อาชญากรสงคราม
ผู้เรียบเรียง : นายธโนชัย ปรพัฒนชาญ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมายของอาชญากรสงคราม
“อาชญากรสงคราม” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ก่ออาชญากรรมในการทำสงคราม [1] ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “war crimes” ซึ่งในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า “crimes committed against an enemy, prisoners of war, or subjects in wartime that violate international agreements or, as in the case of genocide, are offenses against humanity” หมายถึง การกระทำอาชญากรรมต่อผู้ที่เป็นศัตรู เชลยสงคราม หรือบุคคลใดๆ ในเวลาสงคราม ซึ่งขัดต่อข้อตกลงสากล เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์[2]
ความเป็นมาและความสำคัญ
ปัจเจกชนย่อมมีสภาพบุคคลตามกฎหมายภายในของรัฐ แต่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจเจกชนไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล เนื่องจากแต่เดิมกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศถือว่ารัฐเป็นบุคคลเพียงประเภทเดียวที่มีสิทธิและหน้าที่สมบูรณ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงได้กำหนดความรับผิดชอบไว้เฉพาะความรับผิดชอบของรัฐ (State responsibility) เท่านั้น ดังนั้น ปัจเจกชน จึงไม่อาจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ ต่อมามีแนวคิดว่า หากถือว่าการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติเป็นการกระทำของปัจเจกชนที่ไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำของตนแล้ว ย่อมเป็นข้ออ้างของผู้ก่อความเดือดร้อนแก่มนุษยชาติที่จะใช้หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตนได้ จึงได้มีแนวความคิดในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติมานานนับร้อยปี โดยการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ริเริ่มสงครามโดยไม่ชอบ (Initiating an unjust war) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ Naples ในปี พ.ศ. 1268 โดย Conradin Von Hohenstafen ได้ถูกลงโทษประหารชีวิตในข้อหาดังกล่าว และต่อมาได้มีการดำเนินคดีโดยคณะตุลาการระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกต่อ Peter Von Hogenbach ในข้อหาอาชญากรรมในระหว่างสงคราม ที่ Breisach ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1474แม้ว่า Hogenbach จะมิได้ถูกดำเนินคดีต่อการก่ออาชญากรรมในระหว่างสงคราม แต่ผลของการดำเนินคดีนี้ทำให้เขาถูกถอดถอนจากการเป็นอัศวิน (knighthood) และเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรม ข่มขืน เบิกความเท็จ และความผิดทางอาญาอื่นภายใต้กฎหมายของพระเจ้าและมนุษย์ (the law of god and man)
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ความพยายามในการดำเนินคดีต่อผู้ก่ออาชญากรรมสงครามมีอยู่น้อย แต่ได้มีการดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามที่นับว่าเป็นคดีสำคัญ เช่น ที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติของอเมริกาและสงครามกลางเมืองของอเมริกา [3] ความพยายามในการดำเนินคดีอาญาต่อปัจเจกชนได้ปรากฏชัดเจนขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versallies, 1919) จัดทำขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรเพื่อดำเนินคดีอาญาต่ออาชญากรสงครามชาวเยอรมัน และได้มีการดำเนินคดี Kaiser Wilhelm II อดีตจักรพรรดิของประเทศเยอรมนีโดยตุลาการระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาดังกล่าว แต่เยอรมนีได้เสนอต่อกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรว่าตนเองจะเป็นผู้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดเอง จึงได้มีการดำเนินคดีอาชญากรสงครามชาวเยอรมันโดยศาลฎีกาของเยอรมัน (Leipzig Trials) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาน้อยมาก[4] และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจต่างๆ ขึ้น เช่น Nuremberg Tribunals และ Tokyo Tribunals เพื่อดำเนินคดีอาญาต่อผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศตามกฎบัตรนูเรมเบิร์ก ได้มีการยอมรับในทางระหว่างประเทศ [5] ปรากฏตามข้อมติขององค์การสหประชาชาติ และรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันหลักการนูเรมเบิร์กได้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ [6] อย่างไรก็ตาม การก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศยังเกิดขึ้นในบางรัฐเรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1993 และ ค.ศ. 1994 คือ International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia และ International Criminal Tribunal for Rwanda ตามลำดับ เพื่อดำเนินคดีต่อปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวียและรวันดา จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของปัจเจกชนได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ปรากฏชัดเจนมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นในรูปของสนธิสัญญาซึ่งกำหนดความผิดประเภทต่างๆ ว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งปัจเจกชนต้องมีความรับผิดทางอาญาในทางระหว่างประเทศ ปัจจุบันแนวความคิดที่ว่าปัจเจกชนไม่มีสภาพบุคคลในทางระหว่างประเทศจึงไม่มีสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิดระหว่างประเทศจึงเปลี่ยนแปลงไป [7] แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่มีระบบกฎหมายอาญาดังเช่นระบบกฎหมายอาญาภายในรัฐซึ่งมีกลไกอันมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล ซึ่งทำหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน จับกุม ผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษต่อศาลตามลำดับชั้น แม้ปัจจุบันจะได้มีการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีต่อปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศแล้ว อันประกอบด้วยพนักงานอัยการประจำศาล เพื่อทำหน้าที่ฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาล แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังขาดกลไกอันมีประสิทธิภาพ และไม่มีสภาพบังคับดังเช่นกลไกภายในของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษยังศาลระหว่างประเทศ ซึ่งจำต้องอาศัยความร่วมมือของรัฐภาคี เพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศยังคงต้องอาศัยรัฐเป็นกลไกหลักในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด เนื่องจากการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศมักเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมักจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ซึ่งสามารถกระทำความผิด ที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศจะไม่ถูกลงโทษตราบใดที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งระดับสูง ภาวการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดโดยไม่ถูกลงโทษ (culture of impunity) การลงโทษปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยากลำบากยิ่ง
ศาลอาญาระหว่างประเทศ
สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากสนธิสัญญาระหว่างรัฐภาคี คือธรรมนูญกรุงโรม (Rome Stute of the International Criminal Court) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสมัชชาแห่งรัฐภาคี (Assembly of States Parties) มีเขตอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ คือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมการรุกราน ซึ่งรัฐภาคีสามารถตกลงเกี่ยวกับคำจำกัดความขึ้นได้ในอนาคต โดยศาลอาญาระหว่างประเทศถูกกำหนดให้มีความเป็นอิสระจากองค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามแม้จะกำหนดไว้เช่นนั้น แต่ก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่โดยเฉพาะในส่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติกับศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อองค์การสหประชาชาติได้เปิดให้ประเทศต่างๆเข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดา 120 ประเทศ ที่ได้ร่วมลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมฯ ด้วย แต่ประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันเนื่องจากมีปัญหาบางประการ เช่น ปัญหา การนำปัจเจกชนที่กระทำความผิดมาลงโทษ[8]
อาชญากรสงครามในประเทศไทย
ในประเทศไทย มีคดีอาชญากรสงครามที่สำคัญ ซึ่งเป็นคดีเกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงการจับกุมและฟ้องร้อง จอมพลแปลก พิบูลสงคราม อดีตผู้นำทางการทหารและการเมืองกับพวก ในข้อหาอาชญากรสงครามต่อศาลฎีกา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรสงคราม ซึ่งนับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางเมืองที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวคลี่คลายไปได้โดยอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำก่อนวันใช้กฎหมายเป็นความผิดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ จอมพล ป. พิบูลสงครามกับพวก จึงได้รับการปล่อยตัวพ้นข้อหา จึงนับได้ว่าบทบาทในทางการเมืองของศาลยุติธรรมในฐานะเป็นสถาบันทางการเมืองด้วย[9]
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น และฝ่ายอักษะ เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเยอรมนีได้บุกชนะฟินแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ ฮอลันดา เดนมาร์ก และฝรั่งเศส ขณะเดียวกันทางเอเชีย ญี่ปุ่นได้บุกชนะเวียดนาม โจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ สหรัฐอเมริกา และบุกเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งในขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี อีก 3 วันต่อมา รัฐบาลไทยได้ยอมแพ้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2484[10] โดยประกาศที่ทำสัมพันธไมตรีและให้ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในด้านต่างๆ เพื่อทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุด กลางเดือนสิงหาคม 2488 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ต่อมา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีแถลงการณ์ของ Mr. Jamso F. Burnu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีแถลงการณ์ว่า “...การประกาศสงครามกับประเทศอเมริกาของประเทศไทยเป็นการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และประเทศไทยมีความตั้งใจมั่นที่จะฟื้นความสัมพันธ์ทางไมตรีกับสหประชาชาติเหมือนดังที่มีก่อนถูกญี่ปุ่นเข้าครอบครอง มีคำมั่นสัญญาว่ากฎหมายใดที่ได้ออกมาเป็นปฏิปักษ์ต่อส่วนได้เสียของเราจะได้มีการพิจารณายกเลิก มีคำรับรองว่าถ้ากฎหมายเช่นว่านี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายและประกาศปฏิญญาว่าประเทศไทยจะได้ให้ความร่วมมือทุกอย่างแก่สหประชาชาติในการสร้างเสถียรภาพโลก...” คำแถลงการณ์ดังกล่าวได้ประกาศในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 4 ปี ประเทศสหรัฐอเมริกามิได้ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรูแต่ประการใด
ปลายเดือนสิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้โทรเลขไปถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขอให้กลับประเทศไทยมาเป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีการตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของฝ่ายอักษะที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ทหารนาซีของประเทศเยอรมนีถูกแขวนคอ จำนวน 12 คน และทหารญี่ปุ่นถูกแขวนคอ จำนวน 7 คน รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีโตโจ ในส่วนของประเทศไทยนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงที่กรุงเดลลี ประเทศอินเดีย และที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกข่าวว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำเอาอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศโดยมีอาชญากรสงคราม จำนวน 4 คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ พลตรีประยูร ภมรมนตรี และนายสังข์ พัธโนทัยหรือนายมั่น ชูชาติ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้สั่งให้พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขึ้นและเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาและประกาศใช้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า อาชญากรสงครามเป็นภัยอันร้ายแรงต่อความสงบของโลก สมควรที่จะจัดให้บุคคลที่ประกอบได้สนองกรรมชั่วที่ตนได้กระทำตามโทษานุโทษ เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสงบของโลก อันเป็นยอดปรารถนาของประชาชาติไทย [11]
พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 กำหนดลักษณะของการกระทำอันถือเป็นอาชญากรสงครามไว้ใน มาตรา 3 ดังนี้
1. ทำการติดต่อวางแผนการศึกเพื่อทำสงครามรุกรานหรือกระทำการโดยสมัครใจเข้าร่วมสงครามกับผู้ทำสงครามรุกราน หรือโฆษณาชักชวนให้บุคคลเห็นดีเห็นชอบในการกระทำของผู้ทำสงครามรุกราน
2. ละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีในการทำสงครามคือปฏิบัติไม่ชอบธรรมต่อทหารที่ตกเป็นเชลย จัดส่งพลเรือนไปเป็นทาส ฆ่าผู้ที่ถูกจับเป็นประกัน ทำลายบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับการทหาร
3. กระทำการละเมิดต่อมนุษยธรรม คือกดขี่ข่มเหงในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือศาสนา
4. กระทำโดยสมัครใจเข้าร่วมมือกับผู้ทำสงครามรุกราน คือ ชี้ลู่ทางให้ทำการยึด หรือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม หรือสืบ หรือให้ความลับ หรือความรู้อันเป็นอุปการะแก่การทำสงครามของผู้ทำสงครามรุกราน
กำหนดให้ศาลฎีกาเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ฟ้องร้องตามพระราชบัญญัตินี้ และคำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นที่สุด (มาตรา 6 และมาตรา 8)
ความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี ทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ริบเสียสิ้น และให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิออกเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษ (มาตรา 9)
คำพิพากษาศาลฎีกาคดีอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2489 โดยสำนวนที่ 1 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จำเลย เป็นจำเลยคนเดียว และสำนวนที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นจำเลยร่วมกับนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ที่ 2 และนายสังข์ พัธโนทัย ที่ 3 ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมปรึกษา และวินิจฉัยว่า คดีเป็นปัญหาในเบื้องต้นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับใช้บทพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เห็นว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำความผิดก่อนวันที่ใช้พระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 14 และเป็นโมฆะตามมาตรา 61 ตามคำพิพากษาคดีอาชญากรสงคราม ที่ 1/2489 แล้วการกระทำที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสำนวนได้กระทำความผิดเกิดก่อนวันที่ 11 ตุลาคม 2488 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามได้ออกใช้ทั้งสิ้น เมื่อบทบัญญัติที่โจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดแก่จำเลย ศาลวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโมฆะ อันจะลงโทษจำเลยไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะฟ้องคำพยานหลักฐานโจทก์ในเรื่องนี้ต่อไปอีก จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ปล่อยจำเลยทั้งสามพ้นข้อหาไป ส่วนคดีอาชญากรสงครามที่หลวงวิจิตรวาทการ จำเลย ยังไม่ได้สืบพยานเลยก็ได้รับการพิพากษาโดยเหตุผลเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้คดีอาชญากรสงครามทุกคนถูกปล่อยทั้งหมด
หลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดตามคดีอาชญากรสงครามแล้ว วันที่ 8 เมษายน 2489 นายกิจจา วัฒนสินธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทราได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตีความว่า องค์กรใดทำหน้าที่ชี้ขาดว่ากฎหมายอาชญากรสงครามขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าให้ศาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด ผลของความขัดแย้งดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 จึงบัญญัติให้มีองค์กรพิเศษขึ้นมา เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
