สภาตรายาง
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.อนันต์ เกตุวงศ์
สภาตรายาง
“สภาตรายาง” เป็นคำพังเพยที่ล้อเลียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ของไทยที่ไม่เป็นไปตามหลักการอิสระเสรี ในการออกเสียงลงมติของสมาชิกสภาตามหลักประชาธิปไตย หากแต่กลับออกเสียงลงมติไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือเสียงส่วนใหญ่ของสภานั้น ทำให้การลงมติของสภาเปรียบเสมือน “สภาตรายาง” นั่นเอง
คำพังเพย “สภาตรายาง” มีที่มาจากการที่นักการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพลหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นักการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพลผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันมักใช้อำนาจและอิทธิพลของตนในการสั่งการโดยตรงหรือโดยอ้อมให้สมาชิกสภาในสังกัดพรรคการเมืองของตน (หรือพรรคการเมืองอื่นในบางกรณี) ในสภาผู้แทนราษฎรให้ออกเสียงลงมติที่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจนั้น ถึงแม้ว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมที่มีการอภิปรายอย่างเข้มข้นเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อมีการลงมติของสภาก็จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ มติการประชุมของสภาจึงเปรียบเสมือน “สภาตรายาง” ในการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของผู้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือสภานิติบัญญัตินั่นเอง
ในสมัยที่มีวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญในสมัยนั้น ๆ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการรับสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นมักแต่งตั้งข้าราชการประจำ (ทหารและพลเรือน) พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการบำนาญ นักธุรกิจ และบุคคลอื่นที่ตนไว้วางใจและควบคุมได้ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การลงมติใด ๆ ของวุฒิสภามักเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นต้องการ รวมถึงวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งถ้าการลงมติของวุฒิสภาเรื่องใดก็ตามที่ไม่เป็นไปตามหลักการตัดสินใจโดยอิสระเสรีของสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย หากแต่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือการลงมตินั้น