้าในสภาผู้แทนราษฎรมีระบบพรรคที่เข้มแข็งแล้ว กฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาก็อาจมีเรื่องให้กลั่นกรองได้ดีทีเดียว จะเป็นการช่วยดูจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองได้พอสมควร
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 นี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 แต่มีผลในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เพราะลงราชกิจานุเบกษา ในวันนั้น
ที่น่าเสียดายก็คือการมีพฤฒสภา ที่จะให้ประชาชนเลือกตั้งทางอ้อมก็ยังไม่ได้ใช้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูก “ฉีก” โดยการยกเลิกเพราะมีการยึดอำนาจล้มทั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
รัฐธรรมนูญที่ตั้งใจดีจึงอยู่ให้ใช้เพียงปีกว่า ๆ เท่านั้นเอง