และต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามด้วยการตราพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 เสนอโดยพลโท ไสว ดวงมณี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอให้ยกเลิกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 สมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บัญญัติให้เป็นความผิดอาชญากรสงครามย้อนหลังไปเกือบไม่มีวันสิ้นสุด เช่น การกระทำความผิดสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น ก็อยู่ในความหมายของพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488
2. บัญญัติเพื่อเจตนาฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับพวก ซึ่งไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ฟ้องศาลเช่นนี้
3. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
4. บรรดาทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้นและให้เพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีกำหนด 12 ปีนับแต่วันพ้นโทษ
5. บรรดาทหาร ตำรวจหรือพลเรือน ที่เข้าร่วมสงครามจะเป็นตัวการหรือสมรู้ก็ตาม อาจตกเป็นความผิดอาชญากรสงครามได้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนมีความหวั่นวิตกในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันราชอาณาจักร จะเป็นผลเสียหายส่วนรวมของประเทศชาติได้
จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 โดยพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 พ.ศ. 2510 โดยนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อ้างอิง
- ↑ “ผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม” [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
- ↑ “ “war criminal” [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล :http://dictionary.reference.com/browse/war+crime (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557)
- ↑ “M. Cherif Bassiouni, International Criminal Law A Draft International Criminal Code. (Netherlands, Sijithoff & Noordhoff, 1980), p.8.
- ↑ “ Lyal S. Sunga, Individual Responsibility in International Law for Serious Human Rights Violations (Netherlands, Martinus Nijhoff, 1992), pp. 22-24.
- ↑ “GA Res. 95(I), UN Doc. A/64/Add.1, at 188 (1946) ; Report of the International Law Commission, UN Doc. A/136 (1950), (reprinted in 1950, (reprinted in 1950 ILC.YB.364,374).
- ↑ “Lyal S. Sunga, supra note 4, p. 35.
- ↑ “ธีรพัฒน์ อัศวสังสิทธิ, “ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดของปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศและกลไกในการดำเนินคดี”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 1-5.
- ↑ “กรรภิรมย์ สุนทรนาวิน, “ศาลอาญาระหว่างประเทศ”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542), หน้า 12-14.
- ↑ “วิชา มหาคุณ, ศาลยุติธรรมและการพิพากษาคดี, (บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2536), หน้า 88.
- ↑ “ปัญญา อุดชาชน, “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม : รากฐานการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ”, รัฐสภาสาร, ปีที่ 61 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนเมษายน 2556, หน้า 35-45.
- ↑ “สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษ 27 กันยายน 2488.
บรรณานุกรม
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษ 27 กันยายน 2488.
ปัญญา อุดชาชน, “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม : รากฐานการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ”, รัฐสภาสาร, ปีที่ 61 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนเมษายน 2556, หน้า 35-45.
วิชา มหาคุณ, ศาลยุติธรรมและการพิพากษาคดี, บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2536.
กรรภิรมย์ สุนทรนาวิน, “ศาลอาญาระหว่างประเทศ”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
ธีรพัฒน์ อัศวสังสิทธิ, “ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดของปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศและกลไกในการดำเนินคดี”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
M. Cherif Bassiouni, International Criminal Law A Draft International Criminal Code. , Netherlands, Sijithoff & Noordhoff, 1980.
Lyal S. Sunga, Individual Responsibility in International Law for Serious Human Rights Violations, Netherlands, Martinus Nijhoff, 1992.
GA Res. 95(I), UN Doc. A/64/Add.1, at 188 (1946) ; Report of the International Law Commission, UN Doc. A/136 (1950), (reprinted in 1950, (reprinted in 1950 ILC.YB.364,374).
Lyal S. Sunga, supra note 4.
“ผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม” [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
“war criminal” [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://dictionary.reference.com/browse/war+crime (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)